วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2564

คนศรีสะเกษทั้ง"ขรก.-นักการเมือง" ดวงตาเห็น"โคกหนองนาสันติศึกษาโมเดล"

 


เมื่อวันที่ 4  มีนาคม 2564    พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ได้โพสต์ข้อความเผ่นเฟซบุ๊ก "Hansa Dhammahaso"ความว่า  "รวมพลคนหัวใจพุทธเกษตรโคกหนองนา พบหน้าค่าตาโดยมิได้นัดหมาย แม้จะมิได้นัดหมายกันล่วงหน้า แต่คนที่รักโคกหนองนามักจะแวะเวียนผ่านมาสนทนาธรรมเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาโคกหนองนาและธนาคารน้ำอยู่เนืองนิจสม่ำเสมอมิขาดสาย

วันนี้นายเทเวศน์ มีศรี นายอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ชักชวนคุณนายทำโคกหนองนาก่อนวัยเกษียณ ด้วยหวังว่าจะได้พักผ่อนใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติด้วยความรื่นรมย์ จึงมาเยี่ยมชมแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปต่อยอด 

ในขณะเดียวกัน ผู้นำด้านการศึกษา ทั้งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกู่ และผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะ ได้เกาะมือกันมาศึกษาเรียนรู้ พร้อมตัดสินใจขออนุญาตแม่บ้านขุดโคกหนองนาบนพื้นที่ 5 ไร่ก่อนวัยเกษียณ 

ชุดสุดท้าย คือ ทีมนักการเมือง นำโดย อดีต ส.ว.สุนีย์ อินฉัตร อดีต ส.ส.มาลินี อินฉัตร และ ส.จ.จิว ได้ชักชวนกันมาเยี่ยมชม(โคกหนองนา สันติศึกษาโมเดล วัดบ้านท่าคอยนาง ต.สวาย อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ)  และในที่สุดได้ตัดสินใจใช้พื้นที่ 20 ไร่ ในอำเภอปรางค์กู่ทำโคกหนองนาให้เป็นหนึ่งในศูนย์เรียนรู้ในจังหวัดศรีสะเกษ

ไม่ต้องหลับตาจินตนาการ เราก็พอจะเดาออกว่า ต่อไปในพื้นที่แห่งนี้ จะมีต้นไม้เพิ่มกี่ต้น มีธนาคารน้ำกี่แห่ง มีความมั่นคงทางอาหารอีกเท่าไร มีคนจำนวนมากมายอีกเท่าใดจะได้ศึกษาเรียนรู้และขยายผล

 ไม่ต้องรอน้ำฝน ไม่ต้องรอแหล่งชลประทาน ไม่ต้องรอข้าวปลาอาหาร ไม่ต้องรอป่าไม้ เพราะเราสามารถกำหนดชาตาชีวิตของเราเอง โเยการเป็นเจ้าของชลประทานขนาดย่อม เป็นเจ้าอาหาร ป่าไม้ ยารักษาโรค พร้อมเครื่องนุ่งห่ม อันเกิดจากโครงการพุทธเกษตรโคกหนองนาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน"

ก่อนหน้านี้ได้โพสต์ว่า เปลี่ยน!!! เพราะตื่นรู้ เปลี่ยน!!! เพราะโควิด


โควิดแพร่ระบาดในเมืองไทย 2 รอบ รอบแรกเริ่มต้นราวเดือนมีนาคม  2563 และ รอบสองเดือนธันวาคม 2563 จำได้ว่ารอบแรกนั้นเกิดการ Lockdown ประเทศ รวมถึงปิดสถานที่ต่างๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ด้วย ส่วนรอบสองแม้จะไม่ได้ปิดทั้งหมด แต่ก็มีการเรียนการสอนออนไลน์ตั้งแต่แต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา

โควิดทั้งสองรอบได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนการสอนและการทำงาน และการเปลี่ยนเชิงกายภาพของวิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ มจร โดย IBSC ได้จัดกิจกรรมปลูกเปลี่ยนโลกในวันที่ 15 มีนาคม 2563 และได้ดำเนินโครงการเป็นระยะเวลา 10 เดือน ตั้งแต่มีนาคมจนถึงธันวาคม 

จนบัดนี้ เราจึงได้เห็นการเปลี่ยนของสวนสันติภาพ ณ อุทยานแห่งปัญญา ที่ปรากฏภาพแห่งความร่มเย็น ความเขียวสดของแมกไม้ในเวลากลางวัน ดอกบัวหลากสีที่บานสะพรั่ง หมู่ปลาคาร์ฟหลากสีแหวกว่ายไปมา ความสว่างไสวของโซลาเซลล์ในเวลากลางคืน ภายใต้การจัดวางผังของพื้นที่อย่างเป็นระบบระเบียบ

 พุทธองค์ตรัสให้คติเตือนใจผู้คนที่กำลังใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทอยู่เสมอว่า 

อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ            สุตฺเตสุ พหุชาคโร

อพลสฺสํว สีฆสฺโส                หิตฺวา ยาติ สุเมธโส.

คนมีปัญญาดี ไม่ประมาทในเมื่อผู้อื่นประมาท มักตื่นในเมื่อผู้อื่นหลับ ย่อมละทิ้ง (ผู้อื่น) เหมือนม้าฝีเท้าเร็ว ทิ้งม้าไม่มีกำลังไป ฉะนั้น. (ขุ. ธ. ๒๕/๑๘,๑๙)

ความตื่นตัว และมีปัญญารู้เท่าทันความเป็นไปของกระแสโลกและกระแสธรรมอย่างรอบด้าน ย่อมเป็นตัวแปรสำคัญที่จะสามารถขับเคลื่อนระบบและกลไกในการทำงานเพื่อตอบโจทย์สังคมโลกและสิ่งแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้" 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...