วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2563

"นิยม" จี้ กมธ.ศาสนาฯสภาฯ สอบพฤติกรรม "พศ." หลังศาลอุทธรณ์ยกฟ้องอดีตพระพรหมดิลก


วันที่ 9 ต.ค.2563  ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 1  อาคารรัฐสภา นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานคณะ กมธ. การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม คนที่สาม รับยื่นหนังสือจากนายนิยม เวชกามา ส.ส.พรรคเพื่อไทย และคณะ เพื่อขอให้คณะ กมธ. ใช้อำนาจพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  กรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมจากการที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นผู้ยื่นฟ้องอดีตพระพรหมดิลก อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา อดีตเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และอดีตกรรมการมหาเถรสมาคม ประเด็นการรับเงินจากสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และได้มีการใช้เป็นประเด็นข่าวว่าเป็น "เงินทอนวัด" โดยขอให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาตรวจสอบในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1.การแถลงข่าวของนายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ต่อกรณีของอดีตเจ้าคุณพระพรหมดิลก โดยมิได้รู้เห็นและรับทราบถึงข้อเท็จจริงในการเนินการให้มีการลาสิกขาตามกฎหมาย ในวันที่ 24  พ.ค. 2561  นั้น อาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญของอดีตท่านเจ้าคุณพระพรหมดิลกและต่อพระภิกษุรูปที่เหลือซึ่งถูกจับกุมในวันเดียวกัน

2. จะมีการกำหนดกรอบในการดำเนินการหากกฎหมายและกรอบทางพุทธบัญญัติ (พระวินัย) ต่อกรณีของอดีตท่านเจ้าคุณทั้ง 7  รูป ซึ่งถูกจับกุมดำเนินคดีเมื่อวันที่ 24  พ.ค.2561 เพื่อให้เกิดความชอบธรรมและความเหมาะสม ที่สามารถดำเนินการโดยไม่กระทบต่อศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยและทั่วโลก

3. พิจารณาดำเนินการต่อไปว่าหากคดีของอดีตท่านเจ้าคุณทั้ง 7 รูป ลุล่วงไปถึงศาลฎีกา และศาลฎีกามีคำพากษายกฟ้อง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในฐานะโจทก์ผู้ฟ้องร้องพระภิกษุหรืออดีตท่านเจ้าคุณเหล่านั้น จะดำเนินการรับผิดชอบต่อความเสียหายต่อตัวปัจเจก ซึ่งก็คืออดีตท่านเจ้าคุณที่ถูกจับและความรู้สึกของพุทธศาสนิกชนอันเป็นส่วนสาธารณะอย่างไร เพื่อให้เกิดข้อยุติต่อพุทธศาสนิกชนที่ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวและเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อพระภิกษุผู้ถูกดำเนินคดีต่อไป

นายเพชรวรรต กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า จะขอรับเรื่องดังกล่าวเข้าบรรจุในระเบียบวาระการประชุมคณะ กมธ. ในครั้งต่อไป เพื่อศึกษาและพิจารณา พร้อมจะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมเพื่อชี้แจงและให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ "ปารายนวรรค...