วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2565

"อธิบดีพช." กระตุ้นสร้างความพร้อมทีมงาน พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อวันพุธที่ 31 สิงหาคม 2565 ที่ห้องประชุม 3001 ชั้น 3 กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) นายสมคิด จันทมฤกอธิบดี พช. เป็นประธานการประชุม Morning Brief เพื่อหารือข้อราชการประจำสัปดาห์ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนให้บรรลุเป้าหมาย โดยมีคณะผู้บริหาร พช. เข้าร่วมการประชุม โดยกล่าวว่า ทิศทางการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน ประจำปี 2566 ตามวิสัยทัศน์ พช. “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” 

มุ่งเน้นการทำงานครบทุกมิติ ในกระบวนการ “งาน งบ ระบบ คน” เพื่อมุ่งสู่ชุมชนเข้มแข็ง (ตำบลเข้มแข็ง) “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ มีเศรษฐกิจฐานรากและมีความสุขมวลรวม ผ่านโครงการต่างๆ ของ พช. ในด้านของการบริหารจัดการชุมชน ส่งเสริมและพัฒนา สร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชน มีการรักษาระดับการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง (เดิม) ขยายผลหมู่บ้านใหม่ ขับเคลื่อนและต่อยอดพื้นที่ต้นแบบ โคก หนองนา พัฒนาชุมชน ด้วยหลัก 5 P ยกระดับศูนย์เรียนรู้ชุมชน ศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน และศูนย์สารภี เสริมสร้างความเข้มแข็งกองทุนแม่ของแผ่นดิน ส่งเสริมการพัฒนาชุมชนธรรมาภิบาล และงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ในด้านเศรษฐกิจฐานราก มีการกระตุ้นส่งเสริมโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ทั้งผู้ประกอบการ ผลิตภัณฑ์ ภูมิปัญญาผ้าไทย และช่องทางการตลาด ส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยเครือข่ายภาคี

นายสมคิด กล่าวต่อว่า ด้านเสริมขีดความสามารถทุนชุมชนธรรมาภิบาล ผ่านกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ส่งเสริมศูนย์จัดการกองทุนชุมชน รวมถึงการสืบสานรักษาและต่อยอด ผ่านโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) หมู่บ้านคนรักษ์ช้าง และผ้าไทยใส่ให้สนุก มีการพัฒนากลไกการพัฒนาชุมชน ตามโครงการประสานแผนและบูรณาการแผนตำบล บริหารจัดการฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาชุมชน/สารสนเทศตำบล ส่งเสริมและพัฒนากลุ่ม/องค์กรและเครือข่าย พัฒนาผู้นำชุมชน ผู้นำการเปลี่ยนแปลง พัฒนาคุณภาพชีวิต/ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ไขปัญหาความยากจน สัมมาชีพชุมชน ส่งเสริมการออมฯ วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีตัวชี้วัดงบประมาณ คือ 1. ประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชนเป้าหมายมีความสุขมวลรวม(GVH) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 85 2. มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 60

นายสมคิด กล่าวด้วยว่า ให้มีระบบการพัฒนาระบบฐานข้อมูล Big Data เพื่อการตัดสินใจ ระบบพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ระบบการปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ สร้างภาพลักษณ์กรมฯ และสื่อสารความเข้าใจสังคมเชิงรุก เน้นการพัฒนาคน โดยการพัฒนา Mindset & Skillsets (ทักษะเชิงยุทธศาสตร์ ทักษะตามสายงาน ทักษะด้านดิจิทัล ทักษะด้านภาวะผู้นำ มีการส่งเสริมค่านิยมองค์การ (ABCDE S&P) พัฒนาเส้นทางความก้าวหน้า ยกระดับสู่องค์กรธรรมาภิบาล ทันสมัย และมีความสุขร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนปีงบประมาณ 2566 ให้บรรลุวิสัยทัศน์ไปด้วยกัน 

https://www.banmuang.co.th/news/politic/294320


วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2565

"เพื่อไทย" จี้ "บิ๊กป้อม" เร่งแก้หนี้ "ใน-นอก" ระบบให้ตรงจุด

วันพุธที่ 31 สิงหาคม 2565 นางมนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม ในฐานะรองเลขาธิการ พรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่า อยากฝากไปยังพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ รักษาการนายกรัฐมนตรี ลงมาแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด รวม ไปถึงการออกมาตรการลดต้นทุนการเกษตรอย่างจริงใจ เพราะต้นทุนทางการเกษตกรเพิ่มสูงมากขึ้น ทั้งน้ำมันแพง ปรับค่าไฟฟ้า ปุ๋ยยูเรียราคาเพิ่มขึ้น 4 เท่าจาก 400 เป็น 1,800 บาทต่อกระสอบ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นหลายเท่าตัว แต่ราคาสินค้าเกษตรลดลง ส่งผลให้เกษตรกรไม่มีเงินทำการเกษตรต่อ เพราะยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ 

"รัฐบาลควรที่จะหาทางด้านการลดต้นทุนการเกษตรรวมทั้งหามาตรการที่จะช่วยลดภาระให้เกษตรกร ไม่ควรอ้างว่าทำไม่ได้ เพราะรัฐบาลมีเครื่องมือมากมาย แต่ทำไม่เป็น ทำให้ประชาชนลำบาก รวมทั้งเมื่อรายได้ไม่พอรายจ่าย ประชาชนต้องการหาเงิน จึงเป็นต้นกำเนิดแห่งอาชญากรรมตามมาทั้ง ยาเสพติด แก๊งค์ทวงหนี้นอกระบบหรือแก๊งค์หมวกกันน็อก โจรลักขโมย ปล้นทรัพย์ ที่เติบโตขึ้นตามระบบเศรษฐกิจที่ล่มสลาย หากรัฐไม่ทำอะไร จะส่งผลให้ซ้ำเติมความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างแน่นอน" นางมนพร กล่าว


กทม.จับมือ บพท.-พอช.สานพลังพหุภาคีแก้ปัญหาคนจนเมือง

 กทม.จับมือ บพท.-พอช.สานพลังพหุภาคีแก้ปัญหาคนจนเมือง

ดีเดย์เดือนส.ค.ในพื้นที่นำร่องเขตป้อมปราบฯ-พระโขนง-คันนายาว

บพท.บรรลุความร่วมมือกับ กทม.- พอช. รวมทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ถือฤกษ์เดือนสิงหามหามงคล เดินหน้าแก้ปัญหาคนจนเมืองแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ในพื้นที่นำร่อง 3 เขตคือป้อมปราบศัตรูพ่่าย-พระโขนง-คันนายาว โดยตั้งเป้าปูพรมฟังเสียงคนจนไม่น้อยกว่า 19,000 ครัวเรือน

นายกิตติ  สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยว่า บพท.สามารถบรรลุความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่กรุงเทพมหานครแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ด้วยองค์ความรู้ที่ บพท.ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยดำเนินการอย่างได้ผลมาแล้วใน 20 จังหวัด

“โครงการความร่วมมือแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะนำร่องใน 3 เขต คือเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย  เขตพระโขนง และเขตคันนายาว โดยมี ดร.พงษ์พิศิษฐ์  หุยากรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยชุมชนเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ และมีชุดความรู้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำใน 20 จังหวัดเป็นแม่แบบ”

ดร.พงษ์พิศิษฐ์ หุยากรณ์ หัวหน้าโครงการการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การคัดเลือกพื้นที่ 3 เขตนำร่อง ในการแก้ปัญหาความยากจนในกรุงเทพมหานคร อาศัยบทเรียนการทำงานแก้จนของ บพท.ใน 20 จังหวัดเป็นแนวทางดำเนินการ โดยคณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบการแก้ปัญหาความยากจนในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ขณะที่คณาจารย์สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง จะรับผิดชอบในเขตพระโขนง และ พอช.จะรับผิดชอบในเขตคันนายาว

“การดำเนินโครงการแก้ไขความยากจนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป โดยจะใช้ฐานข้อมูลคนจนจากข้อมูลสำมะโนประชากรของฝ่ายพัฒนาชุมชน สำนักงานเขตกรุงเทพมหานครเป็นหลัก เพื่อวางแผนปูพรมเก็บข้อมูลคนจนอย่างละเอียดให้ได้ไม่น้อยกว่า 19,000 ครัวเรือนครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 3 เขต ”    

ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครในยุคนี้มีความตั้งใจ และจริงจังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาคนจนเมือง ยิ่งกว่านั้นยังรู้สึกดีใจมากที่ได้สนับสนุนให้เกิดการแก้ปัญหาคนจนเมืองร่วมกับหลายหน่วยงาน

“กระบวนการแก้ปัญหาคนจน ที่ควรจะเป็นต้องเริ่มจากการเก็บข้อมูลก่อน แล้วนำไปวิเคราะห์และออกแบบแนวทางแก้ปัญหา โดยพยายามทำให้คนจนมีบ้าน แล้วหาหนทางช่วยเขาเข้าหาแหล่งเงินทุนได้ และช่วยพัฒนาให้เขามีอาชีพที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางที่ บพท.ได้มีประสบการณ์อยู่แล้ว “

นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครขอยืนยันว่าจะให้ความร่วมมือกับทุกภาคีเครือข่ายในการเดินหน้าแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่กรุงเทพมหานครไปด้วยกัน และยินดีที่จะรับเอาชุดความรู้ในการแก้ปัญหาความยากจนไปสานต่อ

“ผมเชื่อเสมอว่าไม่มีจุดมุ่งหมายใดที่ไหนที่เราไม่สามารถทำได้ โดยความพยายามของเรา ผมยังใช้คำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านทรงพระราชนิพนธ์ไว้ “แม้ไม่เห็นฝั่งเราก็จะว่ายไปท่ามกลางมหาสมุทร โภคะทั้งหลายไม่เสร็จเพราะเพียงคิดเท่านั้น  เพราะฉะนั้นเราจะทำโภคะให้สำเร็จเราต้องทำวันนี้ เราเริ่มจุดที่สำคัญที่เราจะเดินต่อไป หาความแม่นยำหากระบวนการที่จะทำให้งานนี้เดินต่อไปได้ ต้องขอบคุณสภาอุตสาหกรรมที่ส่งตัวแทนมาร่วม เราได้ตัวแทนจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ตัวแทนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้ตัวแทนจากทุกภาคส่วน แล้วต้องขอบคุณ บพท.และ พอช.ที่มาร่วมกัน”

Cr.เพจงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่ บพท.

2 สิงหาคม เวลา 10:10 น.  · 

10 โครงการวิจัยดีเด่นแก้จน เสริมภูมิสู้วิกฤตเศรษฐกิจฐานราก

 นายกิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า บพท. ได้ดำเนินงานร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อทำการวิจัยแนวทางแก้ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำ ร่วมกับชุมชน เอกชนและราชการส่วนท้องถิ่น โดยดำเนินการในพื้นที่20 จังหวัด จนสามารถช่วยเหลือผู้ยากจนที่ตกสำรวจแล้วกว่าแปดแสนคน

"ขอบเขตการดำเนินงานของ บพท. ครอบคลุมการส่งเสริมงานวิจัยเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และวิจัยเพื่อพัฒนาชุดความรู้ใหม่ ช่วยเหลือทั้งระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ซึ่งแปลงเป็นโครงการและกิจกรรม เช่น การส่งต่อผู้ยากจนเข้าสู่ระบบสวัสดิการของรัฐ การวิจัยเพื่อยกระดับการประกอบอาชีพ การวิจัยเพื่อส่งเสริมทักษะทางการเงิน และการวิจัยเพื่อยกระดับความสุขและความรู้ของชุมชน เป็นต้น" นายกิตติ กล่าว

ผู้อำนวยการ บพท. ชี้แจงด้วยว่า ทุกงานวิจัยที่ บพท. เข้าไปมีบทบาทให้การสนับสนุน ล้วนบรรลุเป้าหมายทั้งในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนเสริมสร้างฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ให้เกิดความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน โดย

ที่มีงานวิจัยซึ่งได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ได้รับการยกย่องเป็นงานวิจัยดีเด่น จำนวน 10 โครงการ ซึ่งสร้างผลลัพธ์ ผลสัมฤทธิ์ และผลกระทบที่ชัดเจน ในการแก้ไขปัญหาคนจนได้อย่างยั่งยืน โดยช่วยให้คนจนกว่า 90,000 คน มีที่ยืนในห่วงโซ่คุณค่า ทำให้เกิดอาชีพและสร้างรายได้ด้วยตัวเอง

ขณะเดียวกันก็ช่วยยกระดับขีดความสามารถแก่ผู้ประกอบการระดับเศรษฐกิจฐานราก ที่ต้องเผชิญวิกฤตอันเนื่องมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายด้านไปแล้วกว่า 583 ราย อีกทั้งยังก่อเกิดนวัตกรรม ที่สามารถขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรถึง 25 รายการ ทั้งนี้โครงการวิจัยดีเด่นทั้ง 10 โครงการ ครอบคลุมงานวิจัยรวม 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาเชิงระบบหรือนโยบายระดับชาติ จังหวัดหรือ ท้องถิ่น และด้านการแก้ปัญหาและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและอาชีพ รวมทั้งด้านการอนุรักษ์ พัฒนาและจัดการภูมิปัญญา ทรัพยากรและทุนของชุมชน

สำหรับโครงการวิจัยดีเด่นด้านการพัฒนาเชิงระบบหรือนโยบายระดับชาติ จังหวัด หรือท้องถิ่น ประกอบไปด้วยโครงการสร้างเมืองปูทะเล กลางวิกฤตที่ปัตตานี ของคณะวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำโดย รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม โครงการธุรกิจปันกัน เสริมสภาพคล่องด้วยวัคซีนทางการเงิน ของคณะวิจัย มหาวิทยาลัยศิลปากร นำโดย ผศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ และโครงการระบบบริหารครัวเรือนยากจน แบบร่วมมือระดับพื้นที่ของมหาวิทยาลัยกาฬสินธ์ุ นำโดย รศ.ดร.จิระพันธ์ ห้วยแสน

โครงการวิจัยดีเด่น ด้านการแก้ปัญหาและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและอาชีพ ประกอบด้วย โครงการการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผลิตผ้าไหม จังหวัดสุรินทร์ ด้วยนวัตกรรมสำหรับชุมชน ของคณะวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นำโดย ดร.ภรณี หลาวทอง โครงการปฏิบัติการกระจูดแก้จนจากข้อมูลสู่การสร้างโมเดลแก้จนแบบมีส่วนร่วมและกระบวนการเสริมพลัง จังหวัดพัทลุง ของคณะวิจัย มหาวิทยาลัยทักษิณ นำโดย รศ.ดร.สมัคร แก้วสุกแสง

โครงการผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากพื้นถิ่นมะม่วงเบา ยางพาราและพริก ของคณะวิจัย มหาวิทยาลัย ฟาฏอนี นำโดย ผศ.ดร.อนุวัติ วอลี และโครงการการพัฒนาโคเนื้อจังหวัดน่าน ด้วยกลไกความร่วมมือเชิงพื้นที่ ของคณะวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ผศ.น.สพ.ดร.วินัย แก้วละมุล โครงการวิจัยดีเด่นด้านการอนุรักษ์ พัฒนาและจัดการภูมิปัญญา ทรัพยากรและทุนของชุมชน ประกอบด้วยโครงการจัดการทรัพยากรป่าประ นบพิตำสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์และการอนุรักษ์ยั่งยืนของคณะวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชนำโดย ผศ.ดร.สมรักษ์ รอดเจริญ

โครงการ Learning City Lampang Model ของคณะวิจัย ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งลำปาง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต นำโดย ดร.ขวัญนภา สุขคร โครงการ Phayao Learning City; City of Local Wisdom ของคณะวิจัย มหาวิทยาลัยพะเยา นำโดย รศ.ดร.ผณินทรา ธีรานนท์

https://www.naewna.com/local/676750

กทม. จับมือ สสปน. ส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่ กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน กระจายรายได้

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม 2565  นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว และสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องศ์การมหาชน) (สสปน.) หารือเรื่องความร่วมมือในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร ซึ่งในที่ประชุมมีความเห็นตรงกันที่จะร่วมมือกันส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันหารือแนวทางดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เบื้องต้นจะร่วมมือกันจัดกิจกรรมในช่วงเดือน 11 และเดือน 12 ของปีนี้ก่อน จากนั้นจะมีการประเมินผลการจัดกิจกรรมและหารือแนวทางความร่วมมือสำหรับจัดกิจกรรมอื่น ๆ เพิ่มเติมต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้อุตสาหกรรมไมซ์กรุงเทพฯ เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ และระดับโลก


สำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) เป็นอีกหนึ่งสาขาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก คือ การจัดประชุม (Meeting) การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive) การประชุมนานาชาติ (Convention) และการจัดการแสดงสินค้า (Exhibition) คำว่า MICE (อุตสาหกรรมไมซ์) ย่อมาจาก M = Meeting หมายถึง การจัดประชุมของกลุ่มบุคคล หรือองค์กรโดยจะเป็นการประชุมเฉพาะกิจหรือล่วงหน้าไว้แล้ว แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การประชุมกลุ่มสมาคม (Association Meeting) กลุ่มบริษัทเอกชน (Corporate Meeting) และการประชุมกลุ่มองค์กรภาครัฐ (Government Meeting) คือ การประชุมของกลุ่มบุคคลหรือผู้แทนจากหน่วยงานราชการ ซึ่งมาจากหลาย ๆ หน่วยงานทั่วโลก I = Incentive Travel หมายถึง การจัดการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลแก่พนักงานหรือบุคคลที่สามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมายที่บริษัทวางไว้ โดยบริษัทผู้ให้รางวัลจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย C = Conventions หมายถึง การประชุมนานาชาติของกลุ่มบุคคลต่างองค์กรในสาขาอาชีพเดียวกัน หรือสมาคมวิชาชีพเดียวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็น มีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นการจัดโดยสมาคมระดับนานาชาติ และ E = Exhibitions หมายถึง การจัดงานแสดงสินค้าหรือบริการเพื่อขายให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งได้ให้ผู้เข้าชมทั่วไปได้เข้าร่วมงานด้วย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. Trade Show เป็นการแสดงสินค้าสำหรับผู้ประกอบการ 2. Consumer Show เป็นการแสดงสินค้าสำหรับลูกค้าทั่วไป


ทั้งนี้ อุตสาหกรรมไมซ์มีความสำคัญต่อประเทศอย่างยิ่ง เพราะรายได้จากอุตสาหกรรมไมซ์จัดเป็นรายได้ในภาคบริการที่มีจำนวนมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักเดินทางกลุ่มไมซ์อยู่ที่ 89,000 บาท ต่อทริป (5 – 7 วัน) ซึ่งมากกว่านักท่องเที่ยวปกติประมาณ 3 เท่า (จุฑา ธาราไชย, 2557) ทำให้เศรษฐกิจประเทศปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมีการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องด้วย จากการศึกษาพบว่ามีการสรุปความสำคัญของไมซ์ ไว้ดังนี้ ช่วยสร้างรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ทำให้ดุลการชำระเงินดีขึ้น เช่น รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายของผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นชาวต่างประเทศ ช่วยสร้างงานและกระจายรายได้ไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการดำเนินธุรกิจไมซ์จะต้องอาศัยองค์ประกอบจากหลายภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เป็นต้น ภาคเอกชน เช่น โรงแรม สถานที่จัดประชุม ผู้จัดงานการประชุมมืออาชีพ ผู้จัดงานแสดงสินค้ามืออาชีพ และบริษัทรับจัดการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล รวมถึงธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง และยังช่วยให้ประชาชนทั่วไปได้รับประโยชน์จากการลงทุนของรัฐ เมื่อมีการจัดกิจกรรมในธุรกิจไมซ์ รวมถึงช่วยสร้างรายได้ทางอ้อมให้บุคลากรสาขาอาชีพต่าง ๆ เช่น การขายของที่ระลึก ร้านอาหาร เป็นต้น พร้อมทั้งสร้างรายได้ให้รัฐในรูปแบบของภาษีเงินได้จากรายรับของธุรกิจไมซ์


ขอบคุณข้อมูลจากเพจกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

ส.ก.เพื่อไทยปลื้ม! ร่วม "ชัชชาติ" ดันนโยบายชุมชนเข้มแข็งตามแนวพอเพียงสำเร็จ

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม 2565 นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายดนุพร ปุณณกันต์ คณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่กรุงเทพมหานคร น.ส.นฤนันท์มนต์ ห่วงทรัพย์ ส.ก.เขตคลองสามวา และโฆษกสภา กทม. ร่วมกันแถลงถึงความคืบหน้าและการติดตามนโยบายที่คณะ ส.ก.พรรคเพื่อไทยผลักดัน


นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า หลังจากพี่น้องประชาชน กทม. มอบความไว้วางใจให้ ส.ก.ของพรรคเพื่อไทย มาทำงานรับใช้พี่น้องประชาชน เราจะพยายามผลักดันนโยบายต่างๆ ที่เราเคยหาเสียงไว้กับพี่น้องประชาชน และในอนาคตจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมทุกอย่างที่จะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและแก้ไขวิกฤติของประเทศ โดยพรรคเพื่อไทยยึดมั่นมาตลอดว่าทุกนโยบายเราทำเพื่อพี่น้องประชาชน และทุกนโยบายที่เรานำเสนอไปสามารถทำได้จริงตามสโลแกน พรรคเพื่อไทยหัวใจคือประชาชน


ขณะที่ น.ส.นฤนันท์มนต์ กล่าวเสริมว่า ส.ก.ของพรรคเพื่อไทย เดินหน้าผลักดันนโยบายร่วมกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) โดยเฉพาะนโยบายกองทุนพัฒนาชุมชน 2 แสนบาท ที่ทีม ส.ก.จากพรรคเพื่อไทย ผลักดันจนทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นสำเร็จ ภายใต้ชื่อที่เปลี่ยนใหม่ว่า "โครงการชุมชนเข้มแข็งพัฒนาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งจะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2566 เป็นการจัดสรรงบประมาณจำนวน 200,000 บาท ให้ 2,016 ชุมชนทั่ว กทม. ซึ่งจะคิกออฟในเดือน ต.ค.นี้


ไม่ใช่เพียงเท่านั้น ทีม ส.ก.พรรคเพื่อไทย จะเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อต่อยอดนโยบายให้คน กทม. ที่ไม่ใช่เพียงชุมชนต่อไป นอกจากนี้ ยังมีนโยบาย 437 สถานศึกษาเพื่อการศึกษาและการสร้างรายได้ ซึ่งมีการผลักดันเรียบร้อยแล้ว และจะทำให้เกิดขึ้นในปี 2566 ภายใต้ชื่อโครงการ "ฝึกอบรมวิชาชีพ 1 เขต 1 โรงเรียน" เป็นการกระจายความรู้และรายได้ให้พี่น้องประชาชนในเขต กทม. ทั้งการฝึกอาชีพ ฝึกการสร้างรายได้ ทั้งระบบออฟไลน์ และออนไลน์


มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับนครศรีธรรมราช จัดกิจกรรมสานสัมพันธ์ประชาคม พัฒนายั่งยืน

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม 2565    ที่หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี มหาวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดกิจกรรมสานสัมพันธ์ประชาคมจังหวัดนครศรีธรรมราช พบปะหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลงาน ความก้าวหน้าในการดำเนินการพัฒนาการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาจังหวัดให้โดดเด่นและยั่งยืน โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นายกนพ เกตุชาติ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครศรีธรรมราช หัวหน้าส่วนราชการ คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา และประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมฯ


โอกาสนี้ นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “จังหวัดนครศรีธรรมราชนครแห่งอารยธรรม น่าอยู่ น่าเที่ยว การเกษตรและอุตสาหกรรมยั่งยืน” โดยใช้แนวคิดการพัฒนา Soft Power ผลักดันให้วิสัยทัศน์จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม มุ่งสู่เป้าหมายใน 5 มิติ (5P) คือ 1) Planet ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2) People ด้านสังคม ความเป็นอยู่ของประชาชน 3) Prosperity ด้านเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง 4) Peace สันติภาพ และ 5) Partnership หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา


จากนั้นศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “30 ปี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ” ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความมุ่งมั่นในการดำเนินภารกิจในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพเพื่อรับใช้สังคมในวงกว้าง รวมทั้งงานวิจัยที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศและนานาชาติ ตลอดจนงานบริการวิชาการแก่สังคมที่สนับสนุนการเติบโตของจังหวัด และประเทศอย่างมั่นคง แข็งแรง และการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นภารกิจที่เป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช


ข้อมูลข่าวและที่มา https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220830203952806

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ผนึกกำลัง โลตัส รับซื้อ "ฟักทอง" จากเกษตรกรในโครงการอมก๋อยโมเดล

เครือซีพี โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ผนึกกำลังกลุ่มธุรกิจในเครือฯ บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) เข้ารับซื้อ "ฟักทอง" ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรในโมเดลเกษตรมูลค่าสูง จากโครงการ "อมก๋อย โมเดล" ในพื้นที่บ้านผีปานเหนือ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยเป็นกระบวนการรับซื้อโดยตรงจากเกษตรกร เพื่อเพิ่มช่องทางด้านการตลาดและสร้างรายได้ที่เป็นธรรมและมั่นคงให้กับกลุ่มเกษตรกรในโครงการฯ โดยในครั้งนี้เป็นผลผลิตล็อตแรก จากเกษตรกรรุ่นที่ 1-2 จำนวน 7.73 ตัน บนพื้นที่ 5 ไร่ โดยสามารถสร้างรายได้กว่า 110,000 บาท และส่งจำหน่ายที่ศูนย์กระจายสินค้าโลตัส เขตภาคกลาง


นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า โมเดลเกษตรมูลค่าสูง เป็นยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนให้เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็ง ผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้การดำเนินงานโครงการ "อมก๋อย โมเดล" สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ นอกจากนี้ยังสนับสนุนต่อยอดให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรนำไปสู่กิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ให้มีความยั่งยืนในด้านการดำเนินธุรกิจ สามารถมีรายได้ที่มั่นคง และคืนผลประโยชน์นั้นให้แก่สังคมและชุมชนต่อไป


การดำเนินงานดังกล่าวฯ เครือซีพี ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจโลตัส ในการลงพื้นที่เพื่อเพิ่มองค์ความรู้และเตรียมความพร้อมของเกษตรกร ด้วยการให้คำแนะนำการผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง รวมถึงรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร รับซื้อและจัดการผลผลิตอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างรายได้ที่เป็นธรรมแก่เกษตรกร โดย "ฟักทอง" เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ หรือ Good Agriculture Practices (GAP) ตรงตามมาตรฐานที่โลตัสกำหนด ทั้งขนาด น้ำหนัก สีผิว รวมทั้งเนื้อฟักทองสีสวย นอกจากนี้ในเดือนกันยายน 2565 จะมีผลผลิตจากรุ่นที่ 3-4 อีกกว่า 16 ตัน ซึ่งสามารถสร้างรายได้เพิ่มอีกกว่า 144,000 บาท


ทั้งนี้ โครงการ "อมก๋อย โมเดล" สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิฯ ยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนโครงการ เพื่อฟื้นฟู รักษาป่าต้นน้ำในพื้นที่อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อพัฒนาผลผลิตและเพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน


https://siamrath.co.th/n/378252


ศีขรภูมิสุรินทร์ จัดกิจกรรมเชื่อมโยงอาหารปลอดภัย โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม ร้านอาหาร เชื่อมโยงผู้ผลิตกับลูกค้า

วันที่ 30 สิงหาคม 2565 นายสมพร พูลเพิ่ม พัฒนาการอำเภอศีขรภูมิ มอบหมายให้นางสุนทรี นวนิล นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ และนางสาวธันยพร แสนปลื้ม นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ ดำเนินโครงการส่งเสริมการสร้างรายได้จากกิจกรรมอาหาร กิจกรรมที่ 2 จัดกิจกรรมเชื่อมโยงอาหารปลอดภัย โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม ร้านอาหาร การเชื่อมโยงผู้ผลิตกับลูกค้า โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อน “ส่งเสริมการสร้างรายได้จากกิจการอาหารปลอดภัย” ระหว่างนายสนิท ตุ้มทอง บ้านเลขที่ 103 หมู่ที่ 9 บ้านอำปึล ตำบลตากูก อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ กับกลุ่มเกษตรพอเพียงบ้านบุละลาย โดย นายมานพ เจือจันทร์ ณ ครัวเรือนนายมานพ เจือจันทร์ บ้านเลขที่ 49 บ้านบุละลาย หมู่ที่ 11 ตำบลแตล อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ โดยได้รับเกียรติจากภาคีภาคส่วนในการเป็นสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว จากคณะกรรมการเครือข่ายโคก หนอง นาโมเดลตำบลแตล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแตล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแตล บ้านนาท่ม กำนันตำบลแตล เกษตรตำบลแตล ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีตำบลแตล ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. และราษฎรบ้านบุละลาย หมู่ที่ 11 ตำบลแตล


ข้อมูลข่าวและที่มา https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220830205135811

สุรินทร์เตรียมเชื่อมโยงตลาดกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ และกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวอินทรีย์

วันที่ 30 สิงหาคม 2565 นางพิรุณวรรณน์ จงใจภักดิ์ พาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ มอบหมายให้กลุ่มกำกับและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า ร่วมประชุมการเชื่อมโยงตลาดกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่และกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อให้โครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร กิจกรรมการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร ปีการผลิต 2565/66 บรรลุวัตถุประสงค์ ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยข้าวจังหวัดสุรินทร์ โดยได้ร่วมชี้แจงรายละเอียดให้แก่ ผู้ประกอบการค้าข้าวและกลุ่มเกษตรกรให้เข้าใจก่อนทำสัญญาซื้อขายข้าว(MOU) ระหว่างกันในวันที่ 8 กันยายน 2565


ข้อมูลข่าวและที่มา - https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220830192537759

"ประวิตร" สั่งคลังแยกสถานะลูกหนี้ครัวเรือนแก้ให้ตรงเป้า ศธ.จับมือ ธ.ออมสินจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู

วันที่ 30 สิงหาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกฯ มีข้อสั่งการ และมอบหมายให้กระทรวงการคลังไปดูเรื่องหนี้ครัวเรือน 

โดยแยกสถานะของลูกหนี้ ทั้ง NPL หรือส่วนอื่น ๆ ที่ยังสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ เพื่อหามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ และแก้หนี้ได้ตรงเป้า


มอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และกระทรวงมหาดไทย รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้หาแนวทางส่งเสริมการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ เพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก


ศธ.จับมือ ธ.ออมสินจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู


 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษาว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้หารือกับธนาคารออมสินล่าสุดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีความเห็นร่วมกันว่าต้องมีมาตรการเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนสูง ได้แก่ กลุ่มลูกหนี้ของธนาคารออมสินกลุ่มที่มีคดีพิพาทก่อนฟ้องและหลังศาลมีคำพิพากษาเป็นลำดับแรก ซึ่งมีจำนวน 6,331 ราย และหากรวมผู้ค้ำประกันด้วย จะมีจำนวนมากถึง 20,000 ราย ให้ได้รับความช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ได้เข้ามาไกล่เกลี่ย เจรจา ปรึกษา ปรับโครงสร้างหนี้ หาข้อยุติการบังคับคดีและแก้ไขปัญหาหนี้สินร่วมกัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น


น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า ธนาคารออมสินและ ศธ. จึงกำหนดให้มีการจัดงาน"มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู ปิดเทอม เรื่องหนี้ มีทางออก" ในเดือนกันยายน 2565 จะจัดงานจำนวน 1- 3 จังหวัด ณสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งเป็นสถานีแก้หนี้ และจัดงานพร้อมกันทุกจังหวัดในเดือนตุลาคม2565 โดย ศธ.จะจัดส่งรายชื่อลูกหนี้ของธนาคารออมสิน แบ่งเป็น กลุ่มที่มีคดีพิพาทก่อนฟ้องและหลังศาลมีคำพิพากษาที่อยู่ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ให้กับสถานีแก้หนี้ เพื่อเชิญลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวและผู้ค้ำประกันเข้าร่วมงาน เพื่อไกล่เกลี่ยหนี้ ตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด


"ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าร่วมงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครูครั้งนี้ จะได้รับสิทธิประโยชน์เบื้องต้น ได้แก่ การขยายเวลาการชำระหนี้ ลดเบี้ยปรับ ลดดอกเบี้ยและลดค่างวดรายเดือน ไม่ถูกฟ้อง ไม่ถูกบังคับคดี งดยึดทรัพย์สิน งดขายทอดตลาด และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น การถอนจากการเป็นผู้ค้ำประกันโดยการยอมรับชำระหนี้เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้อง การปิดสัญญาชำระหนี้ เป็นต้น โดยมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู ครั้งนี้ จะช่วยให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารออมสิน สามารถพูดคุยตกลงแก้ไขปัญหาหนี้กับธนาคารออมสินได้ โดยไม่ต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ไม่เสียเวลา และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในการสู้คดี ขณะเดียวกันธนาคารออมสินยังคงได้รับประโยชน์จากการที่ได้รับชำระหนี้คืน เพราะลูกหนี้ก็ยังคงต้องผ่อนชำระหนี้อย่างต่อเนื่องเช่นเดิม" น.ส.ตรีนุช กล่าว


วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2565

พช. กระตุ้นเศรษฐกิจ ชวนเที่ยวไทยวิถีใหม่ กับสุดยอด ๑๐๐ ชุมชน OTOP นวัตวิถี

กรมการพัฒนาชุมชน ขับเคลื่อนชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้ดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ภายใต้ชื่องาน “โอทอปนวัตวิถี ดีเกินร้อย เที่ยวไทยวิถีใหม่ 100 ชุมชน” ณ : ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ


นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) มีกรอบแนวคิด ด้านการสร้างความสามารถ ในการแข่งขัน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาภาคการผลิตและบริการให้สามารถแข่งขันได้ เกิดความยั่งยืน ประชาชน มีคุณภาพชีวิต และมีรายได้ที่ดีขึ้น รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน มีแนวทางเสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันในเชิงธุรกิจของภาคบริการ และพันธกิจกระทรวงมหาดไทย ข้อ 4. เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนภารกิจอำนาจหน้าที่ของกรมการพัฒนาชุมชน ในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ รวมทั้งเสริมสร้างความสามารถและความเข้มแข็งของชุมชน


กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดทำโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนได้รับการพัฒนาอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและเสริมสร้างศักยภาพชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ในการพัฒนาอาชีพ และสร้างอาชีพในชุมชน สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนให้เป็นเครือข่ายและส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่สร้างความเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวในแต่ละท้องถิ่นอันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นในระยะยาว โดยมีกระบวนการขับเคลื่อนโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.การพัฒนาบุคลากรด้าน


การท่องเที่ยว 2.การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวก 3.การพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว 4.การเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวแต่ละท้องถิ่น และ 5 .การส่งเสริมการตลาดชุมชนท่องเที่ยวและมีการจัดประเภทชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ออกเป็น 4 ประเภท ได้ ประเภท A (ชุมชนท่องเที่ยวดาวเด่น) ประเภท B (ชุมชนท่องเที่ยวดาวรุ่ง) ประเภท C(ชุมชนโดดเด่นเฉพาะ) ประเภท D (ชุมชนสินค้า OTOP) โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จำนวน 3,680 หมู่บ้าน ทั่วประเทศไทย


โดยในปีงบประมาณ 2565 กรมการพัฒนาชุมชนกำหนดดำเนินการโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ในชื่อโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ดังนี้


กิจกรรมแรก ส่งเสริมกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากชุมชนท่องเที่ยวด้วยแนวคิดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยว ลงมือปฏิบัติ (D – HOPE) ซึ่งมีรายละเอียดกิจกรรมย่อย 5 กิจกรรม ได้แก่


1.การพัฒนาศักยภาพการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ (D – HOPE)


2.การค้นหาผู้จัดโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Champ) ผลิตภัณฑ์เด่นและการทดสอบโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์


3.การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ (D – HOPE)


4.การยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว


5.ประเมินผลการดำเนินงานแบบเสริมพลัง (Empowerment Evaulation : EE)


กิจกรรมที่สอง ผลิตสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์แหล่งชุมชนท่องเที่ยว


กิจกรรมที่สาม จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนท่องเที่ยว


โครงการฯดังกล่าวมีกระบวนการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวOTOP นวัตวิถี ในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านพัฒนาคน พัฒนาผลิตภัณฑ์ และการเพิ่มช่องทางการตลาด โดยกิจกรรมที่สามซึ่งเป็นกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น จึงเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อแสดงความสำเร็จของการดำเนินโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมนั่นเอง


กิจกรรมจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนท่องเที่ยว ภายใต้งานโอทอปนวัตวิถี ดีเกินร้อย เที่ยวไทยวิถีใหม่ 100 ชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ประชาสัมพันธ์โปรแกรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Champ) และ


เพิ่มช่องทางการเข้าถึงชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศอีกทั้งเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดเชิงบูรณาการ โดยในปีนี้กรมการพัฒนาชุมชน คัดเลือกชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ที่ผ่านการส่งเสริมกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากชุมชน


ท่องเที่ยวด้วยแนวคิดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ (D – HOPE) ปี 2565 จำนวน 100 ชุมชน เช่น บ้านศรีดอนมูล จังหวัดลำปาง ที่มีความโดดเด่นเรื่องแหล่งน้ำแร่ธรรมชาติ ตั้งอยู่ใกล้อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ,บ้านหนองบัวชุม จังหวัดกาฬสินธุ์ ชุมชนใกล้เขื่อนลำปาว มีกิจกกรมล่องแพ เมนูเด็ดปลาส้มที่ทำจากปลานิลสดๆจากเขื่อนลำปาว ,บ้านพุแค จังหวัดสระบุรี ชุมชนเมืองสมุนไพรใกล้กรุงเทพมหานคร และบ้านทุ่งหยีเพ็ง ชุมชนประมงบนเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ที่สามารถเที่ยวชมธนาคารปูได้อีกด้วย


งานโอทอปนวัตวิถี ดีเกินร้อย เที่ยวไทยวิถีใหม่ 100 ชุมชนกำหนดดำเนินการ ระหว่างวันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม – วันศุกร์ 2 กันยายน 2565 ระหว่างเวลา 08.00 – 18.00 น. ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร โดยรูปแบบการจัดงานประกอบไปด้วย 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่


1. กิจกรรมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งจะได้พบกับผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ผ่านการพัฒนาตามกิจกรรมที่ 1.4 การยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว จำนวน 200 ผลิตภัณฑ์ และสินค้าจากชุมชนท่องเที่ยว 100 ชุมชน อีกมากมาย


2.กิจกรรมสาธิตโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Champ) จาก 100 ชุมชน การทดลองทำลูกประคบ จังหวัดลำพูน ทำตุ๊กตาไทลื้อ ปิ้งข้าวแค้ป (ข้าวเกรียบ) จังหวัดพะเยา การระบายสีหัวโขนจากจังหวัดอ่างทอง และยาดมสมุนไพรจากไม้หอม จังหวัดปัตตานี เป็นต้น


3. กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ เป็นการเชิญหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยว เช่น บริษัททัวร์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด พาโกด้า วิว จังหวัดเชียงใหม่ ,บริษัท โค แวน เคสเซ่ล บางกอก ทัวร์ จำกัด กรุงเทพฯ ,รายการบันทึกท่องเที่ยว ,นิตยสารเที่ยวกันเถอะเรา รวมถึงนักวิชาการที่จะมาเสริมความด้านการท่องเที่ยวจากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม และมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นต้น โดยกรมการพัฒนาชุมขนกำหนดจัดกิจกรรม 5 วันตลอด


การจัดงาน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีได้มีการจับคู่ธุรกิจกับภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว


4. กิจกรรมการประกวดคลิปวีดิโอ ส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีภายใต้แนวคิด “ชุมชนนวัตวิถี มีดีเกินร้อย” เป็นกิจกรรมที่จุดประกายให้คนในชุมชนหันมาประชาสัมพันธ์ชุมชนของตนเองถ่ายทอดผ่านคลิปวีดิโอสั้นๆ 5 นาที อีกทั้งกรมฯ ยังมีการมอบเงินรางวัล จำนวน 3 รางวัล สำหรับผู้ชนะการประกวดคลิปในงานนี้อีกด้วย


5. กิจกรรมมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินดังเวลา 16.30 น. ทุกวันตลอดการงาน เช่น เต๋า ภูศิลป์ พั้นซ์ วรกานต์ ตรี ชัยณรงค์ เป็นต้น


6.กิจกรรมชิงโชค เมื่อซื้อสินค้าภายในงานครบ 500 บาท รับคูปองชิงโชค 1 ใบ ลุ้นรับรางวัลใหญ่ เป็นทองคำรูปพรรณ มูลค่า 20,000 บาท


7. กิจกรรมการแสดงศิลปะพื้นบ้านจาก 5 ภูมิภาคทั่วไทย


ซึ่งความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมคือการที่ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีมีพลังในการขับเคลื่อนชุมชนของตนเอง มีทักษะความรู้ด้านการบริหารการท่องเที่ยว มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวโดยการจัดนิทรรศการแบบกระจายที่ผู้บริโภคได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง (Decentralized Hands – On Program Exhibition : D – HOPE) จนเกิดโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน และการประชาสัมพันธ์ชุมชนของตนให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักในวงกว้างขึ้นอีก ด้วยตัวของคนในชุมชนเอง รวมทั้งการสร้างช่องทางการตลาดเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากต่อไปหากสนใจติดตามชุมชน ท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี สามารถเข้าไปท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ www.OTOPTRAVEL.net


ขอเชิญชวนทุกท่านมาเที่ยวชมงานโอทอปนวัตวิถีดีเกินร้อย เที่ยวไทยวิถีใหม่ 100 ชุมชน ระหว่างวันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม – วันศุกร์ 2 กันยายน 2565 ระหว่างเวลา 08.00 – 18.00 น. ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 


https://www.innnews.co.th/news/news-general/news_400504/

 


 

"ศคง." แนะวิธี "แก้หนี้" แบบยั่งยืน อย่ากู้มาโปะซ้ำซาก หลุดจากวงจรเงินผ่อนยาก

 



เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 65 ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ศคง. ได้เผยแพร่ข้อมูล เรื่องการจัดการหนี้ โดยระบุว่า เวลาไม่มีทางออกเรื่องการจ่ายหนี้ เรามักนึกถึงการกู้มาโปะเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เอาตัวรอดเป็นงวดๆ ไป ทั้งนี้ ถ้าเราคิดไม่รอบคอบ วางแผนไม่ดี อาจกลายเป็นเพิ่มภาระหนี้ให้มากกว่าเดิม ดังนั้นก่อนคิดจะกู้หนี้ไปโปะหนี้ ต้องไตร่ตรองให้ดี ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกู้มาโปะหนี้บัตรเพื่อมีวงเงินหมุนเวียนไว้ใช้ต่อ หรือ กู้มาจ่ายหนี้ เพราะไม่อยากให้เสียเครดิต แม้ความจริงจะจ่ายไม่ไหว


โดย ศคง. แนะนำให้ลองวิธีแก้ปัญหาหนี้แบบอื่น เช่น เจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอลดดอกเบี้ย พักเงินต้น หรือแปลงหนี้บัตรเป็นสินเชื่อระยะยาว รวมไปถึงดูมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เช่น และแก้หนี้บัตรกับโครงการคลินิกแก้หนี้


สำหรับคุณสมบัติผู้เข้าร่วม "โครงการคลินิกแก้หนี้" มีดังนี้


เป็นบุคคลธรรมดา ที่มีรายได้ อายุไม่เกิน 70 ปี

เป็นหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มี หลักประกันของสถาบันที่เข้าร่วมโครงการ

เป็นหนี้เสีย (NPL) ก่อน 1 เม.ย. 65 (ตามรายงานเครดิตบูโร ณ เดือน มี.ค. 65 ต้องมีสถานะค้างชำระ 91-120 วันขึ้นไป)

หนี้รวมไม่เกิน 2 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ส่วนลูกหนี้ที่มีประวัติการจ่ายหนี้ตามปกติ แต่คิดว่าผ่อนไม่ไหว ทางแบงก์ชาติแนะนำให้ติดต่อกับธนาคารโดยตรง เพื่อทำการ "รวมหนี้" โดยการรวมหนี้แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบหลัก คือ


1. การรวมหนี้ภายในสถาบันการเงินเดียวกัน


2. การรวมหนี้ระหว่างสถาบันการเงิน โดยโอนหนี้บัตรจากธนาคารแห่งหนึ่งไปรวมกับหนี้บ้านของธนาคารอีกแห่งหนึ่ง หรือจะเป็นการโอนหนี้บ้านไปรวมกับหนี้บัตรก็ได้


3. การโอนหนี้บ้านและหนี้สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นไปรวมกันที่สถาบันการเงินแห่งใหม่ที่ลูกหนี้ไม่เคยมีหนี้ด้วยมาก่อน


โดยมีหลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับลูกหนี้ ดังนี้


1. ลูกหนี้สามารถรวมหนี้ได้ไม่เกินมูลค่าของหลักประกัน ทั้งนี้ หากยอดหนี้ของสินเชื่อรายย่อยสูงกว่ามูลค่าหลักประกันสามารถขอรวมหนี้บางส่วนได้


2. ลูกหนี้ต้องให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็น เช่น ชื่อเจ้าหนี้ ยอดหนี้คงค้าง แก่ธนาคารที่ทำการรวมหนี้


3. ลูกหนี้อาจถูกพิจารณาปรับลดวงเงินส่วนที่นำไปรวมหนี้ เพื่อให้อยู่ในระดับที่ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการได้


อย่างไรก็ตาม แนะนำให้คุยกับธนาคารโดยตรง เพราะการออกแบบเรื่องการรวมหนี้นั้นจะพิจารณาและทำเป็นรายบุคคคล โดยสามารถดูรายละเอียดธนาคารที่เข้าร่วมโครงการได้ที่นี่ มาตรการสนับสนุนการรีไฟแนนซ์ และการรวมหนี้


ขอบคุณข้อมูลจาก ศคง. 1213

"ประวิตร" ร่วมประชาสัมพันธ์โครงการ แรงงานพันธุ์ดีตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง



"ประวิตร" "รักษาการนายกฯ" ร่วมประชาสัมพันธ์โครงการ แรงงานพันธุ์ดีตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง เป็นประธานประชุมครม.ไม่นั่งที่ "นายกฯ"  ขณะที่ "ประยุทธ์" ร่วมประชุมผ่านคอนเฟอเรนซ์ 

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม 2565 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นครั้งแรก ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี กรณีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี แต่ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง รมว.กลาโหม ได้


โดยก่อนการประชุม พล.อ.ประวิตร ได้โบกมือทักทายสื่อมวลชน แต่ไม่ได้ตอบคำถามใดๆ ขณะที่ร่วมประชาสัมพันธ์โครงการแรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง วันที่ 30 สิงหาคม 2565  สำหรับการแสดงนิทรรศการโครงการแรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอพียง ในครั้งนี้ มีสถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการฯ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท น้ำตาลสระบุรี จำกัด และ บริษัท ไทยแสตนเลย์ การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) สืบเนื่องจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุญาตให้กระทรวงแรงงานดำเนินโครงการแรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมให้นายจ้าง ลูกจ้างได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยการส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ได้แก่ ที่ดิน

หรือพื้นที่ว่างเปล่าบริเวณสถานประกอบกิจการเพื่อเพาะปลูกพืชผักสวนครัว พืชผลทางการเกษตรหรือเลี้ยงสัตว์ และนำผลผลิตมาใช้สำหรับบริโภคเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการครองชีพ อันเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจพอเพียง 


โอกาสนี้ พล.อ.ประวิตร ได้ชื่นชมสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวที่ได้ส่งเสริมให้นายจ้าง ลูกจ้างน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ทำให้สามารถพึ่งพาตนเอง มีภูมิคุ้มกัน ลดค่าใช้จ่ายในการครองชีพได้อีกด้วย

       

 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผลการดำเนินงานใน ปี 2564 ซึ่งเป็นปีแรกที่ดำเนินโครงการ มีสถานประกอบกิจการเข้าร่วม จำนวน 99 แห่ง จึงได้มีการคัดเลือกสถานประกอบกิจการ 9 แห่ง ให้เป็นต้นแบบ โครงการแรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง และในปี 2565 มีสถานประกอบกิจการเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม จำนวน 303 แห่ง ปัจจุบันมีสถานประกอบกิจการเข้าร่วมโครงการแล้วทั้งสิ้น จำนวน 402 แห่ง สำหรับแนวทางการดำเนินงานในปี 2566 กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินการส่งเสริมสถานประกอบกิจการทั่วประเทศให้เข้าร่วมโครงการแรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 300 แห่ง

       

ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า โครงการดังกล่าว สามารถสร้างประโยชน์ร่วมกัน ในการปลูกฝังแนวทางการดูแลคุณภาพชีวิตของลูกจ้างให้มีความสุขในการทำงาน มีความมั่นคง มีภูมิคุ้มกันที่ดีสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน หากสถานประกอบกิจการใดสนใจสามารถขอรายละเอียดการดำเนินโครงการเพิ่มเติม ได้ที่ กองสวัสดิการแรงงาน โทร. 0 2660 2177


