วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2564

"วิสาร"ทุ่มกำลังผันเมืองเชียงราย สู่เมืองพุทธอารยธรรมล้านนาโบราณ


วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2564 ที่วัดทุ่งโป่ง(ร้าง) หมู่ที่ 7 บ้านโละป่าตุ้ม ตำบลดอยลาน อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นหนังสือต่อ ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร และคณะ ในกรณีวัดทุ่งโป่ง (ร้าง) ที่มีหลักฐานทางโบราณคดีว่ามีเคยเป็นวัดมาก่อน เช่น โบราณวัตถุ ชากอิฐ สถูป ฐานเจดีย์ ที่ค้นพบในวัดและบริเวณโดยรอบ โดยที่ผ่านมายังไม่ได้ขึ้นทะเบียนวัดร้างจึงเป็นวัดตกสำรวจ ทั้งนี้ประชาชนในพื้นที่มีความประสงค์ให้ ยกวัดให้เป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษา

นายวิสาร กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่อารยธรรมเก่าแก่โบราณ มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาก่อนสมัยยุคเชียงแสน เป็นดินแดนอันมีพระพุทธศาสนารุ่งเรืองอย่างมากในอดีต หากมาย้อนดูประวัติศาสตร์ แม้พระแก้วมรกตก็มีประวัติศาสตร์ว่า ในยามสงครามพระแก้วมรกตอันเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองเชียงรายเป็นพระเก่าแก่และทรงคุณค่า จึงมีผู้นำพระแก้วมรกตหุ้มด้วยปูน นำไปซ่อนในเจดีย์ภายในวัดพระแก้ว (เชียงราย) เพื่อให้รอดพ้นจากอริราชศัตรู เมื่อเวลาหลังสงครามเจดีย์ทรุดโทรมด้วยกาลเวลา ทำให้น้ำที่หยดจากธรรมชาติหยดลงที่ปลายพระนาสิก ของพระแก้วมรกต ทำให้มีผู้พบเห็นสีเขียวคล้ายหยก 

จึงได้กะเทาะปูนปั้นที่ปิดภายนอกออกทราบว่าเป็นพระแก้วมรกต ที่มีความงดงามและมีความศักดิ์สิทธิ์มีค่าควรเมือง มีผลให้ภายหลังเมืองเชียงใหม่ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้ได้อัญเชิญพระแก้วไปประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งในสมัยนั้นชื่อว่าพระแก้วเขียว 


ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่มีพระพุทธรูปที่สำคัญคือพระแก้วเขียว พระแก้วขาว และพระพุทธสิหิงค์ หลังจากนั้นพระแก้วมรกต ได้ถูกอัญเชิญโดยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช  อันเป็นพระญาติกับเชียงใหม่... นำไปประดิษฐานที่ประเทศลาว ก่อนที่จะถูกย้ายมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม.. ตามที่เราได้เห็นในปัจจุบัน

นายวิสาร กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์และเป็นเมืองที่มีความรุ่งเรืองในอดีต ดังมีคำที่เป็นส่วนประกอบของหมู่บ้านตำบล อำเภอ จังหวัด เช่น เวียง, ชัย, เชียง, แม่, ทุ่ง เป็นต้น ทำให้อดีตมีวัดวาอารามมาก ขณะเดียวกันเวลาผ่านมายาวนานทำให้วัดเก่าแก่ที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนในจังหวัดเชียงรายยังมีอีกมาก ตนได้เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันวัดที่ตกสำรวจ วัดที่ติดขัดปัญหาต่างๆ เพื่อให้สามารถยกฐานะเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามหลักพระธรรมวินัย เพื่อฟื้นฟูจังหวัดเชียงราย สู่เมืองแห่งอารยธรรมเมืองแห่งศิลปะและพระพุทธศาสนา รวมถึงฟื้นฟูขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมรวมถึงภาษา ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของชาวล้านนานำไปสู่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของภูมิภาค และการพักผ่อนหย่อนใจของผู้มาเยือน ที่ต้องการมาชมความน่ารักของชาวเชียงราย และความขลังของมนต์เสน่ห์ของล้านนาโบราณ

1 ความคิดเห็น:

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...