วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2564

แนะใช้อ่างปลาเครื่องมือสันติวิธี แก้ปมขัดแข้งการเลือกอาชีพ ระหว่างเด็กรุ่นใหม่กับผู้ปกครอง


วันที่ ๑๓ มีนาคม   ๒๕๖๔ พระปราโมทย์  วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร  นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี รุ่น ๕ สถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยว่า ได้ร่วมเเลกเปลี่ยนสะท้อนในมิติการปะทะกันทางGen ระหว่างพ่อแม่กับเด็กรุ่นใหม่ ในฐานะนักศึกษาหลักสูตรแนวคิดพื้นฐานการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีรุ่น ๕ สะท้อนสันติสนทนาผ่านกิจกรรม Help Me Peace แบบ Fishbowl Dialogue กับกลุ่ม Generation Gap ภายใต้หัวข้อ #ผู้ใหญ่หวังดีเลือกอาชีพให้ Vs เด็กรุ่นใหม่ไม่อยากได้ขอทำตาม Passion:ลดช่องว่างระหว่างวัยอย่างไรให้เข้าใจกัน" ผ่านมิติของกระบวนการแบบอ่างปลา โดยเครื่องมืออ่างปลา (Fishbowl) เป็นเครื่องมือที่สามารถใช้เป็นทางเลือกในการประชุมที่ไม่เน้นการ นำเสนอโดยเพาเวอร์พอยต์หรือการอภิปรายแบบ panel discussion 

โดยผู้เข้าร่วมยังคงมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ผ่านการกำกับเวทีโดยวิทยากรกระบวนการ การเน้นความทั่วถึงในการแลกเปลี่ยนและรับฟังซึ่งกันและกัน จะไม่ใช่การมาบรรยายหรือนำเสนอข้อมูลฝ่ายเดียว สิ่งสำคัญคือ บทสนทนาเกิดขึ้นเฉพาะในวงอ่างปลาเท่านั้น คนวงนอกจะนำเสนอ ความเห็นได้ต่อเมื่อเข้ามาในวงอ่างปลา คนที่ต้องการนำเสนอจึงต้อง รอคอยเวลาที่เหมาะสม เมื่อถึงรอบของตนเองจึงจะมีโอกาส คำถามที่ว่า ทำไมคนถึงอยากเข้าไปสนทนาในวงอ่างปลา? สามารถตอบได้ด้วย การตั้งประเด็นเรียนรู้ที่น่าสนใจ ท้าทาย ชวนให้ติดตามแลกเปลี่ยน และการสร้างบรรยากาศกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม    

อ้างอิงจาก ดร.ชลัท ประเทืองรัตนว่า หลักการสำคัญของเครื่องมืออ่างปลาการประชุมกลุ่มย่อยโดยใช้เครื่องมือหลักการสำคัญที่แตกต่างกันไป หลักการของการประชุมแบบอ่างปลา คือ    

๑)สร้างการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน โดยที่ทุกคนสามารถ แสดงความเห็นได้โดยเข้ามาแสดงความเห็นในวงใน ส่วนคนวงนอกทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ นั่นหมายความว่าทุกคนในวงประชุมกลุ่ม สามารถสลับมาเป็นผู้ให้ข้อมูลและความคิดเห็นได้เมื่ออยู่วงใน และผู้ที่อภิปรายอยู่ในวงในก็สามารถเปลี่ยนมาเป็นผู้สังเกตการณ์ได้เช่นกันเมื่อนั่งอยู่วงนอก      

๒)เน้นการฟังกันอย่างตั้งใจและอย่างลึกซึ้ง เนื่องจากผู้ที่จะสามารถแสดงความเห็นได้จะเป็นผู้ที่นั่งอยู่ในวงใน ส่วนคนที่นั่งอยู่วงนอกจะไม่สามารถแสดงความเห็นได้ ถ้าคนวงนอกอยากแสดงความเห็นจะต้องมีเก้าอี้วงในที่ว่างและขยับเข้าไปวงในถึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่นั่งอยู่วงในจะตั้งใจแสดงความเห็นของตนเองอย่างเต็มที่ และคนที่นั่งอยู่วงนอกก็จะตั้งใจฟังเพื่อที่เมื่อถึงเวลาที่สลับวง ตนเองจะได้แสดงความเห็นได้อย่างไหลลื่นเช่นกัน      

๓) สร้างจุดสนใจร่วมกัน ทำให้เกิดสมาธิในวงสนทนา จุดสนใจของการสนทนาจะอยู่ตรงกลางวง อยู่ที่การให้ข้อมูลของคนวงในที่เปรียบได้กับตัวปลา ส่วนคนวงนอกเป็นผู้สังเกตการณ์เปรียบได้กับขอบอ่างปลา ผู้สังเกตการณ์เฝ้ามองการโต้แย้ง อาจเปรียบได้อีกแบบคือ อยู่ในโดมแก้วที่มองเห็นวิวได้ชัดเจนแบบ ๓๖๐ องศา ผู้สังเกตการณ์ จะสังเกตทัศนคติและคุณภาพฃองผลงานที่เกิดขึ้นในการสนทนาวิทยากรกระบวนการมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้การสนทนาดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดการเสียสมาธิหรือการรบกวนจากผู้เข้าร่วมสนทนา      