พล.อ.ประวิตร จากนั้นได้เข้าห้องรับรองสีเหลือง ตึกสันติไมตรี โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เข้าพูดคุยด้วย ก่อนจะเดินออกมาผ่านสื่อมวลชนที่รอสังเกตการณ์ ซึ่งพล.อ.ประวิตร มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้าร่วมประชุมครม.ด้วยหรือไม่พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า จะประชุมผ่านคอนเฟอเรนซ์


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าพล.อ.ประยุทธ์ เข้าทำงานที่กระทรวงกลาโหมในวันเดียวกันนี้ และร่วมประชุมครม.ผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ ขณะที่พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธานในที่ประชุมนั้น ไม่ได้เข้าไปนั่งเก้าอี้ของนายกฯ แต่นั่งเก้าอี้รองนายกฯ ที่เดิม

สำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับทุกภาคส่วน"โสภณ ซารัมย์"แก้จนตามแนวพอเพียง

วันที่ 29 สิงหาคม 2565 ที่บ้านสวนฟรุ๊ตการ์เด้นส์ ตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลายมาศ นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 4 จังหวัดบุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย เป็นประธานเปิดการสัมมนาการปรับตัวและการรับฟังปัญหาของแรงงานภาคการเกษตร ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมี นายสมบูรณ์ ซารัมย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรณ์ เขต 3 จังหวัดบุรีรัมย์, นายดำรง ปลั่งกลาง เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์, นายไพศาล แก้วบุตรดี หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช คณะเจ้าหน้าที่ และเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 100 คน เข้าร่วมกิจกรรม


โดยการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ ได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ เกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ผู้เข้ารับการอบรม รวมถึง แนวคิดการปรับตัว, การรับทราบถึงสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายแรงงาน และการยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคงตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม เพื่อให้สามารถปรับตัวภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถดำรงชีพได้อย่างมั่นคง รวมถึงเป็นการรองรับแรงงานคืนถิ่น หลังจากได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างงาน เนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจซบเซาเพราะภาวะโรคโควิด-19 ซึ่งการประกอบอาชีพด้านการเกษตรกลายเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้แรงงานในระบบก้าวออกมาสู่การเป็นแรงงานนอกระบบ เพื่อดำรงชีวิตและประกอบอาชีพตามวิถีปกติใหม่


ข้อมูลข่าวและที่มา https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220829202458337

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2565

"เพื่อไทย" แนะรัฐบาลทำนโยบายให้ตรงปก เปิดลงทะเบียนบัตรคนจนรอบใหม่อย่าหวังแค่หาเสียง

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม 2565   นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสถานการณ์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ว่า หากพรรคเพื่อไทยบริหารประเทศ ทุกวันนี้เราจะเร่งสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และขยายโอกาสให้ประชาชน เรามีนโยบายที่พร้อมจะเปิดตัวทยอยสื่อสารกับประชาชน มั่นใจได้ว่าทุกนโยบายทำได้จริง เพราะการคิดอย่างรอบคอบและสร้างสรรค์ก่อนทำเป็นนโยบายหาเสียง และทำให้ได้ตามที่สัญญากับประชาชนไว้ คือสิ่งที่เรายึดมั่นและได้รับการยอมรับจากประชาชนมาโดยตลอด

 https://www.banmuang.co.th/news/politic/293987

รมว.คลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานธนาคารน้ำใต้ดินกำแพงเพชร

วันที่ 28 สิงหาคม 2565  นายเชาวลิตร แสงอุทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมด้วยนายนพดล ชินบุตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ โครงการผลิตบนฝั่ง (ประเทศไทย) และคณะผู้บริหาร ปตท.สผ. ร่วมให้การต้อนรับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ ในโอกาสเลงพื้นที่ตรวจติดตาม รับฟังบรรยายสรุป การบริหารจัดการน้ำด้วยระบบธนาคารน้ำใต้ดิน ที่องค์การบริหารส่วนตำบลวังหามแห อำเภอขาณุวรลักษบุรี โดยมีนายบุญช่วย หอมยามเย็น รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ร่วมให้การต้อนรับ ก่อนที่จะเดินทางติดตามดูธนาคารน้ำระบบบ่อปิด ป่าชุมชนบ้านเขาพริก ธนาคารน้ำใต้ดินระบบบ่อเปิด (ประปาหมู่บ้าน หมู่ที่ 6 ) และสิริปัญโญ บาราย

 

ข้อมูลข่าวและที่มา-https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220829100804099

คก.คัดเลือกกลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบดีเด่นฯ ชื่นชมการดำเนินงานของจังหวัดสกลนคร



วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม 2565  นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นำทีมสกลนคร ประกอบด้วยเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสกลนคร เกษตรจังหวัดสกลนคร หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอำเภอพรรณานิคม หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ สถาบันการศึกษา ร่วมให้ข้อมูลและต้อนรับคณะกรรมการคัดเลือกกลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2565 ซึ่งมีกำหนดลงพื้นที่คัดเลือกกลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบดีเด่น ระดับประเทศ โดยมี นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหัวหน้าคณะฯ ลงพื้นที่ ณ กลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน บ้านคำข่า หมู่ที่ 4 ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นกลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน ของจังหวัดสกลนคร ระยะที่ 1 ที่ได้ผ่านการคัดเลือก จาก 24 จังหวัด 114 กลุ่ม ทั่วประเทศ เหลือ 5 กลุ่ม แข่งขันระดับประเทศ โดยจังหวัดสกลนครเป็น 1 ใน 5

นายครองศักดิ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ ได้เห็นถึงความเข้มแข็ง ความซื่อสัตย์ และความรักความสามัคคีของคนในชุมชน ซึ่งนอกจากจะสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านอาชีพ อย่างการทำนา ทำไร่ แบบเกษตรอินทรีย์ และการทอผ้าย้อมครามแล้ว ที่นี่ยังมีจุดเด่นและมีความเข้มแข็งในเรื่องของการบริหารกองทุน โดยใช้เงินกองทุนตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับพระราชทาน มีการบริหารจัดการ เฉลี่ยปันผลให้กับผู้กู้ ผู้ฝาก มีสวัสดิการให้กับสมาชิก โดยมีสถาบันการเงินเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงและให้การสนับสนุน เชื่อว่าจะเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มอื่น ๆ ได้มาศึกษาเรียนรู้ได้


ทั้งนี้ จังหวัดสกลนคร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสกลนคร ได้ขับเคลื่อนกลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน ทั้งหมด 5 ระยะ โดยระยะที่ 1 ปี 2556 กลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน บ้านคำข่า ระยะที่ 2 ปี 2557 กลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน บ้านหนองแข้ ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ ระยะที่ 3 ปี 2558


กลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน บ้านพรสวรรค์ ตำบลปลาโหล อำเภอวาริชภูมิ ระยะที่ 4 ปี 2559 กลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน บ้านประชาสุขสันต์ ตำบลขมิ้น อำเภอเมืองสกลนคร และ ระยะที่ 5 ปี 2560 กลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน บ้านโคกสามัคคี ตำบลต้นผึ้ง อำเภอพังโคน


ข้อมูลข่าวและที่มา https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220828164111996

 


ภูมิใจไทยพัทลุง เคาะถึงประตูบ้าน หอบ 8 นโยบายเข้าหาประชาชน

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม 2565 นายปะเทือง มนตรี ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ภูมิใจไทย เขต 3 จ.พัทลุง ได้เปิดตัวกับประชาชนหมู่ที่ 11 บ้านควนล่อน เทศบาลตำบลควนเสาธง อ.ตะโหมด โดยเข้าเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงในบ้าน ได้แนะนำชี้แจงกับประชาชน 2 นโยบาย ต่อ 1 เดือน จนครบ 8 นโยบายของพรรคภูมิใจไทย โดยเดือนสิงหาคมนี้คือ 1. นโยบายพักหนี้ ปลอดดอกเบี้ย 3 ปี รายละ 1 ล้านบาท แต่เดิมพักหนี้แต่เกษตรกร แต่ต่อไปจะพักหนี้ไม่เฉพาะเกษตรกร จะพักหนี้ให้กับผู้เป็นหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เหตุเพราะต่างประสบปัญหากับสถานการณ์โควิด -19 มาร่วม 3 ปี 2. นโยบายภาษีบ้านเกิดเมืองนอน โดยภาษีที่เสียไปจะต้องคืนให้กับบ้านเกิด 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำมาเป็นงบประมาณบำรุงพัฒนาบ้านเกิด โดยนโยบายนี้จะต้องนำมาปฏิบัติเมื่อได้เป็นรัฐบาล  

วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2565

ธ.ก.ส. สั่งทุกสาขาออกแบบ-จัดการเชิงพื้นที่ "แก้หนี้แก้จน" ช่วยลูกค้าก้าวข้ามวิกฤต

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ให้ ธ.ก.ส. ทุกสาขาบูรณาการการออกแบบ-การจัดการเชิงพื้นที่ "แก้หนี้ แก้จน" D&MBA : Design & Manage by Area ภายใต้แผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ในชุมชน และเน้นการเชื่อมโยงกับหัวขบวนตามแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดกระบวนการผลิต การจ้างงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำจนถึงปลายน้ำ

โดยเจาะลึกไปที่ Problem Based : ปัญหา/ความต้องการ โดยศึกษาสาเหตุที่แท้จริง เรียงลำดับความสำคัญของปัญหา กำหนดแนวทางแก้ไขโดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง Possibility : ความเป็นไปได้/สมเหตุสมผล Potential : ศักยภาพของชุมชน หมายถึง ชุมชนที่เป็นเป้าหมาย จะต้องมีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนแผนงานตามแนวทางที่ได้กำหนดร่วมกันของคนในชุมชน เช่น ความพร้อมของผู้นำหรือแกนนำชุมชน หัวขบวนขับเคลื่อนธุรกิจชุมชน เป็นต้น Participation : เน้นการมีส่วนร่วมคนในชุมชนรวมทั้งมีภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน เครือข่ายทางสังคม ให้การสนับสนุนการพัฒนา และ Purpose : เป็นเรื่องสำคัญ ที่คนในชุมชนได้รับประโยชน์ นี่คือหลักหรือแนวทางที่ผู้จัดการสาขา ธ.ก.ส. ทุกสาขาต้องไปออกแบบ เพื่อเข้าไปดูแลและร่วมแก้ไขปัญหาไปพร้อม ๆ กับชุมชน


นายธนารัตน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของเครื่องมือที่ ธ.ก.ส. เข้าไปสนับสนุน ประกอบด้วยการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ในช่วงขาขึ้นขณะนี้ออกไปให้นานที่สุด เพื่อจูงใจให้ลูกค้ารักษาประวัติการชำระหนี้ที่ดีไว้ เพื่อลดความกังวลใจในเรื่องหนี้ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้ลูกค้าสามารถชำระหนี้ได้ตามศักยภาพ การไกล่เกลี่ยหนี้ การจัดทำคลินิกหมอหนี้ เพื่อลดหนี้ครัวเรือน การให้คำปรึกษาด้านการจัดการหนี้ ทั้งหนี้ในและนอกระบบ การพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ เช่น การให้ความรู้ด้าน Financial Literacy/Digital Literacy การร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐเอกชน สถาบันการศึกษา ในการศึกษาดูงาน การฝึกปฏิบัติเพิ่มทักษะ ทั้งอาชีพเดิม อาชีพเสริม อาชีพใหม่ การปรับเปลี่ยนการผลิตไปปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง การลดต้นทุนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต การยกระดับมาตรฐานสินค้า เป็นต้น การเติมสินเชื่อใหม่ ภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและการลงทุน เช่น สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 4 สินเชื่อแฟรนไชส์ สินเชื่อ Green Credit สินเชื่อ Contract Farming อัตราดอกเบี้ย MRR สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0.01 เป็นต้น การสนับสนุนช่องทางด้านการตลาดในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นตลาดในระดับท้องถิ่น ตลาด Modern trade ตลาด E- Commerce ควบคู่การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการประกันภัยทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์เงินฝาก สงเคราะห์ชีวิต กองทุนทวีสุข กองทุนเงินออมแห่งชาติ เป็นต้น


ทั้งนี้ ในการดำเนินงานดังกล่าว ธ.ก.ส. ยึดหลักการพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่เน้นหนักในด้าน BCG Model เพื่อก้าวสู่การพัฒนาระดับสากลตามแนวทาง SDG โดยขับเคลื่อนผ่านชุมชนต้นแบบที่ธนาคารได้พัฒนาไว้แล้ว จำนวน 7,927 แห่ง เพื่อมุ่งสู่ชุมชนอุดมสุขที่ยั่งยืน ทั้งด้านมิติ ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมประเพณี อาทิ การปรับเปลี่ยนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การส่งเสริมการปลูกพืชที่สร้างมูลค่าสูง การทำเกษตรกรรมยั่งยืน ชุมชนไม้มีค่า ส่งเสริมการลดการเผา การปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ชุมชนท่องเที่ยว


https://www.banmuang.co.th/news/finance/293894


"อุตตม" นำรีเซ็ตประเทศไทย ด้วยพันธกิจ 5 แก้ 5 สร้าง 2 เร่งแก้หนี้ด้วยกองทุน"สอท." วางรากสู่อนาคตที่ยั่งยืน

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม 2565  พรรคสร้างอนาคตไทย แถลงข่าวเปิดยุทธศาตร์เราพร้อม เปลี่ยนอนาคตประเทศไทย โดยมีแกนนำพรรค อาทิ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รองหัวหน้าพรรค และประธานภาคกทม., นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค และประธานภาคใต้, นายสุพล ฟองงาม รองหัวหน้าพรรคและประธานภาคอีสาน, นายวิเชียร ชวลิต รองหัวหน้าและผู้อำนวยการพรรค, นายสันติ กีระนันทน์ รองหน้าพรรคและประธานฝ่ายนโยบาย , นายวัชระ กรรณิการ์ รองหัวหน้าพรรคและประธานภาคกลาง เข้าร่วมงาน

โดยนายอุตตม กล่าวว่า พรรคสร้างอนาคตไทยมีพันธกิจรีเซ็ตประเทศไทย 5 แก้ไข คือ 1.แก้ปัญหาที่สั่งสมเป็นปัญหารุนแรง คือ ฉ้อราษฎร์บงหลวงต้องหยุดทุกระดับ 2.ปราบปรามยาเสพติด 3.สร้างความเท่าเทียมลดการผูกขาด เพิ่มการแข่งขัน 4.ลดขนาดราชการ และ 5.ยกระดับให้เกษตรกรทันสมัย นอกจากนั้นจะมี 5 สร้าง คือ 1.สร้างเศรษฐกิจฐานราก 2.สร้างเศรษฐกิจใหม่ 3.สร้างสังคมเกื้อกูล 4.สร้างคนและโครงสร้งพื้นฐานพร้อมก้าวสู่สังคมยุคใหม่ และ 5.สร้างการเมืองที่สร้างสรรค์

นายอุตตม กล่าวด้วยว่า มีโจทย์ 2 เร่งคือเร่งรัดแก้ปัญญหาเร่งด่วน ที่สืบเนื่องมาจากวิกฤตโควิด วิกฤตหนี้สิน แก้ค่าครองชีพสูง และเร่งวางรากฐานไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนที่มีคุณภาพให้คนไทยและก้าวทันโลก โดยการตอบโจทย์สำคัญคือ กองทุนสร้างอนาคตประเทศไทย วงเงิน 3 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ใช่เงินกู้ ไม่เป็นภาระ โดยแบ่งเป็น จำนวน แสนล้านบาท เพื่อปลดแอกหนี้สินให้คนตัวเล็ก พักชำระเงินต้น และดอกเบี้ย เสริมทักษะอาชีพ และเติมทุนใหม่ ผ่านกลไกรัฐที่มีมาตรการกำกับที่เหมาะสม เช่น สร้างระบบจัดทุนใหม่ให้คนรายเล็ก ใช้นอนแบงค์ และอีกจำนวน สองแสนล้าน บาทเพือ่ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก สร้างเศรษฐกิจใหม่ สู่อนาคตประเทศแห่งที่เท่าเทียมและยั่งยืน

