วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2567

กรมการศาสนาหนุน "ศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิด" ปฏิบัติตามหลักศาสนา สืบสานพหุวัฒนธรรม สร้างสันติสุขในสังคม

 

ศาสนาอิสลามกำหนดให้มุสลิมทุกคนมีหน้าที่ต้องศึกษาวิชาศาสนาอิสลามระดับพื้นฐาน (ฟัรฎูอัยน์) จึงเป็นหน้าที่และภาระของผู้ปกครองและพ่อแม่ทุกคนที่จะต้องขวนขวายให้ลูกหลานได้รับการศึกษาวิชาศาสนาภาคบังคับดังกล่าว และด้วยหลักการนี้เองทำให้กรมการศาสนาได้ส่งเสริมการจัดการศึกษาด้านศาสนาอิสลามและคุณธรรมจริยธรรมให้แก่เด็กและเยาวชนมุสลิมในประเทศไทย ภายใต้โครงการ “ศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิด” หรือ “ศอม.”

นายชัยพล สุขเอี่ยม เปิดเผยว่า กรมการศาสนา ได้ให้การส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาอบรมภายใต้โครงการศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิด (ศอม.) ตามภารกิจส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้ศึกษาหลักธรรมทางศาสนาผ่านศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิด ภายใต้ระเบียบกรมการศาสนาว่าด้วยศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิด พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นแนวทางการดำเนินงาน ในปัจจุบันมีศูนย์อบรมฯ ที่ได้รับการอนุญาตจัดตั้ง จากกรมการศาสนาในจังหวัดต่าง ๆ ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๑ - เดือนตุลาคม ๒๕๖๗ ทั้งในส่วนกลาง (กรุงเทพมหานคร) และส่วนภูมิภาค รวมจำนวน ๑,๐๔๑ ศูนย์ ใน ๓๖ จังหวัด

 การจัดการศึกษาด้านศาสนาอิสลามและคุณธรรมจริยธรรมให้แก่เด็กและเยาวชนมุสลิมผ่านศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิดดังกล่าวนั้น ใช้หลักสูตรซึ่งที่ผ่านการรับรองโดยสมาคมคุรุสัมพันธ์อิสลามแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหลักสูตรอิสลามศึกษาอื่นๆ ที่ได้รับการรับรองโดยคณะกรรมการกลาง แต่ศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิด ส่วนใหญ่จะใช้หลักสูตรของสมาคมคุรุสัมพันธ์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาอิสลาม รวมทั้งการวัดผลและประเมินผลนักเรียน และครูผู้สอนอิสลามในประเทศไทย โดยได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรให้มีความเหมาะสม เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สังกัดเขตการศึกษาและหน่วยสอบทั่วประเทศ ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่อบรมบ่มเพาะเยาวชนให้เข้าถึงหลักศาสนบัญญัติ ขัดเกลาจิตใจเยาวชนให้มีความรู้คู่คุณธรรม ซึ่งยึดถือแนวปฏิบัติให้เรียนรู้ได้รวดเร็ว และปฏิบัติได้ถูกต้อง 

โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาภาคสามัญ ในหลักสูตรนี้มุ่งเน้นการเรียนรู้หลักศาสนาที่จำเป็น เช่น กฎเกณฑ์ต่างๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้วิธีการอ่าน ท่องจำ และทำความเข้าใจคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญและเป็นธรรมนูญชีวิตของผู้นับถือศาสนาอิสลาม การศึกษาคำสอนและแบบอย่างการดำเนินชีวิตของศาสดามูฮัมหมัด การศึกษา วิธีการประกอบศาสนกิจ ประวัติศาสตร์อิสลาม รวมถึงการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีงามตามหลักศาสนาอิสลาม

