วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564

กมธ.ศาสนาฯสภาฯพร้อมดัน แก้กฎหมายปล่อยโคมลอยได้


เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ที่ห้องอาหารภูภิรมย์ สิงห์ปาร์คเชียงราย จ.เชียงราย รศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านศิลปะและวัฒนธรรม ในคณะกรรมาธิการการศาสนาศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร และคณะ ได้หารือกับตัวแทนหน่วยงานราชการ ประกอบด้วย ตัวแทน วัฒนธรรมจังหวัด ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ ได้เข้าหารือประเด็นของการร้องเรียนกรณีการท่าอากาศยาน มีคำสั่งห้ามปล่อยโคมลอยช่วงเทศกาลลอยกระทงและปีใหม่ 

ทั้งนี้นายวรวิทย์ วดีอินทวงศ์ ผู้ประกอบนำเที่ยวภาคเหนือตอนบน และรองประธานชมรมโคมลอยและบอกไฟล้านลานนา ผู้ร้องเรียนได้กล่าวกับที่ประชุมว่า จากการที่มีกฎหมายและคำสั่งห้ามปล่อยโคมลอยอันเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันสำคัญของชาวล้านนา ส่งผลกระทบให้จารีตประเพณีของชาวล้านนาได้หายไป มีผลกับการท่องเที่ยวที่ชาวต่างพื้นที่รวมถึงชาวต่างชาติที่จะมาชมการปล่อยโคมลอยอันยิ่งใหญ่ จนเป็นสีสันของชาวล้านนาและเป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติเห็นแล้วจะต้องมุ่งมาที่ประเทศไทยโดยปักหมุดที่ล้านนาในเทศกาลสำคัญ ที่ผ่านมาตนในฐานะผู้ประกอบการท่องเที่ยวถูกยกเลิกการท่องเที่ยวจากต่างชาติ ด้วยเหตุผลเพียงว่า “ห้ามปล่อยโคมลอย” ตนจึงได้ร้องขอให้ทาง กมธ. ได้หาทางให้ชาวล้านนาได้กลับมาสามารถปล่อยโคมลอยอันเป็นจารีตประเพณีของชาวล้านนาได้ดังเดิม

ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองคณะกรรมาธิการการศาสนาศิลปะ และวัฒนธรรม เปิดเผยว่า จากที่ตนเป็นชาวเชียงใหม่ เป็นชาวล้านนา เคยบวชเรียนมากว่า 19 ปี เป็นอดีตพระธรรมทูต ได้เห็นความสำคัญของประเพณีวัฒนธรรม ที่ชาวล้านนาเรียกง่ายๆ ว่า จารีตประเพณี สำหรับประเพณีการปล่อยโคมลอย ชาวล้านนาถือปฏิบัติมานับพันปีแต่การบินเพิ่งจะมีไม่กี่สิบปีมานี้ ในอดีตในวันเดือนเพ็ญเดือนสิบสอง หรือวันลอยกระทง ชาวล้านนาจะเข้าวัดทำบุญ ตัดเล็บตัดผม และนำไปห้อยกับโคมลอยที่จะปล่อยสู่ท้องฟ้า ถือว่าเป็นการปล่อยเคราะห์โดยให้โคมลอยนำสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากตัวเอง และจะถือว่าได้เริ่มสิ่งใหม่ๆ ภายหลังได้ติดไฟให้สวยงามเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและมีประเพณีปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่และวันเค้าดาวส์เพิ่มเติม 

อีกทั้งการจุดบอกไฟหรือเรียกว่าดอกไม้ไฟทั้งประเภทบนดินและสู่ฟ้า แต่เดิมชาวบ้านจะเตรียมวัตถุดิบที่จะนำไปทำบอกไฟมาตำรวมกันและมีการตระเตรียมก่อนวันลอยกระทงและบางหมู่บ้านอาจมาลงแขกช่วยกันทำบอกไฟ ทำโคมลอย ทำสะตวง (เครื่องบูชาให้ผู้เสียชีวิต) จนเป็นวิถีชีวิตของชาวล้านนามาแต่โบราณ ภายหลังเมื่อมีการประกาศห้ามปล่อยโคมลอย ตนสังเกตเห็นว่าความเชื่อมโยงระหว่างชาวล้านนากับประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมหายไป ประชาชนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่เริ่มมีระยะห่างกันมากขึ้น ทั้งนี้หลังจากที่หารือที่ประชุมทุกภาคส่วนเห็นด้วยกับการให้ปล่อยโคมลอยให้กลับมาปล่อยได้ดังเดิม แต่ติดที่การที่มีกฎหมายบางข้อยังไม่เอื้อ ซึ่งตนจะนำเสนอสภาเพื่อนำไปสู่การแก้กฎหมาย ให้ชาวล้านนากลับมาปล่อยโคมลอยได้ดังเดิม

ดร.ณพลเดช มณีลังกา อาจารย์พิเศษประจำวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง เผยว่าด้วยตนเองเป็นนักบิน สำหรับข้อความปลอดภัยในการบินถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการบิน โดยปกติจะมีข้อปฏิบัติของนักบินที่จะต้องรับฟัง Air Traffic Control หรือ การควบคุมการจราจรทางอากาศ ซึ่งมีหลายสถานี ภายหลังนอกจากเครื่องบินที่ใช้พื้นที่ทางอากาศในการสัญจรแล้ว ยังมีโดรนหรืออากาศยานไร้คนขับ ปัจจุบันต่างชาติได้ให้การยอมรับ ว่าสามารถเดินทางในอากาศได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ภายหลังประเทศไทยก็มีการยอมรับที่ให้โดรนสามารถบินสู่อากาศได้ โดยมีทั้งประเภทโดรนที่จะต้องขึ้นทะเบียนและโดรนที่ไม่ต้องขึ้นทะเบียน สำหรับการปล่อยโคมลอยขึ้นสู่อากาศ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยและการท่าอากาศยานไทย อาจเข้ามาช่วยหาทางออกที่จะนำไปสู่การยอมรับของ ICAO หรือ FAA รวมถึงการบินนานาชาติ ซึ่งตนเชื่อว่ามีทางออกสำหรับทุกฝ่ายเพียงหันหน้าเข้ามาหารือกันและช่วยกันผลักดันให้วิวัฒนาการสมัยใหม่ยังอยู่คงคู่กับจารีตประเพณีวัฒนธรรมดังเดิมของชาวล้านนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...