"ความไม่ชัดเจนทางการเมืองทำให้หลายฝ่ายกังวลและรู้สึกว่าการแก้ปัญหาเร่งด่วนของภาครัฐให้ประชาชน นั้นคลุมเคลือ ตอบโจทย์ไม่ตรงจุด เรียกว่าซ้ำเติมความห่วงใยในสถานการณ์ที่ปรเทศไทยเผชิญกับมรสุมที่ถาโถม ทั้งนี้การเมืองวันนี้มีหลายอย่างเกิดขึ้นบางคนเรียกว่าเกมการเมือง แก่งแย่ง เกิดคำถามคือประชาชนได้อะไร”นายอุตตม กล่าว

'กอ.รมน.' จับมือ 'วช.' ชูชุมชนเข้มแข็งสนับสนุนชุมชนต้นแบบเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

กอ.รมน. และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมของ วช. ไปถ่ายทอดสู่ศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบลของเครือข่ายปราชญ์เพื่อความมั่นคง ซึ่งเป็นปราชญ์ ชาวบ้าน ที่ กอ.รมน. ให้การสนับสนุนอยู่เดิม เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งและคุณภาพชีวิตให้คนในชุมชนมีความกินดีอยู่ดี ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง ในทุกมิติ จากความต้องการของชุมชน

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา กอ.รมน. ร่วมกับ วช. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ณ อาคารรื่นฤดี กอ.รมน. เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร          

พล.อ.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กล่าวว่า ประสานงานและส่วนปฏิบัติงานในพื้นที่ สร้างพลังสังคม พลังชุมชน นวัตกรรมชุมชน นวัตกรรมสังคมเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวสู่ข้างหน้าด้วยความมั่นคง สังคมไทยมีความสงบสุข ตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บนพื้นฐานความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรม ที่สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง          

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม ในการนำองค์ความรู้ไปพัฒนากระบวนการผลผลิต การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาสังคม การพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงานให้แก่ชุมชน และประชาชนในพื้นที่ของ กอ.รมน. ให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและมีความยั่งยืน อันนับเป็นการส่งเสริมการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนและชุมชนฐานรากของประเทศได้อย่างยั่งยืนด้วยวิจัยและนวัตกรรม          

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้เป็นโครงการ ต่อเนื่องจากปี 2562 ซึ่งจะครบกำหนดสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 27 สิงหาคม 2565 ที่จะถึงนี้ โดยการดำเนินงานที่ผ่านมาได้มีการนำ ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีต้นแบบเข้าไปแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย จนสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายในงานมีการ จัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ท้องถิ่น

พร้อมกันนี้ ได้มีพิธีมอบรางวัลให้กับชุมชนต้นแบบที่บรรลุ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน จำนวน 7 ชุมชน รางวัลชุมชน ดีเด่น ได้แก่ พาราโบลาโดม จากวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเกษตรอินทรีย์บ้านดงบัง, นวัตกรรมเครื่องผ่าไม้และจักตอกแบบเลาะข้อ จากชุมชนบ้านทุ่งนาค จ.สุรินทร์, เครื่องอบแห้งอินฟราเรดเทคโนโลยีการผลิตข้าวฮางงอก จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนบ้าน ไผ่เขียว จ.อุตรดิตถ์ และ นวัตกรรมระบบผลิตผักและปุ๋ยหมัก จากชุมชนบ้านโหนดหมู่ จ.พัทลุง ส่วนรางวัลชมเชย ได้แก่ เครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ จากวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถียั่งยืนบ้านบางแตน จ.ปราจีนบุรี, ระบบการผลิตผักและข้าวโพดฝักสด จากกลุ่มเกษตรกรสมาชิกศูนย์ส่งเสริมการเกษตรครบวงจรตามแนวเศรษฐกิจ พอเพียง จ.สระแก้ว และเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ จากชุมชนบ้านวังช้าง จ.ชุมพร          

ความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องตามพันธกิจของ กอ.รมน. ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เสริมสร้างความมั่นคงของรัฐ ด้วยการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนสร้างเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ อันจะนำไปสู่การสร้างโอกาส สร้างอาชีพ และ ยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นให้ดีขึ้นตามแผนยุทธศาสตร์ชาติอย่างเป็นรูปธรรม


ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 28 ส.ค. 2565


‘ไทยสร้างไทย’ เอาบ้าง! ชูนโยบายแก้หนี้เสียเครดิตบูโรดันธุรกิจเดินหน้า

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม 2565  นายสุพันธุ์ มงคลสุธี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย พร้อมคณะ จัดงาน Lunch Talk พูดคุยพบปะผู้ประกอบการ นักธุรกิจ ภาคเอกชน ภาคอีสาน ในหัวข้อ ปลดล็อกเศรษฐกิจอีสาน สร้าง Tourism Corridor หวังแก้ปัญหาเศรษฐกิจและเสริมสร้างการลงทุนในภาคอีสาน เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมเซ็นทาราคอนเวนชันเซ็นเตอร์ จังหวัดอุดรธานี


นายสุพันธุ์ เสนอต่อวงว่า การที่จะปลดล็อกเศรษฐกิจได้นั้น สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการคือการทำให้เศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้ ผ่านการลงทุนในทุกมิติ โดยหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้การลงทุนนั้นชะลอตัวลงไปนั้นเป็นเพราะกลุ่มนักลงทุนในประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการในประเทศตั้งแต่ขนาดกลางลงมาจนถึงประชาชนคนตัวเล็กขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ไม่สามารถเกิดการลงทุนได้ 


ปัญหาใหญ่ที่ทำให้นักธุรกิจและประชาชนในประเทศขาดสภาพคล่องทางเศรษฐกิจเป็นเพราะปัญหาหนี้เสียที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้การลงทุนไม่สามารถเดินต่อไปได้ เนื่องจากนักธุรกิจและประชาชนไม่สามารถกู้เงินก้อนใหม่ เข้าไม่ถึงเงินกู้ก้อนใหม่เพื่อนำเงินทุนมาเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ โดยลูกหนี้เหล่านี้ล้วนแต่เป็นลูกหนี้ที่ดีมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีมาตลอด แต่กลายมาเป็นหนี้เสีย (NPL) ในช่วงที่รัฐออกมาตรการต่างๆ ที่ทำให้กระทบต่อธุรกิจและการลงทุนของคนเหล่านี้ เช่น มาตรการล็อคดาวน์ 


นายสุพันธุ์ ระบุว่า กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 (รหัส 21) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ถึงเดือนมิถุนายน 2565 มีหนี้เสียในระบบเพิ่มขึ้นจาก 2.3 ล้านบัญชีเป็น 4.3 ล้านปัญชี หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านบัญชี จำนวนคนเพิ่มจาก 1.9 ล้านคนเป็น 2.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่าล้านคนคิดเป็นมูลค่าหนี้ 2.6 แสนล้านบาท เป็น 4.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2.2 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลาเพียง 5 เดือน


นายสุพันธุ์ ระบุต่อว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมาพรรคไทยสร้างไทยได้เปิดตัวนโยบาย “กองทุนฟื้นฟูหนี้เสีย” โดยเป็นนโยบายที่จะฟื้นฟูธุรกิจและการใช้ชีวิตของประชาชนในประเทศ โดยแบ่งการดำเนินนโยบายเป็น 2 ระยะ ระยะเร่งด่วนจะอัดฉีดเงินช่วยเหลือดอกเบี้ยให้ลูกหนี้บางส่วน เปลี่ยนสถานะลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียให้มาเป็นหนี้ปกติ โดยหวังว่าจะปรับโครงสร้างหนี้จากลูกหนี้รหัส 21 ให้มาเป็นรหัส 10 เพื่อให้ลูกหนี้สามารถกู้เพิ่มเติมหรือมีสถานะทางการเงินที่ปกติได้ ระยะที่ 2 จะเป็นการดันธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยพักชำระหนี้เป็นเวลา 1 ปี เติมเงินสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ให้มีทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ นายสุพันธุ์ ย้ำว่า ผู้ประกอบการและประชาชนเหล่านี้ คือผู้ที่แบกรับภาระแทนรัฐมาตลอดในช่วงวิกฤตโควิด ลูกหนี้เหล่านี้ไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ได้ทำธุรกิจไม่เป็น แต่เป็นเพราะมาตรการของรัฐที่ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถทำธุรกิจได้ รัฐจึงต้องช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้กับคนกลุ่มนี้ โดยไม่ใช่เพียงการแจกเงินเหมือนเดิม แต่ต้องช่วยให้เขากลับมาทำธุรกิจได้ 


จากนั้นภายในงานมีการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์กับสภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้า ของจังหวัดอุดรธานีและกลุ่มจังหวัดใกล้เคียง เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาการลงทุนและพลิกฟื้นเศรษฐกิจในภาคอีสานตอนบน เช่น การสร้างการท่องเที่ยวผ่านงานเฟสติวัล และอีเว้นท์ต่างๆ เช่น งานเทศกาลภาพยนตร์สยองขวัญ จัดทัวร์ไหว้พระ ทัวร์ด้านความเชื่อ หรือการส่งเสริม Soft power ในด้านอื่นๆ เช่น ด้านอาหาร เนื่องจากเป็นศูนย์รวมของหลายวัฒนธรรมอาหารจีน ไทย และเวียดนาม โดยต้องลงไปดูถึงในระบบปฐมภูมิ เช่น การส่งเสริมเกษตรกร นำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตให้มากขึ้น จัดหาปุ๋ยที่มีราคาถูกและคุณภาพดีให้กับเกษตรกร


อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ คือ การส่งเสริมให้อุดรและกลุ่มจังหวัดใกล้เคียงพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเป็นศูนย์กลางของภาคอีสานตอนบนเพื่อเป็นระเบียงเชื่อมต่อการลงทุน ทั้งจาก จีน ลาว และ เวียดนาม เนื่องจากบริเวณนี้มีศักยภาพในทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ดีในการเป็นศูนย์กลางเพื่อจะกระจายสินค้าในภูมิภาคภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ได้รับปากผู้มาเข้าร่วมงานว่า จะนำนโยบายและสิ่งที่พูดคุยกันทั้งหมด ในวันนี้ไปพิจารณาเพื่อหาทางทำออกมาเป็นนโยบายต่อไป พร้อมทั้งได้ขอให้ภาคธุรกิจที่เข้ามาร่วมพูดคุยกันในวันนี้ ช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ไปพร้อมกันได้ด้วย

 


"กมธ.แก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติสภาฯ ลงมุกดาหารถกการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาค ปชช.

วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม 2565  นายองค์การ ชัยบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และรองประธานคนที่ 3 คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมนายสุพจน์ สุอริยพงษ์ ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธนบูรณ์ กุมภิโร ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ ลงพื้นที่จัดโครงการสัมมนา เรื่อง "การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน" ณ กลุ่มทำข้าวฮางงอกเพื่อสุขภาพบ้านนาแพง ตำบลหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร โดยมีประชาชนเข้าร่วมโครงการจำนวน 300 คน

นายองค์การ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน รวมถึงวิธีการป้องกันและหลุดพ้นจากปัญหาหนี้สินภาคประชาชน อีกทั้งเพื่อรับฟังความคิดเห็นแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ตลอดจนร่วม สะท้อนปัญหาอุปสรรคและแนวทางการแก้ไขปัญหากับประชาชนโดยทั่วไป

นายสุพจน์ กล่าวว่า รวมถึงวิธีการป้องกันและหลุดพ้นจากปัญหาหนี้สินภาคประชาชน พร้อมทั้งรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปในแง่มุมต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการในการแก้ไขปัญหาหนี้สินทุกระดับให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป

ที่มา - https://www.banmuang.co.th/news/politic/293824

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2565

สอท. เปิดพื้นที่บางเขน ชู “กองทุนสร้างอนาคตไทย” สร้างตลาด สร้างอนาคตไทย เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้

เมื่อวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2565 นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ในฐานะประธานภาคกรุงเทพฯ , พร้อมอดีตส.ส. กทม. นายสุวัฒน์ ม่วงศิริ, นท.รวยลาภ เอี่ยมทอง และทีมผู้ประสานงานพรรค ร่วมเปิดศูนย์ประสานงานพรรค เขตบางเขน โดยมีนายพิเชฐ เดชอรัญ เป็นผู้ประสานงานพรรคในพื้นที่


นายพิเชฐ กล่าวว่า ตนอยู่ในพื้นที่บางเขนมากว่า 30 ปี คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องสร้างจุดเปลี่ยนที่ดีให้เกิดขึ้นในบางเขนให้ได้   โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาปากท้อง ของแพง ของคนหาเช้ากินค่ำ ตนจึงขอนำเสนอ สร้างตลาด สร้างอนาคตไทย เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ เป็นการหมุนเวียนและสร้างความเติบโตของเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาริมคลองบางบัว ให้เป็นแลนด์มาร์คและเป็นจุดขายของบางเขนให้ได้  

 

ด้านนายสุรนันทน์ หลังจากร่วมลงพื้นที่และพบปะประชาชนแล้ว กล่าวว่า พรรคสร้างอนาคตไทยมีความพร้อมที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยการนำเสนอดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์มาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เราพร้อมที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งทางความคิดที่หลากหลาย นำพาประเทศชาติไปสู่ความยั่งยืนด้วยการบริหารงานอย่างมืออาชีพ 

 

ปัจจุบันปัญหาด้านเศรษฐกิจและโรคระบาด รวมไปถึงการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบวงกว้างทั้งเศรษฐกิจและการเมือง พรรคสร้างอนาคตไทย จะนำ “กองทุนสร้างอนาคตไทย” มาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาปากท้อง และการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจแข็งแรง

 

"กรณ์" อัดนโยบายของรัฐทำคนเป็นหนี้เพิ่ม แนะพักชำระเงินต้น 2 ปี ลดดอกเบี้ยเหลือ 1%

วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม 2565 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า กว่าวถึงจำนวนหนี้ของประชาชนที่มีการกู้เงินในช่วงโควิด-19 มีจำนวนบัญชีเงินกู้ของคนไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 13 ล้านบัญชี ซึ่ง 10 ล้านบัญชี เป็นผลพวงมาจากนโยบายของรัฐ โดยประชาชนกลุ่มนี้จากที่ไม่เคยมีปัญหาตอนนี้กู้เพิ่มไม่ได้เพราะติดเครดิตบูโรไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในจำนวน13 ล้านบัญชี รวมเป็นเงินประมาณ 3 แสนกว่าล้านบาท และต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งที่ประชาชนติดหนี้ มาจากนโยบายของรัฐในช่วงโควิด ที่ออกมาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย

ดังนั้น พรรคกล้าจึงมองว่าต้องช่วยประชาชนที่เป็นหนี้ โครงการที่รัฐต้องเร่งพัฒนา คือ “กล้าฟื้นชีวิต” คือการพักชำระเงินต้น 2ปี , ลดดอกเบี้ยเหลือ 1% 1 ปี และ แขวนดอกเบี้ยค่าปรับ ซึ่ง10ล้านบัญชี ที่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และจ่ายเงินตรงทุกเดือน รัฐก็จะคืน Cash Back 5 % ให้

 

เลขาธิการ กพฐ.มอบเกียรติบัตรและโล่รางวัล ร.ร.ต้นแบบ ร.ร.หมู่บ้านศีล 5 ตามรอยพ่ออย่างพอเพียง ประจำปีการศึกษา 2565

วันที่ 26 สิงหาคม 2565 ที่หอประชุมโรงเรียนอนุบาลศรีสะเกษ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตรและโล่รางวัล โรงเรียนต้นแบบ โรงเรียนหมู่บ้านศีล 5 ตามรอยพ่ออย่างพอเพียง ประจำปีการศึกษา 2565 ข้าราชการผู้ทรงคุณค่าของสังคม ปี 2565 และแบ่งปันประสบการณ์ในการทำงาน โดยมี นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวต้อนรับ นายประดิษฐ์ พรหมเสนา กล่าวรายงาน และมี ว่าที่ ร.ต.ดร.ทวีศักดิ์ นามศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 2-4 ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาศรีสะเกษ ยโสธร นายวิทยา วิรารัตน์ ประธานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ นายสุรชาติ ทอนศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลศรีสะเกษ นายทิวา รุ้งแก้ว ประธานชมรมคนรักในหลวงจังหวัดศรีสะเกษ ให้การต้อนรับ และพระราชกิตติรังษี ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นำเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ รองเจ้าคณะ จังหวัดศรีสะเกษ เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าอาวาสวัดในจังหวัดศรีสะเกษ เข้ารับมอบถวายประกาศเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติ ปี 2565 ในครั้งนี้


ข้อมูลข่าวและที่มา https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220827010017668

