วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ปราศจากสติเสียแล้ว จะมีสันติได้อย่างไร


ปราศจากสติเสียแล้ว จะมีสันติได้อย่างไร : พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) รายงาน   

สติเป็นจุดเริ่มต้นของสรรพธรรม และเป็นตัวเสริมสร้างสรรพสิ่ง ยิ่งเป็น "สัมมาสติ" คือสติที่ถูกต้อง ถูกธรรม เหมาะสม ดีงามด้วยแล้ว ยิ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อการสรรสร้างสิ่งดีสิ่งงามให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตและสังคม

ในทางกลับกัน ถ้าเราจุดสติขึ้นในใจเราไม่ได้ ความโกรธ ความเกลียด เคียดแค้น ชิงชัง จะเข้ามาทำหน้าที่บังคับบัญชาให้ใจแบ่งเขาแบ่งเราด้วยความอคติ การสร้างสติ จึงมีค่าเท่ากับการทำลายล้างอคติในทันใด

เพราะสังคมไม่อุดมสติ จึงเป็นตัวแปรที่นำไปสู่วิกฤติการณ์การผิดศีลธรรมจรรยา การเอารัดเอาเปรียบ การทุจริตคดโกง ความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรม และการเลือกปฏิบัติต่อกันในสังคม 

เวลาของสติ คือเวลาของการทบทวนชีวิต วิธีคิด วิธีตัดสินใจ วิธีพูด และวิธีของการแสดงออกต่อเพื่อนมนุษย์ในสังคม เรารักสุข เกลียดกลัวความทุกข์ และหวาดระแวงต่อการทำร้าย คนอื่นก็เป็นเช่นนั้น เอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วใช้สติใคร่ครวญแล้วจึงตัดสินใจ

สติจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสันติ อย่าดูแคลนตัวสติ เพราะไม่มีสติเสียแล้ว จะมีเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ได้อย่างไร จะห่วงใยและใส่ใจต่อความเป็นความตาย และเสียงร้องไห้คร่ำครวญของเพื่อนมนุษย์ได้อย่างไร 

ชีวิตและสังคมจึงมิอาจหล่อหลอมและสร้างขึ้นมาด้วยอคติ ความโกรธ และเกลียดชัง หากแต่เริ่มจากการใช้สติเป็นตัวสร้างและจรรโลงให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข เพื่อมิให้ใจพลัดเราหลงไปเกลียดคนอื่น แม้กระทั่งคนที่เราเรียกว่าศัตรูคู่อาฆาต

ศัตรูที่แท้จริง จึงมิใช่คนอื่นๆ เช่น พ่อแม่เรา ญาติ เพื่อนเรา ลูกหลานของเรา หรือคนแปลกหน้า หากแต่เป็นความโกรธ ความเกลียดที่ฝั่งแน่นอยู่ในใจเรา ทำลายและสลายศัตรูตัวนี้ได้ เราจะกลายมาเป็นมิตรช่วยกันพิชิตปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เพื่อก้าวสู่ความร่มเย็นและเป็นสุขอย่างยั่งยืนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ "ปารายนวรรค...