วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564

กมธ.ศาสนาสภาฯหนุนคณะสงฆ์เชียงราย ทุ่มพันล้านพัฒนาพุทธมณฑลแบบล้านนา



คณะสงฆ์เชียงรายเตรียมทุ่ม 1,000 ล้าน พัฒนาพุทธมณฑลตามรูปแบบล้านนา  หลังกมธ.ศาสนาผลักดันให้ได้ที่ดินกลับคืนมาเป็นผลสำเร็จหลังจากมีปัญหารื้อรังมากว่า 50 ปี  

วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม 2564 ที่พุทธมณฑลสมโภช 750 ปี เมืองเชียงราย อ.แม่ลาว จ.เชียงราย พระราชรัตนมุนี ผศ. ดร. เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย วัดพระแก้ว พระอารามหลวง พระพุทธิญาณมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย วัดพระธาตุผาเงา นายคฑาสิทธิ์ เนื่องหล้า นายอำเภอแม่ลาว นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย นางเกลียวพรรณ์ ขำโนนงิ้ว ผอ.สนง.พระพุทธฯ เชียงราย และคณะ 

ได้ให้การต้อนรับ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ในคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฏร ประกอบด้วย ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานคณะกรรมาธิการฯ ดร.นพดล แก้วสุพัฒน์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ รวมถึงคณะอนุกรรมาธิการฯ ประกอบด้วย พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร) ,รศ. นายสัมพันธ์ เสริมชีพ อนุกรรมาธิการ ดร.ณพลเดช มณีลังกา ดร.บำรุง พันธุ์อุบล นายวัลลภ รุจิรากร ว่าที่ร้อยตรี สิริชัย ตุลยสุข อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านศิลปะและวัฒนธรรม นายประกรณ์เกียรติ ญาณหาร เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ นางภิรมย์ เจริญรุ่ง ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานคณะกรรมาธิการฯ นายภีม บุตรเพ็ง นิติกรชำนาญการพิเศษ นายมิตร โพติยะ นิติกรชำนาญการ ได้เข้าร่วมประชุมกับ นางสาวละออง ติยะไพรัช ส.ส.เชียงราย

พระราชรัตนมุนี กล่าวว่า หลังจากที่ได้พื้นที่พุทธมณฑลเชียงราย อาตมาก็ยังดำเนินตามนโยบายหลวงพ่อพระธรรมราชานุวัตร  อดีตเจ้าคณะภาค 6 และ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระแก้ว (พระอารามหลวง) ขณะนี้ตนได้แต่งตั้งให้พระพุทธิญาณมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เป็นผู้บริหารพุทธมณฑลเชียงราย โดยได้วางแผนโดยรวมโดยมีสำนักงานโยธาธิการมาช่วยออกแบบ ตัวอาคารต่างๆ จะออกแบบตามรูปแบบล้านนา ส่วนฐานพระพุทธรูปจะสร้างเป็นที่อบรมคณะสงฆ์และสามเณรจัดพื้นที่ให้เป็นรั้วรอบขอบชิด ต่อไปนี้มีวิหารหรือวิหารหลวง พร้อมทั้งสร้างองค์พระเจดีย์ ที่ยึดโยงกับพระธาตุ 9 จ๋อม

พระพุทธิญาณมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า งานของพุทธมณฑลมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ได้ความชัดเจนของเอกสารสิทธิ์ที่ดินอย่างถูกต้อง ขณะนี้ได้อาศัยโยธาและผังเมืองช่วยออกแบบให้ตรงกับหลักการของคณะบริหารพุทธมณฑลเชียงราย โดยได้ปรับเปลี่ยนเพื่อเป็นไปตามแผนและรูปแบบในการพัฒนาทางใจ สร้างคนให้เป็นผู้เป็นคน ทำให้คนล้านนาเป็นผู้มีศีลมีธรรมคู่กับอารยธรรมล้านนาคู่กับภูมิปัญญาท้องถิ่นผสานกับความรู้ในโลกยุค 5 G โดยแผนเบื้องต้นได้รับข้อมูลจากสำนักพุทธเชียงรายคาดว่าจะใช้งบประมาณเบื้องต้น 1,000 ล้าน แต่คงต้องทยอยสร้างเป็นขั้นเป็นลำดับ เมื่อพัฒนาสถานที่แล้วก็จะดำเนินการพัฒนาเรื่องคน เป็นที่บ่มเพาะศีลธรรมให้กับประชาชนชาวเชียงรายและทั่วประเทศ และเป็นอีกส่วนหนึ่งในการพัฒนาการท่องเที่ยวต่อไป

ในที่ประชุม ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล เผยว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้มาถึงจังหวัดเชียงรายในวานนี้เพื่อติดตามความคืบหน้าในหลายประการ จากวานนี้ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนกว่าสิบเรื่องเพิ่มเติมเข้ามา ก็จะนำไปศึกษาและหาทางออกร่วมกันในชั้นกรรมาธิการ ทั้งนี้คณะกรรมาธิการได้มีมติเพื่อติดตามความคืบหน้าของพุทธมณฑลเชียงราย หลังจากที่ประสบความสำเร็จในเอกสารสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนการพัฒนาจะต้องมีการรวมพลังการกันในจังหวัด ด้วยพุทธมณฑลไม่ได้เป็นของคนใดคนหนึ่ง จะต้องช่วยเหลือกันทั้งภาครัฐและเอกชน ส่วนภาคประชาชนอาจจะช่วยกันทุกหมู่บ้านทุกตำบล ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ช่วยเหลือกันเพื่อดำเนินการในการสร้างถาวรวัตถุและจะส่งผลในการพัฒนาคนในขั้นต่อมา และจะไปได้ด้วยดี ตนพร้อมที่จะประสานทางคณะกรรมาธิการตั้งคณะผ้าป่ามาสนับสนุนอีกทาง

นายคฑาสิทธิ์ เผยว่า ถือเป็นบุญบารมีของทุกท่าน และถือเป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึก ที่ที่ดินของพุทธมณฑลเชียงราย ค้างคามากว่า 50 ปี จนสามารถได้เอกสารสิทธิ์จากกระทรวงมหาดไทยว่าพุทธมณฑลสามารถใช้ที่ดินได้อย่างถูกต้อง ซึ่งต้องขอบพระคุณทุกฝ่ายที่ทำงานกันอย่างหนักเพื่อให้ได้ที่ดินพุทธมณฑลเชียงรายขึ้นมา หลังจากนี้ทางคณะสงฆ์ก็สามารถทำงานได้เต็มที่

นางเกลียวพรรณ์ กล่าวต่ออีกว่า หลังจากนี้ก็จะผลักดันงบประมาณในทุกมิติ หลังจากที่ทราบงบประมาณที่ได้จากการออกแบบจากสำนักโยธาและผังเมือง เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณเริ่มต้น 1,000 ล้านบาท แต่จะมีการทำงานเป็นขั้นเป็นเป็นตอน ซึ่งประกอบด้วยงบการจัดการพื้นที่ (landscape) อาคารสถานที่ องค์พระ พระเจดีย์ วิหารหลวง ที่พัก ที่ฝึกอบรม ทั้งนี้คงจะต้องมีความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน เพื่อดำเนินการต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...