๔)การแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นที่ไม่เน้นการนำเสนอแบบบรรยาย การสนทนาด้วยเครื่องมือนี้ ไม่เน้นการมาบรรยายหรือถ่ายทอดโดยวิทยากร วิทยากรที่ใช้เพาเวอร์พอยต์ในการนำเสนอและเน้นการถ่ายทอดหรือสื่อสารทางเดียวจะต้องปรับตัว หรือปรับเปลี่ยนวิธีการเมื่อเข้ามาร่วมสนทนาในวงอ่างปลา เนื่องจากเป็นการสนทนาแบบมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน คนอื่นจะมีโอกาสในการให้ข้อมูลเช่นกันเมื่อถึงรอบเวลาของตนเอง      

ในนามกลุ่มสะท้อนว่า ขอแสดงความยินดีมากสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่มีพ่อแม่คอยเลือกอาชีพให้ มีโอกาสได้เข้าถึงระบบการศึกษา ได้เรียนในสถานที่ดีๆมีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด เพราะมองว่าการศึกษาดีย่อมจะนำมาซึ่งการงานที่ดี แต่ในสำหรับเด็กบางคนอาจจะไม่มีโอกาสแบบนั้น ได้เรียนที่ไหนก็ต้องไขว้คว้าเรียนไว้ก่อน อาจจะเพราะความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยก็เป็นไปได้  ในมิตินี้เราอาจจะนำไปสู่คำว่า "ความหวังดีของผู้ให้ อาจจะเป็นความหวังร้ายของผู้รับ" จึงขอแบ่งออก  ๓ ประเด็น  ประกอบด้วย      

๑) ผู้ใหญ่หวังดีเลือกอาชีพให้ ปกติชีวิตเรามี ๒ ช. ช้อยส์ และ ช๊อค  ซ้อยส์หมายถึงชีวิตควรมีทางเลือก ทุกชีวิตควรมีทางเลือกด้วยตนเอง ทุกคนย่อมมีทางเลือกของชีวิตที่ดีที่สุด แต่อาจจะมีบางคนพยายามจะเลือกช้อยส์ให้คนอื่น แต่ความหวังดีของผู้ให้ อาจจะเป็นความหวังร้ายของผู้รับ ผู้ใหญ่บางคนอาจจะใช้อำนาจเหนือกับเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งแสดงว่าสามารถควบคุมเด็กได้ ผู้ใหญ่จึงใช้อำนาจร่วมและอำนาจภายใน ด้วยการฟังเด็กรุ่นใหม่ว่า เด็กต้องการอะไร เด็กรู้สึกอย่างไร อย่าเอาความฝันเด็กมาย่ำยี ควรให้เด็กมีช้อยส์ของชีวิตด้วยตัวเขาเอง เพราะถ้าไม่มีช้อยส์จะนำไปสู่คำว่า ช้อค  หมายถึง เมื่อบังคับมากๆ อาจจะเกิดปัญหาเป็นโรคซึมเศร้า เก็บกด คิดสั้น ไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต แต่น่าเห็นใจเพราะผู้ใหญ่บางท่านอาจจะถูกกระทำมาก่อน จึงกระทำจากรุ่นสู่รุ่น ความเจ็บปวดเป็นช่วงรุ่นต่อรุ่น จากพ่อแม่สู่ลูก       

แม้เด็กจะมีความฝันอาชีพใด พ่อแม่ควรสนับสนุน ขอให้เป็นสัมมาชีพ เข้าใจว่าพ่อแม่ห่วงอยากให้ลูกมีอาชีพดีๆ อาชีพนั้นควรตอบโจทย์ชีวิตลูกด้วย มิใช่ตอบโจทย์พ่อแม่อย่างเดียว ซึ่งพ่อแม่บางคนอาจจะผิดหวังในสมัยตนเองเป็นเด็ก จึงเอาปม ความคาดหวังเหล่านั้นมาลงใส่ตนเองชนิดที่ว่า ไม่ฟังใครเลย ใช้อัตตาธิปไตยกับลูกสุดกำลัง จึงน่าห่วงมาก เด็กบางกลุ่มต้องเผชิญกับผู้ใหญ่แบบนี้ พ่อแม่ควรใช้อำนาจร่วมคือรับฟังลูกอย่างเข้าใจ โดยพ่อแม่ต้องมีอำนาจภายในคือจิตใจที่ดี ไม่ใช้อารมณ์รุนแรงกับเด็กรุ่นใหม่ พ่อแม่ควรรักษาความสัมพันธ์กับลูกให้ดี     

