วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2563

"มนัญญา" เปิดสัมมนาหน่วยรับรองฮาลาล ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่ระดับสากล



เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.256 น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนา "อบรมสัมมนาหน่วยรับรองฮาลาลทั่วราชอาณาจักร ประจำปี 2564"  พร้อมรับฟังปัญหาจากตัวแทนชาวมุสลิม เพื่อหาแนวทางยกระดับฮาลาลในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย พัฒนาระบบการรับรองฮาลาลไทยสู่ระดับสากล ณ ภัตตาคารสินธร ถนนศรีนครินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร          

น.ส.มนัญญา กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมฮาลาลโลก เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพหลายด้าน ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศที่มีความโดดเด่นและเป็นรูปธรรมชัดเจน ซึ่งประเทศไทยมีวัตถุดิบพื้นฐานโดยเฉพาะภาคการเกษตร เช่น ผัก ผลไม้ ปศุสัตว์ เป็นต้น มีการรับรองฮาลาล อย่างมีระบบมาตรฐานการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ทำให้ฮาลาลของประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นจากประชาคมโลกด้วยการรับรองฮาลาลตามศาสนบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นอีกหนึ่งพลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ด้านความร่วมมือขององค์กรศาสนา กับภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงด้านอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทยต่อไป

ก.เกษตรฯ เปิดตัวหมูชีวาต่อยอดส่งออกสินค้าปศุสัตว์รับเทรนด์อาหารปลอดภัย

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเปิดตัว "หมูชีวา" ว่า ในสถานการณ์โควิด ชัดเจนว่าโลกต้องการอาหารปลอดภัย และกว่าธุรกิจแต่ละประเทศจะฟื้นตัวต้องใช้เวลานานมาก ไทยต้องพลิกวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสให้ได้ ซึ่งภาคเกษตรมีความสำคัญมากในการพลิกฟื้นประเทศของเรา ใครฟื้นเร็วกว่าคือได้เปรียบ เป็นโอกาสของธุรกิจ และของประเทศ          

การเปิดตัว "หมูชีวา" เป็นความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์ กับ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ภายใต้แบรนด์ U-Farm ในวันนี้ ถือเป็นการเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพของสินค้าปศุสัตว์เพื่อผู้บริโภค สอดรับกับนโยบายในการพัฒนามาตรฐานการผลิตสินค้าปศุสัตว์ภายในประเทศเพื่อผู้บริโภค ซึ่งการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการผลิตและการบริโภคนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการประสานงานร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและภาครัฐ อีกทั้งนวัตกรรมหมูเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ U-Farm นี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์และ CPF เป็นอย่างดี จึงถือว่าเป็นการพัฒนาความร่วมมือเพื่อพัฒนาประเทศร่วมกับภาครัฐอีกทางหนึ่ง          

ทั้งนี้ ความมั่นคงทางอาหารเป็นนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรฯ โดยจะร่วมมือกับเอกชนในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ออกมา ไม่เพียงรองรับความต้องการของผู้บริโภค แต่เพื่อผลักดันการส่งออกด้วย โดยผลิตภัณฑ์ "หมูชีวา" เป็นสินค้าสำคัญที่สามารถทำรายได้ให้ประเทศ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัย เชื่อว่าไทยจะต้องติดอันดับผู้ส่งออกอาหารของโลก จากอันดับ 12 เป็น Top Ten ได้ในปีหน้า          

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งมั่นผลักดันมูลค่าการส่งออกปศุสัตว์ไทยสู่เป้าหมาย 2 แสนล้านบาท ในปี 2563 ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคปศุสัตว์ 5.6% ในปีนี้ จากการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์          

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายนำภาคเกษตรสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ถ้านำเกษตรกรไปสู่จุดนั้นได้ ประเทศจะเข้มแข็ง ทั้งสังคมและเศรษฐกิจ ตัดปัญหารายได้น้อยของคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ทันที          

ด้าน น.สพ. สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า หมูชีวา เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต และเป็นผลิตภัณฑ์ที่คัดเลือกทุกองค์ประกอบเป็นอย่างดี เพื่อสุขภาพและเป็นการเลี้ยงตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ทั้งยังได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพ 'ปศุสัตว์ OK' นั่นหมายความว่าเป็นเนื้อหมูที่มาจากสัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์มมาตรฐาน GAP แปรรูปจากโรงงานแปรรูปที่ได้รับใบอนุญาตและคุณภาพจากกรมฯ สถานที่จำหน่ายถูกสุขลักษณะ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ "ปารายนวรรค...