วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563

"ข้าวตราฉัตร" ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใส่ใจผู้บริโภค คว้าประกาศนียบัตรรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์

 

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบประกาศนียบัตรรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ให้แก่ บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัดและกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยมี คุณรดี สินพิเชธกร ผู้จัดการฝ่ายพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นตัวแทนรับมอบ ภายในงาน “ร้อยดวงใจ ร่วมใจลดโลกร้อน” ประจำปี 2563

รางวัลนี้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มอบเพื่อเชิดชูเกียรติให้กับผู้ประกอบการ องค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน ที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

ซึ่งข้าวตราฉัตรดำเนินการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน สามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ 7% ของผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิ และในปี 2563 นี้ บริษัทฯ ได้รับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ข้าว กข. 43 ฉัตรไลท์ ที่มีค่าการปลดปล่อยคาร์บอน 2.47 กิโลกรัมคาร์บอนเทียบเท่าต่อ 1 กิโลกรัมข้าว ลดลงจากเดิม 37% ซึ่งต่ำที่สุดในผลิตภัณฑ์ข้าวที่ผลิตและรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ บริษัทฯ ยังตอกย้ำความมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน กำหนดเป้าหมายปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2573 ตามนโยบายของเครือฯ อีกด้วย

ทูตสหรัฐฯนิมนต์พระพรหมบัณฑิตและผู้นำศาสนา แสดงความเห็นเสรีภาพการนับถือศาสนาในไทย


  วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ.2563 เวลา 14 - 16  น. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระบัญชาให้พระพรหมบัณฑิต (ป.ธ.๙, ศ.,ดร.,ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์, อัคคมหาบัณฑิต) กรรมการมหาเถรสมาคม รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ไทย ประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก ได้ปฏิบัติหน้าที่แทนโดยเข้าร่วมอภิปรายในการประชุมเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา เพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกันในการสนับสนุนเสริมสร้างและคุ้มครองเสรีภาพในการนับถือศาสนา โดยมีผู้นำจากทั้ง 5  ศาสนา ประกอบด้วย ศาสนาพุธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกซ์ เข้าร่วมประชุมการอภิปราย ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร  

ทั้งนี้ตามการนิมนต์และเชิญของนายไมเคิล จอร์จ ดี ซอมบรี้ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าประเทศไทยจะมีบทบาทระดับนานาชาติ



ก่อนหน้านี้นายไมเคิล พร้อมคณะได้เดินทางไปเยือนพบปะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา  โดยมีพระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. อธิการบดี มจร พร้อมผู้บริหารระดับสูง ให้การต้อนรับด้านหน้าหอพระไตรปิฎก  นำสักการะพระบรมสารีริกธาตุแล้ว นำเอกอัครราชทูตเยี่ยมชมวัดมหาจุฬาลงกรณ์ราชูทิศ กราบพระประทานภายในอุโบสถกลางน้ำ ชมพุทธศิลป์และจิตกรรมฝาผนัง ชมภาพบันทึกเหตุการณ์สึนามิในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2547

จากนั้นเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้ไปยังศาลาคุณหญิงอุไรศรี คณึงสุขเกษม วัดมหาจุฬาฯ เพื่อปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "เสรีภาพทางศาสนา" ว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกามีเสรีภาพในการนับถือศาสนา และห้ามออกกฎหมายยกย่องศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ ทั้งห้ามออกกฎหมายห้ามประชาชนนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งด้วย ซึ่งประเทศไทยก็มีการให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาเช่นกัน ซึ่งการให้เสรีภาพการนับถือศาสนานั้น เป็นการสร้างรากฐานแห่งการไว้ใจกัน ประชาชน 8 ใน 10 ของโลกยังขาดเสรีภาพในการนับถือศาสนา ดังนั้นเราต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดเสรีภาพในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น

เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาฯ กล่าวต่อไปว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีนโยบายให้ตั้งเครือข่ายเสรีภาพทางศาสนาแล้วเมื่อเดือนก.พ.2563 ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการตั้งเครือข่ายในลักษณะดังกล่าวขึ้น ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ก็มีการดำเนินงานของผู้ติดต่อระหว่างประเทศว่าด้วยเสรีภาพการนับถือศาสนาและความเชื่อ ซึ่งขณะนี้มีสหรัฐอเมริกา และแคนาดา ร่วมดำเนินงานกันอยู่ เพื่อส่งเสริมเสรีภาพการนับถือศาสนาในระดับสากล และกำลังรอประเทศสมาชิกเข้าร่วมดำเนินการเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้การเคารพเสรีภาพในการนับถือศาสนา จะทำให้ทั้งสหรัฐอเมริกา และไทย เป็นประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม พร้อมกันนี้ขอเป็นกำลังใจให้กับการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ เพราะถือว่าเป็นงานไม่ง่าย จึงขอให้ภูมิใจในการทุ่มเททำงานนี้

"สันติศึกษา มจร" ขึ้นดอยช้าง ดึงพลังชาติพันธุ์สร้างชุมชนสันติสุข


"สันติศึกษา มจร" ขึ้นดอยช้าง เปิดเวทีดึงพลังชุมชนสร้างสันติสุขสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 ที่ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงบ้านดอยช้าง จังหวัดเชียงราย  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  นำคณาจารย์ และนิสิตลงพื้นที่ดอยช้าง  จังหวัดเชียงราย เพื่อดึงพลังชุมชนต่างๆ มาร่วมสร้างสันติสุขสัมพันธ์ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อส่งเสริมแนวทางการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างทางความเชื่อ ศาสนา ประเพณี และชาติพันธุ์ ภายใต้งานวิจัยปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา เรื่อง "กระบวนการสร้างสันติสุขสัมพันธ์ตามหลักสันติวิธีเชิงบูรณาการของชุมชนดอยช้าง จังหวัดเชียงราย  ของนางชนาภา ศรีวิสรณ์



พระมหาหรรษากล่าวว่า "ชุมชนดอยช้างมีกลุ่มคนอยู่อาศัย 5 ชาติพันธุ์ นับถือศาสนา 3 ศาสนา คือ พุทธ คริสต์ อิสลาม และอีกหนึ่งความเชื่อผีบรรพบุรุษ ถอยกลับไป 40 ปีก่อน ประชาชนมีความยากจน จึงเผาป่า ปลูกฝิ่น จึงทำให้เกิดโครงการพระราชดำริ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้กระตุ้นให้ปลูกกาแฟ และพืชต่างๆ จนบัดนี้ ทำให้ชนเผ่าต่างๆ มีความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น"

"อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สามารถเชื่อมสมานความต่างทางชาติพันธุ์ ความเชื่อทางศาสนา ภาษา และประเพณี รวมถึงสภาวะการดำเนินเศรษฐกิจระหว่างชนเผ่าเป็นไปอย่างประสมกลมกลืน นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา จึงได้ทำวิจัยเพื่อนำหลักสันติวิธีเชิงบูรณาการเข้าไปช่วยพัฒนาสันติสุขสัมพันธ์ระหว่างชนเผ่าต่างๆ บนชุมชนดอยช้าง ฉะนั้น การสร้างเวทีในวันนี้ จึงเป็นการสร้างความไว้วางใจระหว่างกันและกัน อันจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขอย่างยั่งยืนต่อไป" พระมหาหรรษากล่าวเสริม

สถาบันพระปกเกล้าจับมือสันติศึกษา "มจร" เปิดหลักสูตรการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความปรองดอง


เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร.ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า หลังจากสถาบันพระปกเกล้า สำนักงานศาลยุติธรรม และมหาจุฬาฯ ได้ลงนามความร่วมมือตั้งแต่ปี 2555 มจร และสำนักงานศาลยุติธรรมได้ทำงานร่วมกันพัฒนาผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อทำงานเป็นผู้ประนอมในศาลต่างๆ จำนวนมาก

"มาบัดนี้ สถาบันพระปกเกล้า และหลักสูตรสันติศึกษา มจร จึงได้จับมือกันออกแบบหลักสูตรวุฒิบัตรการมีส่วนร่วมเพือสร้างความปรอง รุ่น 1 เพื่อฝึกทักษะการใช้เครื่องมือในชุมชนและสังคม"  พระมหาหรรษา กล่าวและว่า


ทั้งนี้ ดร.ถวิลวะดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัย และอาจารย์ศุภณัฏ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง  สถาบันพระปกเกล้า พร้อมกับ ผศ.ดร.ขันทอง วัฒนประดิษฐ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาสันติศึกษา ได้นำประสบการณ์มาร่วมกันออกแบบหลักสูตรฯ อย่างละเอียดและใส่ใจ

วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2563

"พระพรหมบัณฑิต-อนุชา"แถลง ชวนร่วมส่งเสริมท่องเที่ยวไทยเชิงพุทธ


"พระพรหมบัณฑิต-อนุชา" แถลงเชิญชวนชาวประชาชนทำบุญเนื่องในวันสำคัญทางศาสนา แนะร่วมกันส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา พลิกฟื้นการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 เวลา 09.00 น. ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธัมมจิตโต) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร พร้อมด้วยนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมแถลงข่าวเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมกิจกรรมเนื่องในวันออกพรรษา 2563 "ออกพรรษา ใส่บาตร เติมบุญ หนุนชีวิต" โดยการสร้างกุศลตักบาตรเทโวโรหณะ และเป็นเจ้าภาพถวายผ้ากฐินทานตามวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ 

โอกาสนี้พระพรหมบัณฑิต กล่าวว่า ในช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา ชาวพุทธได้ทำหน้าที่สำคัญ  4 ประการ คือ ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม เผยแผ่ธรรม และอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา เมื่อกระทำมาตลอดแล้ว ในช่วงออกพรรษา ก็ควรทำความดีต่อไปเหมือนกับเกลือรักษาความเค็ม ทำความดีต่อเนื่องให้เป็นนิสัย เป็นพุทธบูชา ในส่วนของกิจกรรมสำคัญภายหลังจากวันออกพรรษา 1 วัน คือ การตักบาตร ที่เรียกว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ และภายหลังการออกพรรษา 1 เดือน จะเป็นเทศกาลกฐิน หรือที่เรียกว่ากฐินสามัคคี ซึ่งเป็นการแสดงถึงพลังความสามัคคีของชาวพุทธ โดยขอเดินทางไปทอดกฐินอย่างมีธรรมะ. เหมือนในสมัยพุทธกาลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ในอาการเยื้องย่างที่งดงามเหมือนพระพุทธรูปปางลีลา

ด้านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กิจกรรมสำคัญต่าง ๆ ในวันออกพรรษา เป็นส่วนสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงพลังของชาวพุทธ โดยเฉพาะบทบาทของ  "บ้าน วัด และโรงเรียน" หรือ บวร เป็นแรงผลักดันให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ซึ่งในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้การท่องเที่ยวหลายพื้นที่ซบเซา ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่าเมื่อมีการจัดงานบุญใหญ่ เช่น วันออกพรรษา  หรือ วันมหาปวารณา รวมถึงงานบุญประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ และงานเทศกาลกฐิน จะเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ต่อไป 

พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานบุญใหญ่เพื่อเป็นพุทธบูชาช่วยทำนุบำรุงพระศาสนาให้อยู่ยั่งยืน รวมถึงให้สร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงพุทธระหว่างหน่วยงานภาครัฐ บ้าน วัด โรงเรียน เพื่อร่วมกันส่งเสริมกิจกรรมในทุกวันสำคัญทางพุทธศาสนา ระดมทรัพยากรทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงพุทธ พลิกฟื้นการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งนี้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนา      อันจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและจิตใจเป็นสำคัญ รวมถึงเป็นการแสวงบุญในมิติทางศาสนาและความเชื่ออีกด้วย จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนา มุ่งมั่นทำความดีเพื่อเป็นกุศลผลบุญแก่ตนเองและครอบครัว พร้อมกับขอให้ประชาชนยังคงปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคที่รัฐบาลกำหนด "การ์ดอย่าตก"  สวมใส่หน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือ รวมทั้งเว้นระยะห่างทางสังคมเมื่อต้องอยู่ในคนหมู่มาก

"อนุชา"แถลงย้ำภารกิจหลัก "พศ." นำหลักพุทธสร้างสันติสุขต่อสังคมอย่างยั่งยืน


"อนุชา"แถลงย้ำภารกิจหลัก "พศ." นำหลักพุทธสร้างสันติสุขต่อสังคมอย่างยั่งยืน  ออกพรรษาขอชวนคนไทยร่วมทำบุญใหญ่กระเศรษฐกิจจากภัยโควิด

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาลนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวนโยบายการส่งเสริมงานด้านพระพุทธศาสนา ว่า โดยบทบาทหน้าที่ของสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นหน่วยงานในการที่จะสนองกิจกรรมของคณะสงฆ์ คณะสงฆ์และรัฐบาลด้วยการเสริมสร้างให้กิจกรรมทางพุทธศาสนามีความมั่นคงและยั่งยืน ตนมีแนวคิดที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ระบุบว่า "เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนกิจการพระพุทธศาสนา สู่ความมั่นคง สังคมดำรงศีลธรรม นำสันติสุขอย่างยั่งยืน"  

และที่ผ่านมาสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ทำหน้าที่อย่างดี การทำงานก็ได้ยึดตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดนน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาบูรณาการร่วมกัน ให้วัดเป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมขับเคลื่อน ให้เกิดพลังผลักดันสังคม ให้มีความมั่นคง ยั่งยืน โดยมีกิจกรรม เช่น โครงการหมู่บ้านศีล 5 โครงการเศรษฐกิจจิตอาสา เป็นต้น การทำให้ประชาชนร่วมกิจกรรมต่างๆเหล่านี้จะทำให้ประชาชน ยึดมั่นคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาของเรามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างมีความสุขและจะสามารถลดปัญหาสังคมที่มีอยู่อย่างยั่งยืนและตลอดไป          

นายอนุชา กล่าวถึง วันออกพรรษาเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทุกคนในปีนี้งานบุญวันออกพรรษาหรือวันมหาปวารณาตรงกับ วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2563 งานบุญประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะตรงกับ วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม 2563 และงานเทศกาลกฐินตั้งแต่ วันที่ 3 ถึง 31 ตุลาคม 2563 รัฐบาลให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมอันดีงามในประเทศเป็นหัวใจของการทำให้บ้านเมืองสงบสุขทั้งยังสามารถต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้านการท่องเที่ยวเชิงพุทธได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะเทศกาลออกพรรษาและเทศกาลกฐินที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศสร้างรายได้ให้กับชุมชนและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 อย่างไรก็ดีขอให้ประชาชนได้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

นายอนุชา กล่าวว่า ศาสนาเป็นเสาหลักในการค้ำจุนให้ประเทศเราสงบสุขยั่งยืน เมื่อเรามีประเพณีเหล่านี้ ย่อมเกิดการเดินทางย่อมเกิดการท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในฐานะที่ปัจจุบันเราประสบปัญหาวิกฤติโรคภัย ปีนี้จึงอยากเชิญชวน คนไทยทั้งประเทศบำรุงศาสนา ทำกิจกรรมทำบุญใหญ่ในปีนี้ ถือว่าเป็นการท่องเที่ยวบุญใหญ่ ท่องเที่ยวออกพรรษา ท่องเที่ยวตักบาตรเทโว ท่องเที่ยวที่ได้บุญและช่วยคนไทยด้วยกัน ปีนี้รัฐบาลอยากเชิญชวน ประชาชน ข้าราชการหรือนักธุรกิจ ร่วมมือร่วมใจกันทั้งประเทศ จัดงานบุญใหญ่ในปีนี้ ให้ยิ่งใหญ่เกิดการท่องเที่ยวกันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และช่วยกันบำรุงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนและเป็นเสาหลักของประชาชนต่อไป

 


 


มติครม.เห็นชอบ "ศิษย์เก่ามหาจุฬาฯ" ผงาดคุม "กรมการศาสนา"



วันที่ 29 กันยายน 2563  ที่ประชุม คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ในกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ผู้ครองตำแหน่งอยู่เดิมจะเกษียณอายุราชการ และเพื่อการสับเปลี่ยนหมุนเวียน จำนวน 4 ราย ดังนี้          

1.นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ไปดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม          

2.นายเกรียงศักดิ์ บุญประสิทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม ไปดำรงตำแหน่ง อธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม           

3. นายกฤษฎา คงคะจันทร์ รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม ไปดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม          

4.  นายประสพ เรียงเงิน ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม ไปดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรร          

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป         

สำหรับ นายเกรียงศักดิ์ บุญประสิทธิ์ เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์ (เอกภาษาอังกฤษ)  โดยมีประวัติการรับราชการดังนี้ ตำแหน่งปัจจุบัน

– ว่าที่อธิบดีกรมการศาสนา 

– หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม วันเข้ารับตำแหน่งวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561


ประวัติการทำงาน

–  หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม วันเข้ารับตำแหน่งวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561

–  รองอธิบดีกรมการศาสนา

–  ผู้อำนวยการกองศาสนูปถัมภ์

–  เลขานุการกรมการศาสนา

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับ

– ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)

เกียรติประวัติที่ได้รับการยกย่อง

– ข้าราชการตัวอย่าง ปี พ.ศ. 2542 มอบโดยกระทรวงศึกษาธิการ

– ข้าราชการพลเรือนดีเด่น ปี พ.ศ. 2549 มอบโดยกระทรวงศึกษาธิการ

– ประกาศเกียรติคุณเป็นบุคคลที่ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการครองตน ครองคน ครองงาน และมีผลงานดีเด่นได้รับการยกย่องให้เป็นข้าราชการพลเรือนดีเด่นประจำปีพุทธศักราช 2549 ของกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ.2550 มอบโดยกระทรวงวัฒนธรรม

– เกียติบัตรผู้ให้การสนับสนุนการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ปี พ.ศ. 2551 มอบโดยสำนักพระราชวัง

 – ข้าราชการผู้ถือปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2557 มอบโดยสำนักงาน ก.พ.

 – รางวัล “เกียรติภูมินิติโดม” รุ่น 2540 (ภาคบัณฑิต) พ.ศ. 2561 มอบโดยสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 – ประกาศเข็มเกียรติคุณมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2561 มอบโดยมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 ประวัติการศึกษา

– ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ภาษาสันสกฤต) มหาวิทยาลัยศิลปากร

– ปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

– ปริญญาตรี ศึกษาศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

– ปริญญาตรี พุทธศาสตรบัณฑิต (ภาษาอังกฤษ)  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2563

“ชวน”บรรยายย้ำกับผู้นำศาสนาอิสลาม! ทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี


วันที่ ๒๙ กันยายน 2563  เพจ Democrat Party, Thailand พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความว่า “ชวน” บรรยาย  เรื่อง "วิวัฒนาการความก้าวหน้าประชาธิปไตยแบบไทย" ย้ำ ! ทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี ให้ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติ 

(๒๘ ก.ย. ๖๓) เวลา ๑๑.๓๐ น. ณ ห้องประชุม ชั้น ๖ อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การต้อนรับ นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ ที่ปรึกษาจุฬาราชมนตรีด้านแผนงานและโครงการ พร้อมด้วยคณะกรรมการสถาบันพัฒนาผู้นำศาสนาอิสลาม สำนักจุฬาราชมนตรี คณะผู้เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตร "การพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำศาสนา ยุคใหม่" รุ่นที่ ๔ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๓ และหลักสูตร "พัฒนาศักยภาพอิหม่าม" รุ่นที่ ๒ ประจำปี ๒๕๖๓  ตลอดจนเจ้าหน้าที่สำนักจุฬาราชมนตรี ในโอกาสศึกษาดูงาน ณ รัฐสภา โดยมี คณะทำงานประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมต้อนรับ 

ในการนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้เกียรติบรรยายสรุป เรื่อง "วิวัฒนาการความก้าวหน้าประชาธิปไตยแบบไทย" ว่า ทุกคนต้องแสวงหาความรู้ เพื่อตามโลกและตามบ้านเมืองให้ทัน ความรู้ที่มีไม่สำคัญเท่ากับการนำไปปฏิบัติ เพราะการปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ ศาสนาทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี ให้ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติ เช่น ศาสนาอิสลาม ก็สร้างบุคคลที่สร้างคุณประโยชน์ เช่น ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นต้น 

ทั้งนี้ นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองมากว่า ๘๘ ปี การเมืองไทยได้มีความก้าวหน้าไปมาก จากเริ่มแรกที่มีผู้แทนที่จบปริญญาเอกเพียง ๒ ท่าน แต่ปัจจุบันหลายท่านได้ศึกษาปริญญาเอกกันมาก เป็นผลดีต่อการทำหน้าที่ เพราะทำให้เรามีสภาที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ และเข้าใจในปัญหา แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไป คือที่มาของนักการเมือง จากเมื่อก่อนไม่มีคำว่า “ซื้อเสียง” มีเพียงหัวคะแนน การปราศรัยหาเสียงก็ยังไม่มี ซึ่งตนเป็นผู้บุกเบิกใช้วิธีปราศรัย อีกทั้งสมัยนั้นไม่ได้ใช้เงินในการสมัครและหาเสียง สิ่งนี้ก็คือความเปลี่ยนแปลง แสดงให้เห็นว่า กว่าจะเป็นวันนี้ได้ บ้านเมืองพัฒนามาตามลำดับ 

