ปฎิเสธไม่ได้ว่า การผุดขึ้นโครงการโคกหนองนา ในห้วงเวลา 2-3 ปีมานี้ได้รับความนิยมและแพร่หลายเป็นอย่างมากในหมู่ประชาชนทั้งพระภิกษุสงฆ์ เกษตรกร ชาวบ้าน ข้าราชการหรือแม้กระทั่งในหมู่นักธุรกิจ
เหตุผลสำคัญอาจมาจากหลากหลายปัจจัย อาทิเช่น พื้นฐานสังคมไทยมีฐานรากมาจากเกษตร ผู้คนส่วนใหญ่จึงนิยมชื่นชอบการทำเกษตร ปัจจุบันคนไทยเป็นจำนวนมากเริ่มรับรู้แล้วว่าผลผลิตพืชผักที่ตนเองบริโภคนั้น อาจไม่ปลอดภัยต่อร่างกายเมื่อรับประทานลงไป เพราะมีสารพิษเจือปน ผนวกกับโครงการโคก หนอง นา ได้รับการณรงค์และส่งเสริมจากภาครัฐมายังต่อเนื่องโดยเฉพาะกรมการพัฒนาชุมชน ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นที่นิยมในหมู่บ้านเป็นอย่างมาก และรวมทั้งประเทศไทยได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทรงทำเป็นแปลง “แบบอย่าง” โคกหนองนา ในพระราชวังของพระองค์แล้วกระจายไปสู่ในหมู่ข้าราชบริพารตามคำขวัญที่ว่า “ผู้นำต้องเป็นแบบอย่าง”
จังหวัดตาก เป็นจังหวัดหนึ่งที่ “ทีมข่าวเฉพาะกิจ” ลงพื้นที่ไปสำรวจโครงการโคก หนอง นา กรมการพัฒนาชุมชน ประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดตากประกอบอาชีพเป็น เกษตรกรรม ส่วนอาชีพอาชีพรอง ได้แก่ การค้าและการบริการ จังหวัดตากเป็นจังหวัดขนาดใหญ่มีเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ติดชายแดนเมียนมา เป็นประตูการค้าสำคัญไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งอินเดีย แบ่งการปกครองแบ่งออกเป็น 9 อำเภอ 63 ตำบล 493 หมู่บ้าน เป็นดินแดนหลากหลายชนชาติพันธุ์ หลากหลายวัฒนธรรม
จากข้อมูลของพัฒนาการจังหวัดตาก โครงการ โคก หนอง นา จังหวัดตาก แบ่งเป็นงบเงินกู้มี 37 แปลง ขนาด 1 ไร่มี 11 แปลง ขนาด 3 ไร่มี 24 แปลง ,15 ไร่ 2 แปลง และงบปกติมี 74 แปลง แบ่งออกเป็นขนาด 1 ไร่มี 63 แปลง และ ขนาด 3 ไร่มี 11 แปลง
ที่น่าสนใจในจังหวัดตากคือ ปัจจุบันต้องยอมรับว่ามี “นักธุรกิจ” หันมาสนใจทำเกษตร หันมาสนใจทำโคก หนอง นา กันเป็นจำนวนมาก บางรายต่อยอดไปในเชิงธุรกิจ บางรายทำเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนของครอบครัวและเป็นสถานที่ปลูกผักปลอดสารพิษไปในตัวด้วย
“ทีมข่าวเฉพาะกิจ” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ 2 นักธุรกิจที่หันมาสนใจทำโคก หนอง นา คนแรกชื่อ “มานะ ปัญญาสอน” คนนี้น่าสนใจเพราะเป็นเจ้าของ “ร้านอาหารไทยในญี่ปุ่น” ทิ้งร้านอาหารไทยกลับมา “จับจอบ จับเสียม” ด้วยแรง “ดลใจ” อะไรบางอย่าง ซึ่งเดียวจะมาเล่าในรายละเอียด
ส่วนอีกท่านชื่อ “ เฉลิมภพ เถาว์โท” คนนี้เป็น “นักธุรกิจก่อสร้าง” จบวิศวะช่างกล ลักษณะคล้าย ๆกับมานะ ปัญญาสอน วัยกำลังทำงาน แต่ด้วยมีเหตุผลบางอย่างจึงหันมาสนใจเรื่องนี้ และมีแนวคิดต่อยอดการทำโคก หนอง นา ด้วย ทั้งเรื่องการจับมือกับมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ หรือ Earth Safe Foundation ในการสร้างผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชนโดยมี “ผักปลอดสารพิษ” เป็นวัตถุดิบ
