วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ใช้AIช่วยรายงานข่าวกึ่งอัตโนมัติ


เว็บไซต์ของสำนักข่าวบีบีซี (BBC) ได้ต่อยอดการใช้งานแพลต ฟอร์มการสร้างภาษาธรรมชาติ (Natural Language Generation หรือ NLG) ของ Arria ในการผลิตข่าวโดยอัตโนมัติเพื่อรายงานผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ของสหราชอาณาจักรภายใต้โครงการ Semi-Automatic Local Content (Salco)
          Arria NLG คือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่แปลงข้อมูลเป็นภาษาเขียนหรือภาษาพูดซึ่งบอกรายละเอียดชัดเจนก่อน การเลือกตั้งครั้งนี้นักข่าวของบีบีซีได้สร้าง แม่แบบของข่าวจำนวนมากภายใต้โครงการ Salco โดยใช้ Arria NLG Studio ซึ่งครอบคลุมทุกความเป็นไปได้ของผลการ เลือกตั้งหลังจากปิดคูหาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ก่อนจะประมวลผลการเลือกตั้งโดยอัตโนมัติโดยใช้ Arria ในการผลิตเสียงบรรยายและบทความสำหรับทุกเขตการเลือกตั้งซึ่งได้รับการตรวจทานและแก้ไขโดยนักข่าวของบีบีซีก่อนการเผยแพร่
          สำนักข่าวบีบีซีได้ตีพิมพ์ข่าวท้องถิ่นจำนวน 689 บทความ โดยใช้เทคโนโลยี Arria NLG ประกอบด้วยคำทั้งหมด 100,000 คำในเวลาเพียง 10 ชั่วโมง เพื่อรายงานผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์สำหรับเขตการเลือกตั้งทั้งหมด 690 เขตความรวดเร็วและความแม่นยำของเทคโนโลยีดังกล่าวในการผลิตบทความข่าวของแต่ละท้องถิ่นโดยอัตโนมัตินั้นช่วยให้บรรณาธิการและนักข่าวที่ต้องทำงานให้ทันเดดไลน์สามารถยกระดับขีดความสามารถในการผลิตข่าวและทำให้ผลิตข่าวสู่ตลาดท้องถิ่นต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

          ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 23 ธ.ค. 2562

สเต็ปสู่ “ผู้ช่วยเสมือน” “Thai NLP” AI อัจฉริยะภาษาไทย

          ปัญญาประดิษฐ์ : AI ภาษาไทยที่สามารถประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing : NLP) ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เมื่อธนาคารกสิกรไทยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) พัฒนา “Thai NLP” นวัตกรรมการประมวลผลภาษาไทย ซึ่งเป็นการสร้างความสามารถให้คอมพิวเตอร์ได้เรียนรู้และวิเคราะห์ภาษาที่ซับซ้อนต่าง ๆ ได้ใกล้เคียงกับมนุษย์ ตั้งแต่ระดับคำ ระดับประโยค จนถึงระดับข้อความที่ใช้สื่อสารกัน
          “ขัตติยา อินทรวิชัย” กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้นำ Thai NLP มาใช้เพื่อสร้างความสามารถให้คอมพิวเตอร์ทำความเข้าใจข้อความที่ลูกค้าพิมพ์เข้ามาในระบบต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้การตอบคำถามลูกค้าด้วยแชตบอตบนช่องทางโซเชียลมีเดียให้มีความถูกต้องแม่นยำและรวดเร็วได้มากยิ่งขึ้น ทั้งการประมวลผลเพื่อทำความเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง (customer insight) จากการเก็บความเห็นลูกค้า ซึ่งแต่ก่อนธนาคารต้องจ้างบริษัทภายนอกดำเนินการ และมีค่าใช้จ่ายสูงหลายล้านบาท ทั้งยังได้ความเห็นลูกค้าในปริมาณไม่มาก แต่ปัจจุบันธนาคารสามารถเก็บความเห็นลูกค้าได้ครอบคลุมทุกช่องทางของธนาคารอย่างรวดเร็ว นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างตรงเป้าหมาย
          “Thai NLP ธนาคารได้ทดลองใช้งานระยะเวลาหนึ่งแล้ว จึงได้เห็นความก้าวหน้าของความสามารถในการแปลความหมายของภาษาไทยในเชิงลึกได้แม่นยำมากขึ้น น่าจะเป็นต้นแบบในการนำไปพัฒนาต่อยอดใช้งานสำหรับธุรกิจธนาคารและองค์กรอื่น ๆ ต่อไป”
          ทั้งยังสามารถต่อยอดให้ Thai NLP พัฒนาให้คอมพิวเตอร์ฉลาดได้ จนเป็น virtual assistant ผู้ช่วยเสมือนที่จะคอยช่วยเหลือลูกค้า
          รวมถึงช่วยวิเคราะห์และจัดการเอกสารและองค์ความรู้ของธนาคาร ช่วยคัดกรองผู้สมัครเข้าทำงานกับธนาคาร สรุปเนื้อหาสำคัญที่จำเป็นต่อการอนุมัติสินเชื่อออกมาจากเอกสารประกอบการขอสินเชื่อ รวมถึงยังสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบเอกสารสัญญาและธุรกรรมต่าง ๆ ได้ในอนาคต
          “ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย” ผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า กว่า 30 ปีของเนคเทคได้ให้ความสำคัญและพัฒนางานวิจัยด้าน Thai NLP มาตลอด การสร้างความร่วมมือในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญระหว่างองค์กรภาคธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐในการสร้างความเข้มแข็งของ Thai NLP ให้เป็นนวัตกรรมที่ทันต่อยุคสมัย AI ในปัจจุบัน
          ล่าสุดเนคเทค-สวทช.ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มบริการ AI ในชื่อว่า AI FOR THAI รองรับการประมวลผลภาษาไทย เสียง และรูปภาพ อาทิ การวิเคราะห์ความคิดเห็น (sentiment analysis) การสร้างแชตบอต (chatbot) การแปลเสียงพูดให้เป็นข้อความ (speech to text) การแปลข้อความให้เป็นเสียงพูด (text to speech) การวิเคราะห์ภาพ ใบหน้าและวัตถุ (face & object recognition) นักพัฒนาโปรแกรมสามารถเข้ามาทดลองใช้งานและร่วมพัฒนาบริการใหม่ ๆ เพื่อมาวางบนแพลตฟอร์ม AI FOR THAI ต่อไปได้
          “องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ AI ที่ทาง KBTG วิจัยพัฒนาร่วมกับเนคเทค-สวทช. ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้ประโยชน์สาธารณะโดยผ่านแพลตฟอร์ม AI FOR THAI เพื่อให้ AI ถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศไทยต่อไป”

