เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2563 เพจ Phramaha Boonchuay Doojai ได้โพสต์ข้อความว่า รวมพลัง “มจร-มมร” สร้างสังคมสุขภาวะ
@ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาสถาบันอุดมศึกษาขึ้นสองแห่ง เมื่อราวสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ในนาม “มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย” และ “มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” ในปัจจุบัน ด้วยทรงมีพระราชปณิธานในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงมีความสามารถในการรักษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น และมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่สองแห่งก็ได้กลายเป็นขุมพลังทางปัญญาที่มีรากฐานจากพุทธธรรม แห่งองค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เกื้อกูลต่อสังคมไทยอย่างเป็นรูปมาเป็นเวลาช้านาน บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันทั้งสองได้เป็นกำลังในการธำรงพระพุทธศาสนาและเป็นขุมพลังทางศีลธรรมของสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง
@ ในด้าน “การสร้างเสริมสุขภาวะ” ในสังคมไทย ภายใต้การปฏิรูประบบสาธารณสุขของไทย การรณรงค์เรื่อง "สร้างนำซ่อม" คือ เน้นการ “สร้างสุขภาพ” มากกว่า “การซ่อมสุขภาพ” เช่น รณรงค์เรื่องการบริโภคอาหารสุขภาพ การออกมีกิจกรรมทางกาย การผ่อนคลายอารมณ์และความเครียด การลดละเลิกสุรา บุหรี่ สารเสพติดที่เป็นพิษภัยต่าง ๆ การป้องกันโรคติดต่อ การป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน การรักษาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ เป็นต้น “มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย” และ “มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” ซึ่งเคยมีบทบาทที่อาจไม่ชัดเจนนักในช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้รวมพลังในการขับเคลื่อนงาน “สร้างเสริมสุขภาพ” อย่างเป็นรูปธรรมโดยมี “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ” เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงาน ภายใต้หลักการสำคัญ คือ “ทางธรรมนำทางโลก” เริ่มต้นแต่การร่วมยกร่าง รับฟังความคิดเห็น ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานองค์กรภาคีเครือข่ายต่าง ๆ และขับเคลื่อนทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่
@ การขับเคลื่อนงาน “สร้างเสริมสุขภาพ” ของ “มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” หรือ “สสส” ให้ดำเนินโครงการ “ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจสู่การสร้างสังคมสุขภาวะ” ในฐานะที่เป็นโครงการวิจัยที่มีเป้าหมายในการพัฒนาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยให้มีศักยภาพ ทำหน้าที่เป็นพระสงฆ์นักสร้างเสริมสุขภาวะสู่ชุมชนและสังคม โดยใช้กลไก “การปฏิบัติศาสนกิจ” ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนสังคมอย่างมียุทธศาสตร์ ทั้งการพัฒนากลไกคณะอนุกรรมการปฏิบัติศาสนกิจที่เพิ่มองค์ประกอบของภาคีเครือข่ายที่หลากหลาย และพัฒนายุทธศาสตร์การปฏิบัติศาสนกิจในระดับพื้นที่วิทยาเขต/วิทยาลัย ที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ด้วย พัฒนาศักยภาพบัณฑิตด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้โครงการเป็นฐาน (Project Base Learning) รวมถึงการพัฒนา “ระบบปฏิบัติศาสนกิจ” ออนไลน์ เพื่อสนองตอบความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบันด้วย
@ ด้านการขับเคลื่อนงาน “สร้างเสริมสุขภาพ” ของ “มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย” ยังมีปัจจัยอันเป็นข้อจำกัดบางประการ ซึ่งต้องการการหนุนเสริมจากหน่วยงานองค์กรภาคีเครือข่ายต่าง ๆ “มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” ซึ่งมีประสบการณ์เคลื่อนงานในพื้นที่มาระยะหนึ่งแล้ว จึงได้กำหนดเป้าหมายและกิจกรรมในการหนุนเสริมการเคลื่อนงานของ “มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย” ไว้ในโครงการ “ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจสู่การสร้างสังคมสุขภาวะ” ด้วย ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างความร่วมมือระหว่างสองมหาวิทยาลัย ด้วยการจัดกิจกรรม “การประชุมเชิงปฏิบัติการ” ในหัวข้อ “เครือข่ายความร่วมมือปฏิบัติศาสนกิจเพื่อสังคมสุขภาวะ” ซึ่งมีรองอธิการบดี ด้านกิจการคณะสงฆ์ (พระมงคลธรรมวิธาน, ผศ.ดร.) และรองอธิการบดี ด้านการวิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา (พระมหามฆวินทร์ ปริสุตฺตโม, ผศ.ดร.) ผู้ได้รับมอบหมาย ร่วมนำการประชุม
@ จากการดำเนินกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการ 3 ครั้งที่ผ่านมา มีข้อค้นพบหลากหลายประการที่น่าสนใจ ดังนี้
