วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2563

พระพร้อมรับฟังคน Zen Z ร้องถอดวิชาพระพุทธศาสนาออกจากระบบการศึกษาไทย

พระวิทยากรต้นแบบสันติภาพ Zen Y เข้าใจ พร้อมรับฟังคน Zen Z ร้องถอดวิชาพระพุทธศาสนาออกจากระบบการศึกษาไทย : พระปราโมทย์ วาทโกวิโท ดร.พระวิทยากรต้นแบบสันติภาพ พระวิทยากรต้นแบบธรรมะโอดี อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มจร รายงาน 

 เพราะเหตุใดนักเรียนจึงเรียกร้องถอดวิชาพระพุทธศาสนาออกจากระบบการศึกษาไทย ซึ่งล่าสุดนักเรียนชี้ว่า  #วิชาพระพุทธศาสนาเป็นแอกที่ต้องปลดออกจากศึกษาไทย ถือว่าเป็นวิชาศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ด้วยการมองว่าไม่จำเป็นต้องมีอีกต่อไป ถ้ามองตามเนื้อแท้ที่เด็กพูดโดยไม่มีวาระอื่นซ่อนเร้น ถือว่าเป็นการสะท้อนจากภายนอกที่ต้องรับฟังอย่างลึกซึ้งจริงใจ ด้วยการค้นหาความต้องการที่แท้จริงว่า ๑) #Why : ทำไมจึงต้องการยกเลิกวิชาพระพุทธศาสนา ขอเหตุผลที่ดีที่สุดโดยเป็นเหตุผลที่นุ่มนวลชวนหาทางออกร่วมกัน ๒) #What : อะไรคือจุดอ่อนของการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบันที่จะต้องปรับให้ตอบโจทย์คนและเด็กในปัจจุบันโดยเฉพาะZen Z ๓) #How : อย่างไร วิชาพระพุทธศาสนาควรมีวิธีการสอนอย่างไร ผู้สอนควรมีวิธีการสอนอย่างไร เนื้อหาที่สอนควรมีเนื้อหาอย่างไร ช่องทางกิจกรรมการเรียนรู้ควรใช้ช่องทางเรียนรู้อย่างไร และ ทำอย่างไรการสอนพระพุทธศาสนาจะสามารถตอบโจทย์เด็กและคนในปัจจุบันซึ่งอยู่ใน Zen Z หลังพ.ศ.๒๕๔๐ ได้ถือว่าเป็นโจทย์ที่คุยกันมายาวนาน        

ส่วนตัวมองว่าเป็นการปะทะกันทาง Zen เจเนอเรชั่น ผู้เขียนอยู่ใน Zen Y พร้อมรับฟัง Zen Z อย่างเข้าใจว่าต้องการอะไร ทำไมจึงคิดแบบนั้น รู้ว่าทำไมจึงคิดแบบนั้น เพราะผ่านการเป็นวิทยากรกระบวนการฝึกอบรมมากกว่า ๑๕ ปี พัฒนาฝึกอบรมผู้คนหลากหลายในเจเนอเรชั่น ต้องออกแบบการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับชีวิตและการทำงาน ทำให้วิชาพระพุทธศาสนามีความสำคัญต่อชีวิต อย่าลืมว่าทุกคนจะเรียนรู้เมื่อคิดว่าสิ่งนั้นสำคัญต่อชีวิต แต่ทุกเจเนอเรชั่นชอบการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ผ่อนคลาย เพลิดเพลิน เบิกบานใจ แจ่มแจ้ง จูงใจ แกล้วกล้า ร่าเริง ได้เเลกเปลี่ยน ทดลอง ลงมือปฏิบัติ 