ระบบการเมืองเองก็เช่นกัน ได้มีการเปลี่ยนแปลง มีนักการเมืองที่มีความรู้และมีอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น โดยสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องการเน้นย้ำคือ เรื่องการเมืองสุจริต หากมีการซื้อเสียงมาแล้วจะเข้ามาทำงานอย่างสุจริตหรือไม่ และการที่จะทำงานโดยไม่หาผลประโยชน์นั้นยาก เช่นเดียวกับตำแหน่งข้าราชการหากซื้อตำแหน่งมาก็เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่แสวงหาผลประโยชน์ ในส่วนของวิวัฒนาการทางการเมืองไทยนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ และประชาธิปไตยนำมาซึ่งสิ่งดีงามในสังคม อาทิ โครงการนมโรงเรียน และโครงการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ล้วนเกิดมาจากวิวัฒนาการของประชาธิปไตย 

ทั้งนี้ แม้วิวัฒนาการของการเมืองไทยจะดีขึ้นแต่มีจุดอ่อนคือ ความบกพร่องของนักการเมือง ดังนั้น เราจึงควรส่งเสริม สนับสนุนให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง ตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงพระราชทานในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๑ ธ.ค. ๑๒ “ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้” 

อีกประการหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญของบ้านเมืองเราคือ เป็นไปตามแนวความคิดของเพลโต (Plato) นักปราชญ์ชาวกรีก ที่ได้กล่าวไว้ว่า การปกครองที่ทำให้บ้านเมืองเป็นปกติเรียบร้อยต้องปกครองด้วยคนดี หรือ “ราชาแห่งปราชญ์ (Philosopher King)” แต่คุณสมบัติของคนเช่นว่านั้นหาได้ยาก ประกอบกับมนุษย์นั้นเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา กล่าวคือ เมื่อได้มองเห็นถึงผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่ตนจะได้รับ ก็อาจมีแนวความคิดและความประพฤติที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ดังนั้น ในยุคหลังจึงเห็นว่าการปกครองที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยได้นั้น ต้องปกครองด้วยหลักกฎหมายหรือนิติรัฐดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ประเทศไทยของเราในปัจจุบันมีความต้องการทั้งสองประการ คือ การปกครองโดยคนดีและหลักกฎหมายที่ดี เพราะหากมีหลักกฎหมายที่ดี แต่คนปฏิบัติไม่ดี ก็ก่อให้เกิดความวุ่นวายตามมา และมีการละเมิดหลักกฎหมายบ้านเมืองอย่างไม่เกรงกลัว ทำให้หลักกฎหมายที่ดีเสียไป เพราะฉะนั้นการสร้างหลักเกณฑ์ของบ้านเมืองที่ดีกับการสร้างคนดีเพื่อให้ปกครองบ้านเมืองจึงต้องควบคู่กันไป โดยระบอบประชาธิปไตยต้องอาศัยหลักที่ดีกับคนดีให้ไปด้วยกัน รวมทั้งยึดถือหลักของความซื่อสัตย์ สุจริต 

ดังนั้น ในยุคหลังจึงเห็นว่าการปกครองที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยได้นั้น ต้องปกครองด้วยหลักกฎหมายหรือนิติรัฐ ในประเด็นนี้ตนเคยได้สนทนากับ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ซึ่งได้เล่าให้ฟังว่าในช่วงปลายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระองค์ท่านมองเรื่องคนดีเป็นเรื่องสำคัญ จึงได้พระราชทานเงินจำนวนหนึ่งให้กับองคมนตรี เพื่อให้ทำภารกิจในเรื่องของการสร้างคนดีร่วมกับโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นจึงทำให้มีความคิดที่จะทำโครงการการเมืองสุจริต เพื่อสร้างการเมืองที่ดีและการเมืองสุจริตให้แก่สังคมและประเทศชาติต่อไป

"วิษณุ" หารือ ผู้แทนจุฬาราชมนตรี พัฒนาสินค้าฮาลาล หวังส่งออกในตลาดโลกเพิ่มขึ้น


วันที่ 28 ก.ย.2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบ ประกาศนียบัตร ให้กับผู้ผ่าน การอบรมหลักสูตร “พัฒนาภาวะผู้นำศาสนายุคใหม่” รุ่นที่ 4 และหลักสูตร “พัฒนาศักยภาพอิหม่าม” รุ่นที่ 2 ประจำปี 2563 จาก 20 จังหวัด รวม 50 คน พร้อมกันนี้ มอบประกาศนียบัตรกิตติมศักดิ์ ให้แก่ นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมการศาสนา          

โดยนายวิษณุ มอบนโยบาย ให้กับผู้เข้าผ่านการอบรม ทั้ง 2 หลักสูตร ว่า รัฐบาลต้องขอบคุณ สำนักจุฬาราชมนตรี ที่จัดตั้ง สถาบันพัฒนาผู้นำศาสนาอิสลามขึ้น ซึ่งเป็นไปตามดำริของจุฬาราชมนตรี ตั้งแต่ ปี 2560 โดย รัฐบาลชื่นชมการดำเนินการของหลักสูตร เพราะนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ต้องการให้เกิดการฝึกอบรมขึ้น เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านต่างๆ ไม่ใช่แต่เพียงด้านศาสนาอิสลามเท่านั้น เพราะฉะนั้น การที่สถาบันพัฒนาผู้นำศาสนาอิสลาม ตั้งขึ้นและมีการจัดอบรม ถือเป็นหลักสูตรที่มีประโยชน์ ช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้นำศาสนาอิสลาม และอิหม่าม รัฐบาลต้องการให้พัฒนา และดำเนินการให้เกิดความก้าวหน้า ของหลักสูตรนี้ต่อไป          

นอกจากนี้ ตนเองได้หารือร่วมกับ ผู้แทนจุฬาราชมนตรี เรื่องการพัฒนาสินค้าฮาลาล ให้เป็นรูปธรรมและก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพราะปัจจุบัน ตัวเลขการส่งออก อยู่ลำดับ 9 ของโลก ทั้งๆ ที่อาหารฮาลาลของไทย ได้รับการยอมรับจากองค์การศาสนาทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังดำเนินการบางอย่างไม่ถูก จึงจำเป็นต้องพัฒนาให้การส่งออกอาหารฮาลาลของไทย มีลำดับที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ส่งผลต่อ ระบบสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง แต่รัฐบาลเชื่อว่า หลักศาสนาอิสลามมีหลักที่ต่อสู้กับวิกฤตได้ และผู้อบรมที่ผ่านหลักสูตรการอบรมนี้ ต้องมีการพูดคุยกันในเรื่องปรับตัว ให้เข้ากับสถานการณ์ในขณะนี้ เพื่อนำไปถ่ายทอดต่อ ขอขอบคุณ ผู้ดำเนินโครงการทุกท่านที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ขอให้ประสบความสำเร็จ และนำเอาความรู้ที่ได้รับไปสร้างสรรค์ ประโยชน์ให้เกิดแก่ประชาชนร่วมชาติ

ดูภาพเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/5963

วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2563

"อนุชา" ชู "หมู่บ้านรักษาศีล 5 โมเดล" สร้างความสมานฉันท์สังคมไทย


เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 26 ก.ย. 2563 ที่บ้านหนองสังข์ ตำบลหนองสังข์ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา "หมู่บ้านรักษาศีล 5" (ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563

สำหรับโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เป็นโครงการที่มีความสำคัญและเป็นภารกิจของคณะสงฆ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยประชาชนได้น้อมนำหลักเบญจศีล หรือศีล 5 มาประยุกต์และปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ส่งผลให้ประชาชนมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น สังคมมีความสงบร่มเย็น ประชาชนในชาติมีความสามัคคีปรองดอง สมานฉันท์

โอกาสนึ้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมคณะสงฆ์ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย และพี่น้องประชาชนที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการนี้ให้ประสบผลสำเร็จ พร้อมกล่าวย้ำว่า โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในชุมชน สังคม และประเทศชาติ โดยมีหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยว และเชื่อมั่นว่าโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ฯ จะสามารถต่อยอดพัฒนาให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ สร้างความสงบสุขอย่างแท้จริง ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี ลดความขัดแย้งของสังคม หากทุกคนยึดมั่นในศีลในธรรม พร้อมหวังให้หมู่บ้านรักษาศีล 5 เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต ขยายครอบคลุมไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศต่อไป

"หญิงหน่อย"ลาออก! ปธ.ยุทธศาสตร์เพื่อไทย


เมื่อวันที่ 25 กันยายน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ลาออกจากประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โดยระบุว่า "เรียนพี่น้องประชาชนที่เคารพ วันนี้ดิฉันได้ขอลาออกจากประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยแล้ว          

ต่อจากนี้ถึงแม้ดิฉันจะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยแล้วก็ตาม แต่ดิฉันยังเป็นสมาชิกพรรคที่พร้อมจะยืนหยัด ต่อสู้เคียงข้างกับพี่น้องประชาชนในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และร่วมผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพี่น้องประชาชนให้สำเร็จ ตามแนวทางที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ได้เสนอไว้ทั้ง 5 ญัตติ

สุดท้าย ดิฉันขอกราบขอบพระคุณพี่น้องประชาชนทุกท่าน ที่ได้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยในช่วงที่ดิฉันได้ทำหน้าที่ให้กับพรรคมาโดยตลอด จนทำให้พรรคชนะการเลือกตั้งเป็นลำดับ 1 ของประเทศได้จำนวน ส.ส. มากที่สุด

ขอขอบคุณกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคทุกท่านที่ทำงานอย่างหนักเพื่อพรรคมาโดยตลอด และขอขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคทุกท่านที่ได้ร่วมทำงานกันมาด้วยความเสียสละทุ่มเทเพื่อพี่น้องประชาชน และร่วมผลักดันญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวอย่างเต็มความสามารถ"

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2563

ปชป.รับเรื่องช่วยดำเนินการ เรื่องที่ดินมัสยิดดารุ้ลอะมีนสีคิ้ว เข้าร่วมโครงการ คทช.


วันที่ 25 กันยายน 2563  ห้องทำงานเลขานุการประธานรัฐสภา พ.ต.อ.สุรินทร์ ปาราเร่ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และนายราเมศ  รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา รับยื่นหนังสือจากนายปรีชา กาซัน กำนัน ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ พล.ต.ต.สุรินทร์   มอบอำนาจให้นายปรีชา กาซัน กำนัน ต.คลองไผ่  ดำเนินการเรื่องที่ดินของมัสยิด ดารุ้ลอะมีน เพื่อนำที่ดินดังกล่าวเข้าร่วมโครงการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในที่ดินของรัฐให้ถูกต้องตามกฏหมาย อันจะมีผลให้พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการมัสยิดอย่างถูกต้อง

เนื่องจากอาคารมัสยิดดารุ้ลอะมีน ได้ก่อสร้างอยู่บนพื้นที่ที่อยู่ในป่าไม้สงวนแห่งชาติเขาเตียน เขาเขื่อนลั่น และป่าปากช่องหมูสี ตั้งแต่ปี 2520 ซึ่งมัสยิดดังกล่าวมีความสำคัญและใช้เป็นศาสนสถานของพี่น้องชาวมุสลิม ในการนี้ คณะกรรมการมัสยิด ได้พิจารณาเห็นว่าพื้นที่ในการก่อสร้างมัสยิดยังคงเป็นพื้นที่ของป่าไม้สงวนแห่งชาติ และหน่วยงานรัฐได้เขามารังวัดเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของทางราชการ 

ดังนั้นหากไม่ดำเนินการเรื่องที่ดินให้ถูกต้อง อาจถูกรื้อถอนมัสยิดจนทำให้ไม่สามารถประกอบศาสนกิจตามหลักศาสนาได้ จึงขอความอนุเคราะห์มอบอำนาจให้นายปรีชา กาซันเป็นผู้มีอำนาจในการทำธุรกรรมด้านที่ดินต่อไป

พ.ต.อ.สุรินทร์ ในฐานะที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว ได้ประสานงานโทรศัพท์ให้ในทันที ผลคือคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้มอบอำนาจให้ตัวแทนในพื้นที่เป็นผู้แทนในการชี้แนวรังวัดแนวเขต เพื่อจะให้พี่น้องมุสลิมได้ใช้เป็นศาสนสถานต่อไป

"นภาพร"อัดรัฐบาล-ส.ว.เล่นการเมืองไม่เห็นหัวปชช.


