วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2564

กมธ.ศาสนาสภาฯลงพื้นที่เยี่ยมวัดเอี่ยมวรนุช แม้รฟม.ยันไม่เวนคืนวิหารเก่าสร้างรถไฟฟ้าแล้ว


วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม 2564 ตามที่มีรายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า จากกรณีที่ข่าวการเวนคืนที่ดินในวัดเอี่ยมวรนุช กรุงเทพมหานคร เพื่อก่อสร้างสถานีบางขุนพรหม ซึ่งเป็นสถานีใต้ดินโครงการรถไฟฟ้าสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) นั้น เป็นเพียงการดำเนินการสำรวจแนวเขตทางในเบื้องต้นเท่านั้น 

ทั้งนี้การก่อสร้างสถานีดังกล่าวจะมีตำแหน่งทางขึ้น-ลง 4 ตำแหน่ง ดังนี้ 1.ทางขึ้น-ลง หมายเลข 1 ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดเอี่ยมวรนุช ใกล้สี่แยกวิสุทธิกษัตริย์ 2.ทางขึ้น-ลง หมายเลข 2 ตั้งอยู่บริเวณปั๊ม ปตท. ตรงข้ามวัดสามพระยา 3.ทางขึ้น-ลง หมายเลข 3 ตั้งอยู่บริเวณโรงพิมพ์ศรีหงส์ และ 4.ทางขึ้น-ลง หมายเลข 4 ตั้งอยู่บริเวณธนาคารแห่งประเทศไทย ถนนวิสุทธิกษัตริย์          

"รฟม.ขอยืนยันว่าจะไม่มีการเวนคืนส่วนที่เป็นวิหารและเจดีย์เก่าของวัดเอี่ยมวรนุชตามที่ปรากฏในข่าว ทั้งนี้ รฟม.ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องของวัดเอี่ยมวรนุชแล้ว และต้นสัปดาห์หน้า รฟม.พร้อมบริษัทที่ปรึกษาโครงการจะเข้าชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดกับทางวัด ต่อไป" รายงานข่าวระบุนั้น  


 

วันนี้(6มี.ค.)   พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร),รศ. รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการฯ ลงสำรวจพื้นที่วัดเอี่ยมวรนุช เขตพระนคร กทม. เพื่อรับทราบปัญหากรณี รฟม. ขอเวรคืนที่ดินของวัด ในเบื้องต้นคณะได้เข้ากราบหลวงพ่อพระครูศรีสุตาภรณ์ (คำนึง ป.ธ.6,พธ.บ.) เจ้าอาวาส วัย 78 ปี ยังแข็งแรง ความจำเป็นเลิศ เล่าว่าวัดนี้สร้างเมื่อปีพ.ศ.2327 ต้นกรุงรัตนโกสินทร์  แต่เดิมนั้นรฟม.มาขอเจรจาใช้พื้นที่ เมื่อปี 2556 โดยขอใช้พื้นที่เข้ามาในวัด 4 เมตร เพื่อจะเป็นที่พักสำหรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินซึ่งท่านก็รับปากและยินดีด้วยความเต็มใจ             

ต่อมาเรื่องก็เงียบหายไป และมาปรากฎอีกครั้ง เมื่อมีเจ้าหน้าที่มาบอกว่า วัดถูกเวรคืนโดยกินพื้นที่เข้าไปภายใน 6 เมตรและยังชี้บอกอีกว่าตรงนี้ก็ต้องรื้อ ตรงนั้นก็ต้องรื้อ และยังถามว่าวัดจะรื้อเองหรือให้ รฟม.รื้อให้ ถ้ารฟม.เรื่อสิ่งของที่ถูกรื้อทั้งหมดต้องตกเป็นสมบัติของ รฟม. ตามแนวเวรคืนรถไฟฟ้าใต้ดินจะมาจากแยก จปร. ผ่านมาแยกบางขุนพรหม ตรงวัดเอี่ยมวรนุช โค้งซ้ายรอบแนวกำแพงวัดเอี่ยมวรนุช เพื่อตรงไปยังบางลำภู 

หลวงพ่อเจ้าอาวาสเล่าว่า ท่านยินดีจะให้ตามที่รับปากไว้ ท่านจะไม่เสียสัจจะ ศาลาสองหลังรื้อได้เลย กำแพงวัดทุบรื้อได้เลย ท่านขอเพียงเจดีย์บรรพชน(เจดีย์ขาว)และวิหารหลวงปู่ทวดไว้เท่านั้นเอง อย่าลืมว่า วัดนี้มีเนื้อที่เพียง 2 ไร่เศษเท่านั้นเอง เป็นวัดเล็กๆในกลางกรุงเทพมหานคร หลวงพ่อเจ้าอาวาสท่านยืนยันว่า วัดยินดีเสียสละ เพื่อความเจริญของบ้านเมือง ยินดีทุกอย่าง แต่วัดขอเพียงเจดีย์และวิหารหลวงปู่ทวดไว้เท่านั้นเอง วันนี้มีหน่วยงานนั้น หน่วยงานนี้มาพบหลวงพ่อ ท่านก็ยังยืนยันตามนี้รวมทั้ง รฟม.ด้วย           

คณะกรรมาธิการฯ โดยดร.เพชรวรรต วัฒนพงศสิริกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อชาติ ดร.นพดล แก้วสุพัฒน์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ   และคณะจึงรับปากว่าจะนำเรื่องเข้าหารือในคณะกรรมาธิการฯ เพื่อจะหาข้อยุติให้ได้โดยเร็ว          

"ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ไม่ยาก รฟม.โดยผู้มีอำนาจควรจะเข้ากราบถวายรายงานเจ้าอาวาสเพื่อรายงานข้อเท็จจริงว่า วันนี้ขั้นตอนมันไปถึงไหน อย่างไร  กฎหมายเวรคืนทำมาอย่างไร ชอบด้วยวิธีปฎิบัติหรือไม่ เช่น แจ้งให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบทราบก่อนหรือยัง ติดป้ายประกาศไหม มีการทำประชาพิจารณ์หรือไม่ หรือแม้ว่าจะออกมาแล้วสำหรับกฎหมายเวรคืนแต่ในส่วนเอกสารแนบท้ายเป็นอย่างไร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต้องชัดเจน และควรจะแถลงให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับทราบด้วย เพราะเรื่องนี้กระทบกระเทือนต่อจิตใจของชาวพุทธพอสมควรทีเดียว" พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวและว่า

พระครูศรีสุตาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเอี่ยมวรนุช ยืนยันว่า ท่านรักษาสัจจะและในขณะเดียวกันก็จะต้องรักษาวัดไว้ให้ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ท่านก็บอกว่าในยุคที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้ทำดีที่สุดแล้วโยม

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...