พร้อมบอกได้ว่า สิ่งที่เรียนรู้สำคัญต่อชีวิตอย่างไร ? จึงหมดยุคที่จะมาเพียงแค่นั่งฟังบรรยายเท่านั้น หรือท่องจำเท่านั้น และรับเพียงข้อมูลจากผู้สอนเท่านั้นอำนาจอยู่ที่ผู้สอน เพราะผลการวิจัยผู้เรียนได้เพียง ๕ เปอร์เซ็นเท่านั้น จึงต้องยอมรับว่าผู้ออกแบบการสอนหรือปฏิรูปการสอนพระพุทธศาสนาอยู่ในGen B หรือ Gen X ลักษณะอนุรักษ์นิยม ทำให้มองคนละมิติกับGen Z คือเด็กในยุคปัจจุบันซึ่งเติบโตในสังคมดิจิทัล เปิดกว้างทางความคิด วัฒนธรรมที่มีความแตกต่าง ส่วน Gen Y มองว่ายังเข้าใจผู้เรียนพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในวิธีการสอนยุคใหม่ แต่คนที่มีอำนาจอาจจะเป็นGen B หรือ Gen X ทำให้Gen Y ถูกบล็อคความคิดสร้างสรรค์ ทางออกคือ ต้องหาคน Gen B X Y Z ที่เข้าใจการเปลี่ยนแปลง ยอมรับฟังอย่างลึกซึ้ง เรียนรู้ไปด้วยกัน เพื่อมองว่าการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในยุคดิทัลควรจะมีวิธีการสอนอย่างไร ? ทุก Gen ย่อมมีความสำคัญแต่จะปรับอย่างไรให้สามารถเรียนรู้ไปด้วยกัน ซึ่ง Gen Z คือเด็กในปัจจุบันพยายามสะท้อนมาว่า สิ่งที่สอนปัจจุบันมันไม่ตอบโจทย์ชีวิตเขา เราในฐานะผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนาจะออกแบบการเรียนรู้การสอนอย่างไร ? ให้สามารถตอบโจทย์ โดยไม่มองว่าเด็กคือปัญหา แต่จงมามองว่าวิธีการของเราทำอย่างไรจะเข้าถึงเด็กต่างหาก ไม่ปรับก็ถูกดิสรัปอย่างแน่นอน จงฟังที่สะท้อนด้วยความเข้าใจ เพราะนั่นคือขุมทรัพย์จากผู้ใช้บริการจริง          

ถามว่า เราจะปล่อยให้วิชาพระพุทธศาสนาถูกดิสรัปใช่หรือไม่ ? หรือจะช่วยระดมสมองเพื่อหาทางออกว่าเราควรจะทำอย่างไร ที่สามารถตอบโจทย์เด็กและเยาวชนในยุคปัจจุบัน ไม่มีศาสตร์ใดควรตัดมีแต่ทุกศาสตร์ควรปรับ มีแต่ศาสตร์ใดเหมาะสม ส่วนตัวในฐานะวิทยากรกระบวนการฝึกอบรม พยายามทำเรื่องที่ยากให้เป็นเรื่องง่าย มองว่าเพราะ ๔ ประเด็น ประกอบด้วย   

๑) #ผู้สอนไม่ตอบโจทย์ คุณลักษณะผู้สอน คุณสมบัติผู้สอน ควรจะเป็นอย่างไร? ผู้สอนควรมีหลักการ วิธีการ อุดมการณ์อย่างไร ผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนาในยุคดิจิทัลควรมีเครื่องมืออะไรในการสอน ร่วมเรียนรู้กับเด็กเยาวชน ผู้สอนควรเป็นนักออกแบบกิจกรรม เป็นผู้อำนวยการให้เกิดการเรียนรู้ : Fa มีบทบาทเป็นโค้ช สามารถเชื่อมถึงเป้าหมายและชีวิตของเด็ก ผู้สอนจึงต้องพัฒนากัลยาณมิตรเป็นฐานสำคัญ จึงต้องยกเครื่องคุณภาพผู้สอน มีโรงเรียนฝึกผู้สอนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาอย่างมืออาชีพ หรือ ปัจจุบันเรามีอยู่แต่ยังไม่ตอบโจทย์ หรือ จำนวนยังไม่เพียงพอต่อสังคมต้องการ หลายท่านมองมาที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ มจร มมร      