วันที่ 25 ก.ย.2563 น.ส.นภาพร เพ็ชร์จินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย กล่าวถึงการจับมือกันระหว่าง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ฝ่ายรัฐบาลกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อเลื่อนการลงมติรับหลักการญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 1 ออกไปอีก 1 เดือน โดยอ้างว่า ส.ว.ยังไม่ค่อย          

เข้าใจหลักการจึงต้องศึกษาเพิ่มเติมด้วยการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาอีก ว่า ถือเป็นการเล่นการเมืองที่ไม่เห็นหัวประชาชน และเป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า ประชาธิปไตยไม่มีวันงอกออกมาจากปลายกระบอกปืนการเลื่อนลงมติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ที่ไม่ได้มาจากประชาชนอย่างแท้จริง แต่ถูกทำคลอดออกมาจากระบอบเผด็จการ จะไม่มีวันฟังเสียงประชาชนหรือทำตามความต้องการของประชาชน แต่จะพยายามทำทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของเครือข่ายพรรคพวกตัวเองเอาไว้

โดยไม่สนใจว่า ประชาชนจะรู้สึกอย่างไรหรือการเมืองจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงหรือไม่ ตนไม่ทราบถึงเจตนาของฝ่ายรัฐบาลและกลุ่ม ส.ว. ที่เลื่อนการลงมติออกไปว่าต้องการอะไรกันแน่ เพราะหากจะอ้างว่าต้องการใช้เวลาศึกษาเพิ่มเติมด้วยการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาอีกก็ฟังไม่ขึ้น เพราะที่ผ่านมาก็มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้วและทุกฝ่ายก็เตรียมข้อมูลมาอภิปรายอย่างดี โดยเฉพาะ ส.ว.ที่ลุกขึ้นอภิปรายอย่างฉะฉาน อบรมสั่งสอนสมาชิกไปทั้งสภา แล้วจะมาบอกว่าไม่รู้เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญได้อย่างไร          

ทั้งนี้ แทนที่รัฐบาลกับ ส.ว. จะใช้สภาเป็นเวทีหาทางออกให้ประเทศ แต่กลับผลักการเมืองออกไปนอกสภา เพราะแน่นอนว่าประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยเขาคงไม่ยอมรับระบอบการเมืองที่ไม่เห็นหัวประชาชนเช่นนี้ ในฐานะ ส.ส. ฝ่ายค้านขอกราบขอโทษประชาชน ที่ไม่สามารถผลักดันให้เกิดการแก้ไขได้ แต่จากนี้ไปก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด โดยร่วมกับประชาชนทั้งประเทศยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นมาให้ได้

ม.มหิดลสนองพระราชดำริ ให้โอกาสสามเณรวัดไผ่ดำ ศึกษาต่อคณะพยาบาลศาสตร์



เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563  หน้าที่ของวิชาชีพพยาบาลไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงที่อยู่อาศัย และชุมชนของผู้ป่วย โดยมุ่งให้ผู้ป่วยได้รู้จักการดูแลตัวเองอย่างต่อเนื่อง รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะพยาบาลศาสตร์ ได้เริ่มดำเนินการโครงการสร้างเสริมสุขภาพสามเณรโรงเรียนวัดกฤษณเวฬุพุทธาราม (วัดไผ่ดำ) ต.ทองเอน อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 จนถึงปัจจุบัน โดยเป็นโครงการที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ปีนี้นับเป็นปีที่ 17 วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคแก่สามเณร รวมถึงการนำไปประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว ซึ่งสามเณรส่วนหนึ่งเป็นลูกหลานของชาวบ้านที่ยากไร้ขาดแคลน


ระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการสร้างเสริมสุขภาพสามเณรโรงเรียนวัดกฤษณเวฬุพุทธาราม (วัดไผ่ดำ) ได้สำรวจทางสุขภาพของสามเณรวัย 12 - 19 ปีที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวนกว่า 1,000 รูป พบว่าส่วนใหญ่มีปัญหาด้านสุขอนามัย ขาดความรู้และความเข้าใจในการดูแลตัวเอง จนทำให้เกิดโรคผิวหนัง โรคทางทันตกรรม โรคทางภาวะโภชนาการ และปัญหาสุขภาพจิต โดยทางโครงการฯ ได้จัดบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาล เพื่อให้บริการดูแลรักษาสุขภาพ พร้อมทั้งอบรม และให้คำแนะนำแก่สามเณรที่เข้าร่วมโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง ในลักษณะ “Train the Trainer” จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง จากเพื่อนสู่เพื่อน เพื่อเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืนต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.วัลย์ลดา ฉันท์เรืองวณิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลศัลยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงาน กล่าวเสริมว่า จากการดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพสามเณรโรงเรียนวัดกฤษณเวฬุพุทธาราม (วัดไผ่ดำ) ทำให้สามเณรใส่ใจเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพกันมากขึ้น จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และมีสามเณรจำนวน 1 รูป ภายหลังจากลาสิกขาได้เข้ามาศึกษาต่อที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทางคณะฯ ได้ให้การดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ อีกทั้งให้การสนับสนุนและคำแนะนำจนกระทั่งสามารถเข้ามาศึกษาต่อที่คณะฯ โดยคณะฯ ได้ให้ทุนสนับสนุนการศึกษาและค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรแก่นักศึกษาดังกล่าวซึ่งเป็นอดีตสามเณรจากโครงการฯ และหวังว่าเมื่อนักศึกษาผู้รับทุนดังกล่าวสำเร็จการศึกษาแล้ว จะสามารถใช้ความรู้เพื่อการประกอบวิชาชีพการพยาบาล และเป็นกำลังหลักให้กับครอบครัวได้ต่อไปในอนาคต ซึ่งถือเป็นกรณีศึกษาที่สามารถต่อยอดขยายผลให้สามเณรรูปอื่นๆ จากโครงการฯ ได้รับโอกาสในการศึกษาต่อคณะอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล อาทิ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะกายภาพบำบัด ฯลฯ

นายมานิต โพธิ์สาวัง อดีตสามเณรรูปแรกจากโครงการสร้างเสริมสุขภาพสามเณรโรงเรียนวัดกฤษณเวฬุพุทธาราม (วัดไผ่ดำ) ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เข้าศึกษาต่อที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตนได้แรงบันดาลใจจากความประทับใจในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ประจำห้องพยาบาลที่วัดไผ่ดำ เมื่อครั้งที่ตนนอนป่วยถึง 2 สัปดาห์ และได้รับการดูแลเป็นอย่างดี จึงเกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ

หลังจากที่ได้เฝ้ารับเสด็จฯ และถวายรายงาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการที่ตนดูแลอยู่ ตนได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้มีโอกาสศึกษาต่อที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จนปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 นับเป็นความปลาบปลื้มอย่างหาที่สุดมิได้ โดยตนตั้งใจจะศึกษาจนสำเร็จการศึกษา และทำงานที่โรงพยาบาลศิริราชจนได้ประสบการณ์ในระยะหนึ่ง ก่อนกลับไปช่วยงานที่มูลนิธิสิรินธร เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณ


วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2563

แนะแนวพัฒนาพุทธอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จัดการศึกษา-เผยแผ่ให้เป็นระบบ

    

"ผอ.สันติศึกษา มจร" เสนอให้พัฒนาพุทธในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นหนึ่งกลุ่มยุทธศาสตร์ ตอบโจทย์การศึกษาและการเผยแผ่อย่างเป็นระบบ

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ที่วิทยาลัยสงฆ์นครพนม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร ได้รับนิมนต์ให้ไปเป็นองค์ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "ยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาและการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง" แก่ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตของวิทยาลัยสงฆ์นครพนม มจร และมหาวิทยาลัยนครพนม นำโดย ดร.วรวุฒิ อินทนนท์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์  

พระมหาหรรษา กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการพัฒนาการศึกษาและการเกิดแผ่พระพุทธศาสนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างเป็นระบบ และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ครอบคลุมทุกมิติ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดทำแผนเป็นกลุ่มยุทธศาสตร์ (Cluster) เพราะจะทำให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับพระพุทธศาสนา ศิลปะ ประเพณี และวัฒนธรรมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง



"แกนนำหลักที่มีศักยภาพในการดำเนินการเรื่องนี้ได้ คือ วิทยาลัยสงฆ์เลย วิทยาเขตหนองคาย วิทยาลัยสงฆ์นครพนม และวิทยาเขตอุบลราชธานี โดยให้คณาจารย์ประสานพลังในการศึกษา วิจัย และจัดทำกลุ่มยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกัน เพราะทุกแห่งตั้งอยู่ติดกับลุ่มน้ำโขง จะทำให้เข้าใจวิถีชีวิตและความเป็นของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้" พระมหาหรรษากล่าวเสริม

ดร.วรวุฒิ  กล่าวสนับสนุนว่า "เห็นด้วยกับแนวคิดนี้  ส่วนตัวขอเพิ่มว่า นอกจาก มจร แล้ว อยากจะให้ดึงเอามหาวิทยาลัยต่างๆ ในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มาร่วมศึกษา วิจัย และจัดทำแผนยุทธศาสตร์เฉพาะในกลุ่มที่อาศัยอยู่ติดลุ่มน้ำด้วย เพื่อจะได้เชื่อมิติทางเศรษฐกิจ การศึกษา การเมือง และสังคม ที่สัมพันธ์กับวิถีศาสนาและวัฒนธรรม"