การเดินทางไปยังแปลง “โคก หนอง นา” จากตัวจังหวัดใช้เวลาไม่มากนัก ความจริงอำเภอตากเป็นอำเภอเก่าแก่มากกว่าอำเภอเมือง เคยเป็นถิ่นฐานของพวกมอญในยุคโบราณ “เจ้าแม่จามเทวี” ตอนเสด็จไปเมืองลำพูนเคยพักที่เมืองนี้ สมเด็จพระเจ้าตากสิน ก็เคยประทับอยู่ที่นี้ ซึ่งเสียดายว่าช่วงที่ทีมงานเดินทางไป สถานการณ์โควิด -19 ยังไม่คลี่คลายการจะเดินทางไปไหนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษทั้งตัวเราและเจ้าถิ่นที่จะต้องไปพูดคุย
“มานะ ปัญญาสอน” พาชมแปลงโคก หนอง นา ที่ขุดสระเรียบร้อยแล้วตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ สภาพต้นไม้ ผักที่ปลูกไว้สมบูรณ์ หญ้ารกตามธรรมชาติ มีศาลาพักสำหรับคนมาดูงาน ข้าง ๆ มีโรงสีขนาดเล็กที่ได้รับจาก มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ ตั้งอยู่ (ตอนทราบจาก สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน บอกว่า กรมการพัฒนาชุมชน สนับสนุนงบให้มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ ไปช่วยสนับสนุนชาวโคก หนอง นา ในเรื่องอุปกรณ์เหล่านี้)
มานะ ปัญญาสอน พาเดินดูหลุมพอเพียง ที่ปลูกผักไว้ทุกชนิดในหลุมนี้ ซึ่งอยู่กันแบบเกื้อกูล คิดดูแล้ว ใช้พื้นที่น้อยเหมาะกับคนเมืองมาก พร้อมทั้งพาไปดูน้ำหมักจุลินทรีย์ (จาวปลวก) คือทำมาจากจาวปลวกและข้าวผสมกันแล้วไปหมักทำเป็นน้ำหมักจุลินทรีย์สำหรับรดพืช ผัก และต้นไม้ และน้ำหมักนี้บางแห่งทำเป็น “เห็ดโคน” ก็ได้
มานะ ปัญญาสอน บอกกับเราว่า หลังจากจบการโรงแรมและการท่องเที่ยวมาทำงานอยู่เมืองไทยพักหนึ่ง แล้วติดสินใจย้ายไปอยู่อังกฤษประมาณ 5 ปี แล้วจึงเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นเปิดร้านอาหารไทยอยู่ที่นั้นอีกประมาณ 22 ปี
“จะกลับบ้านมาเยี่ยมพ่อแม่ปีละครั้ง เห็นเพื่อนบ้านแถวนี้ทำนามีแต่ฉีดยาพ่นสารเคมี วันหนึ่งพ่อแม่ป่วยเป็นมะเร็ง คิดว่าสาเหตุส่วนหนึ่งต้องมาจากนี้แน่ ๆ พอดีอยู่ประเทศญี่ปุ่นมันอิ่มตัว เหตุการณ์นี้เกิดมาประมาณ 3 ปีแล้วก่อนเกิดโควิด-19ระบาดอีกนะ ..”
ตัดสินใจปรึกษาแฟนว่าขอกลับเมืองไทย จะมาดูแลพ่อและแม่ และในใจเราตั้งใจเลยว่า หากกลับเมืองไทยจะขอทำเกษตรปลอดสารพิษ เพราะไม่อยากกินผักที่มีสารพิษเข้าสู่ร่างกายเรา เมื่อตัดสินใจคุยกับแฟนเรียบร้อยก็ตัดสินใจขายร้าน เซ้งร้าน
“กลับมาอยู่ที่นี่ประมาณต้นปี 62 หลังจากจากบ้านไปนานถึง 36 ปี ก็หันมาทำเกษตร จับจอบ จับเสียม ปลูกต้นอินทผลัม ปลูกกล้วย ญาติพี่น้องและคนแถวนี้มองเราเหมือนคนบ้า เพราะทิ้งแหล่งหาเงินคือร้านอาหารแล้วมาทำเกษตรตากฝนตากแดด บางคนมองเราแล้วยิ้ม บางคนมองแปลก ๆ แล้วก็จากไป แต่เราคิดว่า มันคือชีวิตเรา มันคือความสุขของเรา แล้วมันก็สุขจริง ๆ เพราะพูดตรง ๆ ที่ทำเพราะใจรัก ทำเพราะอยากอยู่กับพ่อและแม่ อยากกินผักปลอดสารพิษ”
เมื่อกลับมาก็พยายามศึกษาแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 การจะทำเกษตรแนวนี้นอกจากใจรักแล้ว มันต้องไม่ใช้สารเคมี ซึ่งเราไม่มีความรู้เลย ไม่รู้จะทำอย่างไร ค้นจากโซเชียลพบ อาจารย์เบ้ หรือ อาจารย์จักรภฤต บรรเจิดกิจ แห่งวิชชายาลัยชาวนา จังหวัดพิจิตรผู้ค้นพบริเริ่มการใช้จุลินทรีย์จาวปลวก จุลินทรีย์มหัศจรรย์ จึงเดินทางไปอบรมกับท่านที่นั้่น ก็ได้วิชาติดตัวมา ตั้งแต่นั้นมาอาจารย์เบ้ก็แนะนำการทำเกษตรปลอดสารเคมีตลอด พอดีจังหวะกรมการพัฒนาชุมชนก็มีโครงการโคกหนองนา จึงสนใจเข้าสมัคร