๒) #หลักสูตรเนื้อหาไม่ตอบโจทย์ เนื้อหาคำสอนทางพระพุทธศาสนามีมากมาย จะเลือกคำสอนเนื้อใดที่เหมาะสมกับเด็กเยาวชน จะสอนอย่างไรเพียงใบไม้กำมือเดียว ไม่มากเกินไป มุ่งนำเนื้อหาที่สอดคล้องกับชีวิตเด็กเยาวชน โดยการเรียนเนื้อหาไม่ได้เอาไปสอบเพื่อผ่านแต่เนื้อหาจะต้องเป็นไปเพื่อนำไปประยุกต์ในชีวิตประจำวัน เนื้อหาจึงต้องปรับให้ตอบโจทย์เด็กแต่ละช่วงชั้นช่วงอายุ มีความง่าย เพื่อให้เกิดการค้น คว้า คีย์ คลุก คิด คม เนื้อหาจะต้องน้อยคือมาก เนื้อหาจะต้องสอดรับกับ TN ความจำเป็นการฝึกอบรม หรือ ความจำเป็นในการสอน เนื้อหาจึงรวมถึงหลักสูตรถามว่าใครควรเขียนหลักสูตร หลักที่ใช้มานานควรมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบันหรือยัง ? จึงควรให้Gen Z มามีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตร เนื้อหา จงใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในหลักสูตร จงพัฒนาหลักสูตรที่สัมผัสเข้าถึงพระพุทธศาสนาแบบวิถีชีวิตปฏิบัติมากกว่าเพียงสัมผัสปริยัติเท่านั้น   

๓) #วิธีการสอนไม่ตอบโจทย์ วิธีการสอนคือปัญหาที่ตระหนักมากที่สุด วิธีการสอนพระพุทธศาสนาที่ล้มเหลวเท่ากับการทำลายพระพุทธศาสนา วิชาพระพุทธศาสนาเราควรจะมีวิธีการสอนอย่างไร ? ให้สามารถตอบโจทย์Gen Z ซึ่งที่ผ่านมาGen B X Y พยายามรับฟังเด็กเยาวชนในยุคปัจจุบันว่า ปัญหาการสอนพระพุทธศาสนาคืออะไร? วิธีการสอนพระพุทธศาสนาที่สามารถตอบโจทย์ควรจะเป็นอย่างไร ? สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการพยายามปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนา โดยให้เด็กมาสะท้อนที่หลากหลาย แต่ยังไม่สามารถตอบโจทย์เด็กได้ อะไรคือปัญหาที่แท้จริง ?      

วิธีการสอนสำคัญกว่าเรื่องที่สอน ส่วนตัวเป็นGen Y เวลาไปนั่งฟังบรรยายยังรู้สึกว่าเบื่อหน่าย เคยตั้งคำถามว่า ไม่มีวิธีการสอนที่ดีกว่านี้หรือ นอกจากการมานั่งฟังทั้งวัน เพราะกลุ่มอนุรักษ์นิยมยังเชื่อว่า วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ดีที่สุด คือ นั่งฟังบรรยายไปเรื่อยๆ เห็นต่างก็ไม่ได้ วิธีการเรียนรู้ในยุคใหม่ต้องสร้างการเห็นต่างอย่างสร้างสรรค์ ย้ำว่าต้องสร้างสรรค์ มิใช่ เห็นต่างอย่างก้าวร้าวหรือจะมุ่งเพื่อเอาชนะเท่านั้น โจทย์ที่ยิ่งใหญ่ของผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนาคือ วิธีการสื่อสารธรรม เราจะวิธีการอย่างไรให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงหลักของพระพุทธศาสนา เราจะต้องมีวิทยาลัยเพื่อการโค้ชผู้จะสอนวิชาพระพุทธศาสนาให้มีคุณภาพ มีเครื่องมือในการสอน พัฒนาความรู้ ความเข้าใจ สันติภายใน ทักษะ ทัศนคติ เครือข่ายที่เป็นระบบ นำผู้คนที่เกี่ยวข้องมาสะท้อนเพื่อการพัฒนาวิธีการสอน นำวิธีการหลากหลายศาสตร์มาบูรณาการวิธีการ แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ แต่ละ Gen จะมีวิธีการสอนแตกต่างกัน คิดว่าวิธีการของตนดีที่สุด แต่วิธีการสอนในยุคปัจจุบันครูจะต้องร่วมเรียนรู้กับผู้เรียน ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ ภายใต้คำว่า ฉลาดประยุกต์ สนุกมีสาระ หมดเวลาเพียงส่งต่อข้อมูลหรือป้อนข้อมูลแล้ว ถือว่าเป็นโจทย์ที่ Zenต่างๆจะต้องปรับตัว เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน        

