วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2564

“บ้านเซี๊ยะ-บ้านโป่ง (สันขี้เหล็ก)”หมู่บ้านจัดการขยะรีไซเคิล 3R สู่การสร้างสรรค์งานศิลปะชุมชน




โครงการวิจัยนวัตกรรมการสร้างสรรค์งานศิลปะชุมชนจากขยะรีไซเคิลเพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเพิ่มรายได้โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)และสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

จากการดำเนินงานวิจัยที่ได้คัดเลือกพื้นที่วิจัย จำนวน 2 ชุมชน ได้แก่ บ้านเซี้ยะ หมู่ 4 ตำบลจุน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา และบ้านโป่ง (สันขี้เหล็ก) หมู่ 6 ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นต้นแบบการจัดการขยะรีไซเคิลตามหลักการจัดการขยะอยู่แล้ว สามารถพัฒนาต่อยอดด้วยวิธีการศิลปะ นำไปสู่การช่วยขับเคลื่อนชุมชนทั้งด้านการจัดการขยะในรูปแบบใหม่ที่มีสุนทรียภาพ สร้างจิตสำนึกของชุมชน และสร้างแลนมาร์คใหม่แก่ชุมชนอีกด้วย




จากการสร้างกระบวนการวิจัยโดยการมีส่วนร่วมของ 2 ชุมชนนั้น ได้มีการสร้างนวัตกรรมด้านศิลปะชุมชนโดยการใช้เอกลักษณ์อัตลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นของชุมชนมาช่วยสร้างสรรค์เกิดผลงานของชุมชน และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่ง บ้านเซี๊ยะ ได้สร้างสรรค์หุ่นประติมากรรมนกยูงจากขยะรีไซเคิลที่ประกอบด้วย กระป๋องกาแฟ ซองกาแฟ ขวดน้ำอัดลมและถังขยะพลาสติกเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้ว หลังจากมีการจัดการขยะรีไซเคิล โดยเหตุผลที่เลือกสร้างนกยูง เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ของชุมชน คือเป็นแหล่งอนุรักษ์นกยูงเวียงลอ อำเภอจุน จังหวัดพะเยา และในชุมชนมีขยะประเภทกระป๋องเป็นจำนวนมาก รวมทั้งถังขยะเก่าจากเทศบาลตำบลจุนส่วนทางด้านบ้านโป่ง (สันขี้เหล็ก) ได้สร้างกังหันลมดอกขี้เหล็ก ซึ่งใช้เอกลักษณ์ของชุมชนคือ ชุมชนมีต้นดอกขี้เหล็กอย่างมากมายและเป็นพืชเก่าแก่ที่อยู่คู่ชุมชนมาแต่ยาวนาน  โดยใช้กระป๋องยากำจัดวัชพืช และกระป๋องน้ำอัดลม กาแฟที่มีอยู่จำนวนมากในชุมชน มาสร้างเป็นกังหันลมดอกขี้เหล็กที่มีขนาดรัศมี 2 เมตร และ 5 เมตร ตลอดจนพัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนคือ กังหันลมขนาดเล็กที่ใช้ประดับตามบ้านเรือน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอีกทางหนึ่ง


นอกจากนี้ทางโครงการวิจัยและชุมชนได้ร่วมจัดกิจกรรมในชุมชน เพื่อเปิดตัวหมู่บ้าน และเป็นการเผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจในเรื่องการจัดการขยะชุมชนด้วยศิลปะ โดย บ้านเซี๊ยะได้มีการเปิดตัวประติมากรรมนกยูงพร้อมติดตั้งหุ่นประติมากรรมนกยูงตามจุดสำคัญต่างๆ ในชุมชน ในวันที่ 30 สิงหาคม 2564  และบ้านโป่ง (สันขี้เหล็ก) ได้จัดการประกวดคุ้มการเรียนรู้ศิลปะชุมชน โดยชุมชนในแต่ละคุ้มได้นำเสนอการจัดนิทรรศการตามแต่ละคุ้มเพื่อนำเสนอการจัดการขยะและเชื่อมโยงตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชน ในวันที่ 24 กันยายน2564 ที่ผ่านมา