R1 ผู้เข้าร่วมการประชุมที่มาจากทั้งสองมหาวิทยาลัยได้ร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูล และฝึกปฏิบัติการวิเคราะห์ “ทุน” ของ “มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย” ทั้งทุนกายภาพ ทุนมนุษย์ ทุนเครือข่าย และอื่น ๆ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาโครงการพัฒนาศักยภาพบุตลากรและพระนิสิต/นักศึกษา เพื่อผลักดันและส่งเสริมให้สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมหรือโครงการที่เป็นประโยชน์ไปสู่ “ชุมชนสุขภาวะ”
R2 บุคลากร “มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย” ทั้งสายวิชาการและสายปฏิบัติการวิชาชีพกว่า 50 รูป/คน ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง มีความรู้ความเข้าใจในความสำคัญ บทบาท และกระบวนการขับเคลื่อนงาน “สร้างเสริมสุขภาพ” การจัดทำแผนงาน โครงการ รวมถึงวิสัยทัศน์และพันธกิจของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มากยิ่งขึ้น
R3 พัฒนา Concept Paper ยกร่างแผนงาน โครงการ “การพัฒนาแกนนำศาสนบุคคล เพื่อศาสนกิจในการสร้างสังคมสุขภาวะ” และภายใต้แผนงาน โครงการนี้
Obj> กำหนดวัตถุประสงค์ไว้อย่างน้อย 4 ประการ คือ
O1 พัฒนาหลักสูตรและคู่มือการฝึกอบรมที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
O2 พัฒนาแกนนำศาสนบุคคล เพื่อศาสนกิจในการสร้างสังคมสุขภาวะ
O3 พัฒนานวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาวะของกลุ่มบุคคลและชุมชนระดับพื้นที่
O4 พัฒนาพื้นที่ต้นแบบ “ชุมชนสุขภาวะวิถีพุทธ”
TG> มีกลุ่มเป้าหมายหลักจำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่
TG1 กลุ่มพระนักศึกษา ซึ่งมีจำนวนกว่า 1,000 รูป
TG2 กลุ่มแม่ชีนักศึกษา ซึ่งมีจำนวนกว่า 100 คน และ
TG3 กลุ่มพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน พระวิทยากรและพระนักเทศน์ ซึ่งมีจำนวนกว่า 5,000 รูป
TG> นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเป้าหมายระดับบุคคลและชุมชนพื้นที่ต้นแบบในการสร้างเสริมสุขภาวะอีกจำนวนมาก ทั้งพื้นที่ซึ่ง “มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย” ได้มีส่วนร่วมดำเนินโครงการพัฒนามาก่อนและพื้นที่ใหม่ ๆ ที่มีความต้องการและมีความพร้อมในการขับเคลื่อนโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัย
Act> กิจกรรมสำคัญในแผนงาน โครงการ ได้แก่
Act1 กิจกรรมการพัฒนาหลักสูตร (Module) และคู่มือการฝึกอบรม “แกนนำศาสนบุคคล เพื่อศาสนกิจในการสร้างสังคมสุขภาวะ” ที่มีอัตลักษณ์ของ “มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย” ที่มีทั้งภาคทฤษฎี และการฝึกปฏิบัติการในพื้นที่
Act2 กิจกรรมการฝึกอบรม “แกนนำศาสนบุคคล เพื่อศาสนกิจในการสร้างสังคมสุขภาวะ” โดยความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่มาร่วมคิด ออกแบบกิจกรรม ฝึกอบรม ติดตามหนุนเสริมการลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติงานสร้างเสริมสุขภาวะของกลุ่มบุคคลและชุมชนต้นแบบ
Act3 กิจกรรมการถอดบทเรียนทั้งเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่ ค้นหานวัตกรรมการพัฒนาแกนนำศาสนบุคคลเพื่อศาสนกิจในการสร้างสังคมสุขภาวะ นวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาและสร้างเสริมสุขภาวะระดับบุคคลและระดับชุมชน และพื้นที่ต้นแบบในการแก้ปัญหาและสร้างเสริมสุขภาวะ
Act4 กิจกรรมการสื่อสารสาธารณะ เผยแพร่บทเรียน ขยายผลนวัตกรรม และต่อยอดสู่เป้าหมายการสร้างสังคมสุขภาวะ
@ ความร่วมมือระหว่างสองมหาวิทยาลัย นับเป็นจุดเริ่มต้นอันดีที่จะก่อให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคมสุขภาวะ ในพื้นที่เป้าหมายและสังคมไทย ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืนมากกว่าการทำงานอย่างโดดเดี่ยวเพียงลำพัง
>> “สังคมสุขภาวะ คือ สังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข คำถามคือ ‘จะทำอย่างไรที่จะนำไปสู่สังคมที่พึงปรารถนาได้?’ ในฐานะที่เราเป็นพระสงฆ์ หน้าที่ของพระสงฆ์คือการนำธรรมมาขัดเกลาตนเอง นำไปเผื่อแผ่ยังพระสงฆ์รูปอื่น ๆ และเผยแผ่ไปสู่คนในสังคม เพื่อให้พระสงฆ์เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และสร้างให้เกิดเป็นสังคมแห่งสุขภาวะที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง” << : พระมงคลธรรมวิธาน รองอธิการบดี ด้านกิจการคณะสงฆ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (22 ตุลาคม 2563)
xxxxx "เป็นหนึ่งเดียวกัน" xxxxx ครับ
>>>>>>><<<<<<<
ขอบคุณภาพ และศึกษาเพิ่มเติมที่:
ทีมวิจัย “โครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจสู่การสร้างสังคมสุขภาวะ”
https://www.buddhistfordev.com/event125...
https://www.thaihealth.or.th/Content/44084-ทำความรู้จัก"ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์".html
https://www.csdi.or.th/2018/08/ยุทธศาสตร์ปฏิรูประบบสา-2/
https://www.nationalhealth.or.th/taxonomy/term/520
http://stud.mcu.ac.th/sas/
https://www.thaihealth.or.th/Aboutus.html
https://www.facebook.com/phanomnakorn.me/videos/3553240781365741
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น