๔) #ผู้เรียนไม่ตอบโจทย์ เมื่อผู้สอนไม่สามารถตอบโจทย์ หลักสูตรเนื้อหาไม่สามารถตอบโจทย์ วิธีการสื่อสารไม่สามารถตอบโจทย์ จึงส่งผลต่อผู้เรียนว่า สิ่งที่สอนไม่ตอบโจทย์ฉันเลย  จึงที่มาของคำว่า วิชาพระพุทธศาสนาเป็นแอกที่ต้องปลดออกจากศึกษาไทย ความต้องการที่แท้จริงคือ พยายามจะสะท้อนวิธีการสอน เนื้อหาการสอน หลักสูตรการสอน และผู้สอนในวิชาพระพุทธศาสนา หนทางเดียวคือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเราทุกคนจะต้องรีบกลับมาทบทวนแล้วหาทางออกผ่านการรับฟัง โฟกัส สะท้อน ประชาวิจารณ์ สันติสนทนา เสวนาหาทางออก ด้วยใจกว้างๆ รับฟังแล้วปรับเพื่อการพัฒนาต่อไป อาหารเมื่อผู้ทานสะท้อนว่าไม่อร่อย ต้องรีบปรับทันที อย่ามัวไปด่าคนทานอาหารว่าลิ้นใช้การไม่ได้ เราจะต้องปรับวิธีการทำอาหาร คนทำอาหาร เครื่องปรุงให้ดีที่สุด ความสะอาดของอาหาร ฉันใดก็ฉันนั้น วิชาพระพุทธศาสนาเช่นกัน เมื่อเด็กนักเรียนสะท้อนมาเราควรปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ขอบคุณผู้ทานอาหารทุกคนที่สะท้อนมา เราจะรีบปรับปรุงพัฒนา ตาม PDCA จึงย้ำว่า การเรียนรู้ในยุคปัจจุบันต้องไม่เอาอำนาจไว้ที่ผู้สอน โดยใช้อำนาจในห้องเรียน ควรมอบอำนาจให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีอิสรภาพ     

สิ่งที่สะท้อนคือ #การเตรียมตัวสอนไม่ยากเท่ากับการยกเลิกในสิ่งที่เตรียมการสอนไว้แล้ว เพราะในสถานการณ์ของห้องเรียนอาจจะไม่เป็นไปตามที่เราตั้งใจหรือวางแผนไว้ ผู้สอนจึงต้องมีเครื่องมือที่หลากหลาย สามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ มีความลื่นไกลของกิจกรรมการเรียนรู้ ผู้สอนจึงไม่ใช่เพียงเก่งในการออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับผู้เรียนเท่านั้น แต่ต้องมีความใจกว้าง สามารถยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม ในฐานะที่มีโอกาสทำการวิจัยเชิงพัฒนามีการทดลองหลายรอบในระดับปริญญาเอก เรื่อง #รูปแบบการพัฒนาวิทยากรต้นแบบสันติภาพ จึงมองว่าวิทยากรหรือผู้สอนต้องสามารถออกแบบกิจกรรมได้ โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น ๒ ประการ คือ ๑ #กิจกรรมที่มีการวางแผนมาแล้ว ๒ #กิจกรรมที่มีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ แต่วิทยากรหรือผู้สอนที่ดีจะต้องมีการเตรียมตัว เตรียมการสอนมาเป็นอย่างดี ประกอบด้วยสื่อ อุปกรณ์ สถานที่ บรรยากาศ สิ่งแวดล้อม มีการสอนตามขั้นตอนที่วางไว้ แต่ถ้าสถานการณ์ไม่อำนวยวิทยากรหรือผู้สอนจึงต้องปรับตามสถานการณ์  

