เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2563 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า ความหิวของมนุษย์ หยุดยั้งมิให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรม จนเป็นเหตุให้เดือดร้อนถึงอนาถปิณฑิกเศรษฐีต้องจัดหาสำรับอาหารให้บุรุษนายหนึ่งรับประทานจนอิ่ม หลังจากนั้น พุทธองค์จึงเริ่มต้นแสดงธรรม จนทำให้เขาบรรลุธรรมในที่สุด
ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น คือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาสันติภาพทางกาย ที่ต้องเคียงคู่ไปกับการพัฒนาสันติภาพทางชุมชนและสังคม การพัฒนาสันติภาพทางจิตใจ และการพัฒนาสันติภาพทางปัญญา
ด้วยเหตุนี้หลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาสันติศึกษา ได้วิทยากรทั้ง 3 รูป คน คือ หลวงพ่อสังคม ธนปญฺโญ เจ้าของแนวคิดและวิธีปฏิบัติโคกหนองนาและธนาคารน้ำ อาจารย์โจน จันได เจ้าของฟาร์มสุขใส่ใจการธรรมธุรกิจ และอาจารย์ปัญญา โตกทอง เจ้าของแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานราก เป็นกลุ่มคนที่เน้นการพัฒนาอาชีพโดยมุ่งการพึ่งพาตนเอง
ทั้งหมดจึงมุ่งพัฒนาเชิงกายภาพเพื่อตอบโจทย์เรื่องความหิวของมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ได้กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้หมด แล้วเมื่อนั้น มนุษย์จึงจะหันมาใส่ใจเรื่องคุณค่าทางใจ ไม่ว่าจะเป็นความจริง ความดี ความงาม และความสุข อันจะนำพาให้ชุมชน และสังคมสามารถอยู่กันอย่างสันติสุขภายใต้การใช้ปัญญาบริสุทธิ์ในการบริหารจัดการชีวิต
การพัฒนากรอบคิดเรื่องสันติภาพในพระพุทธศาสนา จึงต้องพัฒนาทั้ง 4 มิติข้างต้น โดยให้สอดรับหลักสัปปุริสธรรม อันได้แก่เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล ชุมชน และบุคคล การจะพัฒนาสันติภาพข้อใดก่อนหรือหลังจึงขึ้นกับการวิเคราะห์สภาพจริงหลักการทั้ง 7 ประการนั้น
ผู้ใดที่ยังหิวโหยก็ให้พัฒนาเรื่องปากท้องให้อิ่ม ชุมชนใดที่ขาดระเบียบวินัย ไร้ความยุติธรรม ขาดเมตตาเอารัดเอาเปรียบทุจริตคิดคดก็ให้พัฒนาพฤติกรรมเชิงบวกจนเกิดเมตตากรุณา เคารพระเบียบวินัย ธรรมชาติ และชีวิตคนอื่น ผู้ใดมีความทุกข์ก็ช่วยประคองใจให้พบสุข ผู้ใดมีจิตใจมืดบอดก็ชี้แนะจนเกิดปัญญาพาชีวิตรอด
ชีวิต ชุมชน สังคม และโลกนี้ จะอยู่รอดปลอดภัย ก็ต้องอาศัยการพัฒนาทั้ง 4 มิติดังกล่าวแล้ว ตรงไหนพออยู่พอกินทั้งภายนอกและภายใน ก็แบ่งปันทรัพยากรและความสุขไปช่วยสนับสนุนคนที่ยังยากจนทั้งข้างนอกและข้างใน เพื่อให้ผู้ที่ยังขาดสามารถลืมตาอ้าปากได้
"การพัฒนาทั้ง 4 ด้าน จึงเป็นการพัฒนาทั้งข้างนอก และข้างใน จึงเป็นการพัฒนาทั้งทางกายและทางใจ ทั้งหมดของการกินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้หมด จึงเป็นสะพานทอดเดินสู่การเข้าถึงเป้าหมายการพัฒนาขั้นสูงสุดของชีวิต คือ การบรรลุมรรค ผล นิพพาน ด้วยประการฉะนี้" พระมหาหรรษา กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น