สหกรณ์การเกษตรสทิงพระดันอาชีพเสริมปลูกพืชระยะสั้นต้นแบบแก้หนี้แก้จนสมาชิก

หนี้ค้างชำระของสมาชิกสหกรณ์ถือเป็นปัญหาที่ทางสหกรณ์การเกษตรสทิงพระ จำกัด จังหวัดสงขลาได้มุ่งมั่นหาทางช่วยเหลือสมาชิก จากเดิมเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพทำนาปลูกข้าว เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพียงปีละครั้ง บางรายอาจทำตาลโตนดร่วมด้วย ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน มักประสบปัญหาผลผลิตเสียหายจากภัยแล้งหรือน้ำท่วม ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้แก่สหกรณ์ได้ตามปกติ ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่มีภาระหนี้สิน สหกรณ์การเกษตรสทิงพระ จำกัด จึงได้ส่งเสริมการปลูกพืชผักระยะสั้น ได้แก่ แตงกวา พริก มะเขือ ฟักทอง เพื่อให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มตลอดทั้งปี สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา

          นางมาลินี  พานิชกรณ์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรสทิงพระ จำกัด เล่าว่า สมาชิกของสหกรณ์การเกษตรสทิงพระมีอาชีพหลักคือการทำนา ซึ่งทำได้ปีละครั้ง จากอำเภอสทิงพระไม่มีระบบชลประทานจึงต้องอาศัยน้ำฝนในการทำนาอย่างเดียว ทำให้สมาชิกเกิดภาวะการขาดทุน จากราคาข้าวส่วนใหญ่มีราคาตกต่ำ ซึ่งจากการที่ฝ่ายจัดการและคณะกรรมการของสหกรณ์ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกร ทำให้รับทราบปัญหาและนำมาแก้ไขอย่างเร่งด่วน มีการสนับสนุน "โครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ แก้หนี้แก้จน" ให้กับสมาชิก ด้วยการสนับสนุนให้ปลูกพืชระยะสั้นเพื่อเสริมรายได้

 


ที่มา: นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 28 - 31 ส.ค. 2565

จังหวัดสุรินทร์เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐด้านแปรรูป SME OTOP

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 นายชูศักดิ์ ยิ่งรุ่งโรจน์ พัฒนาการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเเละประชารัฐ จังหวัดสุรินทร์ ด้านการแปรรูป โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อทบทวนและกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐระดับจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อติดตามสนับสนุนกลุ่มเป้าหมายโดยภาคีเครือข่ายประชารัฐ กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ จังหวัดสุรินทร์ ด้านแปรรูป ดำเนินการ ณ ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุรินทร์ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์


โดยหัวข้อในการประชุมประกอบด้วย  การทบทวนฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ของจังหวัดสุรินทร์ การรายงานผลการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ การพิจารณาเพิ่มกลุ่มเป้าหมาย เป็นกลุ่มเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ปี 2565 การพิจารณาคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเน้นหนักการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ปี 2565 ด้านการแปรรูป SME/OTOP ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และการวางแผนการดำเนินงานพัฒนากลุ่มเป้าหมายเน้นหนักปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 การวางแผนพัฒนากลุ่มเป้าหมาย ภายใต้ 5 กระบวนการ คือการเข้าถึงปัจจัยการผลิต การสร้างองค์ความรู้ การตลาด การสื่อสารเพื่อการรับรู้ และการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน


ข้อมูลข่าวและที่มา https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220827065954704

ทต.โพตลาดแก้ว จัดโครงการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เทศบาลตำบลโพตลาดแก้ว นำโดย นายสุนันท์ แจ้งวงษ์ นายกเทศมนตรีตำบลโพตลาดแก้ว อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ประธานสภาฯ รองประธานสภาฯ สมาชิกสภาฯ คณะครูนักเรียนโรงเรียนวัดสนามไชย ประธานชุมชน และประชาชนทั่วไป ร่วมกิจกรรมโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติในการดำรงชีวิต ประจำปี 2565 ณ วัดสนามไชย อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี

https://siamrath.co.th/n/377257

พช.ปทุมธานี “ประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการขจัดความยากจน ครั้งที่ 3/2565

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุมบัวหลวง ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี มอบนายเอกวิทย์ มีเพียร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดปทุมธานี (ศจพ.จ.) ครั้งที่ 3/2565 โดยมีนายดรณ์ สมิตะเกษตริน ปลัดจังหวัดปทุมธานี ,นายคมสัน ญานวัฒนา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดปทุมธานี

นายพงษ์เทพ รุ่งเรือง พัฒนาการจังหวัดปทุมธานี เลขานุการคณะทำงานขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดปทุมธานี (ศจพ.จ.) ,นางสาวพัชราภรณ์ สิริวรเวชยางกูล สถิติจังหวัดปทุมธานี หัวหน้าคณะทำงานติดตามและประเมินผล ,นางสาวกมลวรรณ อิ่มสุวรรณ แรงงานจังหวัดปทุมธานี ,นายสุทัศน์ คงแย้ม ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปทุมธานี ,นางธนินท์พรรณ ภววัฒนานุสรณ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดปทุมธานี และคณะทำงานขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดปทุมธานีเข้าร่วมการประชุมฯ เพื่อรับรองรายงานผลการดำเนินงารการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดปทุมธานี ดังนี้

1.) ครัวเรือนเป้าหมายในระบบ TPMAP Logbook จำนวน 2,713 ครัวเรือน  2.) มีกิจกรรมให้ความช่วยเหลือแล้วทุกครัวเรือน 100 %  3.) การบรรลุเป้าหมายของโครงการ (อยู่รอด พอเพียง ยั่งยืน) เบื้องต้น  มีครัวเรือน “อยู่รอด” จำนวน 129 ครัวเรือน  มีครัวเรือน “พอเพียง” จำนวน 1,017 ครัวเรือน มีครัวเรือน “ยั่งยืน” จำนวน 1,439 ครัวเรือน


4.) การเตรียมความพร้อมในการรายงานผลการดำเนินงานต่อ คณะกรรมการอำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดปทุมธานี (คจพ.จ.ปทุมธานี)


ข้อมูลข่าวและที่มา https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220827074406708

กาฬสินธุ์ เปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน

วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม 2565  ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน (ศกช.) ต.หนองแวง อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ นายอดิศร วิทูรศิลป์ นายอำเภอสมเด็จ พร้อมด้วย นายประหยัด ไม้แพ ยุติธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ พ.ต.อ.ภูสยาม ลารังสิต ผกก.สภ.สมเด็จ นายนิยม โยหาสิทธ์ นายก อบต.หนองแวง ร.ต.จรูญ ฉายประดิษฐ์ ประธาน ศกช.ต.หนองแวง นายทวี ขาวผ่อง ผู้ไกล่เกลี่ย (ศกช.) ต.นามน อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ และตัวแทนภาคประชาชน ร่วมพิธีเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ตามโครงการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ประจำปีงบประมาณ 2565

 


https://siamrath.co.th/n/377259

พัฒนาการจังหวัดบึงกาฬ ระดมภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

เมื่อวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2565   ที่ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบึงกาฬ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ นายอดุลย์ ดีอ้อม พัฒนาการจังหวัดบึงกาฬประธานการประชุมคณะทำงานสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ประมงจังหวัด หอการค้าจังหวัด ประธานเครือข่ายโอทอปจังหวัดบึงกาฬ เพื่อช่วยเหลือยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน สนับสนุนผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชนและเอสเอ็มอีรายย่อย ในจังหวัดบึงกาฬให้เข้มแข็งสร้างรายได้ เพิ่มช่องทางการจำหน่ายแก่สินค้าชุมชนตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทยในการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ในการนี้พัฒนาการจังหวัดบึงกาฬได้มอบแนวทางการทำงานให้บูรณาการ การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนในจังหวัด โดยมีสินค้าผลิตภัณฑ์เด่นที่คัดเลือกทั้ง 3 ด้านคือ ด้านการเกษตร จำนวน 5 กลุ่ม กลุ่มกล้วยหอมทอง หมู่ 10 ตำบลหนองหัวช้าง อ.พรเจริญ กลุ่มแปรรูปยางพาราศรีแก้ว หมู่ 101 ตำบลเหล่าทอง อ.โซ่พิสัย ด้านการแปรรูป 2กลุ่ม? คือกลุ่มทอผ้าแม่บ้านสามหนอง หมู่9 ต.โซ่พิสัย กลุ่มทอผ้าย้อมศรีธรรมชาติบ้านท่าเชียงเครือ หมู่ 2 ตำบลป่งไฮ อำเภอเซกา และด้านการท่องเที่ยวงมีชุมชนบ้านดงสว่าง? เป็นต้น


ข้อมูลข่าวและที่มา- https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220826212006638


ผู้ว่าฯ บึงกาฬ ประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนฯ (ศจพ.จ.บก.) ครั้งที่ 4

เมื่อวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2565  นายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ประธานเปิดประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน พัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดบึงกาฬ (ศจพ.จ.บก.) ครั้งที่ 4/2565 ณ ห้องประชุมภูทอก ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ

ม เพื่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานขจัดความยากจนในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อประชาชนชาวจังหวัดบึงกาฬ


ข้อมูลข่าวและที่มา https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220826211433632

กองทัพบกร่วมอำเภอเมืองหนองบัวลำภู มอบบ้านคนพิการผู้ยากไร้ตามโครงการ"ซ่อมแซมบ้านทั่วไทย"

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลตรีณรงค์ สวนแก้ว ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 3 เป็นประธานมอบบ้านผู้ยากไร้ โดยมี นายประยูร อรัญรุท นายอำเภอเมืองหนองบัวลำภู ,พ.ต.อ.ขจรฤทธิ์ วงษ์ราช ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองหนองบัวลำภู,พัฒนาการอำเภอเมืองหนองบัวลำภู ,หัวหน้าส่วนราชการอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนทัน, ปลัด อบต.โนนทัน และเจ้าหน้าที่ ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู ร่วมให้การต้อนรับ

และร่วมพิธีมอบบ้านตามโครงการ"ซ่อมแซมบ้านทั่วไทย" ซึ่งเป็นโครงการของกองทัพบกที่ให้หน่วยงานทหารในพื้นที่รับผิดชอบบูรณาการกับภาคีเครือข่าย ในพื้นที่อำเภอเมืองหนองบัวลำภู องค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู องค์การบริหารส่วนตำบลโนนทัน ดำเนินการซ่อมแซมบ้าน ให้กับผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการ ซึ่งได้ดำเนินการสร้างและต่อเติมซ่อมแซมบ้านพักอาศัยให้แก่ บ้านถ้ำกลองเพล ตำบลโนนทัน อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู ราษฎรคนดังกล่าวเป็นผู้สูงอายุ มีอาการแขนขาอ่อนแรง ทำให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ไม่ปกติเหมือนคนทั่วไป ต้องมีผู้ช่วยพยุงทั้งในขณะเดินและเข้าห้องน้ำ ปัจจุบันมีสมาชิกครอบครัวอาศัยอยู่รวมกันจำนวน 4 คนเป็นผู้ป่วยจิตเวชต้องทานยาเป็นประจำ

ที่ผ่านมาได้ซ่อมแซมบ้านผู้ยากไร้ โดยการบูรณาการร่วมกันทั้ง กองพลทหารราบที่ 3 พร้อมด้วยองค์การบริหารส่วนตำบลโนนทัน องค์การบริหารส่วนจังหวัด และส่วนราชการอำเภอเมืองหนองบัวลำภู โดยดำเนินการซ่อมแซมบ้านพักอาศัยให้แก่ราษฎรให้มีสภาพความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปกติสุข และเท่าเทียมกัน ซึ่งการซ่อมแซมบ้านพักอาศัยให้กับราษฎรในครั้งนี้ โดยได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการในพื้นที่ เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

วัตถุประสงค์เพื่อให้ ประชาชนผู้ยากไร้มีบ้านที่มั่นคง มีความเป็นอยู่และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และการทำให้ประชาชนทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น ,เป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราโชบายจิตอาสาพัฒนาร่วมกันของภาคีเครือข่ายในทุกระดับเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ,สร้างความรักความสามัคคีของภาคีเครือข่ายในสังคม ชุมชน การบูรณาการภาคีเครือข่ายในทุกระดับในเชิงพื้นที่ร่วมกันทั้งในระดับ ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และภาคีเครือข่ายต่างๆร่วมกัน

https://siamrath.co.th/n/377219


 


พช.พะเยา จัดกิจกรรมส่งเสริมช่องทางการตลาดอาหารเกษตรอินทรีย์

วันที่ 26 สิงหาคม 2565 นายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมช่องทางการตลาดเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ กิจกรรมหลัก ส่งเสริมช่องทางการตลาดเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ภายใต้ชื่องาน “ประชารัฐร่วมใจพัฒนาอาหารปลอดภัย สร้างรายได้สู่ชุมชน” ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพะเยาจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 26-28 สิงหาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น. ณ ลานโปรโมชั่นห้างสรรพสินค้า ท็อปส์พลาซ่าพะเยา เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้สูงขึ้นและสามารถพัฒนาต่อยอดโครงสร้างธุรกิจการเกษตรอินทรีย์ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มเน้นเกษตรคุณภาพสูง โดยมีคณะทำงานขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ด้วยกลไกประชารัฐจังหวัดพะเยา หัวหน้าส่วนราชการจังหวัด นายอำเภอ พัฒนาการอำเภอ เครือข่ายเกษตรอินทรีย์และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานในครั้งนี้

นางอาภัสรา ธงพิทักษ์ พัฒนาการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สนับสนุนการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ทั้งในระดับนโยบาย และระดับพื้นที่ โดยดำเนินงานใน 3 กลุ่มงาน ได้แก่ การเกษตร การแปรรูป และการท่องเที่ยวโดยชุมชนในรูปแบบประชารัฐ ภายใต้แนวคิดวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อให้ได้รับการพัฒนา และสร้างประสิทธิภาพตลอดต้นทาง กลางทาง ปลายทาง อีกทั้งแผนพัฒนาภาคเหนือ ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับเป็นฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย เชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง โดยมีแนวทางการพัฒนาให้สนับสนุนการสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ และส่งเสริมช่องทางการตลาดแก่เครือข่ายเกษตรอินทรีย์

ดังนั้น จังหวัดพะเยา โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพะเยาจึงได้จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น เพื่อส่งเสริมเครือข่ายเกษตรอินทรีย์สู่ช่องทางการตลาดอาหารปลอดภัย รวมถึงเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรและประชาชนในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤต ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งต้องประสบปัญหาความเดือดร้อน มีรายได้ลดลงไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ตลอดจนเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นให้เกิดการผลิต การจ้างงาน เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตทั้งระบบ สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การแสดงและจำหน่ายสินค้าผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรและอาหารปลอดภัย นิทรรศการเผยแพร่องค์ความรู้เกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย จังหวัดพะเยา รวมจำนวน 20 บูธ, การมอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติกลุ่มเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐจังหวัดพะเยา ที่มีผลงานเด่น (Best Practice) รางวัล “PRACHARAT PHAYAO AWARD 2022” ประจำปี 2565 , เวทีเสวนา “แนวทางการพัฒนาเครือข่ายอาหารปลอดภัย และอาหารปลอดภัยสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และประชารัฐ”, การเจรจาธุรกิจ (Business Matching ) ระหว่างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ และอาหารปลอดภัย ระหว่างบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีพะเยา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และผู้ประกอบการ 4 ร. (โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม และร้านอาหาร) การประกวดการจัดกระเช้าของฝากของที่ระลึกจากผลผลิตเกษตรอินทรีย์และสินค้าแปรรูปอาหารปลอดภัย จังหวัดพะเยา และการไลฟ์สด/ฝึกปฏิบัติขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ และอาหารปลอดภัย

ข้อมูลข่าวและที่มา https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220826204537617


ยุติธรรมศรีสะเกษเปิดป้ายและขับเคลื่อนศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนอำเภอน้ำเกลี้ยง

เมื่อวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2565 ว่าที่ร้อยโทสิทธิ์ธนัตถ์ สิทธิบัวศรี ยุติธรรมจังหวัดศรีสะเกษ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ยุติธรรมจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนตำบลน้ำเกลี้ยง จัดกิจกรรม เปิดป้ายและขับเคลื่อนศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน   ณ วัดสว่างวารีรัตนาราม ตำบลน้ำเกลี้ยง อำเภอน้ำเกลี้ยงจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งได้รับเกียรติจากนายอดุลย์ หมื่นลึก นายอำเภอน้ำเกลี้ยง เป็นประธานในพิธีเปิดป้ายศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนตำบลน้ำเกลี้ยง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน และคณะทำงานบริหารประจำศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ภาคประชาชน ให้เป็นที่รู้จักในพื้นที่ รับรู้ รับทราบ และให้ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชน ได้อย่างเป็นระบบ และมีมาตรฐาน ประชาชนในพื้นที่ ตระหนักรู้ และเลือกใช้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในการยุติข้อพิพาททางแพ่ง และข้อพิพาททางอาญา ประชาชนมีความสมานฉันท์ในชุมชน


