วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2563 ที่อาคารวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พระราชปริยัติกวี,ศ.ดร.อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประธานพิธีเปิดโครงการอบรมวิชาครูวิปัสสนาสำหรับพระวิปัสสนาจารย์สอนกรรมฐานนิสิตประจำปี 2563 บรรยายพิเศษเรื่อง พระวิปัสสนาจารย์สอนกรรมฐานนิสิต โดยมีระเทพวิสุทธิมุนี วิ.ผู้อำนวยการสถาบันวิปัสสนาธุระ ผู้บริหารเจ้าหน้าที่สถาบันวิปัสสนาธุระถวายการตัอนรับ และในการนี้มีพระศรีสิทธิมุนี คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ เข้าร่วมโครงการและมีพระวิปัสสนาจารย์เข้าร่วมโครงการจำนวน 80 รูป เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับพระวิปัสสนาจารย์ในการสอนนิสิตประจำปีระหว่างวันที่ 16-27 ธันวาคม 2563
พระราชปริยัติกวี กล่าวว่า เราต้องไม่เป็นบัณฑิตใบลานเปล่า หมายถึงการศึกษาเพียงปริยัติแต่ไม่สนใจการปฏิบัติ เวลาเกิดกิเลสจะแสดงออกมาทันที เราจึงต้องมาเรียนรู้วิธีการสอนวิปัสสนาจารย์ตามแนวทางของสมเด็จอาจ อาสภมหาเถระ สิ่งสำคัญนิสิตมีความหลากหลายเกี่ยวกับจริต รูปแบบการสอน วิธีการสอน เราควรจะสอนอย่างไรให้สอดรับกับแนวทางจริตเป็นฐาน เราต้องมาวิเคราะห์ว่าผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมีจริตแบบใดบ้าง เช่น มีศรัทธาจริตจะสอนรูปแบบอย่างไร มีโทสจริตจะสอนรูปแบบอย่างไร มีราคจริตจะสอนอย่างไร วิธีการสอนควรแตกต่างกัน เราคงไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกับทุกคน เหมือนไม้บรรทัดมาวัดให้เท่ากัน เราต้องคิดวิธีการสอนที่มีความเหมาะสมกับจริตของแต่ละกลุ่ม
แต่การที่คณาจารย์ บุคลากร นิสิต มจร นำตนเข้าสู่การปฏิบัติถือว่าเป็นบุญบารมีมหาศาล แต่เราต้องแบ่งจริตนิสิตออกเป็นกลุ่มๆ แล้วหาวิธีการสอนที่มีความเหมาะสม วิธีการสอนเป็นขั้นๆ จากง่ายๆไปหายาก พระวิปัสสนาจารย์จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งวิปัสสนากรรมฐานเป็นความอยู่รอดของพระพุทธศาสนา โดยส่วนตัวในฐานะอธิการบดีมหาจุฬาเน้นด้านวิปัสสนากรรมฐาน แม้สถาบันวิปัสสนาธุระจะต้องให้เป็นสัปปายะ ไม่มีทางอื่นเลยจะพัฒนามนุษย์ให้มีความสมบูรณ์ทางด้านจิตใจ บัณฑิตแบบทางโลกๆ ยังใช้ความรุนแรงทางกาย วาจา ใจ ปริญญาไม่สามารถการันตีได้ หรือกระทั่งแม้ตำแหน่งทางวิชาการว่าจะมีความสงบเยืกเย็นอย่างแท้จริง วิชากรรมฐานเท่านั้นจะทำให้เกิดความสงบจากภายใน
วิปัสสนากรรมฐานจึงเป็นหนทางทำให้ชีวิตสงบเย็น วิปัสสนากรรมกับสถาบันการศึกษา บางกลุ่มบอกว่า เก่งก่อนค่อยดี หรือ ดีก่อนค่อยเก่ง ความจริงแล้วเป็นชุดคำ เก่งคือปริยัติสัทธรรม ดีคือปฏิบัติสัทธรรม มีความสุขคือปฏิเวธสัทธรรม คนที่ชอบปริยัติไปปริยัติ คนชอบปฏิบัติไปปฏิบัติ แต่ความจริงเป็นชุดเดียวกัน ทำไมเราจึงไปเอามาจากเมียนม่าร์เพราะเขาปฏิบัติมาถูกต้อง เริ่มต้นให้เรียนอภิธรรมก่อน แต่บ้านเราเรียนอภิธรรมในเชิงวิชาการ เรียนไปเพื่อถกเถียงกัน เน้นเพียงปริยัติสัทธรรม จึงต้องเรียนอภิธรรมคือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ซึ่งเป็นปฏิบัติสัทธรรมให้ศึกษาโดยละเอียด โดยให้รู้ในเชิงวิชาการ เช่น ขันธ์ 5 คืออะไร เป็นไปอย่างไร วิปัสสนาจารย์จะต้องเรียนรู้พระอภิธรรมเพื่อตอบปัญหาให้ได้ว่าชีวิตคืออะไร เรียนธรรมชาติของขันธ์ 5 ตามแนวทางของไตรลักษณ์ โดยการรู้ชีวิต รู้ธรรมชาติของชีวิต เกื้อกูลต่อชีวิต จากนั้นศึกษาปฏิจจสมุปบาท และหลักของกรรม คือ ชีวิตเป็นไปอย่างไร พระวิปัสสนาจารย์จะต้องศึกษาด้านปริยัติให้ลึกซึ้งชัดเจนมีหลักเพื่อ 2 ประการคือ
1) ตอบข้อสงสัยในกลุ่มเดียวกัน 2) ตอบข้อสงสัยของลัทธิอื่นๆ เราจึงต้องใช้ข้อมูลทางวิชาการตรวจสอบการปฏิบัติว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร ถือว่าเป็นคุณูปการของปริยัติสัทธรรม ปริยัติจึงเป็นฐานนำไปสู่การปฏิบัติ เราจะต้องให้ข้อมูลเชิงปริยัติแก่ผู้ปฏิบัติในแต่ละช่วง เพราะจะนำไปสู่มิจฉาทิฐิได้ ปริยัติจึงมีความสัมพันธ์ไปสู่การปฏิบัติ เพราะถ้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจะเป็นการไม่ให้ปริยัติเป็นงูพิษ เพราะปริยัติอย่างเดียวจะนำไปสู่ความแข็งกระด้างขาดความนุ่มนวล
ในยุคปัจจุบันเรามีการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ส่งผลดีและส่งผลเสียควบคู่กัน จึงอยากฝากพระวิปัสสสนาจารย์ศึกษาวิสุทธิ 7 ซึ่งการพัฒนาทั้งปวง เกิดขึ้นตามหลักวิปัสสนากรรมฐานตามแนวทางสติปัฏฐาน เริ่มต้นจากการจัดระเบียบตนเองตามศีล ต้องไม่ให้ใครตำหนิได้ และพัฒนาจิตใจให้บริสุทธิ์มีจิตตวิสุทธิ บุคคลสำคัญของโลกจะต้องมีการพัฒนาทางด้านจิตใจ คำว่า วิสุทธิ 7 หมายถึง ความหมดจด, ความบริสุทธิ์ที่สูงขึ้นไปเป็นขั้นๆ ธรรมที่ชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์ ยังไตรสิกขาให้บริบูรณ์เป็นขั้นๆ ไปโดยลำดับ จนบรรลุจุดมุ่งหมายคือนิพพาน purity; stages of purity; gradual purification ประกอบด้วย
1) #สีลวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งศีล คือ รักษาศีลตามภูมิขั้นของตนให้บริสุทธิ์ และให้เป็นไปเพื่อสมาธิ purity of morality วิสุทธิมรรคว่าได้แก่ ปาริสุทธิศีล 4
2) #จิตตวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งจิต คือ ฝึกอบรมจิตจนบังเกิดสมาธิพอเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนา purity of mind วิสุทธิมรรคว่า ได้แก่ สมาบัติ 8 พร้อมทั้งอุปจาระ
3) #ทิฏฐิวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ คือ ความรู้เข้าใจมองเห็นนามรูปตามสภาวะเป็นจริง เป็นเหตุข่มความเข้าใจผิดว่าเป็นสัตว์บุคคลเสียได้ เริ่มดำรงในภูมิแห่งความไม่หลงผิด purity of view; purity of understanding จัดเป็นขั้นกำหนดทุกขสัจจ์
4) #กังขาวิตรณวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเหตุข้ามพ้นความสงสัย, ความบริสุทธิ์ขั้นที่ทำให้กำจัดความสงสัยได้ คือ กำหนดรู้ปัจจัยแห่งนามรูปได้แล้วจึงสิ้นสงสัยในกาลทั้ง 3 purity of transcending doubts ข้อนี้ตรงกับ ธรรมฐิติญาณ หรือ ยถาภูตญาณ หรือ สัมมาทัสสนะ จัดเป็นขั้นกำหนดสมุทัยสัจจ์
