วันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2563

พิมพ์เขียว! สันติโคกหนองนาโมเดล สันติศึกษาลงดิน สันติภาพกินได้


วันที่ 24 ตุลาคม 2563  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Hansa Dhammahaso" หลังจากนำคณาจารย์และเจ้าหน้าที่หลักสูตรสันติศึกษา มจร ลงพื้นที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี เพื่อเข้าศึกษาและเรียนรู้แนวทางการออกแบบและพัฒนาสวนสันติธรรมชาติภายใต้กรอบของโคกหนองนาโมเดลและธนาคารน้ำ โดยมี ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อาจารย์ยักษ์) พระอาจารย์สังคม ธนปัญโญ  และคณะเป็นที่ปรึกษา ระหว่างวันที่ 19-23 ตุลาคมนี้ ความว่า   

สันติภาพลงดิน สันติภาพกินได้ โคกหนองนา สันติศึกษาโมเดล

รับบรีฟจากหลวงพ่อสังคม ธนปัญโญ ผู้เชี่ยวชาญด้านโคกหนองนาโมเดล และธนาคารน้ำ ที่ได้เสนอแนะกรอบแนวคิดและแนวทางการพัฒนาเพื่อต่อยอดโคกหนองนา สันติศึกษาโมเดล บนพื้นที่ 12 ไร่ โดยใช้ใบโพธิ์เป็นกรอบคิดในการออกแบบ

การนำสันติธรรมไปลงมือทำครั้งนี้ หลักสูตรสันติศึกษาจะระดมนิสิต กัลยาณมิตร รุ่น 633 จากหลักสูตรกสิกรรมธรรมมาบเอื้อง และชาวอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ มาร่วมกันพัฒนา โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป

องค์ประกอบสำคัญของโคกหนองนา สันติศึกษาโมเดล จะแบ่งพื้นที่ น้ำ 30% ป่า 30% ข้าว 30% และที่พักอาศัย 10% ภายในจะมีคลองใบ้โพธิ์ ลานธรรมจักร เพื่อปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์จากอินเดีย พืชสวนนาป่าค้นนาทองคำ อุโมงต้นยางนา และพืชพักมากมาย

ทั้งหมดจะอยู่ภายในสวนสันติธรรมชาติ สวนแห่งนี้จะทำหน้าที่เป็นศูนย์การ้รียนรู้และพัฒนาทักษะอาชีพเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ แนวคิดโคกหนองนา ธนาคารน้ำ แนวคิดกสิกรรมธรรมชาติ ศาสตร์พระราชา และอื่นๆ ของชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ อย่างยั่งยืน

ในขณะที่วิชาชีวิตที่เป็นสถานที่พาคนไปนิพพานนั้น จะถูกเตรียมพร้อมไว้ ณ สถาบันสติภาวนาเพื่อสันติภาพ เพี่อเป็นแหล่งในการพัฒนาสันติภาพภายในของกลุ่มคนที่มีความพร้อมทางกายแต่ต้องการความอิ่มเอมทางใจ ที่มุ่งให้เกิดความรู้ ตื่น และเบิกบานภายใน


ก่อนหน้านี้ได้โพสต์ว่า ทุกข์กายก็ทำมาหากิน #ทุกข์ใจก็ทำมาหาธรรม 

เจตนารมณ์ที่แท้จริงของการเดินทางมาเป็น #ศิษย์มาบเอื้อง รุ่น 633 ก็เพิ่อต้องการที่จะเข้าใจเบื้องหลังของชุดความคิด (Mindset) กสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงว่าถือกำเนิดมาด้วยเหตุผลอันใด เพราะการเรียนรู้ที่ผ่านมาแค่ตำตา และตำหู ไม่ได้ตำมือ และตำตีน จนทำให้ตำใจของตนเอง 

เพราะเหตุใด? ผู้คนมากมายจึงถอยห่างและปล่อยวางการพัฒนาเศรษฐกิจ #ทุนนิยม และ #สังคมนิยม โดยหันมา #นิยมเศรษฐกิจพอเพียง  วันนี้ จึงเข้าใจว่า การที่ใครสักคนสามารถพึ่งพาศักยภาพตนเองได้ มันมีคุณค่าและนำมาซึ่งความภาคภูมิใจเพียงไร 

"ตนแลเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ และ เธอทั้งหลาย จนมีตนเป็นเกาะ จงมีตนเป็นที่พึ่ง  เธอทั้งหลาย จงมีธรรมเป็นเกาะ จงมีธรรมเป็นที่พึ่ง" เสียงของพระพุทธองค์ผุดขึ้นในใจทันใดที่ได้ยินคำว่าพึ่งตนเองจากอาจารย์ยักษ์ 

การพึ่งตนก็คือคือการพึ่งธรรม ธรรมในความหมายนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ ถ้ามิใช่ธรรมชาติ ทั้งธรรมชาติที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมที่แสดงตัวตนผ่านสิ่งที่จับได้ และเห็นได้ อันได้แก่ ดิน น้ำ และป่า 

ดิน น้ำ และป่า จึงเป็นที่มาของอาหาร ต้นไม้ ข้าวปลา เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และร่มเงา เป็นต้น การพึ่งพาตนเองคือการพึ่งธรรมอันได้แก่ธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ จึงมีกลุ่มคนจำนวนมาก ได้หันหลังให้ทุนนิยม และสังคมนิยม ที่ต้องพึ่งพาคนอื่น รวมถึงรัฐ กลับมาทำมาหากินด้วยลำแข็งตนเองโดยใช้ธรรมชาติเป็นฐาน 

มนุษย์ก่อกำเนิดมาจากธรรมชาติ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม การกลับไปหาธรรมชาติจึงเป็นการกลับไปหารากเหง้าที่เป็นต้นตระกูลของตนเองที่ให้ชีวิต และลมหายใจตัวเองมาใช้สอยจนถึงวันนี้  

เพราะมนุษย์หลงลืมธรรมชาติที่เป็นรากเหง้าของตนเอง จึงพากันทำลายธรรมชาติอย่างโหดร้ายทารุน ต่อเนื่อง และยาวนาน ถึงกระนั้น ก็มีมนุษย์บางคนมีจิตสำนึกรู้ในคุณค่าที่แท้จริงของธรรมชาติที่ให้กำเนิดมา จึงหันกลับไปดูแล และใส่ใจธรรมชาติ 

ความจริงคือ ไม่มีธรรมชาติ จะไม่มีดิน น้ำ ป่า ไม่มีป่าจะมีอากาศ แหล่งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ให้มนุษย์ได้ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตตั้งแค่ปูย่าตายายจนถึงลูกหลานได้อย่างไร 

การเป็นศิษย์มาบเอื้อง จึงเป็นการกลับไปเข้าใจรากเหง้าที่แท้จริงของตัวเองให้ลึกซึ้งอีกครั้ง และที่สำคัญคือการหันกลับมาทบทวนชีวิตของตัวเอง และกำหนดบทบาท และเป้าหมายของชีวิตตัวเองให้คม ชัด และลึกมากขึ้น  

การทำมาหากินคือเรื่องของกาย การทำมาหาธรรมคือเรื่องของใจ ไม่มีกาย จะหาใจมาจากที่ไหน ไม่มีกาย ใจจะได้เรียนรู้ธรรม เพื่อให้เจริญในธรรมได้อย่างไร การเลี้ยงกายก็เพื่อให้กายเป็นแหล่งเรียนรู้ของใจ การเลี้ยงใจจึงมีค่าเท่ากับการหล่อเลี้ยงกายให้สามารถทำมาหากินได้อย่างมีสติปัญญา  

การทำมาหากินจึงไม่จบที่การพออยู่ พอกิน พอใช้ หากแต่ในบั้นปลายแล้ว จะนำไปสู่ความพอร่มเย็นของชีวิต แล้วแบ่งปันความร่มเย็นไปสู่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ  อันเป็นความหมายที่แท้จริงอย่างแท้จริง

 

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส

ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ชลบุรี

23 ตุลาคม 2563



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"วราวุธ" เผย พม.จับมือ พศ.- กรมการศาสนา ตั้งศูนย์คุ้มครองเด็กและสามเณร สร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชนหากถูกละเมิด

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567  นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมยุษย์ (รมว.พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเด็ก ...