ทางด้าน ผศ.ดร.สหัทยา วิเศษ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า “การวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการสร้างสรรค์นวัตกรรมจากขยะรีไซเคิลที่มีอยู่ในชุมชน โดยเริ่มจากการให้ดูตัวอย่างงานศิลปะจากขยะ การกระตุ้นให้คนในชุมชนคิดสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน การตั้งคณะทำงานเพื่อสร้างสรรค์ผลงาน มีการประเมินผลงานที่ได้ทำขึ้นมา และจัดนิทรรศการเพื่อแสดงผลงานศิลปะชุมชนจากขยะรีไซเคิล รวมทั้งการถอดบทเรียนหลังเสร็จสิ้นการดำเนินงาน ในทุกขั้นตอนชุมชนเกิดการเรียนรู้ในด้านความเป็นผู้นำ ความคิดสร้างสรรค์ การแบ่งบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ ที่สำคัญมีความสุขและความสนุกจากการสร้างสรรค์ผลงานดังกล่าว”



นายหมวก สะสาง ผู้ใหญ่บ้านบ้านเซี๊ยะกล่าวถึงกิจกรรมในโครงการวิจัยครั้งว่า “เป็นกิจกรรมที่ดีเป็นการส่งเสริมและช่วยให้ชุมชนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสามารถต่อยอดการจัดการขยะนอกเหนือจากการใช้วิธี 3R แล้วยังสามารถนำมาประยุกต์สร้างพื้นที่ความสวยงามแก่ชุมชน เป็นศูนย์เรียนรู้แบ่งปันความรู้ให้แก่ชุมชนรอบข้างได้ รวมไปถึงขยายผลไปถึงการสร้างรายได้แก่ชุมชนเพราะตอนนี้เริ่มมีผู้สนใจหุ่นประติมากรรมนกยูงมากขึ้น และมีผู้ให้ความสนใจในการอยากจะศึกษา เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะด้วยศิลปะ ”




นายประพันธ์ แก้วมณี ผู้ใหญ่บ้านบ้านโป่ง (สันขี้เหล็ก) กล่าวว่า “การจัดกิจกรรมของโครงการวิจัยในครั้งนี้มองว่าเป็นการสร้างสรรค์วิธีการจัดการขยะอีกรูปแบบหนึ่ง นอกเหนือจากการจัดการโดยการคัดแยกขยะ เมื่อโครงการนี้ได้เข้ามาสนับสนุนจึงได้มีการต่อยอดและรู้ถึงวิธีการสร้างมูลค่าของขยะมากยิ่งขึ้น เช่น ขยะบางประเภทเมื่อแยกแล้วนำไปขายก็ได้ราคาไม่สูงมาก แต่ถ้าหากนำมาประดิษฐ์ เช่น สร้างกังหัน ก็สามารถเสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาจากเดิม รวมไปถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในยุคที่มีโรคระบาท (โควิท)ที่ต้องปรับกระบวนการทำงาน เช่น การร่วมสร้างกังหันดอกขี้เหล็กขนาด 2 เมตร และ 5 เมตร ต้องมีการสลับสับเปลี่ยนของคนในชุมชนแต่ละครัวเรือนให้มาร่วมสร้าง เพื่อลดปัญหาโรคระบาท โดยไม่จำเป็นต้องรวมกลุ่มมากมายแต่ก็สามารถทำให้ผลงานสำเร็จได้ นอกจากนี้การจัดคุ้มการเรียนรู้ก็ยังเป็นการสร้างศูนย์การเรียนรู้ในหมู่บ้านแต่ละจุด โดยการนำเสนอถึงการใช้วัสดุอุปกรณ์จากขยะรีไซเคิลที่หาได้ในชุมชนมาใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ต้องงบประมาณมาก ซึ่งสอดคล้อง หลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่หมู่บ้านใช้เป็นหลักในการดำรงชีวิต”

ศิลปะขยะจากชุมชน ไม่เพียงแค่การสร้างสรรค์ผลงานที่สำเร็จเป็นชิ้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ของความสวยงาม แต่ยังแฝงไปด้วยคุณค่า จิตวิญญาณของชุมชนที่ร่วมแรงร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รวมถึงสร้างความวิริยะ อุตสาหะ เพื่อไปถึงจุดหมายร่วมกัน ส่งผ่านผลงานที่ตราตึงจิตใจแก่ผู้พบเห็น หากท่านใดที่เดินทางผ่านมาทางชุมชนบ้านเซี๊ยะ และบ้านโป่ง (สันขี้เหล็ก) สามารถแวะชมและสนับสนุนผลงานของทั้ง 2 ชุมชนได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...