วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2562

พระชี้!มรดกความขัดแย้ง : คนรุ่นใหม่ต้องตัดสินใจ


วันที่ 27 เม.ย.2562 เพจ Phramaha Boonchuay Doojai ของพระครูพิพิธสุตาธร (พระมหาบุญช่วย สิรินฺธโร) รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) วิทยาเขตเชียงใหม่ ได้โพสต์ข้อความว่า มรดกความขัดแย้ง : คนรุ่นใหม่ต้องตัดสินใจ

ในโอกาสที่ได้ร่วมเสวนา เรื่อง “การใช้สื่อเพื่อเผยแผ่ข่าวดี ท่ามกลางความท้าทายของสื่อในยุคดิจิทัล” เนื่องในโอกาสการสัมมนาบาทหลวง อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ของคริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทย เมื่อวันพุธที่ 24 เมษายน 2019 ณ ศูนย์ฝึกอบรมงานอนุบาลบ้านผู้หว่าน อ. สามพราน จ. นครปฐม ร่วมกับคุณฮามีซี อัคคีรัฐ สื่ออิสลาม (จาก White Channel) และคุณณรงค์ฤทธิ์ ยงจินดารัตน์ (ปะการัง) นักเขียนชาวคาทอลิก โดยมีบาทหลวงอนุชา ไชยเดช เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีพระคาร์ดินัลฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ในฐานะมุขนายกอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ เป็นประธานในการจัดการสัมมนา ได้มีเรื่องราวอันเป็นมรดกความขัดแย้งได้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นคำถามในวงเสวนาด้วย

วันนี้จึงอยากจะทบทวน “มรดกความขัดแย้ง” ระหว่างชาวพุทธกับคาทอลิกในประเทศไทย แม้จะไม่ถึงขั้นนำมาซึ่งความรุนแรงระหว่างศาสนิก แต่ก็ทำให้เกิดความหวาดระแวง การมองหน้ากันไม่สนิท แม้จะมีความพยายามในการจัดการสานเสวนาระหว่างกัน แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยสนิทสนม ด้วยเชื่อว่าอาจมีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่เรียกกันว่า “วาระซ่อนเร้น”

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการสานเสวนากันมาอย่างต่อเนื่อง จึงเริ่มมองเห็นแนวโน้มสำคัญที่อาจเรียกได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีในดำริที่จะนำไปสู่การลดเงื่อนไขความขัดแย้งที่ถูกสร้างไว้ในโดยคนรุ่นก่อน สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน และร่วมมือกันสร้างโลกแห่งสันติต่อไป

สืบเนื่องมาจาก Vatican Council ครั้งที่ 2 ระหว่างปี ค.ศ. 1962-1965 คำว่า “Dialoge – ศาสนสัมพันธ์” ถูกนำมาใช้เพื่อ โดยมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่เน้นการกลมกลืน (assimilation) ทุกด้าน จึงเป็นที่มาของการที่คริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทยในยุคนั้น เริ่มนำเอาพิธีกรรมแบบพุทธไปใช้ในโบสถ์ นำโต๊ะหมู่บูชาแบบในวัดพุทธไปใช้ในโบสถ์ โดยตั้งไม้กางเขนแทนพระพุทธรูป นำสถาปัตยกรรมแบบพุทธไปสร้างในเขตโบสถ์ รวมถึงการนำศัพท์ที่ใช้ในพระพุทธศาสนาในประเทศไทยไปใช้ เช่น วัด พระสงฆ์ สามเณร สังฆราช อัครสังฆราช ฯลฯ ด้านคำสอนก็มีการกล่าวถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นประกาศกที่พระเจ้าส่งมาเพื่อเตรียมชาวตะวันออกไวต้อนรับพระเยซูคริสตเจ้า และอื่นๆอีกมากมาย ที่ถือได้ว่าเป็นเงื่อนไขความขัดแย้ง มาตราบถึงปัจจุบันนี้

คำถามที่มีในวงเสวนาที่สะท้อน “มรดกความขัดแย้ง” ก็คือ “การใช้ภาษาอธิบายหลักธรรมทางศาสนาในปัจจุบัน ที่อาจสร้างความสับสนในหมู่ศาสนิก ชาวพุทธปัจจุบันคิดเห็นอย่างไร ?”