ขณะที่พระครูสิริเจติยานุกิจ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์นครพนม มจร ที่เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมครั้งนี้ สรุปตอนหนึ่งว่า "ในแต่ละปีนั้น มีประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ทั้งไทยและลาวจำนวนมาก เดินทางมากราบสักการะพระธาตุพนม ในฐานะเป็นศูนย์ร่วมใจ นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเรื่องพญานาค และมีวัฒนธรรมไหลเรือไฟที่ดีงามของคนในท้องถิ่น หากมีการจัดแผนพัฒนาเป็นกลุ่มยุทธศาสตร์ได้ จะทำให้เห็นทิศทางในการพัฒนาพระพุทธศาสนา สังคม การศึกษา และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นเอกภาพและเป็นมากขึ้น"


ดร.นิยมร่วมในพิธีคืนสมณเพศ แก่อดีตพระพรหมดิลก ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดีฟอกเงินทอนวัด

 


เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563   ตามที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อท.196/2561 คดีฟอกเงินทุจริตจัดสรรงบประมาณสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ของวัดสามพระยา ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปราบการทุจริต 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องอดีตพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา, กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร กับอดีตพระอรรถกิจโสภณ (สมทรง อรรถกฤษณ์) และเลขาฯเจ้าคณะกรุงเทพ เป็นจำเลยที่ 1-2 โดยศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องนั้น 

ดร.นิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย  ซึ่งได้เดินทางไปร่วมฟังคำพิพากษาและได้ร่วมในพิธีสวดมนต์การกลับคืนสมณเพศ อดีตพระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยา  ที่พระอุโบสถวัดสามพระยา   ในเวลาต่อมา โดย ดร.นิยม ระบุว่า "ขอกราบขอบพระคุณทุกๆ คนที่เป็นพุทธศาสนิกชนร่วมปกป้องพระศาสนา สำหรับผมยังเดินเรื่องดำเนินการต่างๆ เพื่อพระพุทธศาสนาต่อไปครับ"

พระมหาไพรวัลย์ จี้ "พศ." ชง "มส." คืนสมณเพศให้กับอดีตพระพรหมดิลก



เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563  พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระนิสิตปริญญาเอก สาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้แสดงความเห็นต่อกรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อท.196/2561 คดีฟอกเงินทุจริตจัดสรรงบประมาณสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ของวัดสามพระยา ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปราบการทุจริต 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องอดีตพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา, กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร กับอดีตพระอรรถกิจโสภณ (สมทรง อรรถกฤษณ์) และเลขาฯเจ้าคณะกรุงเทพ เป็นจำเลยที่ 1-2 โดยศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องความว่า  

ต้องไม่ใช่แค่เรื่องของการยกฟ้องแล้วให้จบกันไปอย่างนี้นะ ต้องไม่ใช่เรื่องของการบอกว่า "มันเป็นคราวเคราะห์หรือกรรมเก่าของจำเลยเอง" อีกต่อไป ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะต้องทำอะไรให้เป็นมาตรฐานกันเสีย ถึงเวลาที่จะต้องมาแก้ไขปรับปรุงในกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรม ที่ขัดต่อหลักของสิทธิและเสรีภาพ พระก็พลเมือง ควรได้รับการปฎิบัติในทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมเสมอเหมือนกับผู้อื่น

ต่อกรณีนี้ ถึงในที่สุด ถ้าศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องอีก สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ควรต้องออกมาทำอะไรเพื่อแสดงถึงการขอขมากรรมและการสำนึกผิดในสิ่งที่ตนเองได้กระทำลงไปด้วย อาตมาอยากจะเสนอหรือจะบอกว่าเรียกร้องก็ได้ในเรื่องที่เป็นแนวทางซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติสามารถทำได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ แนวทางที่อาตมากล่าวถึงมีอยู่ 3 ข้อ นั่นก็คือ


1. หากศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องตามศาลอุทธรณ์ ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เสนอความเห็นให้มหาเถรสมาคมพิจารณาชำระอธิกรณ์ตลอดจนถึงคืนสมณเพศให้กับพระพรหมดิลก ในฐานะที่ท่านมิได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง

2. ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ประกาศยืนยันถึงความบริสุทธิ์ ตลอดจนถึงประกอบพิธีขอขมากรรมต่อพระเถระที่ถูกกล่าวหาให้เป็นผู้ต้องมลทิน

3. ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เสนอไปยังรัฐบาลเพื่อให้พิจารณาคืนสมณศักดิ์ให้กับพระเถระเหล่านั้นด้วย

นี่เป็นสิ่งที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติควรกระทำนะ และอาตมาก็หวังว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะทำด้วย  ทำเพราะเห็นแก่ความเป็นธรรม ทำเพราะเห็นแก่ความยุติธรรม อย่าให้สังคมไทยเวียนวนอยู่แบบนี้อีกเลย  อย่าให้ในอนาคตมีพระที่ต้องมีชะตากรรมอย่าง พระพิมลธรรม หรือพระพรหมดิลกอีกเลย

พร้อมกันนี้ดร.แสวง นิลนามะ ได้โพสต์ข้อความเป็นโครงสี่สุภาพ ความว่า  

กลับสู่สมณเพศ..........วิเศษสมัย

คืนร่มพระสงฆ์ไทย......มิ่งแก้ว

ครองธรรมวินัยไตร.....กาสาว์

คืนสุดยุติธรรมแล้ว.....เลิศหล้ามาเฉลิมฯ


รออวยสมณศักดิ์มอบ...พัดคืน ท่านเฮย

"พระพรหมดิลก"ยืน......แต่งตั้ง

อาวาส,ก.ท.ม.ผืน.........ผายหมด

มหาเถรควรเร่งรั้ง.........กลับฟื้นคืนสงฆ์ฯ


หยุดยื่นใครเล่าเลี้ยว....เยียวยา

ชุบชีพชูอาตมา............ผ่านไหม้

มัวหมองมืดมิดหา-........ใดพึ่ง

อิสรภาพสาบสูญใกล้....เกือบสิ้นชีวัง ฯ


เหมือนตายเกิดใหม่พ้น..ครหา

ป่วยหนักพักรักษา.........รอดพ้น

เรือแตกเวิ้งธารา............มหาสมุทร

เพียรว่ายวิริยะท้น.........สู่ด้าวแดนดิน ฯ

วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2563

อธิบดีกรมการศาสนาเปิดอบรมหลักสูตร "พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำศาสนายุคใหม่"



เมื่อวันที่ 22 กันายน 2563  เพจกรมการศาสนาได้โพสต์ข้อความว่า วันอังคารที่ 22 กันยายน 2563 เวลา 13.30 น. นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมการศาสนา เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมหลักสูตร "พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำศาสนายุคใหม่" ประจำปี 2563 รุ่นที่ 4 โดย สถาบันพัฒนาผู้นำศาสนาอิสลาม สำนักจุฬาราชมนตรี และร่วมบรรยายหน้าที่และภารกิจของกรมการศาสนา ณ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตวิทยาเขตร่มเกล้า เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563

"มจร วิทยาเขตสุรินทร์" นำนิสิตลงพื้นที่ศึกษาวัฒนธรรมพุทธ ใน"อารยธรรมขอม-ทวารวดี"อีสานใต้


วันที่ 21 ก.ย.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนา มีปรัชญาของมหาวิทยาลัยว่า "ศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม"  มีพันธกิจในการผลิตบัณฑิต วิจัยและพัฒนา ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมในด้านการจัดการศึกษาตามหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาพระพุทธศาสนามีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา สามารถวิเคราะห์ วิพากษ์และวิจัยวิชาการด้านพระพุทธศาสนาได้อย่างแตกฉาน 

เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นผู้นำสังคมด้านจิตใจและปัญญา และเพื่อผลิตบัณฑิตให้สามารถนำพุทธธรรมไปประยุกต์ใช้ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและพัฒนาชีวิตและสังคม นอกจากนี้ยังมุ่งพัฒนานิสิตให้มีคุณสมบัติที่พึงประสงค์ 9 ประการ ได้แก่มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนามีความสามารถในการแก้ปัญหา มีความใฝ่รู้ใฝ่คิด มีน้ำใจเสียสละเพื่อส่วนรวม มีโลกทัศน์กว้างไกล  มีความเป็นผู้นำด้านจิตใจและปัญญาและมีความมุ่งมั่นพัฒนาตนให้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมจริยธรรม

วิทยาเขตสุรินทร์เป็นส่วนงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในเขตอีสานใต้ ได้เปิดดำเนินการเรียนการสอนหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาพระพุทธศาสนา เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังที่กล่าวมา จึงจัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนานิสิต ให้นิสิตที่กำลังศึกษาระดับปริญญาโท  ในภาคการศึกษาที่ 1/2563 เดินทางไปศึกษาวัฒนธรรมพุทธในอารยธรรมขอม-ทวารวดีอีสานใต้ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ-ประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน2563  โดยมีความคาดหวังว่านิสิตจักได้รับประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับวัฒนธรรมพุทธศาสนาในพื้นที่อีสานใต้ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นด้านประวัติศาสตร์ ปรัชญา ความเชื่อ การเมือง การศึกษา บทบาท คุณค่า อิทธิพล ตลอดถึงวัฒนธรรมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพุทธในแหล่งข้างเคียงและสามารถนำประสบการณ์ดังกล่าวมาวิเคราะห์ สังเคราะห์และประเมินได้อย่างลึกซึ้ง อันจะส่งผลให้พระพุทธศาสนามีความเข้มแข็งมั่นคงสืบไป

ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้นิสิตได้ศึกษาวัฒนธรรมพุทธในอารยธรรมขอม ทวารวดีอีสานใต้ เพื่อให้นิสิตได้เห็นแบบอย่างองค์กรชุมชนที่นำหลักพุทธธรรมไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ในสังคม บนพื้นฐานอุดมคติพุทธปรัชญา และเพื่อบูรณาการรายวิชาและการส่งเสริมพัฒนานิสิตให้บรรลุวัตถุประสงค์การเรียนการสอนที่หลักสูตรกำหนด

ลักษณะกิจกรรม สิกขาจาริกที่โรงเรียนสิงห์วงศ์  ตำบลหนองไทร  อำเภอนางรอง  จังหวัดบุรีรัมย์ วัดเขาอังคาร ตั้งอยู่บนเขาพระอังคาร บ้านสายบัว หมู่ที่  14  ตำบลเจริญสุขอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์  ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทอโรคยาศาลาบ้านโคกเมือง และอัคคิศาลาบ้านบุ จังหวัดบุรีรัมย์ ฟังการบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิและเสวนาแลกเปลี่ยนทรรศนะระหว่างคณาจารย์และนิสิต

