วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ม.มหิดลเปิดรับสมัครพระเณรนักเรียน รับทุนเฉลิมราชกุมารี เรียนต่อวิทยาลัยศาสนศึกษา



ม.มหิดล ขยายโอกาสรับสมัครทุนเฉลิมราชกุมารี โครงการเพชรศาสนา ประจำปี 2563 ให้พระภิกษุ/สามเณร และนักเรียนทั่วไปได้มีโอกาสศึกษาต่อที่วิทยาลัยศาสนศึกษา

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 มหาวิทยาลัยมหิดล โดย วิทยาลัยศาสนศึกษา ร่วมกับ สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มอบ “ทุนเฉลิมราชกุมารี” จาก “โครงการเพชรศาสนา” แก่พระภิกษุ/สามเณรจากโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั่วประเทศที่มีผลการเรียนดีเด่นในระดับ Top 100 เข้าศึกษาต่อ ณ วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยริเริ่มโครงการเมื่อปี 2562 มาในปี 2563 ได้ขยายโอกาสทางการศึกษาไปยังกลุ่มนักเรียนทั่วไปที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากต่างจังหวัด หรือด้อยโอกาสทางการศึกษาภาคบังคับและปัจจุบัน จากโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาอื่นๆ ให้มีโอกาสได้รับทุนเข้ามาศึกษาต่อด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ และรักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โลกในยุคดิสรัปชันที่ไร้พรมแดนเช่นปัจจุบันมีการเปิดกว้างทางการนับถือศาสนา การศึกษาเพื่อการนำพาโลกสู่สันติภาพ ด้วยความเข้าใจในความแตกต่าง และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข จึงมีบทบาทมากกว่าการมุ่งศึกษาเพียงศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ซึ่ง วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบันได้มีการปรับการเรียนการสอนเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยได้จัดให้มีการศึกษาศาสนา-ความเชื่อต่างๆ ในแง่มุมที่หลากหลาย เพื่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้งบนพื้นฐานของเหตุและผล ร่วมด้วยทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้นักศึกษาสามารถปรับตัวให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก



บรรยากาศการเรียนการสอนที่ วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถสัมผัสได้ถึงความเป็นสากล โดยมีคณาจารย์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ และจัดให้นักศึกษาที่เป็นพระภิกษุสามเณร และนักศึกษาทั่วไป ได้เรียนร่วมกัน แต่เป็นไปด้วยความเหมาะสมตามหลักศาสนา ซึ่งโครงการเพชรศาสนา ในส่วนของพระภิกษุ/สามเณร สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะเป็นฝ่ายรับผิดชอบให้ทุนการศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จนจบการศึกษาปริญญาตรี ซึ่ง วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็น 1 ใน 3 สถาบันอุดมศึกษาที่เปิดให้พระภิกษุ/สามเณรได้เลือกเรียนในโครงการเพชรศาสนา โดยมีหนึ่งในคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาทุนการศึกษาจากวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของ แพทย์หญิงคุณอรวรรณ คุณวิศาล ประธานมูลนิธิน้ำทอง คุณวิศาล ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

สามเณรกิตติพัชญ์ อุ่นปิง หนึ่งในผู้รับ “ทุนเฉลิมราชกุมารี” จาก “โครงการเพชรศาสนา” ปี 2562 ซึ่งกำลังศึกษาชั้นปีที่ 1 หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศาสนศึกษา วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า ท่านเกิดที่จังหวัดสระบุรี สาเหตุที่บวชเรียนเป็นสามเณรตั้งแต่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เนื่องจากโยมพ่อและโยมแม่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา สามเณรกิตติพัชญ์ อุ่นปิง ได้ศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 ที่โรงเรียนมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย (วัดชูจิตธรรมาราม) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา โดยได้รับทุนจากโครงการเพชรศาสนา ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จนเมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ท่านได้สมัครเรียนวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการเสนอแฟ้มสะสมงาน (Portfolio) ที่แสดงประวัติและผลงานวิชาการและกิจกรรมจิตอาสา ซึ่งท่านเคยได้ไปร่วมแข่งขันตอบปัญหาวิชาภาษาบาลี และร่วมกิจกรรมจิตอาสาของโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง 

สามเณรกิตติพัชญ์ อุ่นปิง ได้กล่าวฝากหลักธรรม “วิริยะ มีความเพียรเรียนหนังสือ ขันติ ถือความอดทนจนถึงฝัน สัจจะ จริงพูดสิ่งใดทำสิ่งนั้น กตัญญู สถาบันทุกวันคืน” ด้วยความภาคภูมิใจที่ได้เป็นนักศึกษาวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และมุ่งตามปณิธาน “ปัญญาของแผ่นดิน” ของมหาวิทยาลัยมหิดลต่อไป

ในปี 2563 นี้ “โครงการเพชรศาสนา” ได้จัด “ทุนเฉลิมราชกุมารี” สำหรับพระภิกษุ/สามเณร และนักเรียนทั่วไปที่จะเข้าศึกษาต่อวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 50 ทุน โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้รับทุน ในส่วนของพระภิกษุ/สามเณรให้มีเกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) 4 ภาคการศึกษา ≥ 2.50 หรือเป็นผู้ได้เปรียญธรรม 5 ประโยค ส่วนนักเรียนทั่วไปให้มีเกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) 4 ภาคการศึกษา ≥ 3.00 เกณฑ์ขั้นต่ำคะแนนเฉลี่ยสาระการเรียนรู้ (GPA) วิชาภาษาอังกฤษ ≥ 3.00 วิชาภาษาไทย ≥ 3.00 วิชาสังคม ≥ 3.00 

เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ จนถึงเวลา 12.00 น.ของวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ที่ https://tcas.mahidol.ac.th/index.html ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายการศึกษา วิทยาลัยศาสนศึกษา ม.มหิดล โทร. 0-2800-2633 www.crs.mahidol.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...