สะท้อนว่า #ผู้สอนแบบมาม่ายำยำ จะถูกดิสรัปชั่นในการสอนวิชาพระพุทธศาสนาอย่างแน่นอน โดยวิทยากรหรือผู้สอนจะไม่เป็นผู้สอนแบบมาม่ายำยำ ซึ่งมีการปรุงสำเร็จมาให้เรียบร้อยจากโรงงานการผลิต คนทำไม่ได้กิน คนกินไม่ทำ แต่วิทยากรหรือผู้สอนที่ใช้สติเป็นฐานจะต้องสามารถทำอาหารให้ถูกปากผู้เรียนในบริบทนั้นๆ เชื่อว่าอาหารแต่ละภูมิภาคย่อมมีรสอร่อยที่ต่างกัน แต่สิ่งเดียวที่เหมือนกันคือมีความอิ่มสบายใจเหมือนกัน เมื่อได้ทานอาหารเดียวกันเพียงรสอร่อยต่างกัน จึงตั้งคำถามว่า อาหารที่ชื่อว่าสติเป็นฐาน จะเป็นอาหารแบบสำเร็จรูปมาจากโรงงานการผลิต หรือจะเป็นเครื่องปรุงให้เกิดรสอร่อยของอาหาร วิชาพระพุทธศาสนาไม่ใช่รูปแบบเหมือนมาม่ายำยำคือสำเร็จรูป แต่ผู้สอนสามารถนำไปปรับกิจกรรมให้เกิดความเหมาะสมในบริบทนั้นๆ ครูผู้สอนจะต้องเรียนรู้และสามารถออกแบบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาได้ ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อธรรมใดสามารถทำให้เกิดความเข้าใจง่าย เพราะถ้าเราทำให้วิชาพระพุทธศาสนาให้เข้าใจยากถือว่าบาปอย่างมหันต์ เพราะผู้เรียนไม่ได้ประโยชน์ วิชาพระพุทธศาสนาจะต้องเป็นเรื่องเข้าใจง่ายต่อการเรียนรู้ ต่อการนำไปปฏิบัติ ต่อการนำบูรณาการในชีวิต     

ดังนั้น หลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงมีการจัดฝึกอบรมวิทยากรต้นแบบสันติภาพ รุ่น ๖ ขึ้นระหว่างวันที่ ๑๔ -๑๘ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ หลักสูตร ๔ คืน ๕ วัน มีพระสงฆ์และบุคคลทั่วไปเข้ารับการฝึกอบรม ๒๙ รูป /คน เพื่อพัฒนาวิทยากรต้นแบบพัฒนาผู้สอนให้สามารถตอบโจทย์ผู้เข้ารับการฝึกอบรม สามารถออกแบบกิจกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน สอนวิชาพระพุทธศาสนาให้มีชีวิต มีวิธีการสอนที่สามารถตอบโจทย์ผู้เรียนมีความหลากหลาย ลองมาดูว่าผู้จัดกระบวนการฝึกอบรมเป็น Gen Y จะมีการออกแบบการเรียนรู้อย่างไร ? จึงจะตอบโจทย์ จงฝึกคิดต่างเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ "ปารายนวรรค...