          ที่มา: www.prachachat.net
ไมโครซอฟท์ผนึกทุกภาคส่วน มุ่งสร้างอนาคตไทย ยุคAI


          ไมโครซอฟท์ เดินหน้าสร้างอนาคตยุค AI เพื่อคนไทย จับมือทุกภาคส่วน วางรากฐานการพัฒนา แนวทางการปฏิรูป และการเพิ่มทักษะให้บุคลากรทุกระดับ เปิดโอกาสให้กับทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล
          นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าจากผลสำรวจช่วงต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ระบุว่ามีองค์กรในไทยเพียง 26% เท่านั้น ที่ได้นำ AI เข้ามาเป็นองค์ประกอบหลักในกลยุทธ์ทางธุรกิจสำหรับอนาคต ไมโครซอฟท์จึงได้ลงนามในความร่วมมือกับหน่วยงานมากมาย เพื่อปูทางไปสู่ก้าวต่อไปที่แข็งแกร่ง สมบูรณ์ และสมดุล ในการพัฒนาเชิงนวัตกรรมดิจิทัลของไทยในปี 2563 ไม่ว่าจะเป็นในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม การวิจัยและพัฒนา การศึกษา หรือสังคม
          ทั้งนี้เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) เพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา AI ขึ้นในประเทศไทย ภายใต้จุดมุ่งหมายสูงสุดในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม โดยในระยะแรก ศูนย์วิจัยแห่งนี้จะมุ่งเน้นไปที่การยกระดับภาคการ เกษตรและการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ให้เป็นรูปธรรม
          "การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ให้กลายเป็นองค์ประกอบที่สร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเต็มที่นั้น ต้องอาศัยความเข้าใจที่ลึกซึ้งในทุกระดับ การจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา AI แห่งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นช่องทางให้ไมโครซอฟท์สามารถนำแนวทางปฏิบัติที่ผ่านบทพิสูจน์ความสำเร็จบนเวทีโลกมาแบ่งปันให้นักคิดไทยได้นำไปปรับใช้เท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีที่เชื่อมโยงทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้เชี่ยวชาญในวงการเทคโนโลยี สถาบันการศึกษา หรือแม้แต่นักลงทุน ให้ผสานกันเป็นระบบนิเวศเชิงนวัตกรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น"
          ศูนย์วิจัยและพัฒนา AI นี้ จะประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1.National AI Platform บนแพลตฟอร์มคลาวด์ ไมโครซอฟท์ อาชัวร์ ที่เป็นรากฐานสำหรับการขับเคลื่อนนวัตกรรม บ่มเพาะธุรกิจสตาร์ตอัพ และสนับสนุนงานวิจัย AI  2. Innovation Hub ศูนย์กลางการพัฒนาโครงการเชิงนวัตกรรมให้ก้าวจากแนวคิดสู่ความเป็นจริง เฟ้นหาจุดตั้งต้นที่เหมาะสมในการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถก้าวข้ามความท้าทายที่คนไทยยังต้องเผชิญ และให้การสนับสนุนในการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ 3. Education & Talent Development การวางโครงสร้างแพลตฟอร์ม เครื่องมือ และคอนเทนต์ต่างๆ ที่จะเสริมสร้างความเข้าใจทางธุรกิจและเทคโนโลยีอย่างสอดคล้องกัน จนเกิดเป็นบุคลากรคุณภาพที่พร้อมผลักดันโครงการเชิงนวัตกรรมไปสู่จุดหมาย
          4. National AI Cluster ศูนย์กลางสำหรับนักคิดนักพัฒนาจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ที่เปิดเวทีให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันคิด คัดเลือก และต่อยอดนวัตกรรม AI ไปสู่ผลงานที่เป็นรูปธรรม โดยในระยะแรกจะมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมภาคการเกษตรด้วยโซลูชัน FarmBeats ซึ่งเป็นการยกระดับศักยภาพของเกษตรกรด้วยข้อมูล และ 5. Incubator พื้นที่สำหรับหน่วยงาน องค์กร และนักลงทุนที่ต้องการสนับสนุนและบ่มเพาะสตาร์ตอัพหน้าใหม่ให้เติบโต
          ในปี 2563 นี้ ไมโครซอฟท์และสถาบันเศรษฐกิจอนาคตและธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ต โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) จะร่วมกันเสริมสร้างความเข้าใจในนวัตกรรม AI ให้กับกลุ่มผู้นำและผู้บริหารระดับสูงทั่วไทย ผ่านทางโครงการ e-Training ในหลักสูตร AI Business School ซึ่งไมโครซอฟท์ได้พัฒนาขึ้นเพื่อสร้างพื้นฐานให้ผู้นำยุคใหม่สามารถกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ขององค์กรในโลกยุค AI
          ก่อนหน้านี้ ไมโครซอฟท์และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
          (อว.) ประกาศความร่วมมือเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านงานวิจัยเชิงเทคโนโลยีให้กับทั้งนักเรียนนักศึกษา นักวิจัยใน 25 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดของกระทรวงอว. โดยนำแพลตฟอร์มคลาวด์ระดับโลกเพื่อการเรียนรู้มาปรับใช้ 2 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Microsoft Imagine Academy แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้สำหรับสถานศึกษา ที่มีเนื้อหาหลักสูตรสอดคล้องกับการสอบใบประกาศนียบัตรวิชาชีพไมโครซอฟท์ และ Microsoft Learn แหล่งทรัพยากรเรียนรู้ทักษะเชิงดิจิทัลแบบเปิดที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
          นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังได้สานต่อความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ภายใต้โครงการ "การขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล" (Digital Transformation in Education) ซึ่งครอบคลุมถึงการวางกรอบโครงสร้างเพื่อปรับรูปแบบการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยี การยกระดับทักษะความสามารถเชิงดิจิทัลของบุคลากรครู และร่วมจัดทำกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา เพื่อจัดหลักสูตรอบรมทักษะเชิงดิจิทัลให้กับครูอาจารย์ 500 ท่านจาก 500 โรงเรียนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อถ่ายทอด ทักษะดังกล่าวจากบุคลากรครูไปสู่นักเรียนระดับมัธยมศึกษากว่า 50,000 คน


          'การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ให้กลายเป็นองค์ประกอบที่สร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเต็มที่นั้น ต้องอาศัยความเข้าใจที่ลึกซึ้งในทุกระดับ

          ที่มา: นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 26 - 28 ธ.ค. 2562

ไมโครซอฟท์ผนึกเอ็ตด้าดัน “หลักสูตรเอไอ”


          จะเริ่มเปิดหลักสูตรอบรมแบบอี-เทรนนิ่งตั้งแต่เดือน ม.ค.2563 เป็นต้นไป
          ไมโครซอฟท์ ผนึกสถาบันเศรษฐกิจอนาคตและธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ต สังกัดเอ็ตด้า ดันหลักสูตรระดับโลก "เอไอ บิซิเนส สคูล"ปูพื้นฐานเทคโนโลยีเอไอ เจาะกลุ่มผู้นำองค์กรผู้บริหารธุรกิจระดับสูงในไทยเข้าใจกลยุทธ์ที่ขับเคลื่อนด้วยเอไออย่างลึกซึ้งผ่านคอร์สอบรมแบบอี-เทรนนิ่ง
          นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า ได้ร่วมกับสถาบันเศรษฐกิจอนาคตและธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ต (Future Economy and Internet Governance - FEGO) โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. (ETDA) นำหลักสูตรระดับโลกเอไอ บิซิเนส สคูล (AI Business School) มาปูพื้นฐานเทคโนโลยีเอไอให้ผู้นำองค์กรและผู้บริหารธุรกิจระดับสูงในไทยสามารถทำความเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งเชิงกลยุทธ์ที่ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเอไอการส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดรับนวัตกรรม และการผลักดันทุกภาคส่วนให้ก้าวสู่ยุคแห่งเอไอบนพื้นฐานของจริยธรรมและความรับผิดชอบ
          โดยปัจจุบันเทคโนโลยีเอไอมีบทบาทสำคัญในทุกอุตสาหกรรมและธุรกิจ แต่ขณะเดียวกัน นวัตกรรมที่เปี่ยมศักยภาพนี้ก็มาพร้อมกับความท้าทายรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปจากเดิม หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการปรับใช้เอไอในการบริหารจัดการผู้นำองค์กรรุ่นใหม่จึงต้องเข้าใจพลังของเทคโนโลยีพลิกโฉมนี้อย่างแท้จริง และสามารถนำองค์กรก้าวเข้าสู่ยุคแห่งเอไอได้อย่างมั่นใจ
          ไมโครซอฟท์ได้ออกแบบเนื้อหาหลักสูตรอบรมอย่างเข้มข้น เพื่อให้ผู้นำองค์กร หน่วยงาน และธุรกิจสามารถนำองค์ความรู้ ข้อมูลเชิงลึก เครื่องมือ และข้อเสนอแนะต่าง ๆ ไปต่อยอดในการกำหนดทิศทางการพัฒนาองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างแท้จริง เนื้อหาหลักสูตร ยังมุ่งผสมผสานการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ (Multi-disciplinary) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละองค์กรและธุรกิจ ตั้งแต่การแพทย์ ธุรกิจค้าปลีก ภาคการผลิต การศึกษา ไปจนถึงหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของสถาบัน FEGOพร้อมให้นำไปต่อยอดสู่ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายที่ดี และมีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