๒) เด็กรุ่นใหม่ไม่อยากได้ขอทำตามPassion  อะไรที่ไม่อยากได้ให้ไปก็ไร้ความหมาย เพราะคำว่าPassion หมายถึง ชอบ รัก หลงใหล คลั่งไคร้ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นชีวิต ความรัก การทำงาน ความฝัน Passionจึงเป็นเชื้อเพลิงไปสู่เป้าหมาย เพราะอิทธิบาท ๔ คือเครื่องมือนำไปสู่ความสำเร็จในทุกเรื่องโดยเฉพาะเรื่องที่เป็นความฝันในชีวิตประกอบด้วย ฉันทะมีแรงปรารถนาอย่างแรงกล้า วิริยะความเพียรพยายามในสิ่งนั้น จิตตะมีจิตใจมั่นคงแน่วแน่จิตไม่หวั่นไหว และวิมังสามีความสม่ำเสมอ ฝึกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  เด็กรุ่นใหม่ต้องการทำให้สิ่งที่ตนเองรัก เน้นความสุขในสิ่งที่เป็น แต่ผู้ใหญ่อาจจะมองว่าไม่มั่นคง  ผู้ใหญ่อยากให้เด็กมีความมั่นคงในอาชีพ แต่อย่าลืมว่าความฝันเด็ก เพราะการเดินตามความฝันของตนเองมันอาจจะเหนื่อย แต่มันอาจจะเหนื่อยน้อยกว่าการรับใช้ความฝันของคนอื่น เด็กควรลงทุนกับตนเองเพื่อพัฒนาทักษะวิชาชีพและวิชาชีวิต      

๓) ลดช่องว่างระหว่างวัยอย่างไรให้เข้าใจกัน อะไรที่สุดโต่งไม่มีทางมีความสุข ต้องเดินทางสายกลางระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่  จึงต้องใช้แนวทางวิธีการเจรจาไกล่เกลี่ยคือ #ค้นหาความต้องการที่แท้จริง ว่าเด็กรุ่นใหม่ต้องการอะไร ผู้ใหญ่ต้องการอะไร นำความต้องมาคุยกันอย่างเข้าใจ ผู้ใหญ่ควรพัฒนาเป็น #พ่อแม่แบบโค้ช  #พ่อแม่แบบ Fa  เป็นพ่อแม่ที่ใช้ธรรมาธิปไตย สร้างเวทีการพูดคุยในครอบครัว เข้าใจจริต ๖ ทางพระพุทธศาสนา เข้าใจสัตว์ ๔ ทิศ  เน้นการไดอาล็อค มากกว่าโต้วาที เพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างมีเหตุมีผล      

แม้พระพุทธเจ้าสมัยยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะยังถูกคาดหวังจากบิดา คือ พระเจ้าสุทโธทนะ พยายามทำทุกวิถีทางเช่น สร้างปราสาทสามฤดู เป็นต้น เพื่อให้เจ้าชายเป็นดั่งที่ตนเองต้องการ คาดหวังสูงมาก แต่แม้จะทำอย่างก็ตาม ยังไม่สามารถปิดกั้นความปรารถนาอย่างแรงกล้า หรือ Passionของเจ้าชายสิทธัตถะไว้ได้ เจ้าชายออกจากพระราชวังเพื่อค้นหาคำตอบของชีวิต ค้นหาความสุขที่แท้จริง ออกไปเรียนรู้ของจริง ฝึกพัฒนาตนด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย จนเป็นผู้ยิ่งใหญ่ทางด้านจิตใจ จนเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนาให้เราได้เดินตามถึงทุกวันนี้ ถ้าวันนั้นเจ้าชายสิทธัตถะไม่ค้นพบตนเองคงไม่มีคำสอนที่ดีให้เราได้ปฏิบัติ ภาษาปัจจุบันคือ #อย่าปิดกั้นการมองเห็น เห็นความฝัน สรุปว่าผู้ใหญ่ควรเปิดใจคุยกับเด็กรุ่นใหม่อย่างเข้าใจ เด็กรุ่นใหม่ควรแสดงท่าทีที่นุ่มนวลมีเหตุมีผล ไม่ใช้การสื่อสารที่รุนแรง       

ดังนั้น กิจกรรม Help Me Peace จึงเป็นกิจกรรมที่นักศึกษา พขส ๕ สถาบันพระปกเกล้า นำเครื่องมือมาบูรณการเพื่อแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี ฝึกการใช้เครื่องมือ จงอย่าปิดกั้นการมองความฝันของเด็ก อ่างปลาจึงเป็นเครื่องมือสันติวิธี จงอย่าเอาความฝันใครมาย่ำยี เพราะที่ผ่านมาเรามักใช้วัฒนธรรมใช้อำนาจเพื่อกดทับ ยับยั้งบุคคลอื่น จึงเสนอว่า เราแคร์คนอื่นมามากแล้วแต่เราไม่แคร์หัวใจตนเองเลย จงเดินตามฝันสุดหัวใจ ถึงผู้ใหญ่จะหวังดีแต่เด็กขอเดินตามPassion ขอมีอาชีพที่มีความสุขในสิ่งที่อยากจะเป็น จึงใช้อำนาจร่วมมืออำนาจภายในจิตใจมากกว่าอำนาจเหนือ  เราควรเคารพในความฝันของทุกคน      


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...