สำหรับโรงเรียนสิงห์วงศ์นั้นดำเนินการก่อสร้างและการขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียน  โดยพระครูปริยัติภัทรคุณ  เจ้าอาวาสวัดสิงห์วงศ์  เจ้าคณะอำเภอนางรอง  ได้ดำเนินการขออนุญาตใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ ป่าชุมชนเชิงเขาอังคาร (ป่าช้าเก่า) หมู่ที่  11 บ้านหนองทะยูง ตำบลหนองไทร   เนื้อที่จำนวน 81 ไร่ ซึ่งที่ดินตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้รับความเห็นชอบจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไทร และได้รับอนุเคราะห์จากสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์  อนุญาตให้วัดสิงห์วงศ์ใช้ประโยชน์ในที่ดิน  เพื่อดำเนินการจัดสร้างศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาและวิชาสามัญสำหรับพระภิกษุสามเณร เด็ก เยาวชนทั่วไป  และทางวัดได้จัดสร้างอาคารเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรมและโรงเรียนการกุศลขึ้น เพื่อเป็นสถานที่ฝึกอบรม พัฒนาเด็ก เยาวชนให้เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมจริยธรรม  สัมมาปฏิบัติพร้อมกับจัดสร้างสวนธรรมสำหรับพุทธศาสนิกชนผู้ปฏิบัติธรรมทุกคน

เมื่อสร้างอาคารเรียนเสร็จ  ได้ดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา  แต่ยังไม่สามารถขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนาได้  จึงได้ดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนเอกชนในระบบ  และได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนเอกชนในระบบ  เมื่อวันที่  3  พฤษภาคม พ.ศ. 2560 โดยมีนางประภาวัลย์  สิงหภิวัฒน์  เป็นผู้รับใบอนุญาต  และมีวัตถุประสงค์ในการขออนุญาตจัดตั้งมีลักษณะเป็นโรงเรียนการกุศล   เพื่อจัดการศึกษาสงเคราะห์แก่เด็กและเยาวชน บุตรหลานผู้มีรายได้น้อย  เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม  แก่สังคม  และเพื่อสนองกิจพระพุทธศาสนาด้านการศึกษาสงเคราะห์

การบริหารจัดการของโรงเรียน ในวาระเริ่มแรกได้เชิญ นางสาวสมมารถ รอดจากเข็ญ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน และ   นางระวีวรรณ บุญไพศาลบันดาล เป็นผู้จัดการ รวมถึงคณะกรรมการบริหารและคณะครูได้ดำเนินการบริหารจัดการมาโดยลำดับ ในปีการศึกษา 2561 ดสิงห์วงศ์ได้ดำเนินการ ขอจดทะเบียนมูลนิธิ และได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิวัดสิงห์วงศ์ขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2561 จึงได้ขอเปลี่ยนแปลงผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนจากนางประภาวัลย์  สิงหภิวัฒน์  เป็นมูลนิธิวัดสิงห์วงศ์ โดยมี พระครูปริยัติภัทรคุณ  เป็นผู้ทำการแทนผู้รับใบอนุญาต  มีคณะกรรมการบริหารและ  คณะครูได้ดำเนินการบริหารจัดการมาถึงปัจจุบัน

มีการบูรณาการรายวิชาอาทิ นิเทศศาสตร์ในพระไตรปิฎก เมื่อศึกษาศึกษาความหมาย และขอบข่ายของนิเทศศาสตร์ คำสอนในพระไตรปิฎกที่เกี่ยวกับหลักการ รูปแบบวิธีการสื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า และสาวก และจริยธรรมกับการสื่อสาร เรียบร้อยแล้ว ลงพื้นที่ศึกษา 1. ข้อมูลทั่วไปด้านการสื่อสารที่ปรากฎในสถานที่แห่งนั้น 2.ต้นเรื่องของการสื่อสารทางธรรมที่ปรากฏในสถานที่    แห่งนั้นคืออะไร  3. วัตถุประสงค์หลักของการสื่อสารทางธรรมในสถานที่ แห่งนั้นคืออะไร 4.วิธีการหรือกระบวนการในการสื่อสารทางธรรมในสถานที่แห่งนั้นคืออะไร  

โดยมีวิธีการศึกษาคือ 1. ให้นิสิตใช้วิธีการศึกษาจากเอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้อง และใช้วิธีการศึกษาด้วยวิธีการสังเกต การสอบถาม การสัมภาษณ์ และการร่วมเสวนา ทั้งภาคสนาม และระหว่างการเดินทาง จากประเด็นในการศึกษา ทั้งนี้ ต้องครบทั้ง 4 ประเด็นที่กำหนด ตามหัวข้อที่ได้รับมอบหมาย 2. ให้นิสิตเขียนสรุปสาระสำคัญใน 4 ประเด็นหลัก จำนวน 1-5 หน้ากระดาษ A4 3.ให้นิสิตถ่ายภาพสถานที่ ตามที่ได้รับมอบหมายพร้อมกับรูปภาพของนิสิต และแทรกในเนื้อหางานจำนวน 3 ภาพด้วย 4.จัดส่งทางอีเมล์

 

"สันติศึกษา มจร" ร่วมกับคณะสงฆ์ปทุมธานี จัดอบรมพัฒนาศักยภาพพระวินยาธิการปทุมธานี


วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563 ที่ห้องปลูกศรัทธา ศูนย์นวัตกรรมรักษ์วัด รักษ์สิ่งแวดล้อม วัดพระธรรมกาย  พระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต พระอารามหลวง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพการปฏิบัติหน้าที่ของพระวินยาธิการจังหวัดปทุมธานี เชิงพุทธบูรณาการ จัดอบรมระหว่างวันที่ 21-23 กันยายน พ.ศ. 2563 มีพระวินยาธิการในจังหวัดปทุมธานี เข้าร่วมโครงการ จำนวน 62 รูป 

พิธีเริ่มด้วยประธานสงฆ์จุดเทียนธูปนำบูชาพระรัตนตรัย ต่อด้วยพระครูสังฆรักษ์รังสฤษดิ์ อิทฺธิจินฺตโก เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร.ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) วิปัสสนาจารย์  ถวายสักการะแด่ประธานสงฆ์ จากนั้น พระมหานพพร ปุญฺญชโย ปธ.9 รองผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย นิสิตปริญญาเอก สาขาวิชาสันติศึกษา มจร กล่าวถวายรายงาน 


การนี้ พระธรรมรัตนาภรณ์  ประธานสงฆ์กล่าวให้โอวาทความตอนหนึ่งว่า  พระวินยาธิการ ต้องมีกัลยาณมิตรธรรม ซึ่งประกอบด้วยคุณสมบัติของกัลยาณมิตร 7 ประการ ได้แก่ 1.ปิโย น่ารัก 2.ครุ หนักแน่น น่าเคารพ 3.ภาวนีโย หมั่นหาความรู้เพิ่มเติม 4.วตฺตา  รู้จักพูด 5.วจนกฺขโม อดทนต่อถ้อยคำ พร้อมรับฟังและให้คำปรึกษา 6.คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากให้เข้าใจได้ง่าย 7.โน จฏฐาเน นิโยชเย ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย วิสัยทัศน์ของพระวินยาธิการ 4 ประการ คือ วิชายอด จรณะเยี่ยม เปี่ยมด้วยกรุณา และรักษาศรัทธาของสาธุชน ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ทุกรูปทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น  

ภายในงานได้รับความเมตตาจากพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส  ร่วมด้วยพระครูวินัยธร ภาณุมาศ ภาณุปาโณ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาด้านพระพุทธศาสนา และศาสนาอื่น ๆ สภาผู้แทนราษฎร อีกทั้ง ดร.วรพล อังกุรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิจิตตาภิวัฒน์วิชชาลัย ดร.มงคล สามารถ และทีมวิทยากรอารมณ์ดี คุณวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์ นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) คุณฐิติวุฒิ สมสา วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบ Cloud บริษัท ดีเน็ตเทคโนโลยี จำกัด และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงาน ปปส.ภาค 1 มาเป็นวิทยากร และได้รับเกียรติจากนายฉัตรชัย ชูเชื้อ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดปทุมธานี ร่วมงานครั้งนี้ด้วย


โครงการพัฒนาศักยภาพการปฏิบัติหน้าที่ของพระวินยาธิการในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยดุษฎีนิพนธ์เรื่อง รูปแบบการพัฒนาศักยภาพการปฏิบัติหน้าที่ของพระวินยาธิการจังหวัดปทุมธานี เชิงพุทธบูรณาการ จัดขึ้นโดย นิสิตปริญญาเอกหลักสูตรสาขาสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  ซึ่งผ่านการรับรองรูปแบบจากผู้ทรงคุณวุฒิ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของพระวินยาธิการ และเพิ่มองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ยังเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพระวินยาธิการ ซึ่งเป็นการพัฒนาตามศาสตร์ร่วมสมัยภายใต้หลักพระธรรมวินัยและกฎหมายบ้านเมือง

พระวินยาธิการ นั้นจัดตั้งขึ้นภายใต้แผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาด้านการปกครองของมหาเถรสมาคม พ. ศ. 2560-2564 ถือได้ว่าเป็นกำลังสำคัญในการปกครองคณะสงฆ์ มีหน้าที่คอยช่วยเหลือเจ้าคณะพระสังฆาธิการออกตรวจตรา แนะนำ ดูแล แก้ไขให้พระภิกษุสามเณรในเขตปกครองประพฤติปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัย ปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนามิให้เกิดความเสียหาย

วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2563

“ชวน”นำทัพ"ปชป."คนรุ่นเก่า-ใหม่ ติดอาวุธโซเชียลมีเดีย



เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคฯ และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ กทม. จัดอบรมฝึกปฏิบัติการ “การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารทางการเมือง” รุ่นที่ 1 โดยทีมวิทยากรมืออาชีพผู้เชี่ยวชาญ นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคฯ และนักกลยุทธ์สื่อสารการตลาด นายชานน สัมพันธารักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดีย และนายบดินทร์ สิมาภรณ์วณิชย์ ช่างภาพโฆษณามืออาชีพ โดยมีนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคฯ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัยให้เกียรติมาเปิดงานและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ

โดยมีบุคคลสำคัญของพรรคได้แก่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และอดีตหัวหน้าพรรค ได้ให้ความสนใจมาร่วมอบรมพร้อมกับอดีต ส.ส. ผู้สมัคร ส.ส. อดีต ส.ก. อดีต ส.ข. และทีมผู้ช่วย รวมทั้งผู้สนใจทำงานให้พรรคในพื้นที่ กทม. เป็นจำนวนมาก ถือเป็นการผสมผสานกันทั้งคนเก่า-ใหม่ ภายใต้แนวคิด “คนมีไฟ หัวใจดิจิตัล”

วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2563

NIA เผยความสำเร็จ ‘โลกนวัตกรรมเสมือนจริง’ ปีหน้าชวนคนไทยก้าวสู่ ‘DeepTech Rising’



NIA เผยความสำเร็จ ‘โลกนวัตกรรมเสมือนจริง’ งาน Startup Thailand x Innovation Thailand Expo 2020 ปีหน้าชวนคนไทยก้าวสู่ ‘DeepTech Rising’  