5) #มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งญาณที่รู้เห็นว่าเป็นทางหรือมิใช่ทาง คือ เริ่มเจริญวิปัสสนาต่อไปด้วยพิจารณากลาปะ จนมองเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งสังขารทั้งหลาย อันเรียกว่าอุทยัพยานุปัสสนา เป็นตรุณวิปัสสนา คือวิปัสสนาญาณอ่อนๆ แล้วมีวิปัสสนูปกิเลส เกิดขึ้น กำหนดได้ว่าอุปกิเลสทั้ง 10 แห่งวิปัสสนานั้นมิใช่ทาง ส่วนวิปัสสนาที่เริ่มดำเนินเข้าสู่วิถีนั่นแลเป็นทางถูกต้อง เตรียมที่จะประคองจิตไว้ในวิถีคือ วิปัสสนาญาณนั้นต่อไปpurity of the knowledge and vision regarding path and not-path ข้อนี้จัดเป็นขั้นกำหนดมัคคสัจจ์
6) #ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน คือ ประกอบความเพียรในวิปัสสนาญาณทั้งหลายเริ่มแต่อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ที่พ้นจากอุปกิเลสดำเนินเข้าสู่วิถีทางแล้วนั้น เป็นต้นไป จนถึงสัจจานุโลมิกญาณหรืออนุโลมญาณ อันเป็นที่สุดแห่งวิปัสสนา ต่อแต่นี้ก็จะเกิดโคตรภูญาณ คั่นระหว่างวิสุทธิข้อนี้กับข้อสุดท้าย เป็นหัวต่อแห่งความเป็นปุถุชนกับความเป็นอริยบุคคล โดยสรุป วิสุทธิข้อนี้ ก็คือ วิปัสสนาญาณ 9 purity of the knowledge and vision of the way of progress
7) #ญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ คือ ความรู้ในอริยมรรค 4 หรือ มรรคญาณ อันเกิดถัดจากโคตรภูญาณเป็นต้นไป เมื่อมรรคเกิดแล้วผลจิตแต่ละอย่างย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไปจากมรรคญาณนั้นๆ ความเป็นอริยบุคคลย่อมเกิดขึ้นโดยวิสุทธิข้อนี้ เป็นอันบรรลุผลที่หมายสูงสุดแห่งวิสุทธิ หรือไตรสิกขา หรือการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น purity of knowledge and vision วิสุทธิ 7 เป็นปัจจัยส่งต่อกันขึ้นไปเพื่อบรรลุนิพพาน ดุจรถ 7 ผลัดส่งต่อกันให้บุคคลถึงที่หมาย
พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร.อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มจร กล่าวสรุปว่า ดังนั้น พระราชปริยัติกวี จึงมีนโยบายหลักเกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ระวังอย่าเป็นเพียงบัณฑิตใบลานเปล่าเรียนเพียงปริยัติเท่านั้น มหาจุฬาจึงต้องปรับวิธีการสอนกรรมฐานให้มีความเหมาะสมกับบุคคล พระวิปัสสนาจารย์จะต้องศึกษาด้านพระอภิธรรมอันเป็นฐานของปริยัติสัทธรรมสามารถตอบว่าชีวิตคืออะไรและตอบข้อสงสัยได้ โดยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นเครื่องมือป้องกันลดปริยัติแบบงูพิษ จึงเน้นย้ำว่ารูปแบบการสอนวิปัสสนากรรมฐานของมหาจุฬาจะต้องคำนึงถึงจริตของผู้ปฏิบัติซึ่งเป็นนิสิตของมหาจุฬาฯ อย่าสอนเหมือนกันโดยไม่วิเคราะห์ผู้ปฏิบัติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น