วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2564

มิใช่สร้างดาวคนละดวง! "พระพรหมบัณฑิต"แนะชาว"มจร" บูรณาการหลักศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่รับใช้สังคม



วันที่ ๑๓  กันยายน  ๒๕๖๔   พระปราโมทย์  วาทโกวิโท, ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เปิดเผยว่า ได้ร่วมงานครบรอบวันสถาปนา ๑๓๔ ปี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ผ่านระบบออนไลน์ โดยในภาคเช้าพระธรรมวัชรบัณฑิต,ศาสตราจารย์ ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นำทำวัตรสวดมนต์เจริญปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จากนั้นพระสุวรรณเมธาภรณ์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร กล่าวถวายรายงานในการจัดงานครบ ๑๓๔ ปีเพื่อน้อมระลึกกตัญญูต่อบูรพาจารย์และความสมัครสมานสามัคคีของชาวมหาจุฬา โดยมีร่วมงาน ๓๐,๐๐๐ รูปคนจากทั่วโลกซึ่งเป็นศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบันรวมถึงสมาคมชาวมหาจุฬา ได้รับความเมตตายิ่งจากพระธรรมปัญญาบดี นายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวนำบูชาพระรัตนตรัยเป็นประธานเปิดงานครอบรอบวันสถาปนา ๑๓๔ ปี พัฒนาปัญญาและคุณธรรมนำสังคมสันติสุข  



พระธรรมปัญญาบดี กล่าวประเด็นสำคัญว่า เมืองไทยมีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าในพระพุทธศาสนาทำให้เป็นศูนย์รวมของชาวพุทธจากทั่วโลก มหาจุฬามีความเจริญงอกงามอย่างยาวนานถึงแม้จะมีสถานการณ์ของโควิดอันไม่ปกติ จึงขอให้กำลังใจอำนวยพรให้ชาวมหาจุฬาทุกรูปท่าน ในนามนายกสภาวิทยาลัยขอร่วมตั้งกองทุนพัฒนามหาจุฬาจำนวนหนึ่งล้านบาทขอให้ทุกท่านอนุโมทนาบุญร่วมกัน    

พระพรหมบัณฑิต,ศาสตราจารย์ ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร อุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “มหาจุฬาฯ กับการพัฒนาปัญญาและคุณธรรม” กล่าวประเด็นสำคัญว่า จุดมุ่งหมายของสถาปนามหาจุฬาคือศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงซึ่งจะสอดรับกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการจัดกลุ่มของมหาวิทยาลัย โดยมีพันธกิจประกอบด้วย ผลิตบัณฑิต วิจัย บริการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมซึ่งเหมือนกันทุกมหาวิทยาลัย แต่ต่อไปจะมีการแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยเพื่อยกระดับความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย กฎกระทรวงจึงมีการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๖๔ ประกอบด้วย ๑) กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก ๒)กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ๓)กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่นๆ ๔)กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา ๕)กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ  โดยมองถึงจุดมุ่งหมายของการสถาปนา พันธกิจ ยุทธศาสตร์ ศักยภาพ และผลดำเนินการที่ผ่านมาของสถาบันอุดมศึกษา คำถามคือมหาจุฬาจะอยู่ในกลุ่มใดที่มีความเหมาะสม โดยกลุ่มที่ ๔ มหาจุฬามีความพร้อมเป็นอย่างมากคือกลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา เพราะมีความพร้อมเป็นอย่างมาก 



กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนาผสานกับหลักวิชาการ ซึ่งมุ่งพัฒนาบัณฑิตให้เป็นผู้มีสติ ปัญญา  และคุณธรรม ด้วยการจัดการเรียนการสอนที่ผสานหลักศาสนากับหลักวิชาการ  โดยมีการจัดการศึกษาพระพุทธศาสนา (หลักศาสนา) บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ (หลักวิชาการ) และพัฒนาจิตใจและสังคม โดยทุกสาขา หลักสูตร คณะ ทุกวิทยาเขต สงฆ์ของมหาจุฬาจะต้องมีบูรณาการ “มิใช่สร้างดาวคนละดวง” จะต้องบูรณาการร่วมกันโดยบูรณาการหลักศาสนากับหลักวิชาการเป็นเนื้อเดียวกันเป็นองค์ความรู้ใหม่คือ นวัตกรรม  โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมโดยยึดหลักศาสนา ปรับใช้หลักศาสนาให้เหมาะสมกับสังคมที่เปลี่ยนไปและสร้างหลักวิชาการที่สอดคล้องกับหลักศาสนาเป็นทางเลือกคู่กับหลักวิชาการของประเทศตะวันตก และนำหลักธรรมคำสอนของศาสนาต่างๆ มาชี้นำสังคมโดยมุ่งพัฒนาจิตใจ สติ ปัญญาและพฤติกรรมของประชาชนเพื่อเกิดสันติสุขและความสามัคคีของคนในชาติ