          ทั้งนี้ เนื้อหาของหลักสูตรครอบคลุม 4 หัวข้อสำคัญ คือ 1. AI Strategy การวางโครงสร้างแนวคิดเชิงกลยุทธ์ เพื่อกำหนดบทบาทของเอไอในการวางกลยุทธ์ขององค์กรแบบองค์รวม ตั้งแต่ด้านความเป็นผู้นำ พฤติกรรม และศักยภาพของบุคลากรในองค์กร2. AI Culture การสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เปิดรับเทคโนโลยีเอไอในทุกด้าน และส่งเสริมให้ทุกแผนก ทุกตำแหน่งร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรด้วยเอไอซึ่งรวมไปถึงแผนกอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่นฝ่ายบัญชี การตลาด การจำหน่าย และบริการลูกค้าสัมพันธ์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในองค์กรเช่นเดียวกัน
          3.Responsible AI ศึกษาวิเคราะห์บทบาทและผลกระทบที่จะเกิดจากการใช้เอไอในมิติของภาครัฐและองค์กรธุรกิจ ผ่านการศึกษาคู่มือแนะนำ เพื่อให้ผู้บริหารสามารถกำหนดหลักการด้านจริยธรรมและแนวทางปฏิบัติด้านการใช้เอไอในองค์กรบนพื้นฐานของธรรมาภิบาล รวมไปถึงเรียนรู้การจัดการทรัพยากร ข้อเสนอแนะ และเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง
          4.Technology of AI การเรียนรู้เทคโนโลยีล่าสุดเกี่ยวกับเครื่องมือ ผลิตภัณฑ์ และบริการที่เกี่ยวกับเอไอเพื่อนำไปใช้บรรลุเป้าหมายในการทำงานและสร้างผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับองค์กรและธุรกิจ
          โดยเอ็ตด้าและไมโครซอฟท์จะเริ่มเปิดหลักสูตรอบรมแบบอี-เทรนนิ่งตั้งแต่เดือน ม.ค.2563 เป็นต้นไปเริ่มจากกลุ่มธุรกิจการเงิน ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 29 ม.ค.2563 ที่เอ็ตด้าภายใต้หัวข้อ "AI ในภาคธุรกิจการเงิน" และตามมาด้วยกลุ่มสาธารณสุขและการแพทย์ เริ่มเดือน ก.พ. กลุ่มธุรกิจค้าปลีก เริ่มเดือน มี.ค. ภาคการผลิตเริ่มเดือนเม.ย. กลุ่มการศึกษา เริ่มเดือน พ.ค.หน่วยงานภาครัฐ เริ่มเดือน มิ.ย.

          ที่มา: www.bangkokbiznews.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพลง: เทศน์พิษ

ເນື້ອເພງ : ດຣສົມພົງສ໌ ທຳນອງ - ຮ້ອງໂດຍ : suno   คลิกฟังเพลงที่นี่  (Verse 1) อินทรีเจ้าแกร่งบินสู่ฟ้า วันหนึ่งพลาดติดในตาข่ายพราน ดิ้นรนเท่าไ...