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เผยถึงความสำเร็จของงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์และอินโนเวชั่นไทยแลนด์เอ็กซ์โป 2020 (Startup Thailand x Innovation Thailand Expo 2020)  ที่เพิ่งผ่านพ้นไปว่า เป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญของเหล่าสตาร์ทอัพและนวัตกรรมชั้นนำของไทยที่ เข้ามาร่วมกันแสดงศักยภาพด้านนวัตกรรมของประเทศในการจัดงานในรูปแบบโลกนวัตกรรมเสมือนจริง ‘Virtual World’ ครั้งแรกของประเทศ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศผ่านพ้นจากวิกฤติที่เกิดขึ้นทั่วโลก นับเป็นการเปิดมิติใหม่แห่งนวัตกรรมการจัดงานเสมือนจริงที่สมบูรณ์แบบที่ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านนวัตกรรมที่แข็งแกร่งของประเทศไทย แต่ยังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้เกิดขึ้น ในการรวมหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี บริษัทขนาดใหญ่ หน่วยงานรัฐและสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทยหรือระดับโลกมารวมกันในงานเดียว เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศให้เข้มแข็งขึ้น โดยปีนี้ได้รับความร่วมมือจาก 133 องค์กรพันธมิตร 412 หน่วยงานร่วมจัดแสดงผลงาน กับองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมรับมือภาวะวิกฤต จาก 6 ธีมสำคัญ 47 หัวข้อโดยวิทยากรชื่อดังกว่า 100 ท่าน ตลอดระยะเวลาจัดงานได้รับกระแสตอบรับอย่างดีจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการ นักลงทุน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจ ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน 15,462 คน มียอดผู้เข้าชมงานผ่านเว็บไซต์กว่า 190,000 ครั้ง ซึ่งขณะนี้เปิดให้เข้าชมย้อนหลังได้แล้วทุกช่องทางผ่านทางเว็บไซต์ STxITE.nia.or.th และ NIA Youtube Channel เพื่อเปิดประสบการณ์ด้านนวัตกรรมต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด 


การจัดงาน Startup Thailand x Innovation Thailand 2020 นอกจากสร้างกระแสตื่นตัวเรื่องนวัตกรรมเพื่อรับมือภาวะวิกฤตในระดับโลกที่อาจจะมาในหลากหลายรูปแบบมากขึ้นในอนาคตแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบในมิติต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม อาทิ เกิดการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและการลงทุนมากกว่า 15,000 ราย สร้างเม็ดเงินที่พร้อมลงทุน มูลค่ารวม 20,000 ล้านบาท เกิดการเข้าถึงสินค้าและบริการของ 200 สตาร์ทอัพผ่านตลาดสินค้าออนไลน์ กว่า 42,000 ครั้ง / คาดว่าจะเกิดการจ้างงานด้านนวัตกรรมไม่น้อยกว่า 1,500 อัตรา ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ / เกิดแพลตฟอร์มใหม่ในการจัดงานอีเว้นท์ เพื่อใช้ขับเคลื่อนธุรกิจในยุคนิวนอร์มัล        ที่ช่วยเติมเต็มประสบการณ์ในรูปแบบใหม่ในโลกเสมือนจริง ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป / เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการพัฒนาวิชาชีพและการศึกษา/ เกิดสินทรัพย์ใหม่ด้านข้อมูลจากการนำศาสตร์การวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลเชิงลึก (Data Analytics) มาใช้ในงานเพื่อคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและสร้างโอกาสทางธุรกิจนวัตกรรม และเกิดการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล (Data driven innovation)   

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวย้ำว่า NIA มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนอนาคตประเทศด้วยนวัตกรรม ซึ่งงาน Startup Thailand x Innovation Thailand 2020 จึงไม่ใช่เพียงแค่งานอีเว้นท์ออนไลน์เท่านั้น แต่เป็นนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการนวัตกรรมอย่างรอบด้าน รวมทั้งเป็นเครื่องมือหนึ่งเพื่อสร้างความตระหนักถึงการใช้ ‘นวัตกรรมเพื่อรับมือภาวะวิกฤติ’ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหลังจากนี้ โลกนวัตกรรมเสมือนจริงที่เราสร้างขึ้นมาจะไม่จบลง แต่จะกลายเป็นกลไกของการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมต่อไป    


พร้อมทิ้งท้ายว่า เราจำเป็นต้องปรับกระบวนทัศน์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อรับมือกับวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งวิกฤตไวรัสโควิด-19 วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก จากเวทีเสวนาออนไลน์ภายในงาน พบว่าเทรนด์โลกมุ่งไปที่เรื่องของ Deep Tech ที่จะก้าวมามีบทบาทสำคัญในการตอบโจทย์ประเด็นความท้าทายที่ไม่อาจรับมือด้วยการตั้งรับเพียงอย่างเดียวอย่างที่ผ่านมา ดังนั้น ก้าวต่อไปของงาน Startup Thailand x Innovation Thailand 2021 จะมุ่งเน้นด้าน ‘DeepTech Rising’ เทคโนโลยีขั้นสูงที่จะเข้ามาขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงโลก



วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2563

"เอนก"พร้อมหนุน "ม.สงฆ์" ปรับตัว เข้าสู่ยุค New Normal นำสื่อดิจิทัลสื่อธรรมแก้ปัญหาสังคม


เมื่อวันที่ 16  กันยายน 2563  ที่ผ่านมา ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับนโยบายและทิศทาง "มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาในการพัฒนาประเทศชาติ" ที่หอประชุม สุชีพปุญญานุถาพ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย(มมร)  พุทธมณฑล จ.นครปฐม

ศ.ดร.เอนก กล่าวว่า เริ่มแรกของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกที่เริ่มประยุกต์หลักพระพุทธศาสนาให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ โดยจัดการศึกษาแบบสมัยใหม่ มีลักษณะแตกต่างจากการเล่าเรียนภาษาบาลี ตามประเพณีแบบเดิม จะเรียกว่า เปลี่ยนจากเดิมที่พระสงฆ์เน้นเรียน "ทางธรรม" ก็ให้เข้าใจ "ทางโลก" มากขึ้น 



เพื่อที่จะได้ใช้ธรรมะมาช่วยแก้ปัญหาของสังคมหรือพัฒนาประเทศแต่ในสมัยปัจจุบันโลกได้มีความซับซ้อนมากกว่าในอดีต (complex) และเปลี่ยนแปลงเร็วมาก (disruption) จนทำให้เกิด "ฐานวิถีชีวิตใหม่" หรือเรียกกันว่า New Normal ซึ่งทำให้วิถีชีวิตและสังคมเปลี่ยนจากอดีตอย่างสิ้นเชิง มหาวิทยาลัย พระพุทธศาสนาก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับการเรียนการสอนให้เข้ากับ New Normal นี้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงหรือการเพิ่มหลักสูตร สาขาวิชาใหม่ การปรับปรุงวิธีการสอนในรูปแบบใหม่ หรือแม้แต่การสร้างสื่อการสอนแบบใหม่ด้วยระบบดิจิทัล อาทิ Twitter, YouTube, Facebook เป็นต้น เพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ทันสมัยและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก 


การพัฒนาประเทศในความเข้าใจของคนทั่วไป ส่วนใหญ่จะหมายถึงการทำให้ประเทศมีเศรษฐกิจดีด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจสูงๆ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมน้อยๆ หรือคุณภาพของสิ่งแวดล้อมอยู่ในมาตรฐาน ดังนั้นประเทศจึงมุ่งไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (physical infrastructure) แต่ที่จริงแล้ว การพัฒนาประเทศยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ผู้คนในสังคมมีศีลธรรมจรรยา โดยการสร้างให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านศีลธรรม (moral infrastructure) ซึ่งมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานหรือสถาบันในการผลิตบุคลากรด้านศีลธรรมที่สำคัญของประเทศ บทบาทนี้ ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนในประเทศจะทำได้ หรืออาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเป็นสถานที่ที่ผลิต "ศาสนทายาท" ของศาสนาพุทธแห่งเดียวของประเทศ


"เพื่อเป็นการสนองต่อพระราชปณิธานของพระมหากษัตริย์ที่ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา และเป็นการพัฒนามหาวิทยาลัยพุทธศาสนาตามพันธกิจของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ที่กระผมรับผิดชอบ กระผมก็จะพยายามสนับสนุนการจัดระบบอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย ปรับระบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน การสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งการสนับสนุนทุนค่าเล่าเรียนต่อพระภิกษุสงฆ์เพื่อการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ


แม้ว่ากระผมจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ที่ทางราชการกำหนดให้เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกระทรวง แต่กระผมขอปวารณาตนเองเป็นโยมอุปัฏฐากของมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา การใดที่ผมพอที่จะทำได้เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาของมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา ขอท่านได้โปรดชี้แนะกระผมด้วย ขอกราบนมัสการด้วยความคารพอย่างสูง" ศ.ดร.เอนก กล่าว

วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2563

"ราเมศ"เรียกร้อง"ผบ.ตร."เร่ง หาตัวคนทำร้าย"ผู้กองปูเค็ม"


วันที่ 17 ก.ย.2563 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีที่มีคนรุมทำร้ายผู้กองปูเค็มว่า ผมไม่เคยรู้จักกับผู้กองปูเค็มเป็นการส่วนตัว แต่ไม่ว่าในสังคมจะมีความขัดแย้ง หรือมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเกี่ยวกับเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ก็ไม่ควรที่จะมีการใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกายกันถึงขนาดนี้ 

บ้านเมืองมีกฎหมาย การกระทำเช่นนี้เสมือนหนึ่งว่าบ้านเมืองไร้ขื่อแป ผู้กองปูเค็มอาจจะมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ แต่อยากให้สังคมมองว่าการกระทำโดนใช้ความรุนแรงเช่นนี้เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ไม่ว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นกับใคร  ขอเรียกร้องไปยัง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เร่งหาตัวผู้กระทำความผิดและนำผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุดโดยเร็ว

"อธิการบดี มจร"นำผู้บริหารคณาจารย์ เข้าถวายมุทิตาสักการะพระพรหมบัณฑิต โอกาสอายุวัฒนมงคล 65 ปี

  


วันที่ 16 กันยายน 2563    เวลา 18.30 น. พระราชปริยัติกวี, ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) พระโสภณวชิราภรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ นำผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ เข้าถวายมุทิตาสักการะพระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์, อัครมหาบัณฑิต, กรรมการมหาเถรสมาคม, ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่หนกลาง, ประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศแห่งคณะสงฆ์ไทย, ประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก, ประธานกรรมการการเผยแผ่พระพุทธศาสนา, อดีตอธิการบดี มจร เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เนื่องในโอกาสอายุวัฒนมงคล 65 ปี 17 กันยายน 2563 ณ กุฏิเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร 