“สมัครไว้ 3 ไร่ เพิ่งขุดบ่อไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ก็พยายามหาความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงตลอด เคยไปอบรมกับพระอาจารย์มหาสุภาพ จากวัดป่านาคำ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เรื่อง หลุมพอเพียง การบริหารจัดการที่ดินทำโคก หนอง นา ไปเรียนกับ มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ หรือ Earth Safe Foundation ขั้นก้าวหน้า เรื่องการต่อยอดผลิตภัณฑ์ เรื่องการสร้างแบรนด์เพื่อเป็นสินค้าของชุมชน เป็น OTOP ตอนนี้มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ ก็มาสนับสนุนทั้งโรงสีขนาดเล็กและกำลังจะนำเครื่องอบแห้ง โรงบ่ม เพื่อแปรรูป ซึ่งตั้งใจเอาไว้ว่า หากเป็นไปได้นอกจากตรงนี้เป็นศูนย์เรียนรู้ดูงานของชาวบ้านแล้วจะทำเป็นวิสาหกิจชุมชนด้วยเพื่อต่อยอดให้เราและชาวบ้านอยู่รอดและมีรายได้..
ตอนนี้เราทำงานเพื่องาน มิได้คาดหวังกับเงินทองมาก ความสุขมันก็มีมากกว่าตอนต้องวิ่งหาเงินมาก ได้สัมผัสกับธรรมชาติ ได้ดูต้นไม้ผักที่เราปลูกไว้ หวังว่าวันหนึ่งตรงนี้จะเป็นที่พึ่งให้กับชุมชนเพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดสารพิษให้กับสังคม..”
สรุปเหตุผลสำคัญของมานะ ปัญหาสอน ที่เลิกทำร้านอาหารไทยในญี่ปุ่นและหันมาจับโคก หนอง นา ก็คือ หนึ่ง กลับมาดูแลพ่อและแม่ สอง ต้องการทำโคก หนอง นา ปลอดสารพิษ และสาม ต้องการทำศูนย์เรียนรู้และต่อยอดเป็นวิสาหกิจชุมชนอาหารปลอดสารพิษโดยมี มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ หรือ Earth Safe Foundation เป็นพี่เลี้ยงให้ ซึ่งเท่าที่พูดคุยกับ “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน หลักการนี้เป็นไปตามเป้าหมายของกรมการพัฒนาชุมชนที่คาดหวังเอาไว้
ขณะที่เรากำลังพูดคุยอยู่นั้น “เฉลิมภพ เถาว์โท” บุคคลเป้าหมายอีกคนซึ่งอยู่ไม่ไกลจากแปลงของมานะ ปัญญาสอน มากนัก เดินทางมาสมทบด้วย พร้อมกับชวนไปดูแปลงโคก หนอง นา ของเขา
“เฉลิมภพ เถาว์โท” บอกว่าตนเองจบวิศวะเครื่องกล มีความรู้เรื่องงานก่อสร้าง การติดตั้งเครื่องจักร ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ตอนหลังพอมีเงินเก็บจึงซื้อที่ดินตรงนี้ เพราะสนใจจะทำเกษตรมานานแล้ว แต่เราไม่รู้ว่าจะเดินไปแบบไหน ถูกวิธีหรือเปล่า พยายามศึกษามาตลอด
“เป็นจังหวะโชคดีที่ได้เข้ามาร่วมโครงการโคกหนองนา ตรงนี้ต้องขอบคุณผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน และพัฒนาชุมชนในจังหวัดที่มอบโอกาสให้ หลังจากสมัครแล้วก็ไปอบรมตามศูนย์ต่าง ๆ ตามที่กรมการพัฒนาชุมชนจัดให้บ้าง บางจังหวะก็ไปกับพี่มานะ ปัญญาสอน เพราะเราอยู่ใกล้กัน ทั้งวัดป่านาคำ ทั้งกับมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ ท่านเหล่านี้ให้โอกาสแก่เราจริง ๆ ไปเรียนการแปรรูป การประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ ไปเรียนการทำการตลาด..”