ข้อมูลข่าวและที่มา https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220826194309585

นอภ.โพธิ์ศรีสุวรรณศรีสะเกษ นำปั่นจักรยานมอบของมอบบ้านเยี่ยมโคกหนองนา

วันที่ 25 สิงหาคม 2565 นายสุวรรณ เนตรเนติกุล นายอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยนางขวัญตา คิดดี ปลัดอำเภอ หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง พ.ต.อ.เสรี คงยืนยง ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรโพธิ์ศรีสุวรรณ นายอุทิศ พิทักษา สาธารณสุขอำเภอ นายเสถียร น้อยดำ รองนายกเทศมนตรีตำบลโดด นายสมคิด พรหมทา ผอ.รพ.สต.ปลาเดิดข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง สมาชิก กองร้อย อส.อ.โพธิ์ศรีสุวรรณที่ 23 นายสมานชัย ใยดวง กำนันตำบลโดด ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ตำบลโดด ร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานตามโครงการ ปั่นปัน รัก 2 เพื่อขับเคลื่อน งานตามนโยบายของ รัฐบาลกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง และจังหวัดศรีสะเกษ 

 

เพื่อเยี่ยมและมอบสิ่งของเป็นกำลังใจแก่ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้สูงอายุ และครัวเรือนยากจนตามฐานข้อมูล TPMAP  ผู้ป่วยติดเตียง มอบบ้านให้กับครัวเรือนยากจนตามโครงการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน เยี่ยมครัวเรือนตามโครงการ โคก หนอง นา โมเดล นางอรุณศรี ใจดี หมู่ที่ 10 ตำบลโดด  


ข้อมูลข่าวและที่มา https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220826200118596

ผู้ว่าฯศรีสะเกษ เป็นประธานในพิธีเปิด “ศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”อำเภอภูสิงห์

เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2565  นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานในพิธีเปิด “ศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ตามโครงการโรงเรียนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ณ โรงเรียนบ้านแซรสะโบว ตำบลดงรัก อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมกับศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บูรณาการความร่วมมือจากภาคส่วนราชการ ภาคีเครือข่าย จัดทำศูนย์เรียนรู้

พร้อมกันนี้ได้เป็นประธานมอบบ้านตามโครงการซ่อมแซม สร้างบ้านให้กับผู้ยากไร้ หรือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เฉลิมพระเกียรติ ที่ตำบลดงรัก อำเภอภูสิงห์ 

"เฉลิมชัย" โชว์ผลสำเร็จ Big Data Project ภาคเกษตร เล็งจัดสัมมนาใหญ่ เปิดตัว “โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร”

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน เปิดงานสัมมนา “โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร” ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ว่า จากที่รัฐบาลได้มีนโยบายมุ่งไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Thailand 4.0) โดยจัดทำแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงาน ให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมาย สศก. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โดยได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ ร่วมกัน 10 กระทรวง และขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2562 เพื่อให้เกษตรกร ภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่สนใจ สามารถเข้าถึงระบบการให้บริการและสามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจในการวางแผน การผลิต และการตลาด

ล่าสุด สศก. ได้จัดทำ “โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร” เพื่อพัฒนาฐานข้อมูล สำหรับจัดเก็บ และบริการข้อมูลทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง จากหน่วยงานภาคีภายใต้บันทึกความร่วมมือระหว่าง 10 กระทรวง ซึ่งเป็นการรวบรวมชุดข้อมูล (Datasets) จากการสำรวจ นำมาจัดทำเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการเกษตร และวิเคราะห์ในมิติต่าง ๆ เปิดบริการ Open Data ให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้สนใจ ใช้ข้อมูลในเรื่องที่เกี่ยวข้อง โดยโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร มีการพัฒนาระบบงาน 5 ระบบ คือ 1) ระบบการบูรณาการข้อมูลและจัดทำรายงาน 2) ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) 3) ระบบปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตร 4) ระบบ Coaching Program Platform (CPP) และ 5) ระบบ Public AI ตลอดจนปรับปรุงการให้บริการ ข้อมูลการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านการเกษตร แก่หน่วยงานและผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งเกษตรกร

“การสัมมนาเปิดตัวโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตรในวันนี้ สศก. มีความตั้งใจที่จะเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และนำเสนอผลสำเร็จในการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมา พร้อมทั้งสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งหารือแนวทางต่อยอดความร่วมมือในอนาคตร่วมกับหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงเกษตรฯ ที่ MOU ร่วมกัน ซึ่งเชื่อมั่นว่า ผลสำเร็จของโครงการฯ จะเป็นประโยชน์แก่ เกษตรกร ภาครัฐ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดโซ่อุปทานการผลิต ทำให้มีข้อมูลคาดการณ์ผลผลิตที่แม่นยำ สามารถนำไปใช้วางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และ สศก. ในฐานะเนวิเกเตอร์เศรษฐกิจการเกษตร หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตรดังกล่าว จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือเนวิเกเตอร์ ที่นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถเชิงดิจิทัล ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ และแม่นยำ” เลขาธิการ สศก. กล่าว


การขับเคลื่อน Big Data ภาคเกษตร ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. ได้บูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดการและเชื่อมโยงในระดับแปลง เกษตรกร และพื้นที่ มีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมในทุกระดับ โดยสร้าง Platform เก็บข้อมูลที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น เช่น การใช้ Mobile Technology เพื่อให้ได้ฐานข้อมูล Big Data ภาคเกษตรที่แม่นยำ รวดเร็ว ต่อเนื่องในทุกฤดูปลูก นอกจากนี้ ยังมี Web Tool และ Mobile Application ในการประมวลผลข้อมูลจาก Big Data เพื่อวางแผนเชิงพื้นที่ วางนโยบาย และเผยแพร่สู่ทุกภาคส่วนอย่างเข้าใจง่าย โดยปัจจุบัน สศก. ได้พัฒนาระบบและจัดทำเป็นฐานข้อมูลด้านการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร เปิดบริการ Open Data ให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้สนใจ ใช้ข้อมูลในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ผ่านเว็บไซด์ nabc-catalog.oae.go.th รวบรวมชุดข้อมูล กว่า 734 ชุด จาก 90 หน่วยงาน โดยจัดแบ่งกลุ่มข้อมูล 17 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) กลุ่มข้อมูลด้านแผนงาน/งบประมาณ 2) กลุ่มข้อมูลด้านเกษตรกร/สถาบันเกษตรกร 3) กลุ่มข้อมูลด้านดินและที่ดิน 4) กลุ่มข้อมูลด้านแหล่งน้ำและการชลประทาน 5) กลุ่มข้อมูลด้านภัยธรรมชาติ 6) กลุ่มข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 7) กลุ่มข้อมูลด้านการเพาะปลูกพืช 8) กลุ่มข้อมูลด้านการทำปศุสัตว์ 9) กลุ่มข้อมูลด้านการทำประมง 10) กลุ่มข้อมูลด้านสินเชื่อและแหล่งเงินทุน 11) กลุ่มข้อมูลด้านเศรษฐกิจและการตลาด 12) กลุ่มข้อมูลด้านโลจิสติกส์ การขนส่ง และแหล่งรับซื้อ 13) กลุ่มข้อมูลด้านราคา 14) กลุ่มข้อมูลด้านกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานการผลิตและสินค้าเกษตร 15) กลุ่มข้อมูลด้านงานวิจัยและองค์ความรู้ 16) กลุ่มข้อมูลด้านปัจจัยการผลิต และ 17) กลุ่มข้อมูลด้านแผนที่และข้อมูลเชิงแผนที่


สำหรับแผนการขับเคลื่อน Big Data หลังจากนี้ สศก. โดยศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ ได้วาง Road map by 3 ระยะ คือ ระยะ 1 Short Term (พ.ศ. 2566 – 2567) มีฐานข้อมูลกลางในการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เช่น Internal Data, External Data, Partner Data, Customer Data ซึ่งข้อมูลทั้งหมดต้องมีความถูกต้อง สมบูรณ์ เป็นปัจจุบัน โดยบุคลากรของหน่วยงาน จะมีทักษะการคิดวิเคราะห์ แยกแยะ หรือตัดสินใจกันบนข้อมูลที่มีประโยชน์ สามารถแบ่งปันผลลัพธ์ที่ได้และปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดให้ดีขึ้น ระยะ 2 Medium Term (พ.ศ. 2568 -2569) จัดทำการให้บริการในการเข้าถึงข้อมูลแบบเปิด (Open Access) เพื่อให้เกษตรเข้าถึง ค้นหา แจกจ่ายข้อมูลต่อได้แบบเรียลไทม์ มีการจัดทำการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) การเกษตร และ ระยะ 3 Long Term (พ.ศ. 2570) เปิดให้บริการข้อมูลในรูปแบบ Personalization Driven ทั้งการเก็บรวบรวมข้อมูลในระดับรายบุคคล รวมถึงข้อมูลสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคลนั้น ๆ มีการนำเสนอข้อมูล/บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในลักษณะ proactive ในทิศทางของ Hyper Automation


ทั้งนี้ การสัมมนาโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร จัดโดย ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC) ซึ่งภายในงานมีการบรรยาย หัวข้อ “การใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลการเกษตร” โดย นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร การบรรยายเกี่ยวกับ Update Technology หัวข้อ “แนวทางและนโยบายด้านการใช้ประโยชน์ของข้อมูลในระดับประเทศที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) รับผิดชอบ” โดย ดร.มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และการเสวนา หัวข้อ “การเรียนรู้สมัยใหม่ Immersive Media & Trends” โดย ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ปรึกษา (Advisor) สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ดร.มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และ ดร.สุทธิศักดิ์ อินทวดี ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงบูธนิทรรศการ นำเสนอผลการดำเนินงานทั้ง 5 ระบบของโครงการฯ อาทิ การจัดแสดงระบบ Big Data เพื่อคาดการณ์ผลผลิตและวิเคราะห์สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางรายได้เชิงพื้นที่ของประเทศไทยในภาพรวมและรายพืชไร่ 10 ชนิด ระบบบันทึกและนำเข้าข้อมูลปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ตำบล อำเภอ และจังหวัด เพื่อบริหารจัดการความมั่นคงทางอาหาร ระบบ Web Application และ Mobile Application ที่ประกอบด้วย ฟังก์ชั่นการวาดแปลงและระบุพื้นที่ทำการเกษตรเป็นจุดพิกัดแผนที่ ฟังก์ชั่นการให้คำแนะนำสนับสนุนการตัดสินใจเลือกกิจกรรมทางเกษตรของยางพารา ข้าว ปลานิล และโคขุน รวมไปถึงบูธแสดงองค์ความรู้ด้านการทำเกษตร ที่จัดทำในรูปแบบ Augmented Reality (AR) Virtual Reality (VR) ผนวกกับการสาธิตการใช้งานสื่อในรูปแบบ Mixed Reality ด้วยอุปกรณ์ HoloLens ในองค์ความรู้ต่าง เช่น GAP ระบบเกษตรอัจฉริยะ : การแปลงเพศปลานิลและโรงเรือนอัจฉริยะ การทำสวนทุเรียนด้วย Smart Sensor และ IoT และแปลงนาสาธิต เป็นต้น


https://mgronline.com/business/detail/9650000082089


 


กทม. ร่วมกับศูนย์วิจัยชุมชนเมือง จัดทำฐานข้อมูลครัวเรือน เดินหน้าแก้จนนำร่อง 3 เขต



เมื่อวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ มหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมเวทีสรุปเครื่องมือการเก็บข้อมูลครัวเรือนยากจนโครงการวิจัย "การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำกรุงเทพมหานคร" (พื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระโขนง และเขตคันนายาว) โดยมี ดร.พงษ์พิศิษฐ์ หุยากรณ์ หัวหน้าโครงการการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ผู้บริหารและผู้แทนสำนักพัฒนาสังคม สำนักอนามัย สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย สำนักงานเขตพระโขนง และสำนักงานเขตคันนายาว ทีมคณะวิจัย และภาคีเครือข่าย ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางปฏิบัติการ

นายศานนท์ กล่าวว่า เรื่องคนจนเมืองเป็นเรื่องซับซ้อนและเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่สามารถแก้ได้ในมิติใดมิติหนึ่ง ซึ่งเครื่องมือที่เป็นหัวใจส่วนหนึ่งคือสวัสดิการรัฐ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนหลุดออกจากความยากจนเบื้องต้น และมีหลายมิติที่ต้องทำพร้อมกันโดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่งจากประสบการณ์ที่เคยเป็นประชาสังคมมาก่อนเห็นว่าประชาสังคมมีความสำคัญมาก เพราะทำงานด้วยจุดมุ่งหมายเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ และมีใจที่อยากจะแก้ปัญหาให้ได้ ส่วนนักวิชาการเป็นผู้มีความรู้ ศึกษาวิจัย เข้าใจในปัญหาหยั่งรากลึก เอกชนก็มีกำลังมีความหวังดีต่อเมือง เพราะว่าถ้าเมืองดีเขาก็ดีด้วย ภาครัฐเองต้องห่อหุ้ม 4 แกน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน มาร่วมกันทำในรูปแบบของคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม

"การเก็บข้อมูลครัวเรือนยากจนเป็นหนึ่งในโครงการที่กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญและลงลึก เพื่อที่จะแก้ปัญหาให้ได้ใน 3 เขตนำร่อง ซึ่งปัจจุบันมีหลายนโยบายที่กำลังผลักดันอยู่ เช่น เรื่องย่านสร้างสรรค์ ถนนคนเดิน งานเทศกาลต่าง ๆ เป้าประสงค์จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องนันทนาการ แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากที่อยากให้เกิดความเคลื่อนไหวในแต่ละพื้นที่ ซึ่งการทำงานต่อไปจะมี Working Group ของทีมโครงการเพื่อออกแบบระบบที่เชื่อมโยงกับนโยบายที่กรุงเทพมหานครทำอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งย่านสร้างสรรค์ซึ่งเป็นระดับเส้นเลือดฝอย ทำให้กลุ่มชุมชน กลุ่มชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่จริง ๆ เช่น คนในชุมชนที่เขามีปัญหาเฉพาะของเขา มาเจอกับคนที่อยู่คอนโดมีปัญหาอีกแบบหนึ่ง อาจจะเป็นเรื่องสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ พื้นที่สีเขียว ฯลฯ ซึ่งกรุงเทพมหานครจะต้องมีโครงสร้างที่เป็นกลไกของพื้นที่ที่แท้จริง มีพลังในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง จะทำให้หลาย ๆ ปัญหาแก้ได้เร็วกว่าการที่รัฐพยายามจะวิ่งลงไปแก้ให้" นายศานนท์กล่าว


นายศานนท์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญและพยายามจะผลักดัน ซึ่งดำเนินการในปีงบประมาณ 2566 นี้ คือ การจัดสรรงบประมาณโดยให้อำนาจประชาชนในการออกแบบโครงการที่ต้องการแก้ปัญหาในชุมชน ซึ่งกรุงเทพฯ มีจำนวนชุมชนทั้งหมด 2,016 ชุมชน โดยเปลี่ยนจากเดิมที่เขตเคยเป็นผู้เสนอโครงการให้ชุมชนทำ มาเป็นให้ชุมชนตั้งโครงการขึ้นโดยมีเขตเป็นผู้สนับสนุน แล้วมาดูผลลัพธ์ที่ได้ว่าเรามีกลไกโครงสร้างองค์กรชุมชนเกิดขึ้นเข็มแข็งแค่ไหน เพื่อที่จะหยั่งรากลึกให้กับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเรื่องคนจนในอนาคต