โดยมีนวัตกรรมถือว่าเป็นความคิดใหม่หรือสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่หรือพัฒนาต่อยอดจากของเดิมเพื่อแก้ปัญหาหรือตอบสนองความต้องการของตลาดหรือสังคม โดยยกตัวอย่าง หลักสูตรสันติศึกษา เป็นต้นแบบของหลักสูตรที่สามารถตอบโจทย์สังคม สามารถออกแบบนวัตกรรมให้ตอบโจทย์ของสังคมให้สังคมเกิดสันติสุข  โดยนวัตกรรมประกอบด้วย ๔ ประการ คือ ๑)ด้านการผลิตและบริการ จะต้องพัฒนาบัณฑิตที่ดีและเก่ง สามารถบริการมีธรรมะในรูปแบบใหม่ๆ เป็นการบริการสังคม  ๒)ด้านกระบวนการผลิตบัณฑิต เช่น ปฏิบัติศาสนกิจ นิสิตอาสา วิปัสสนากรรมฐาน  ๓)ด้านการตลาด เป็นการประชาสัมพันธ์ในคนทั่วโลกมาเรียนมหาจุฬาผ่านกิจกรรมต่างๆ มีการใช้สื่อต่างๆ เช่น สาขาพุทธนวัตกรรมการสื่อสารหรือธรรมเทศ ๔)ด้านการจัดการ ประเด็นการจัดการเชิงพุทธนำมาใช้จริงในบริหารจัดการ ต่อไปจะต้องมีการบูรณาการอย่างจริงจังมิใช่ต่างคนต่างทำ 

จึงทำให้สอดรับกับจิตตปัญญาศึกษาเป็นนวัตกรรมทางการศึกษา ด้วยการ ๑)การเรียนรู้อย่างใคร่ครวญ โดยใช้สติเป็นฐานในการเรียนรู้ Mindfulness based learning  ๒)การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยจะต้องยกเป็นมหาวิทยาลัยวิถีพุทธ  ๓)การเรียนรู้แบบองค์รวม เป็นการบูรณาการเป็นการมุ่งเน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา“พระผู้มีพระภาคเป็นผู้พัฒนากาย พัฒนาศีล พัฒนาจิต พัฒนาปัญญา” ผ่านภาวนา ๔ ในทางพระพุทธศาสนา หรือ จิตตปัญญาศึกษา คือ จิตตภาวนาพัฒนาจิต (EQ) และปัญญาภาวนาคือพัฒนาปัญญา (IQ)  โดยบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาจุฬา จำนวน ๙ ประการ แตกต่างจากบัณฑิตทางโลก ที่ต้องได้ประโยชน์ทางโลกและประโยชน์ทางธรรม บัณฑิตของมหาจุฬาจะต้องมีดวงตาสองดวง คือ ทางโลกและทางธรรม หรือ มีความฉลาดทางวิชาการและความฉลาดทางอารมณ์  สามารถตระหนักรู้ในตนเองและเข้าใจรู้ทันอารมณ์คนอื่น มีสติภายในรู้ในตน สติเป็นตัวสร้างปัญญา ไม่เป็นบุคคลตาบอด โดยประเภทของปัญญาสามารถแบ่งออก ๓ ประการคือ ๑)สชาติปัญญา ความรอบรู้ที่มีมาตั้งแต่เกิด ๒)ปาริหาริยปัญญา ความรอบรู้ที่ใช้ในการดำเนินชีวิต ๓)วิปัสสนาปัญญา ความรอบรู้สัจธรรมของชีวิต ปัญญาจึงเด่นกว่าทุกอย่างประเสริฐสุด ดุจพระจันทร์ประเสริฐกว่าดวงดาว 

ในอริยมรรค ๘ จะเริ่มด้วยปัญญา เริ่มด้วยสัมมาทิฐิเพราะถ้าเห็นผิดทุกอย่างจะจบสิ้น ปัญญาจะสูงกว่าความรู้ เพราะความรู้เพียงการสะสมมาจากการศึกษาเล่าเรียน การค้นคว้า เป็นเพียงจิ๊กซอร์ จึงต้องนำความรู้ไปบูรณาการใช้ในชีวิต ความรู้จึงควรเรียนทุกอย่างคือ ชั้นต่ำ ชั้นกลาง ชั้นสูง ควรรู้ความหมายของสิ่งที่เรียนทั้งหมดแต่ว่าไม่ควรใช้ความรู้ทุกอย่าง  แต่ปัญญาเป็นความรอบรู้ ความฉลาดเกิดแต่เรียนและ ปัญญาคือความรู้ลึก “ปัญญามีการแทงตลอดสภาวะเป็นลักษณะเหมือนการแทงของลูกศรที่ยิงไป” มีความรู้ลึกถึงไตรลักษณ์ ปัญญาจึงเป็นแสงสว่างในโลก รอบรู้ในอริยสัจ ทำให้บัณฑิตของมหาจุฬาจะต้องมีสมรรถนะคือความเก่ง คือ ปัญญา  มีคุณภาพคือ ดี มีคุณธรรม  มีสุขภาพคือมีสุข ปัญญา เพราะการได้ปัญญานำสุขมาให้

พระปราโมทย์  สรุปว่า ดังนั้น อุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจึงย้ำว่า ขอให้ชาวมหาจุฬาสร้างดาวร่วมกันไม่สร้างดาวคนละดวงผ่านการบูรณาการ ยกระดับมาตฐานเป็นมหาวิทยาลัยวิถีพุทธ เป็นต้นแบบของการปฏิบัติ โดยบูรณาการหลักศาสนาและวิชาการพัฒนามหาจุฬา  โดยยกให้มหาจุฬาเข้ากลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนาผสานกับหลักวิชาการเพื่อพัฒนาสังคมต่อไป 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...