เป้าหมายของเรานอกจากทำโคก หนอง นา มีอาหารปลอดสารพิษแล้ว จะทำร้านกาแฟ ร้านอาหาร พร้อมทำเป็นโฮมสเตย์ เป็นที่พัก ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
ตรงนี้เป็นเนินเขาที่ลาดชัน มองเห็นทิวทัศน์ภูเขาและที่ราบสวยงาม เหมาะแก่การทำบ้านพักผ่อน ใครมาพักอยากทำอาหารกินเอง อยากเที่ยวชมวิถีเกษตรผักปลอดสารพิษก็ได้
“ความจริงประการหนึ่งที่ผมหันมาทำโคก หนอง นา คือ อยากอยู่กับพ่อเหมือนพี่มานะ อยากทำเกษตรปลอดผักสารพิษ พ่อผมเดิมเป็นเกษตรจังหวัดเก่า พอมีความรู้เรื่องเหล่านี้บ้าง ท่านก็มาดูแลให้ อนาคตตรงนี้จะทำเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งตอนนี้ได้คุยกับทางมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ หรือ Earth Safe Foundation แล้ว หากเรามีผักปลอดสารพิษ มีผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษ เช่น เครื่องแกง ทางเขาก็พร้อมที่จะรับซื้อและหาตลาดให้..”
เมื่อทีมงานถามถึง “จุดอ่อน” ของการทำโคกหนองนา มองเห็นอะไรบ้าง เฉลิมภพ เถาว์โท บอกว่า
อันดับแรกเลยคือ ต้องมีการวางแผน ก่อนทำจริง อย่างเช่นขุดสระ มันต้องวางแผน 80% ลงมือปฎิบัติ 20% ไม่ใช่วางแผน 20% แล้วปฎิบัติ 80% เคยไปประชุมร่วมกับทางอำเภอ เวลาเราจะพูดอะไร ไม่ฟังเลย เพราะอย่างที่ตรงนี้มันลาดชัน มันเป็นเชิงเขา เรารู้อยู่แล้วว่าเวลาขุดมันเสี่ยง สมมติเจอหิน เราจะทำอย่างไร ตรงนี้มันต้องมีการบริหารความเสี่ยง หากเจอทำอย่างไร ช่างคุมงาน รถขุด จะได้มีทางออก ไม่ใช่เจอปัญหาแล้วมาแก้ที่หลัง เสียเวลา
“ตรงบ่อผมนี้แม้ สตง. ยังตำหนิเลย ตรงนี้ก็ปัญหา เพราะเขาไม่มีความรู้เรื่องนี้ รู้แต่ว่าคุ้มค่าหรือไม่คุ้มแค่นั้น พวกนี้อาจไม่รู้ศาสตร์ของในหลวง ไม่เคยศึกษาหาความรู้ สุดท้าย ตอนนี้เป็นอย่างไร สระน้ำเต็ม ผลผลิตเขียวงาม โตอวบ อันนี้จุดอ่อนของหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องแก้ไข..”
เรื่องที่สอง เรื่องภูมิศาสตร์สำคัญ บางพื้นที่ภูมิศาสตร์ไม่มีน้ำ น้ำฝนก็น้อย ตรงนี้เรื่องบ่อ อาจไม่จำเป็นต้องมีถึง 2-3 บ่อ ขอเป็นบ่อบาดาล ได้ไหม หาบ่อเล็ก ๆ สักบ่อ
“ตอนนี้กรมการพัฒนาชุมชนมาถูกทางแล้ว หลักการดีมาก แต่หากไม่มีน้ำการทำเกษตรมันไปต่อไม่ได้ เลิกคุยเลย ตรงนี้ผู้มีอำนาจ อาจจะต้องหาทางและเจ้าหน้าที่พช. ในพื้นอาจต้องทำการบ้านหนักขึ้น..”
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้กับพนักงานออฟฟิต พนักงานโรงงานในภาคธุรกิจ ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรมจำนวนนับล้านคน รู้สึกและสัมผัสได้ถึงความไม่ปลอดภัยและไม่มั่นคงในรายได้ของตนเอง ผู้คนจำนวนมากหันกลับกลับไปอยู่ท้องถิ่นบ้านเกิด ในขณะที่หลายคนเริ่มวางแผนสำรองเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารความมั่นคงให้ชีวิตและครอบครัวทางออกหนึ่งยุคนี้คือโครงการ โคก หนอง นา นั่นเอง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ของกรมการพัฒนาชุมชนที่ต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนผ่านการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงานและบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน!!.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น