คำตอบก็คือ ชาวพุทธรู้สึกไม่สบายใจ เกิดความสงสัยในเจตนา รู้สึกไม่ไว้วางใจในการแพร่ธรรมของชาวคริสต์(โดยรวม) ทั้งนี้ไม่เพียงเพราะการใช้ศัพท์ในการอธิบายศาสนธรรมเท่านั้น ยังรวมถึงการบัญญัติศัพท์ที่ดูเหมือนจงใจสร้างความสับสน ของคริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทย ในช่วงกว่า 50 ปีที่ผ่านมา

เมื่อถึงเวลาที่ทุกฝ่ายตระหนักในเรื่องนี้ การดำเนินการแก้ไขด้วยความจริงใจและจริงจัง จึงน่าจะช่วยเยียวยาและฟื้นฟูใจของศาสนิกแต่ละศาสนา จากความรู้สึกเหินห่างก็จะกลายมาเป็นความรู้สึกใกล้ชิด จากความรู้สึกไม่ไว้วางใจเป็นความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ จากที่ไม่มองหน้ากันให้หันหน้าเข้าหากันด้วยความสนิทใจ จากความรู้สึกไม่อยากค้าสมาคมด้วยเป็นการอยู่ร่วมกันด้วยมิตรภาพ จากการยกตนข่มกันเป็นความเคารพในศรัทธาของกันและกัน และจากที่ต่างคนต่างทำมาสู่การร่วมมือกันสร้างสังคมแห่งสันติสุขต่อไป

หลังการเสวนา ได้ทราบว่า “คริสตจักโรมันคาทอลิกในประเทศไทย” กำลังมีดำริที่จะทบทวนการใช้ศัพท์ใหม่ โดยร่วมมือกับกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม จึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง และเชื่อมั่นว่าชาวพุทธในประเทศไทยจะเข้าใจในเจตนาอันดีดังกล่าว พร้อมกันสวดภาวนาเป็นกำลังใจขอให้ความคิดริเริ่มของ “คริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทย” บรรลุเป้าหมายด้วยดีทุกประการ

ความรู้สึกร้าวลึกในใจของชาวพุทธจะได้รับการเยียวยาในคราวนี้ ด้วยมุมมองใหม่และพลังแห่งความดำริที่ดีงามของ “คริสตจักโรมันคาทอลิกในประเทศไทย” ที่จะนำไปสู่การทบทวนการใช้ “คำศัพท์” ในหมู่พี่น้องชาวคาทอลิกเสียใหม่ ป้องกันความสับสนอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

อย่างไรก็ตาม เมื่อ “คริสตจักโรมันคาทอลิกในประเทศไทย” ได้ดำเนินการเรื่องนี้จริงเป็นรูปธรรมแล้ว ก็ยังอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะเพื่อพิสูจน์ความจริงใจระหว่างกัน ซึ่งในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านย่อมต้องอาศัย “ความอดทน” อย่างสูงยิ่งของผู้ที่เกี่ยวข้อง

ได้เห็นข่าว สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรานซิส ได้เสด็จเยือนประเทศต่างๆ ทั้งที่นับถือศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และพระพุทธศาสนา ด้วยพันธกิจสำคัญคือการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับศาสนาอื่นๆแล้ว ก็ยิ่งรู้สึกมีความหวังและกำลังใจ ด้วยความเชื่อว่าพระบารมีของพระองค์จะส่งเสริมให้ “คริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทย” จะดำเนินการเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับพระพุทธศาสนา ในบรรลุเป้าหมายด้วยดีทุกประการ

" UNO "

ขอบคุณภาพ: Watcharee Kitsawat

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แนะนำหนังสือนิยายอิงธรรมะ: พอสันติสุข

  เนื้อหาหนังสือนิยายอิงธรรมะ: พอสันติสุข บทนำ บทเกริ่นนำ: อธิบายถึงแนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและความสำคัญในชีวิตประจำวัน แนะนำตัวละครหล...