'พระ มจร' ประกาศก้องบนเวทีวัชรยานโลกที่ภูฏาน ไม่มีผู้ใดอยู่ได้เพียงลำพัง ทุกนิกายผนึกกำลังตอบโจทย์โลกยุคดิจิทัลโดยเฉพาะเอไอ
เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ที่ศูนย์ภูฏานศึกษา เมืองพิมพู ประเทศภูฏาน ภายหลังที่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พระมหากษัตริย์แห่งประเทศภูฏาน ได้เสด็จพระราชดำเนินพบปะและแลกเปลี่ยนมุมมองในพิธีเลี้ยงอาหารว่างกับเหล่านักวิชาการเป็นการส่วนพระองค์แล้ว หลังจากนั้นจึงเข้าสู่บรรยากาศการประชุมพระุพุทธศานาวัชรยานโลก ในหัวข้อเทคนิคการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความจริงสูงสุดตามแนวทางของวัชรยาน มีประเด็นที่น่าสนใจที่พระพุทธศาสนาจะต้องปรับตัวภายใต้โลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีการนำเสนอเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI โดยมีนักวิชาการจากโลกตะวันตก ตะวันออก และภูฏาน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนในมุมมองที่หลากหลาย
ในการนี้พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในการประชุมครั้งนี้ด้วย โดยได้นำเสนอภายใต้หัวข้อ "Vajrayana Buddhism in Digital Era: How to Build Platform and Work Together" หรือ "พระพุทธศาสนานิกายมหายาน: เราจะสร้างเวที และทำงานร่วมกันอย่างไร" วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้นิกายหลักทั้งสามคือ วัชรยาน มหายาน และเถรวาท มาร่วมมือกันตอบโจทย์สังคมโลกที่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ต่างๆ และเฝ้ารอคำตอบจากพระพุทธศาสนาในภาพรวม
พระมหาหรรษา ได้นำเสนอประเด็นความร่วมมือ ใน 5 สาระสำคัญหลัก ภายใต้เวทีโลกที่ได้ออกแบบเพื่อรองรับการทำงานร่วมกัน ทั้งเวทีสมาคมวิสาขบูชาโลก สมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ ที่มีพระเดชพระคุณพระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้รักษาการเจ้าคณะภาค 2 เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส วรวิหาร ประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก ประธานสมาคมวิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ ประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ไทย เป็นประธาน รวมถึงเวทีวัชรยานโลกที่จัดขึ้นในภูฏาน และเวทีอื่นๆ โดยข้อเสนอใน 5 สาระสำคัญหลักประกอบด้วย
(1) สติดิจิทัลรักษาและพัฒนาโลกดิจิทัล
โลกกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ความขัดแย้ง สงคราม ความรุนแรง การสถาปนาและยึดมั่นในความคิดและการกระทำของตนเองอย่างสุดโต่ง ผู้นำที่ขาดธรรมาภิบาล สภาวะโลกร้อน การศึกษาและการพัฒนาขาดมิติที่ลุ่มลึก และสังคมที่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีจนขาดมิติแห่งความเมตตากรุณา การหันกลับมาสร้างนวัตกรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาว่าด้วย "สติ" เป็นต้น ที่สามารถตอบโจทย์ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การแพทย์ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม นักวิชาการจึงไม่ได้มีหน้าที่เพื่อศึกษา แต่ต้องพัฒนาตนเองให้เข้าถึงความจริงในระดับหนึ่ง แล้วนำความจริงที่ได้พิสูจน์ออกมาสร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือโลกใบนี้ให้เกิดความสมดุลและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
(2) การเรียนรู้พระพุทธแบบดิจิทัล
