วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2564

กมธ.ศาสนาฯสภาฯถกเครียด! ปม ปชช.รุกที่วัด-ที่ดินพุทธมณฑลเชียงใหม่



เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ที่วัดจำลอง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานกรรมาธิการ นายนพดล แก้วสุพัฒน์ ที่ปรีกษากรรมาธิการ นายทองแดง เบ็ญจะปัก กรรมาธิการ และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ได้เข้าร่วมประชุมประเด็นข้อปัญหาที่ประชาชนร้องเรียน เรื่องวัดม่วงต่อ อ.แม่วาง ที่มีพื้นที่จำนวน 17-3-29 ไร่ โดยในโฉนดที่ดินระบุหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์เป็นของ “วัดม่วงต่อ (สำนักสงฆ์ร้าง) ” โดยสำนักพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ได้นำเอาโฉนดมายืนยัน 



ทั้งนี้มีประชาชนที่มีความประสงค์จะยื่นร้องต่อศาลเพื่อแสดงสิทธิ์การครอบครอง โดยนายเพชรวรรต ได้กล่าวว่า ในประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาไม่ใช่แต่เพียงที่ จังหวัดเชียงใหม่ เท่านั้นยัง มีประเด็นเรื่องที่ดินของวัดที่ประชาชนอ้างสิทธิ์ครอบครองอีกจำนวนมากทั่วประเทศ ทั้งนี้ยังมีประเด็นที่แม้ชาวบ้านเข้ามาปลูกบ้านในที่วัดแต่ไม่จ่ายค่าเช่า รวมถึงการจ่ายค่าเช่าในราคาต่ำแต่นำไปทำธุรกิจอื่นเพื่อแสวงผลกำไรที่ได้กำไรจำนวนมาก บางรายถึงกับขายสิทธิ์ต่อช่วงในราคาแพง แม้เป็นที่ดินของวัด ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ตนจะนำเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมาธิการต่อไป

ด้าน นายณพลเดช มณีลังกา อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ เปิดเผยว่า ในประเด็นของการอ้างสิทธิ์ครอบครองที่จะยื่นฟ้องต่อศาล โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ในการครอบครองปรปักษ์ มีข้อพิจารณาอยู่ 2 ประเด็นคือ

1.) ป.พ.พ.มาตรา 1382 กฎหมายระบุว่าบุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของ” ผู้อื่น” เกินสิบปี

2.) มีอำนาจตาม พ.ร.บ.สงฆ์ มาตรา 34 ประกอบมาตรา 35 ที่ไม่ให้อำนาจที่ดินวัดโอนสิทธิ์และสงวนสิทธิ์ในการฟ้องร้อง

หากพิจารณาแล้วตามข้อแรกของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คำว่า” ผู้อื่น” ซึ่งวัดถือว่าไม่ใช่ “บุคคล” ศาลอาจใช้เป็นดุลพินิจ ไม่รับข้อต่อสู้เพื่อขึ้นสู่ศาลในกรณีประชาชนจะฟ้องเอาที่วัด ส่วนประเด็นที่สอง ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 เป็นกฎหมายที่เป็นอำนาจโดยตรงเกี่ยวกับที่ดินวัด หากพิจารณาในมาตรา 34 เมื่อมีความชัดแจ้งถึงโฉนดว่าเป็นของวัด การใดที่จะทำให้กรรมสิทธิ์จะเกิดการโอนไปยังบุคคลได้ จะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติซึ่งยากมากตามวรรคแรก และยังมีวรรคท้ายที่ชี้แจงความสำคัญว่า “ห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้”

สำหรับที่ดินวัด ด้วยวรรคนี้ถือเป็นการชัดว่าต่อสู้ด้วยอายุความไม่ได้ และยังมีประตูปิดตายที่ไม่สามารถเอาที่วัดมาเป็นของบุคคลได้ใน มาตรา 35 ที่ไม่สามารถบังคับคดี เกี่ยวกับที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และศาสนสมบัติกลางได้ ในแง่นี้ตนเห็นว่าประชาชนยังไม่รู้ข้อกฎหมาย และบางครั้งอาจมีทนายมาให้ข้อมูลกับประชาชนโดยหวังค่าตอบแทน ทั้งนี้การต่อสู้ในข้อกฎหมายเพื่อแย่งชิงเอาที่วัดไปเป็นของประชาชน ตนเห็นว่าในอดีตไม่มีใครเขาทำกัน มีแต่คนโบราณเขาบริจาคที่ดินในยามแก่กัน และจะเห็นบูรพาจารย์และบรรพบุรุษของไทยต่างแย่งกันสร้างวัดเพื่อเป็นบุญเป็นกุศล แม้ความกลัวในบาปกรรมที่เหยียบทรายออกจากวัด คนโบราณต้องขนทรายเข้าวัด ดังมีประเพณีขนทรายเข้าวัดในเทศกาลสงกรานต์ เพราะถือว่าเอาของวัดจะตายไปเป็น “เปรต” ดังนี้แล้วตนเห็นว่าส่วนงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความรู้ในแง่กฎหมายและในแง่ศีลธรรมอันดีอันเป็นจารีตประเพณีไทย ที่นับวันจะเสื่อมถอย

หลังจากนั้น นายเพชรวรรต ได้นำคณะลงพื้นที่บริเวณข้างโรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม พร้อมเจ้าหน้าที่ธนารักษ์ จ.เชียงใหม่ โดยนายเพชรวรรต กล่าวว่าในประเด็นพุทธมณฑลเชียงใหม่ ที่ตอนแรกจะสร้างที่วัดน้ำบ่อหลวง แต่ขณะนี้ไม่สามารถที่จะสร้างได้แล้ว หลังจากที่ตนได้ทราบข้อมูลนี้จาก พระเทพปริยัติ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งท่านเป็นห่วงเรื่องนี้มาก 

"จึงได้มาดูพื้นที่แปลงใหม่ตามคำแนะนำของท่าน อยู่บริเวณสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ ซึ่งเป็นที่ดินของราชพัสดุ กรมธนารักษ์ ตนจึงรุดเข้ามาดูพื้นที่ประมาณ 100 กว่าไร่ ทั้งนี้ยังมีประเด็นที่อาจจะไม่สามารถสร้างได้ ตนได้หารือกับพระธรรมเสนาบดี ซึ่งท่านก็พร้อมที่จะบริจาคที่ดินกว่าพันไร่ ไว้แล้ว" นายเพชรวรรต กล่าว 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...