วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2564

กก.สมานฉันท์ จับมือ "ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคปชช.มจร" ขับเคลื่อนงานปรองดอง 14 มี.ค.นี้



วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2564 พระปราโมทย์  วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร  เปิดเผยว่า พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส รศ.ดร.  ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษาและ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร ในฐานะประธานคณะทำงานบริหารงานศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เตรียมขับเคลื่อนศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนอย่างเป็นระบบ โดยได้กราบนิมนต์ผู้บริหารระดับสูง มจร ซึ่งเป็นที่ปรึกษา คณะกรรมการ คณะทำงาน รวมถึงภาคีเครือข่ายจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ คณะกรรมการสมานฉันท์ และยุติธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งกำกับงานไกล่เกลี่ยในพื้นที่ภาคประชาชน โดยเบื้องต้นกำหนดจัดเวทีสานเสวนา"การสร้างสมานฉันท์: 5 เสาหลักความปรองดองด้วยการเจรจาสู่สันติธรรม ร่วมกันคืนความสุขสังคมไทยเพื่อส่งมอบให้ลูกหลานไทยในอนาคต" ขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคมพ.ศ.2564 นี้



หลังจากนั้นกำหนดจัดประชุมใหญ่เพื่อการขับเคลื่อนงานศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร ในวันอังคารที่ 23 เดือนมีนาคม พ.ศ.2564  ที่ห้องประชุมพุทธปัญญา ชั้น 2  วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร เวลา 13.00 - 17.000 น. เพื่อประชุม แลกเปลี่ยน และเสนอแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร        



โดยศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร นับว่าเป็นความหวังทั้งภายในและภายนอก เมื่อเกิดข้อขัดแย้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร จะเป็นความหวังให้คนในชุมชน สังคมหันหน้ามาคุยกันเพื่อหาทางออกโดยไม่ใช้ความรุนแรง ใช้กระบวนการทางออกโดยพุทธสันติวิธี โดยศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนกำกับโดย  ดร.มยุรี จำจรัส ผู้อำนวยการสำนักงานยุติธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะเข้าร่วมขับเคลื่อนศูนย์ในครั้งนี้ด้วย       

โดยมาตรฐานศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน แบ่งออกเป็น 4 ด้าน 35 ตัวชี้วัด จำนวน 100 คะแนน ด้านที่ 1 โครงสร้างเชิงกายภาพ  6 ตัวชี้วัด  ด้านที่ 2 บุคลากร 6 ตัวชี้วัด ด้านที่ 3 การบริหารจัดการ 12  ตัวชี้วัด  ด้านที่ 4 งานบริการ 11 ตัวชี้วัด จากการตรวจประเมินศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชน ซึ่งตั้งที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถือว่าผ่านตามเกณฑ์การพิจารณาตามตัวชี้วัด ซึ่งมีการเปิดศูนย์ในวันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมาเพื่อบริการชุมชน ประชาชน และบุคคลที่มีข้อพิพาทก่อนจะฟ้องร้อง รวมถึงเป็นสถานที่ในการถ่ายทอดความรู้ เผยแพร่เกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งเวลามีความขัดแย้งทางออกที่จะชนะไปด้วยกัน นับว่าเป็นเรื่องราวที่ดียิ่ง เพราะเมื่อเกิดความขัดแย้งนั่นคือความทุกข์ จึงควรหาทางออกด้วยกันตามแนวทางปธาน 4  ทางพระพุทธศาสนา คือ ป้องกันความขัดแย้ง แก้ไขความขัดแย้ง เยียวยาความขัดแย้ง และรักษาสันติสุขให้ยั่งยืน  

พระปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า ดังนั้น ในนามศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร จึงขอกราบขอบพระคุณผู้บริหารมหาจุฬาทุกรูป ที่ปรึกษาทุกท่าน คณะกรรมการบริหารศูนย์ คณะทำงานทุกท่าน ในการผลักดันร่วมพลังขับเคลื่อนงานไกล่เกลี่ย พัฒนาศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนมหาจุฬาให้เป็นระบบ ซึ่งมีความขัดแย้งไม่ต้องฟ้องร้องแล้ว ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร สามารถช่วยได้อย่างสันติวิธี มหาจุฬาจึงเป็นสถาบันการศึกษาต้นแบบองค์กรที่บริการประชาชนเสริมสร้างสังคมสันติสุข ภายใต้หลักสูตรสันติศึกษา มจร  

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ธรรมะกับประชาธิปไตยไยห่วงใยสถาบันศาสนา

การวิเคราะห์ประชาธิปไตยในปริบทพุทธสันติวิธีชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ในระบอบประชาธิปไตย เพื่อลดความขัดแย้ง สร้างควา...