สำหรับโครงการวิจัย "การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำกรุงเทพมหานคร" ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยชุมชนเมือง (Urban Studies Lab) ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มีพื้นที่ศึกษาในกรุงเทพมหานคร 3 เขต ได้แก่ 1. เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เป็นตัวแทนของพื้นที่เขตชั้นในของกรุงเทพมหานคร 2. เขตพระโขนง เป็นตัวแทนพื้นที่เขตชั้นกลางหรือพื้นที่กำลังเปลี่ยนผ่าน และ 3. เขตคันนายาว เป็นตัวแทนพื้นที่เขตที่มีการประกอบกิจกรรมทางการเกษตรของเมือง โดยการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวันนี้เพื่อหารือเรื่องเครื่องมือแบบสอบถามและการจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่นำร่อง แลกเปลี่ยนแนวทางการนำข้อมูลไปใช้ และการพัฒนาโมเดลแก้ไขความยากจน (Operating Model : OM) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลครัวเรือนยากจน และรูปแบบการวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุของความยากจนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมส่งต่อความช่วยเหลือคนจนเป้าหมายให้กับหน่วยงานระดับพื้นที่ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนำไปสู่การออกแบบการแก้ปัญหาความยากจนที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ สู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับกรุงเทพมหานครในการจัดทำฐานข้อมูลครัวเรือนยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำต่อไป

จังหวัดตราดจัดโครงการ “เยาวชนจิตอาสา ร่วมสร้างเกษตรพอเพียง”

เมื่อวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2565 นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานเปิดโครงการ “เยาวชนจิตอาสา ร่วมสร้างเกษตรพอเพียง” ซึ่งจังหวัดตราด โดยที่ทำการปกครองจังหวัดตราด นำโดยนายพีระ เอี่ยมสุนทร ปลัดจังหวัดตราด จัดขึ้นมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนโรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม จำนวน 73 คน เข้าร่วมโครงการที่ห้องโสตทัศนศึกษา โรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม

ระหว่างวันที่ 16 -18 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา ที่ผ่านการเรียนรู้และศึกษาดูงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร การศึกษาดูงานการดำเนินชีวิตของปราชญ์ชาวบ้าน แล้วนำมาถอดบทเรียนสำคัญจาการศึกษาดูงานสู่การปฏิบัติ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ร่วมกันจัดทำขึ้นภายใต้แนวคิด “กิจกรรมจิตอาสาเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง” ผ่านกิจกรรมร่วมกันผลิตก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้า และการสร้างแปลงปลูกกล้วยน้ำว้าพันธุ์เตี้ย ซึ่งเป็นการส่งเสริมการฝึกทักษะอาชีพ และสร้างทักษะชีวิตให้สามารถนำไปปฏิบัติ และขยายผลในครัวเรือน ช่วยสร้างรายได้สร้างอาชีพให้กับครัวเรือนของตนเองต่อไป


ข้อมูลข่าวและที่มา https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220826173633550   

รองผู้ว่าฯเพชรบูรณ์ ปิดโครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2565   นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานในพิธีปิดโครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (หลักสูตร 5 เดือน) ภายใต้โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งจัดโดยเรือนจำชั่วคราวแค น้อยสังกัดเรือนจำจังหวัดเพชรบูรณ์ ณ อาคารศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เรือนจำชั่วคราวแคน้อย อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมี นางละออง อยู่ยั่งยืน ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยนางแก้วใจ สังข์แสง ผู้อำนวยการส่วนพัฒนา 2 และกำกับดูแลเรือนจำชั่วคราวแคน้อย, นางสาวปัทมา ประสิทธิ์เขตกิจ หัวหน้าเรือนจำชั่วคราวแคน้อย และหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ, พร้อมบุคคลากรเรือนจำฯ รวมทั้งสมาชิกผู้ต้องขัง ร่วมกิจกรรม

การอบรมโครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รุ่นที่ 14 นี้ มีผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 112 คน มาจากเรือนจำ/ทัณฑสถาน จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย เรือนจำจังหวัดเพชรบูรณ์ 35 คน/ทัณฑสถานหญิงกลาง 26 คน/ทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก 20 คน และทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ 31 คน

โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ส่งเจ้าหน้าที่เป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้ ได้แก่ มูลนิธิอาสา เพื่อนพึ่ง (ภา) ยามยากสภากาชาดไทย บริษัทเงินติดล้อ สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์เพชรบูรณ์ สำนักงานจัดหางานจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ สถานีพัฒนาที่ดินเพชรบูรณ์ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ วิทยาลัยเทคนิคเพชรบูรณ์ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษา ตามอัธยาศัยอำเภอเมืองเพชรบูรณ์

โดยภารกิจหลักของกรมราชทัณฑ์ นอกจากจะมีหน้าที่ในการควบคุมผู้ต้องขัง ให้เป็นไปตามคำพิพากษาแล้ว หน้าที่ในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ให้กลับตนเป็นพลเมืองดี นับเป็นภารกิจหลักอีกประการหนึ่ง ซึ่งเรือนจำ/ ทัณฑสถานในสังกัด กรมราชทัณฑ์ต่างมุ่งมั่นที่จะตอบสนองภารกิจของกรมราชทัณฑ์


ข้อมูลข่าวและที่มา https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220826175710555


“สนธิรัตน์” ผุด “สารคามโมเดล” ผลักดันเศรษฐกิจฐานราก “แก้หนี้ เพิ่มทุน สร้างรายได้เพิ่ม” แก้จน

เมื่อวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2565    ที่โรงแรมพิมานอินน์ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) พร้อมด้วยนายสุพล ฟองงาม รองหัวหน้าพรรค และประธานภาคอีสาน   ร่วมพบปะแกนนำจากสภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน วิสาหกิจชุมชน ในระดับอำเภอ จำนวนกว่า 150 คน ในเวทีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเพื่ออนาคตไทย 

“อย่ามองว่าผมเป็นนักการเมือง เพราะตัวพรรคการเมืองเองจะไม่มีความหมาย หากไม่จับมือทำงานกับพี่น้องประชาชนจริง ๆ ผมตั้งใจมาหาวิธีทำงานร่วมกับท่าน ขอมาทำงานร่วมกัน มารับฟังว่าพี่น้องประชาชนอยากได้อะไรจริง ๆ เช่น พ.ร.บ.ส่งเสริมระบบสวัสดิการชุมชน ถ้าหากอยากได้จริง ผม และพรรคสร้างอนาคตไทย พร้อมที่จะขับเคลื่อนไปกับพวกท่าน โดยผมจะเสนอเป็นหนึ่งในนโยบายพรรค เพื่อทำให้พ.ร.บ.นี้เกิดขึ้นได้จริง” 

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ตนมา จ.มหาสารคาม เพราะประชาชนที่นี่เข้มแข็งมาก ดังนั้นเราต้องเริ่มจากจุดที่เข้มแข็ง สร้างให้เป็นโมเดลเพื่อขยายไปสู่จังหวัดอื่น ๆ แม้ว่าจะทำได้ไม่ทั้งหมดในช่วงเวลานี้ แต่หลังจากที่ขับเคลื่อนจนได้พ.ร.บ.แล้ว ตนมั่นใจว่า จะสามารถจะผลักดันให้เกิดขึ้นทั่วประเทศได้ ตนเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะใช้สารคามโมเดลเป็นตัวตั้งของกองทุนสวัสดิการชุมชน 


นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจฐานราก ถือเป็นหนึ่งในนโยบาย 5 สร้างของพรรค ความเข้มแข็งชุมชนคือหัวใจสำคัญของประเทศ การสร้างเศรษฐกิจฐานรากของพรรค จะทำควบคู่กับไปใน 3 ด้าน คือการแก้หนี้ เพิ่มทุน สร้างรายได้เพิ่ม ภายใต้แนวคิดขับเคลื่อนกลุ่มที่มีศักยภาพ 10-50 คน โดยขณะนี้ได้เริ่มนำร่องแล้วในพื้นที่ จ.มหาสารคาม ในกลุ่มเกษตรกรปลูกข้าว ซึ่งประสบปัญหาในเรื่องราคาตกต่ำ โดยเข้าไปช่วยในการลดต้นทุนการผลิต และผลักดันราคาขายให้มากกว่าท้องตลาด 0.50 สตางค์ – 1 บาทต่อกิโลกรัม โดยร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์ (ธกส.) กลุ่มรถเกี่ยวข้าวในพื้นที่ ซึ่งในช่วงบ่ายวันนี้ ตนจะเข้าไปพูดคุยกับกลุ่มชาวนาที่ได้นำร่องไว้ และจะขยายโครงการนี้ไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ในประเทศต่อไป  


ทั้งนี้ ในด้านกลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชน ได้สะท้อนถึงแนวทางการทำงานที่ผ่านมาว่ากลุ่มกองทุนตั้งมาเพื่อเหลือช่วยตนเอง ผู้อื่น ชุมชน และสังคม โดยสมาชิกกองทุนเป็นทั้งผู้ให้ และผู้รับ ดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนตั้งแต่เกิดจนตาย โดยที่ผ่านมากองทุนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือวิกฤติของประเทศ เช่น สถานการณ์โควิด โดยได้เข้าไปช่วยในส่วนการจัดหาหน้ากากผ้า และจัดหาสมุนไพรในการรักษาให้กับชุมชนต่าง ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือทั่วประเทศ 


นอกจากนี้เมื่อครั้งที่นายสนธิรัตน์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการการใช้พลังงานทดแทน หรือพลังงานชุมชน เช่น โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร ซึ่งถือเป็นผลงานที่จับต้องได้ การทำงานของกลุ่มกองทุนทำงานรูปแบบ 3 ขา ได้แก่ ตนเอง ชุมชน และรัฐ ซึ่งที่ผ่านยังได้รับการสนับสนุนไม่เพียงพอ ขณะที่พรรคสร้างอนาคตไทย มีนโยบายที่สนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจฐานรากอย่างชัดเจน มีผลงานที่จับต้องได้ เชื่อว่าพร้อมที่จะใช้ชุมชนเป็นแกนหลักของพื้นที่ และเป็นตัวตั้งในการสร้างเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งกลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชนก็พร้อมที่จะร่วมสร้างอนาคตเศรษฐกิจฐานราก และสร้างอนาคตไทยไปด้วยกัน




 


วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2565

กรมการพัฒนาชุมชน เชิญชวนร่วมฟังเสวนาชุมชนนักปฏิบัติ ขจัดความยากจน'ตอนสุดท้าย

เตรียมปิดฉากเรียบร้อยสำหรับเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ กับกิจกรรม "SHOW&SHARE ชุมชนนักปฏิบัติ ขจัดความยากจน" ผ่านรูปแบบออนไลน์ Zoom Cloud Meeting และ Facebook live ซึ่งจัดโดย กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เชิญชวนประชาชนร่วมสร้างพื้นที่การเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ด้านความเหลื่อมล้ำและการแก้ปัญหาขจัดความยากจน พร้อมพัฒนาคนทุกช่วงวัยโดยได้จัดกิจกรรมทั้งหมดจำนวน 6ตอน ในทุกวันจันทร์ เวลา 09.00 - 10.00น. ทางกรมการพัฒนาชุมชน Fanpageโดยได้รับการตอบรับและการมีส่วนร่วมสำหรับผู้รับชมเป็นอย่างดี อีกทั้งยังได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการนำไปขับเคลื่อนงานต่อไป


ในครั้งที่ 6 นี้ เตรียมพบกับ หัวข้อ "โคกหนองนากับการแก้จน" บรรยายโดย นายบัญชา ราศรีมิน หรือ กำนันม่อน จากจังหวัดสกลนคร,นายแสวง ศรีธรรมบุตร หรือลุงแสวงผู้มั่งคั่ง จังหวัดอุดรธานีและ นายธนกร โชคชัดชาญพัฒนา จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 29 สิงหาคมนี้ เวลา 9.00-10.00 น.


และปิดท้ายซีรีย์SHOW & SHARE ชุมชนนักปฏิบัติ ขจัดความยากจน ในตอนที่ 7บนเวทีเสวนาใหญ่ พร้อมพูดคุยกับผู้ร่วมเสวนากว่า 10 ชีวิต ที่จะมาเล่าถึงการปฏิบัติการขจัดความยากจนในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาพร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทุกช่วงวัย อย่างไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังพบกันในงานวันพัฒนาชุมชน CD Day 2022 ที่จัดโดยกรมการพัฒนาชุมชน ระหว่างวันที่ 5 - 7 กันยายน 2565และซีรีย์SHOW & SHARE ชุมชนนักปฏิบัติ ขจัดความยากจน ตอนที่ 7 ในวันพุธที่ 7กันยายน 2565เวลา 13.00 - 15.30น. ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ ณ ลานชั้น 2อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กทม.หรือรับชมผ่านทาง Facebook live "กรมการพัฒนาชุมชน Fanpage" และ "สถาบันการพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย" หรือผ่านระบบ Zoom โดยลงทะเบียนผ่าน QR Code ด้านล่างนี้

นครพนมรวมน้ำใจ สร้างบ้านให้ผู้ยากไร้แก้จนตามแนวพอเพียง

วันที่ 25 สิงหาคม 2565 ที่บ้านนาสะเดา หมู่ที่ 8 ตำบลหนองฮี อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม นายวรรณพล ต่อพล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วย นางศุทธิกานต์ วงศ์สถิตจิรกาล รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม นำคณะหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ลงพื้นที่เยี่ยมและให้ความช่วยเหลือครอบครัวป่วยพิการซ้ำซ้อน

โดยทั้ง 4 ชีวิต มีรายได้มาจากการรับจ้างทั่วไปและเก็บของเก่าขาย ทำให้ในแต่ละวันมีรายไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต เป็นครอบครัวที่ยากจน มีความเดือดร้อน ไม่ผ่านเกณฑ์ตามระบบการพัฒนาคนแบบชี้เป้า Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP โดยก่อนหน้านี้หน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมกันเข้ามาดำเนินการสร้างบ้านหลังใหม่ให้ทดแทนหลังเดิมที่เป็นกระต๊อบ งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ 120,000 บาท

นอกจากนี้ ยังมอบ พันธุ์พืชผักสวนครัว ไก่พันธุ์พื้นเมือง เครื่องมือในการทำการเกษตร หลักประกันสังคมมาตรา 40 เป็นเวลา 6 เดือน จำนวน 2 คน รวมถึงมอบเงินสงเคราะห์ครอบครัวและเงินทุนสำหรับการนำไปประกอบอาชีพ อีกทั้งยังมีการเสนอรายชื่อเข้ารับวัสดุประกอบอาชีพ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ระยะที่ 3


ข้อมูลข่าวและที่มา- https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220825211413185

ผู้ว่าฯอำนาจเจริญนำทำบุญนำข้าวก้นบาตร พัฒนาคน พัฒนาชาติ แก้จนตามแนวพอเพียง

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 เวลา 07.00 น. นายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ นำหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ภาคเอกชน ประชาชน พุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดอำนาจเจริญร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง ณ ถนนสายวัฒนธรรม ข้าวก้นบาตร พัฒนาคน พัฒนาชาติ วัดเทพมงคล ตำบลบุ่ง อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อความเป็นสิริมงคล สั่งสมบุญบารมีให้เกิดแก่ตนเองและครอบครัว


สำหรับกิจกรรม ถนนสายวัฒนธรรม ข้าวก้นบาตร พัฒนาคน พัฒนาชาติ จังหวัดอำนาจเจริญ โดย อำเภอเมืองอำนาจเจริญ ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอำนาจเจริญ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอำนาจเจริญ คณะสงฆ์จังหวัดอำนาจเจริญ และวัดเทพมงคล ร่วมกันจัดขึ้น ณ วัดเทพมงคล ตำบลบุ่ง อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ


โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ทำบุญร่วมกันเพื่อความเป็นสิริมงคล สั่งสมบุญบารมีให้เกิดแก่ตนเองและครอบครัว รักษาประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม สืบทอดพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่สืบไป และนอกจากนี้เป็นการเสริมสร้างให้คนในสังคมมีจิตใจที่เป็นบุญเป็นกุศลช่วยเหลือบรรเทาทุกข์และแก้ไขปัญหาครัวเรือนยากจน ตามระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) โดยจะนำของที่ได้จากพระสงฆ์ที่รับบิณฑบาต ที่เหลือจากส่วนของสงฆ์นำไปมอบให้กับครัวเรือนยากจน กลุ่มผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการที่มีภาวะพึ่งพิง และครัวเรือนที่ประสบปัญหาทางสังคม


ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญได้กล่าวว่า การจัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรถนนสายวัฒนธรรม ข้าวก้นบาตร พัฒนาคน พัฒนาชาติ จะมีการจัดกิจกรรมในรูปแบบนี้ไปในทุกพื้นที่ของจังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อเป็นการสืบสานต่อยอดพระพุทธศาสนาและเป็นการสร้างสังคมที่น่าอยู่ช่วยเหลือแบ่งปันกัน


ข้อมูลข่าวและที่มา- เพจทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าฯ อำนาจเจริญ และhttps://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220825205410180

 


 


วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...