วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ไหว้พ่อหลวงร.9! ชมแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่วัดมงคลชัยพัฒนาสระบุรี



ไหว้พ่อหลวงร.9! ชมแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่และแปลงเกษตรผสมผสาน วัดมงคลชัยพัฒนา ตำบลเขาดิน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ที่ดร.มหาสำราญ สมพงษ์ ได้เดินทางไปศึกษาหาความรู้เมื่อปี 2559 ขณะอยู่ในเพศบรรพชิตคราวบวชอุทิศถวาย

 

 ทั้งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชกระแสให้นายสุเมธ ตันติเวชกุล นายมนูญ มุกข์ประดิษฐ์ และนายพิมลศักดิ์  สุวรรณทัต กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา พิจารณาจัดซื้อที่ดินที่ติดกับวัดมงคล ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี โดยต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามจากวัดมงคลเป็นวัดมงคลชัยพัฒนา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2535 เป็นต้นมา

จากพระราชกระแสข้างต้นมูลนิธิชัยพัฒนาจึงได้จัดซื้อและมีผู้บริจาคที่ดินบริเวณดังกล่าวรวม   32 - 0 - 47 ไร่    เพื่อนำมาพัฒนาการเกษตรตามแนว  ทฤษฎีใหม่  ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยให้ใช้สถานที่ดังกล่าวดำเนิน โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้เป็นศูนย์สาธิตการดำเนินเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างเป็นรูปธรรม สามารถให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้ปฏิบัติในพื้นที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างพออยู่พอกิน   

ซึ่งโครงการดังกล่าวนับเป็นจุดกำเนิดของ เกษตรทฤษฎีใหม่ แห่งแรกในประเทศไทย  โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาฯ แบ่งพื้นที่ดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วนคือส่วนที่หนึ่ง  แปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน    จำนวน 16-2-23 ไร่  ดำเนินการทดสอบและพัฒนาระบบการปลูกพืชผักสวนครัวในรูปแบบต่างๆ อาทิ สวนพืชตระกูลมะ สวนพืชสมุนไพร สวนผลไม้ในที่ดอน สวนพรรณไม้หอมเฉลิมพระเกียรติ รวมถึงการขุดสระน้ำสำหรับเลี้ยงปลาและปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน เป็นต้น ส่วนที่สอง  แปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ จำนวน 15-2-24 ไร่ แบ่งพื้นที่ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน คือ 30-30-30-10 โดยสัดส่วนดังกล่าวได้นำมาปรับตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ของวัดมงคลชัยพัฒนา ในสัดส่วน 16-35.5-24.5-24 โดยแต่ละส่วนประกอบด้วย

ส่วนที่หนึ่ง  ร้อยละ 16 พื้นที่ประมาณ 2.5 ไร่  ดำเนินการขุดสระกักเก็บน้ำขนาด 55 เมตร ยาว 71 เมตร ลึก 5 เมตร   สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 18,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อนำน้ำมาไว้ใช้ในฤดูแล้ง นอกจากนี้ในสระยังได้เลี้ยงปลานิลและปลาตะเพียน เพื่อเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง  ส่วนที่สอง   ร้อยละ  35.5  พื้นที่ประมาณ 5.5 ไร่  พัฒนาพื้นที่เป็นแปลงนาข้าว โดยหลังฤดูเก็บเกี่ยวสามารถปรับสภาพดินเพื่อทำการปลูกพืชไร่ พืชผักชนิดต่างๆ เช่น ข้าวโพดหวาน มะระ ถั่วเขียว เป็นต้น  ส่วนที่สาม   ร้อยละ 24.5 พื้นที่ประมาณ 3.8 ไร่ ทำการเกษตรอื่นๆ เช่น ปลูกพืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และพืชสมุนไพร เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือจากการนำบริโภคก็นำไปจำหน่าย โดยเลือกปลูกให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความต้องการของตลาด ตัวอย่างของพืชที่ปลูกคือ อ้อย กล้วย กระถิน พริกขี้หนู มะกรูด เป็นต้น  ส่วนที่สี่  ร้อยละ 24 พื้นที่ประมาณ 3.7 ไร่ เป็นส่วนของที่อยู่อาศัย ถนนและเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนการปลูกผักสารพิษเพื่อบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายเป็นการลดค่าใช้จ่ายและเสริมรายได้ในครัวเรือน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"วิเคราห์ ทิฏฐิสังยุตต์ มูลปัณณาสก์ ทุติยเปยยาล - นวาตสูตร

  "วิเคราห์   ทิฏฐิสังยุตต์  มูลปัณณาสก์  ทุติยเปยยาล  -   นวาตสูตร  - เนวโหตินนโหติตถาคตสูตร - รูปีอัตตาสูตร - อรูปีอัตตาสูตร -รูปีจอร...