วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2563

"อธิบดี พช." ปิดอบรมศาสตร์พระราชา ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" นำพาประเทศรอด



"อธิบดี พช." เทิดทูนศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักทฤษฎีใหม่ นำพาประเทศให้อยู่รอดปลอดภัย นำนักพัฒนาจากทั่วประเทศร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" 

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานปิดการอบรม โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล"  กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล โดยมี นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวศศิธร อินทกุลรองหัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายกิติพล เวชกุล ผู้ตรวจราชการกรม นางสาวเบญจมาศ วงษ์สุวรรณ ผู้ตรวจราชการกรม นายธนวัฒน์ ปิ่นแก้ว ผอ.สถาบันการพัฒนาชุมชน นางสาวนิภา ทองก้อน ผอ.สำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน และนายนพรัตน์ ธำรงทรัพย์ ผอ.กองการเจ้าหน้าที่ ณ ห้อง war room ชั้น 5 กรมการพัฒนาชุมชน อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล (Video Conference) ไปยังศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน (ศพช.) 7 แห่ง โดยมีผู้อำนวยการกลุ่มงาน เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัด และอำเภอ จากทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 642 คน ที่ผ่านการอบรมในครั้งนี้

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักทฤษฎีใหม่ ซึ่งสองสิ่งนี้จะนำพาประเทศให้อยู่รอดปลอดภัย เป็นหลักแห่งสัจธรรมความจริงแท้ที่พระองค์ทรงลงมือทำด้วยพระองค์เองให้พวกเราเห็นเป็นรูปธรรม เป็นสิ่งที่พี่น้องกรมการพัฒนาชุมชนนั้น เคารพบูชา และเชื่อมั่นอย่างสุดหัวใจการการขับเคลื่อนทุกภารกิจ นับเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งที่ทุกท่านได้เข้าร่วมในการอบรม ศึกษาหาความรู้ในครั้งนี้แม้เป็นเพียงระยะเวลาอันสั้น แต่สิ่งที่จะเริ่มต่อจากนี้ยิ่งใหญ่ คือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตรับใช้พี่น้องประชาชน ประเทศชาติของเรา ให้สมดังอุดมการณ์ของกรมการพัฒนาชุมชน ที่มุ่งมั่น Chang for good หรือสร้างสิ่งดีงาม มาจนจะย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 60 ในปี 2564 เรื่อง โคก หนอง นา นี้แม้ดูเป็นเรื่องใหม่ในมโนทัศน์ของพวกเราชาวพัฒนาชุมชนที่กระจายตัวอยู่ใน 878 อำเภอ 76 จังหวัด แต่ด้วยอุดมการณ์และความมุ่งมาตรปรารถนาดีต่อพี่น้องประชาชนที่มีอย่างเต็มเปี่ยมตลอดมานั้น เชื่อมั่นได้ว่าจะเป็นหนทางสู่ความสำเร็จได้อย่างแน่นอน


ดังที่ได้กล่าวไปในเปิดการอบรมว่านักพัฒนานอกจากจะมีหัวใจในการพัฒนาแล้ว ยังต้องมีหัวใจนักปราชญ์ "สุ จิ ปุ ลิ" ซึ่งใช้ในการพัฒนาตนเองเพื่อให้รู้ ให้เข้าใจในสิ่งที่จะต้องนำไปขับเคลื่อนร่วมกับพี่น้องประชาชน ซึ่งตรงตามหลักจะพัฒนาใครต้องพัฒนาตัวเองก่อน คือ ให้เป็นผู้ที่มีความรู้แตกฉาน สื่อสารนำประโยชน์สู่พี่น้องประชาชนได้อย่างดี เพราะงานพัฒนาชุมชนคือการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน อย่างไรก็ดีเมื่อทุกท่านได้รับการศึกษาหาความรู้ และทดลองปฏิบัติจริงจากหลักสูตรการอบรมครั้งนี้แล้ว เมื่อกลับไปยังพื้นที่ต้องสร้างความกระจ่าง ความเข้าใจได้อย่างทั่วถึงกับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำหรือครัวเรือนต้นแบบ ที่จะเป็นผู้ประสานเป็นแกนกลางในการขยายผลองค์ความรู้นี้ต่อไป จงถอดหัวโขน หรือธรรมเนียมของความเป็นราชการออกเสียบ้าง แล้วมุ่งไปที่เป้าหมายบูรณาการร่วมกัน สร้างสัมพันธภาพ ความสนิทแนบแน่นและมั่นใจ ไว้ใจ กับพี่น้องประชาชน และภาคีเครือข่ายที่มีจิตอาสา เสียสละ จับมือกันไปในทิศทางแห่งความสำเร็จทำสิ่งที่ดีให้กับแผ่นดิน

"เมื่อรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 4,787,916,400 บาท เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" จึงมีความคาดหวังอย่างยิ่งในความสำเร็จ และพี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ขอให้พวกเราชาวกรมการพัฒนาชุมชน ช่วยกันมุ่งมั่นทุ่มเท เอาใจใส่ ศึกษาหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ความรู้ความสามารถของพวกเราเป็นเหมือนหางเสือเรือในการบังคับทิศทางให้เรือลำนี้นำพาพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 73 จังหวัด 575 อำเภอ 3,246 ตำบล 25,179 ครัวเรือน และเชื่อว่าในอนาคตปีงบประมาณ 2565 จะมีผู้สนใจเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้น ไปสู่ฝั่งฝันของความ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อไป"  อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวทิ้งท้าย


โดยโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล"  กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ที่ได้ดำเนินการมาตลอด 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2563 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน ทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรี ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช และศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา โดยกลุ่มเป้าหมายทุกคนผ่านการอบรม และฝึกปฏิบัติในรูปแบบการบรรยาย การแบ่งกลุ่มอภิปราย การฝึกปฏิบัติฐานเรียนรู้ ถอดบทเรียนผ่านสื่อ การฝึกครูกระบวนการ ครูประจำฐานเรียนรู้ ครูพาทำ จิตอาสาพัฒนาเอามื้อสามัคคีพัฒนาพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถเป็นแกนนำขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดลในพื้นที่เป้าหมายได้ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มีกินกันหรือยัง น้ำพริกพี่ญาคนรุม น้ำพริกหมดแล้วมั้ง

สั่งทางสยามพงษ์ช้อปได้เลยนะ https://www.tiktok.com/@siampongs