วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2564

เชียงรายจัดยิ่งใหญ่! พิธีประกาศปฏิญญาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักประจำจังหวัด


วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2564 พระรัตนมุนี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย นำคณะสงฆ์ ร่วมกับสมาพันธ์ส่งเสริมและพิทักษ์พระพุทธศาสนาของจังหวัดเชียงราย นำโดย นายปรีชา พัวนุกุลนนท์ ได้จัดกิจกรรมประกาศปฏิญญาให้พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาหลักประจำจังหวัดเชียงราย" เมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม 2564 ที่บริเวณพุทธมณฑลสมโภช 750 ปี เมืองเชียงราย ตำบลบัวสลี อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย โดยมีพุทธศาสนิกชนจากกลุ่มพุทธสมาคมแห่งจังหวัดเซียงราย สภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย สมาพันธ์ส่งเสริมและพิทักษ์พระพุทธศาสนาจังหวัดเซียงราย พุทธสมาคมอำเภอ สภาวัฒนธรรมอำเภอทุกอำเภอ และองค์กรเครือข่าย รวมกว่า 7,000 คน เข้าร่วมกิจกรรมด้วยความสำรวมอย่างพร้อมเพรียง

สำหรับพิธีพุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันประกาศปฏิญญาให้พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาหลักประจำจังหวัดเชียงราย ประกอบด้วยกิจกรรมแสดงตนเป็นพุทธมามกะ กิจกรรมสวดมนต์ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร กิจกรรมการเสวนาทางวิชาการเรื่อง "พระพุทธศาสนาในประเทศไทยยุคโลกาภิวัตน์" โดยพระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) นาวาอากาศเอกคัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์ และศาสตราจารย์ ดร.ดุษฎีวัฒน์ แก้วอินทร์ รวมทั้ง กิจกรรมการทอดผ้าป้าระดมทุนเพื่อดำเนินงานส่งเสริมและพิทักษ์พระพุทธศาสนาในจังหวัดเชียงราย และกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนาอย่างต่อเนื่องงดงามมากมาย


พระรัตนมุนี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า อาตมารู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ ที่จังหวัดเชียงรายได้ตอบแทนและดำรงตามปณิธานของพ่อขุนเม็งราย และบูรพมหากษัตริย์ล้านนา ที่ได้ปักหลักพระพุทธศาสนาให้กับแผ่นดินล้านนา มาตั้งแต่ก่อตั้งเมืองเชียงรายในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.1805 รวมระยะเวลาสถาปนา 759 ปี จนมาถึงทุกวันนี้พระพุทธศาสนาเป็นรากเหง้าของขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของชาวเชียงราย กลายเป็นวิถีชีวิตทำให้ชาวล้านนาเป็นชาวล้านนา มีความสุขด้วยแบบแผนของขนบธรรมเนียม อาตมาขอขอบคุณทุกส่วนงานที่ทำให้งานประสบความสำเร็จในครั้งนี้ โดยเฉพาะการได้มาซึ่งที่ดินของพุทธมณฑลเชียงรายได้การประสานจากคณะกรรมาธิการการศาสนาฯ สภาฯ โดยมี ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล และ ดร.ณพลเดช มณีลังกา อีกทั้งคณะทำงานที่นำโดยอาจารย์ปรีชา พัวนุกุลนท์ รวมถึงคหบดีผู้สนับสนุนเช่น บริษัททิพยประกันภัย และ โตโยต้าเชียงราย ฯลฯ มีผู้ร่วมทำบุญเป็นหลักล้านให้กับสมาพันธ์ด้วยเห็นการตั้งใจทำงานอย่างจริงจัง

นายปรีชา พัวนุกุลนนท์ ได้กล่าวว่า ที่มาของการจัดงานครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากปัจจุบัน พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทย และเป็นศาสนาซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนไทยและคนล้านนา รวมทั้งคนในจังหวัดเชียงรายกำลังได้รับความกระทบกระเทือนจากภัยคุกคามทั้งหลาย ทั้งจากภัยภายในและภัยภายนอกพื้นที่

ด้วยเหตุนี้ จึงจัดกิจกรรมเพื่อแสดงออกถึงบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของพุทธบริษัทพลเมืองไทย พุทธศาสนิกชนในจังหวัดเชียงราย อันประกอบด้วยบุคคล คณะบุคคล องค์กรพุทธ และองค์กรเครือข่าย ได้แก่ พุทธสมาคมแห่งจังหวัดเชียงราย สภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย สมาพันธ์ชาวพุทธจังหวัดเชียงราย พุทธสมาคมอำเภอทุกอำเภอ สภาวัฒนธรรมอำเภอทุกอำเภอ และองค์กรพุทธอื่น ๆ ตลอดถึงองค์กรทางสังคมที่มีแนวคิดในการส่งเสริมและพิทักษ์พระพุทธศาสนา จึงได้รวมตัวกันก่อตั้ง "สมาพันธ์ส่งเสริมและพิทักษ์พระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงราย" ขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อจะมีการผลักดันให้พุทธศาสนิกชนในจังหวัดเชียงราย ยึดหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังมีแก่นของศาสนาคือ “ทาน ศีล ภาวนา” อีกทั้ง จะนำวิถีแห่งชาวล้านนาแต่ดั้งเดิมที่หายไปกลับมาอนุรักษ์ให้เป็นอัตลักษณ์อันโดดเด่นเช่นเดิม อันประกอบด้วย ความสะอาดเรียบร้อยความละเอียดลออ ความอ่อนช้อย ความรักในหมู่เหล่า มีความซื่อสัตย์ และความเคารพต่อผู้หลักผู้ใหญ่ผู้อาวุโส ทั้งนี้ จะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามหลัก ปรัชญาแห่งองค์ในหลวงรัชกาลที่ 9 นำมาปลูกฝังให้ประชาชนชาวพุทธดำเนินชีวิตอยู่อย่างมีความผาสุกสวัสดีต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...