พร้อมกันนี้พระราชปริยัติกวี  ได้รายงานเกี่ยวกับการที่วันนี้(16 กันยายน)  มจร  อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และสำนักงานกิจการยุติธรรม   เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการ   การบูรณาการและพัฒนาองค์ความรู้ การศึกษาวิจัย การพัฒนาบุคลากรและฝึกอบรม การเผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ หรือการกำหนดแนวทางนโยบายที่เกี่ยวกับกฎหมาย สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน การบริหารงานยุติธรรม การบูรณาการพระพุทธศาสนาและสังคม และรวมทั้ง  เพื่อสร้างความร่วมมือและบูรณาการการทำงานระหว่างบุคลากร พระสงฆ์ คณาจารย์ นักวิชาการ รวมถึงนิสิตร่วมกันทั้งสามหน่วยงาน ในด้านกฎหมาย สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน การบริหารงานยุติธรรม การให้บริการทางวิชาการ และศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ได้มีการเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชาชน พร้อมเปิดร้องรับเรื่องราวไกล่เกลี่ยทันที  ให้พระพรหมบัณฑิตได้ทราบ  ในฐานะที่ปรึกษาศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ และได้มีดำริให้ มจร ที่ดูแลศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562  ได้ช่วยทำหน้าที่พัฒนาและฝึกอบรมพระวินยาธิการในหนกลางจังหวัดละ 2 รูป ก่อนที่จะขยายไปสู่เจ้าอาวาสต่อไป

ในการนี้พระพรหมบัณฑิตได้มอบทุนทรัพย์สมทบกองทุนมหาวิทยาลัย เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท เนื่องในโอกาสครบรอบ 133 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 

"พุทธะอิสระ"เหลืออด! สวดพระสงฆ์ไทย ปล่อยสร้างวัดไอ้ไข่ชาวบ้านไหว้ต้นอ้อยต้นกล้วยทั่วไทย




วันที่ 16 กันยายน 2563  พุทธะอิสระอดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า พระสงฆ์ไทย เดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร สำนักพุทธและมหาเถระสมาคม มีคำสั่งห้ามพระภิกษุบิณฑบาตหลัง 8  โมงเช้า ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่า เป็นคำสั่งที่ผิดหลักธรรมวินัย และด้วยข้ออ้าง ต้องการให้คนเข้าวัด

 วัดแต่ละวัดจึงต้องหันมาแข่งกันสร้างรูปไอ้ไข่ จนกลายเป็นเรื่องเป็นราวถึงกับวัดต้นฉบับออกมาขู่ฟ่อๆ ว่าจะฟ้องทุกวัดทุกรายที่นำรูปไอ้ไข่ ให้ประชาชนกราบ โดยที่ไม่มีวัดใดคิดว่าจักทำให้ประชาชนผู้เข้าไปกราบไหว้มีสติปัญญา ชาญฉลาดขึ้นได้อย่างไร

ล่าสุดทางกรรมการมหาเถระสมาคมบางรูป จัดให้มีพิธีบูชาราหู โดยที่ไม่รู้ว่าผู้ไปร่วมงานจักมีสติปัญญารู้เห็นพระธรรม ของพระบรมศาสดาตรงไหน เมื่อผู้ปกครองสงฆ์ทำได้ ต่อไปวัดต่างๆ คงพากันทำตาม แล้วพระพุทธศาสนาจะเหลืออะไร

อีกซักเหตุการณ์หนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวภิกษุและโยมผู้หญิงทะเลาะกัน ด้วยเหตุเพราะ ไม่นำเงินใส่ซองเป็นค่าดูดวงหรือดูหมอ จนถึงขั้นจะทำร้ายกัน เป็นประเด็นถกเถียงกันทางสังคม อยากเรียกร้องให้สื่อทั้งหลาย นำเรื่องพระดูดวงนี้มาขยายผล พูดถึงกันบ่อยๆ ทุกช่องเหมือนที่พูดถึงลุงพล จนโด่งดังไปทั่วประเทศ

แล้วเรามาดูกันซิว่า สำนักพุทธและมหาเถระสมาคมจักจัดการอย่างไรกับปัญหาพระดูดวง ที่มีกันอยู่เกลื่อนกล่น แม้ในวัดของกรรมการมหาเถระสมาคมบางวัดก็ดูดวงกับเขาด้วย ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่ามันผิดหลักธรรมวินัย เป็นเดรัจฉานวิชา ก็ยังทำกันจนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

ด้วยพฤติกรรมของนักบวชในพุทธศาสนา ไม่เป็นที่พึ่งอันบริสุทธิ์

เป็นเช่นนี้แหละ ท่านทั้งหลายจึงเห็นภาพประชาชนแห่กันไปกราบไหว้ต้นตะเคียน ต้นกล้วย กอไผ่ จอมปลวก และอีกสารพัดของแปลกที่ประชาชนจักสรรหามาไหว้

 ฉันไม่คิดเลยว่า สู้อุตส่าห์ลงทุนลงแรงออกไปสู้ไปเสี่ยง เพื่อให้มีการปฏิรูปวงการคณะสงฆ์ สุดท้ายสิ่งที่ได้คือผู้ปกครองสงฆ์บางรูปยังจมปลักอยู่ในเดรัจฉานวิชา แล้วพระใต้ปกครองจะบริสุทธิ์บริบูรณ์ได้อย่างไร


          เวรกรรม เวรกรรม

          น่าสงสารพุทธบริษัทเสียจริงๆ


"มจร" เปิดแล้ว! ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชาชน


"มหาจุฬาฯ" ลงนาม MOU ตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชาชน กับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและสำนักงานกิจการยุติธรรม เตรียมขยายให้ครอบคลุม วิทยาลัยสงฆ์ทุกภูมิภาคกว่า 40 จังหวัด 

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2563  ที่วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)  อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และสำนักงานกิจการยุติธรรม   เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการ   การบูรณาการและพัฒนาองค์ความรู้ การศึกษาวิจัย การพัฒนาบุคลากรและฝึกอบรม การเผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ หรือการกำหนดแนวทางนโยบายที่เกี่ยวกับกฎหมาย สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน การบริหารงานยุติธรรม การบูรณาการพระพุทธศาสนาและสังคม และรวมทั้ง  เพื่อสร้างความร่วมมือและบูรณาการการทำงานระหว่างบุคลากร พระสงฆ์ คณาจารย์ นักวิชาการ รวมถึงนิสิตร่วมกันทั้งสามหน่วยงาน ในด้านกฎหมาย สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน การบริหารงานยุติธรรม การให้บริการทางวิชาการ และศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ได้มีการเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชาชน พร้อมเปิดร้องรับเรื่องราวไกล่เกลี่ยทันที   


         

พระราชปริยัติกวี อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่าการเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยนี้ อาตมาได้ให้แนวทางไปเมื่อ 2 -3 เดือนที่แล้ว เพราะถือว่า คณะสงฆ์และมจร ต้องช่วยเหลือประเทศชาติให้เกิดสังคมสันติสุข ปัจจุบันสังคมไม่ค่อยปกติสุขเท่าไร เราต้องหาวิธีการให้เกิดความปกติสุข เพราะเมื่อสังคมปกติสุข ประชาชนก็อยู่แบบมีความสุข การจะสร้างสังคมให้ปกติสุขได้มันต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการด้วยกัน คือ            

หนึ่ง คติสมบัติ เรื่องสถานที่ต้องมีความเหมาะสม สอง อุปนิสัยสมบัติ คุณสมบัติผู้ไกล่เกลี่ยต้องรอบรู้และเข้าใจเรื่องที่จะทำการไกล่เกลี่ย สาม กาลสมบัติ  เวลาและระยะเวลาในการทำงานต้องเหมาะสมและสุดท้าย ประโยคสมบัติ นักไกล่เกลี่ยต้องมีหลักการ มีวิธีปฎิบัติที่ถูกต้อง            

"คู่ขัดแย้งเมื่อไปศาล ศาลเป็นสถานที่โต้แย้งด้วยเหตุและผลของกฎหมาย มีแพ้มีชนะ วัด แม้จะเป็นศาสนสถานแต่บางคนก็ไม่อยากจะเข้าไปไกล่เกลี่ยในวัด สถานศึกษาบางแห่งก็อาจจะไม่เหมาะสักเท่าไร อาตมาเห็นว่ามหาจุฬา ฯ เหมาะที่สุดที่จะเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ย อาตมาจึงได้ให้แนวทางไปเมื่อ 2 -3 เดือนที่แล้ว ว่า ศึกษาความเป็นไปได้อยู่ว่าทำได้หรือไม่ และปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพดูว่า หากพระสงฆ์เราจะเป็นนักไกล่เกลี่ยในทางกฎหมายทำได้หรือไม่ จะต้องมีการอบรมอย่างไรบ้าง พร้อมให้เปิดหลักสูตรระยะสั้นระยะยาว เพื่อให้เป็นนักไกล่เกลี่ยได้.." 

ส่วนพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ ในฐานะผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดเผยว่า เมื่อปีพุทธศักราช  2555 พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในขณะนั้น ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU)  กับ นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในขณะนั้น เพื่อช่วยระดมพลังกันสร้างสันติศึกษาให้เป็นที่พึ่งของสังคมและโลก หนึ่งในนั้น คือ "งานด้านการไกล่เกลี่ย"           

ตลอดระยะเวลา 8 ปี ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬา ฯ พยายามตอบสนองงานคณะสงฆ์และมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการบริการสังคมสร้างความรู้รักสามัคคี แก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ในสังคม ตั้งแต่ชุมชน หมู่บ้าน รวมทั้งระดับชาติ หรือแม้แต่ครัวเรือน ซึ่งงานไกล่เกลี่ยนี้ เดิมเป็นงานของพระสงฆ์เราอยู่แล้ว เราจะเห็นว่าในอดีตเวลาชาวบ้านหรือชุมชนหมู่บ้าน ทะเลาะหรือขัดแย้งกัน ท่านเจ้าอาวาส มักจะเข้าไปมีบทบาทในการไกล่เกลี่ยอยู่เสมอ ๆ  ซึ่งหากจะว่าไปแล้วงานนี้ มจร เราตอบสนองการปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนาของมหาเถรสมาคมด้วยที่ต้องการให้วัดและพระสงฆ์เป็นศูนย์กลางของชุมชนหมู่บ้าน

"วันนี้ถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ ที่จะนำบทบาทพระสงฆ์ในอดีตกลับมา ตามแผนปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนาของมหาเถรสมาคม ด้วยการลงนามบันทึกความเข้าใจหรือบันทึกข้อตกลงร่วมหรือลงนาม MOU ระหว่าง พระราชปริยัติกวี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กับ นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และพันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม  และท่านอธิการบดีได้ให้นโยบายว่าการตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยแบบนี้ หลังจากนี้พยายามมีให้ครบทุกวิทยาเขต ทุกวิทยาลัยสงฆ์ ภายใต้สังกัดของ มจร ซึ่งมีประมาณ 40 จังหวัดทั่วประเทศ.."

หลังจากทั้ง 3 หน่วยงานลงนามบันทึกความเข้าใจเรียบร้อยแล้ว ภาคบ่าย จะมีการเปิดหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 ตั้งแต่วันที่ 16 -20  กันยายน 2563 นี้ ทันที 



           

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...