เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2564 ที่อาคารรัฐสภาเกียกกาย นายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา ตนได้เดินทางไปที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนนครไชยศรี เพื่อฟังศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ คดีทุจริตการจัดสรรเงินงบประมาณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สำนวนหมายเลขดำ อท.254/2561 โดยอดีตพระพรหมดิลก (อดีตเจ้าคุณเอื้อน) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา อดีตเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม จำเลยที่ 5 ยื่นอุทธรณ์คดีเพียงผู้เดียว โดยศาลอุทธรณ์ฯ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้รอการลงโทษ (รอลงอาญา) ไว้มีกำหนด 1 ปีนั้น
ตามหลักพระธรรมวินัยมีกรอบข้อบังคับสำหรับการทุจริตโดยเฉพาะการยักยอกทรัพย์นั้น ในหมวดธรรม ปาราชิก 4 เป็นโทษร้ายแรงสำหรับพระ โดยการถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตนจะต้องขาดจากความเป็นพระ จากที่ตนเคยบวชเรียนมาจึงมั่นใจได้ว่าพระสงฆ์ที่ถวายชีวิตให้พระศาสนาโดยการบวชตลอดชีวิตพร้อม ตายในผ้าเหลือง โดยเฉพาะพระที่เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วยแล้ว ไม่มีใครที่จะมาพลาดทำผิดในข้อหลักสำคัญที่เป็นพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ลองมาเทียบตรรกะที่ผ่านมาเป็นพันปีที่พระพุทธศาสนายืนหยัดปลูกรากลงในแผ่นดินสุวรรณภูมิ สร้างคนให้เป็นคนดีมารุ่นต่อรุ่น ตั้งแต่เกิดแผ่นดินสยามมา
"ไม่เคยมีแม้สักครั้งที่เอาของไปถวายพระแล้วผิด เพิ่งจะมีเกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่สร้างชาติมา ตนอยากจะให้พุทธศาสนิกชนพึงฟังเป็นอุทาหรณ์ เมื่อเอาเงินไปถวายวัด... วัดก็ถือเป็นสมบัติกลางของชาติ... เอาเงินของชาติสร้างของให้ชาติ...แบบนี้ถือเป็นความผิด พอไปตรวจสอบเงินก็เอาไปใช้ในงานของวัดครบแล้วมาอ้างว่าเป็นเงินทอน เรื่องนี้คงเป็นเรื่องกล่าวเล่าอ้างไปชั่วลูกชั่วหลาน หากมาพิจารณาคดีนี้ ที่ว่าพระสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต โดยเจ้าหน้าที่รัฐถวายโดยเขียนชื่องบประมาณผิดประเภท" นายนิยม กล่าวและว่า
ข้อนี้ตามคำพิพากษาตนจะขอไม่ละเมิดอำนาจศาล แต่อยากจะให้พิจารณาข้อบกพร่องของกฎหมายที่ตนเห็นว่าควรจะต้องแก้ไข เพราะหากไม่แก้ ภิกษุสามเณรทั้งประเทศจะมีภัย! ตนยังไม่แน่ใจว่าที่ผ่านมาจะมีคดีที่คงค้างดังอดีตเจ้าคุณพรหมดิลกถูกฟ้องร้องอีกหรือไม่ เพราะธรรมเนียมชาวพุทธถือปฏิบัติกันมาในอดีต การให้โทษพระปฏิบัติดีก็เหมือนการถ่มน้ำลายรดฟ้า รังแต่จะให้โทษกับตนเองดังมีสอนในบทเจ็ดตํานาน สิบสองตํานาน มีตัวอย่างของนางจิญจมาณวิกา เป็นต้น ชาวพุทธจะรู้จักกันดี ทั้งนี้จากคดีความดังกล่าวหากมีผู้ประสงค์ร้ายที่เป็นบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาอันเป็น 1 ใน 3 สถาบันหลักของชาติ จ้องจะมาทำลายก็เพียงนำงบประมาณภาครัฐนำไปถวายพระหรือสร้างกระบวนการที่ทำให้พระหลงเชื่อหรือสร้างเหตุให้มีงบรัฐบาลไปอยู่ในวัดโดยอ้างว่าผิดวัตถุประสงค์ หากมีพยานหลักฐานที่สามารถอ้างต่อศาลภายหลังและศาลเชื่อในพยานหลักฐานนั้น พระสงฆ์นั้นแม้จะมีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาและประเทศชาติมากเพียงใด ก็จะต้องถูกทำลายด้วยการตรากฎหมายที่วางไว้ไม่รัดกุม
ทั้งนี้หากพิจารณาแล้วกฎหมายดังกล่าวอาจขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560 อันถือเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์ใหญ่กว่า โดยระบุในมาตรา 67 ว่า "รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาฯ" โดยมีสาระสำคัญ ที่ระบุว่า "ต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย" สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ
นายนิยม กล่าวด้วยว่า โดยตนเห็นว่า กรณีอดีตพระพรหมดิลก ไม่อาจจะปล่อยข้ามหรือปล่อยผ่านไป ทั้งนี้ตนจะเสนอต่อสภา เพื่อจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อพิจารณาแก้กฎหมายให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญตามมาตรา 67 เพื่อป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาข้างต้น ทั้งนี้ตนเห็นควรว่าอดีตพระพรหมดิลกควรยื่นต่อสู้ในชั้นศาลฎีกาต่อไป ส่วนการตั้งกรรมาธิการวิสามัญฯ จะพิจารณาทั้งในแง่ของการแก้กฎหมายต่างๆ รวมถึงผลักดันการให้ความรู้แก่พระภิกษุสงฆ์ในแง่กฎหมาย อีกทั้งทิศทางที่จะร่วมกันอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น