นายชัยพล สุขเอี่ยม กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิดมีการบริหารงานโดยคณะกรรมการศูนย์ฯ อิหม่ามมัสยิดเป็นประธานกรรมการศูนย์โดยตำแหน่ง มีการจัดการเรียนการสอนโดยผู้สอนที่มีความรู้ความสามารถทั้งในระดับสามัญ และด้านศาสนาอิสลามตามหลักสูตรอิสลามศึกษาตอนกลาง (มุตาวัซซีเตาะฮ์ หรือเอียะดาดีย์) ขึ้นไป มีผู้เรียนอายุตั้งแต่ ๖ - ๑๒ ปี ซึ่งการเรียนการสอนจะจัดขึ้นในช่วงเย็นของวันธรรมดา หรือในวันเสาร์ - อาทิตย์ช่วงกลางวัน ซึ่งศูนย์ฯ จะมีการจัดการเรียนการสอน

ไม่น้อยกว่าปีละ 240 ชั่วโมง เป็นการให้การศึกษาที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ในหลักการศาสนาอิสลามขั้นพื้นฐาน และหลักคุณธรรมจริยธรรม เพื่อยึดมั่นในหลักศรัทธา การปฏิบัติศาสนกิจ การปลูกฝังคุณธรรม

เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข ปัจจุบันนอกจากศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิดจะเป็นสถานที่ในการจัดการศึกษาให้แก่เยาวชนมุสลิมแล้ว ยังเป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆของชุมชน ไม่มีการแบ่งแยกศาสนา เป็นการบูรณาการร่วมกับโรงเรียนและชุมชน รวมทั้งหน่วยงาน องค์กรในเขตพื้นที่โดยมีมัสยิดเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรม โดยการจัดให้ใช้พื้นที่ในศาสนสถานเป็นช่องทางส่งเสริมการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน โดยไม่แบ่งแยกศาสนาสามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สนับสนุนการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจอันดีให้ศาสนิกชนเกิดความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ และศิลปวัฒนธรรมของตนเองในสังคมพหุวัฒนธรรม ตลอดจนสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามทางศาสนา ที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนผ่านวัฒนธรรมที่ดีงามของไทยให้อยู่คู่กับชุมชนสืบไป

อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวทิ้งท้ายไปว่า กรมการศาสนาในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิด โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ ได้อุดหนุนงบประมาณในด้านค่าตอบแทนครูผู้สอนตามเกณฑ์ และค่าบริหารจัดการศูนย์ ทั้งในด้านวัสดุ อุปกรณ์ในการจัดการเรียน ค่าบำรุงรักษาศูนย์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งร่วมกับสมาคมคุรุสัมพันธ์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินการจัดอบรมพัฒนาครูผู้สอนและประเมินผลผู้เรียนประจำศูนย์อบรมศาสนาอิสลาม และจริยธรรมประจำมัสยิดเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปีนี้กรมการศาสนาจะหารือร่วมกับสมาคมคุรุสัมพันธ์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือก “ศอม.ต้นแบบ” เพื่อใช้เป็นศูนย์ฯ ต้นแบบจากทั่วประเทศ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้ศูนย์ดังกล่าวพัฒนาเยาวชนให้มีคุณธรรมจริยธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ดำรงตนเป็นศาสนิกชนและพลเมืองที่ดีตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสืบต่อไป 

  "นอกจากนี้กรมการศาสนายังสนับสนุนให้เกิดการใช้พื้นที่ศาสนสถานเพื่อบูรณาการการยกระดับ Soft Power ของไทยด้วยการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงวัฒนธรรม “วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ”เพื่อขับเคลื่อน Soft Power เชิงวัฒนธรรมในมิติทางศาสนา โดยการส่งเสริมและยกระดับ ภาพยนตร์ ศิลปะพื้นถิ่น หนังสือ อาหารไทย/อาหารถิ่น เทศกาลทางศาสนา การท่องเที่ยว กีฬา และการแต่งกาย เพื่อให้ "ศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิด" ปฏิบัติตามหลักศาสนา สืบสานพหุวัฒนธรรม สร้างสันติสุขในสังคม" เป็นไปตามนโยบาย ของกระทรวงวัฒนธรรม" อธิบดีกรมการศาสนา กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"วราวุธ" เผย พม.จับมือ พศ.- กรมการศาสนา ตั้งศูนย์คุ้มครองเด็กและสามเณร สร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชนหากถูกละเมิด

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567  นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมยุษย์ (รมว.พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเด็ก ...