การเรียนรู้ในยุคปัจจุบันไม่มีความจำเป็นต้องเรียนในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ ในห้องอีกต่อไป สถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งสามนิกาย สามารถสร้างห้องเรียนออนไลน์เพื่อเชื่อมโยงถึงกัน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนกับอาจารย์ดังๆ ที่มีความรู้ และเป็นนักปฏิบัติได้ ในเบื้องต้นคือการหาเครือข่ายและสร้างพื้นที่ขึ้นมาเพื่อรองรับการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งนี้ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาจุฬาฯ กำลังพัฒนาห้องเรียนออนไลน์เพื่อรองรับการเรียนของนิสิตกับสถาบันต่างประเทศ ทั้งในเอเซีย ยุโรป และอเมริกา
(3) คัมภีร์พระพุทธศาสนาแบบดิจิทัล
เพื่อสนองตอบแนวทางในการยกระดับคัมภีร์สำคัญของนิกายต่างๆ ขึ้นสู่ฐานข้อมูลกลางในโลกดิจิทัล เพื่อให้ผู้เรียนจากทั่วโลกสามารถค้นหาและเข้าถึงได้จากโลกอินเตอร์เน็ตเช่นเดียวกับ Google ตามที่พระเดชพระคุณพระพรหมบัณฑิต ประธานสมาคมวิสาขบูชาโลกมุ่งหวัง การจัดทำสหบรรณานุกรมพระไตรปิฏกสากล หรือ Union Catalogue of Buddhist Text จะได้รับการสานต่อและพัฒนาขึ้น ดังนั้น ทั้งสามนิกายจึงจำเป็นต้อง
(4) เรียนปริญญาสองใบในยุคดิจิทัล
การจัดการศึกษาในยุคปัจจุบันคือการผสานกำลังโดยการนำจุดเด่น หรือจุดแข็งของแต่ละแห่งมาเติมเต็มกันและกัน โลกแห่งการศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งสามนิกายก็เช่นเดียวกัน ทำอย่างไรที่สถาบันการศึกษาจะจับมือกันพัฒนาหลักสูตรปริญญาสองใบระหว่างนิกาย อาจจะเป็นเถรวาทกับวัชรยาน มหายานกับเถรวาท หรือวัชรยานกับมหายาน การดำเนินการในลักษณะนี้ จะเป็นการเปิดโลกการศึกษาข้ามนิกาย เพื่อให้เกิดการศึกษา แลกเปลี่ยน และสอบทานระหว่างกันและกันมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาทั้งปริยัติและการปฏิบัติ
(5) ร่วมมือสร้างสถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา
ในโลกของการพัฒนาสถาบันด้านการศึกษานั้น หนึ่งในเครื่องมือที่จะกระตุ้นให้สถาบันต่างๆ พัฒนาศักยภาพของตนเองให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ คือ การสร้างตัวชี้วัดกลางขึ้นมา เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาสถาบันการศึกษา ประเด็นนี้ มหาวิทยาลัยทางโลกนั้น ได้มีสถาบัน Times และ QS เป็นต้น ทำหน้าที่จัดอันดับ และภายใต้กรอบคิดนั้น เป็นไปไม่ได้ที่มหาวิทยาลัยด้านพระพุทธศาสนาจะเข้าไปติดอันดับ อย่าว่าแต่อันดับ 1 ใน 100 เลย แม้ 1 ใน 5000 ก็ไม่มีวันที่จะติดอันดับได้ ด้วยเหตุนี้ สมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ จะทำหน้าที่ในการสร้างสถาบันการจัดอันดับที่เน้นธรรมชาติของมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา จะนำไปสู่การพัฒนาสถาบันการศึกษาด้านพระพุทธศาสนาให้ได้มาตรฐาน และตอบโจทย์ของสังคมโลกมากยิ่งขึ้น
ในโลกที่กำลังฉาบทาด้วยอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน มนุษยชาติจำนวนมากต่างแก่งแย่ง ทำร้าย เบียดเบียน หมกหมุ่นกับการออกแบบนวัตกรรม เพื่อฉาบทาให้เกิดความสะดวกทางกาย ในขณะที่ใจเฝ้าโหยหาความสุข นิกายต่างๆ มีหน้าที่สำคัญในการออกแบบชุดความคิดดั้งเดิมเพื่อให้สอดรับกับกระแสของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป เราไม่มีเวลาที่จะคอยโพนทนาว่า นิกายใดดีที่สุด และถูกต้องที่สุด ในขณะที่หมู่ชนกำลังเฝ้ารอยาเพื่อนำไปรักษา และเติมเต็มความหวังและกำลังใจในโลกยุคดิจิทัล การผนึกกำลังกันตอบโจทย์จะเป็นอีกหนึ่งคำตอบว่า เพราะเหตุใด? พระพุทธศาสนาจึงควรค่าต่อการเรียกขานว่า เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาของโลก หรือ Wisdom for the World จำเป็นต้องสร้างความร่วมมืทำงานด้วยกันต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น