วันที่ 27 ต.ค. 2564 เวลา 12.00 น. ที่ห้อง CA303 อาคารัฐสภาเกียกกาย นายพิศัณย์ มณีวรรณ์ เลขาธิการสมาพันธ์ครูโรงเรียนปริยัติธรรม เปิดเผยว่า ตัวแทนคณะครูโรงเรียนปริยัติธรรม 10 คนจากผู้เข้ามายื่นหนังสือที่รัฐสภาเกียกกาย ได้มีการประชุมร่วมในคณะอนุกรรมาธิการฯพุทธศาสนาฯ ในคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม โดยมี ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล เป็นประธาน พร้อมด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ได้แก่ ผู้แทนปลัดกระทรวงการคลัง ผู้แทนกรมบัญขีกลาง ผู้แทนเลขาธิการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ผู้แทนเลขาธิการกฤษฎีกา และผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องเงินเดือน เงินตอบแทน เงินประจำ ตำแหน่ง ตามพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2562
โดย ดร.เพชรวรรต กล่าวว่า เป็นการติดตามผลจากการประชุมครั้งก่อน โดยมีผู้แทนครูเข้าร่วมรับฟังและสังเกตการณ์ โดยได้ข้อสรุปดังนี้
1. ผู้แทนกระทรวงการคลังได้แจ้งว่าไม่ติดใจในประเด็นข้อสงสัยในครั้งก่อนเรื่อง เงินเดือน เงินตอบแทน เงินประจำ ตำแหน่ง และพร้อมที่จะจัดสรรให้ตามกรอบที่เสนอเมื่อกฤษฎีกาได้ตีความกฎหมายลูกแล้ว แต่ได้ตั้งประเด็นข้อสงสัยในประกาศของ คณะกรรมการบริหารงานบุคคล (กปบ.) ว่าด้วยเรื่องเงินเดือน เงินค่าตอบแทน และเงินประจำตำแหน่ง ว่าอาจเป็นการออกกฎหมายลูกที่เกินอำนาจหรือไม่จะได้ขอให้คณะทำงานของกฤษฎีกาได้ตีความในประเด็นดังกล่าวเพื่อไม่ให้เป็นข้อสงสัยกับหน่วยงาน อื่นๆ เพราะกฎหมายลักษณะนี้ยังไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งจะมีการนัดหมายประชุมเร่งด่วนในวันที่ 3 พฤศจิกายน นี้
2. ผู้แทนเลขาธิการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก็เช่นเดียวกันไม่ขัดข้องในเรื่องอัตรากำลังที่คณะกรรมการบริหารบุคคล (กบป.) ได้กำหนด
3.ผู้แทนเลขาธิการกฤษฎีกา จะเร่งนำเอาข้อกฎหมายนำไปเข้าคณะกรรมการใหญ่เพื่อหารือและแก้ข้อกฎหมายไปตามกรอบของกฎหมายที่ พ.ร.บ. ได้บัญญัติและให้อำนาจไว้ โดยจะทำงานเป็นไปอย่างคู่ขนานร่วมกับกระทรวงการคลัง โดยคาดว่าจะใช้เวลาทั้งสิ้นภายใน 2 เดือน ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้ตอบรับว่าเห็นด้วยที่จะดำเนินไปในกรอบเวลานี้
4. ผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) โดยท่านที่ปรึกษาได้ชี้แจงว่ากฎหมายดังกล่าวเคยมีมาแล้วเช่นของ กรมสอบสวนพิเศษ (DSI) ซึ่งสามารถเทียบเคียงได้ นอกจากนี้ยังได้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่การศึกษาพระปริยัติธรรม (จศป.) ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดูแลอยู่ตอนนี้พร้อมแล้ว หากกฤษฎีกาให้ความชัดเจน ก็พร้อมจะประสานงานกับหน่วยงานทั้งสามอย่างใกล้ชิด และแก้ไขทันทีตามที่ร้องขอ
ด้านนายพิศัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ วันที่ 17 เมษายน 2562 ถึงวันนี้รวมแล้ว 800 กว่าวัน ซึ่งนั่นคือเกือบ 3 ปี แต่ยังไม่สามารถนำมาบังคับใช้ ให้ครูบุคลากรได้รับสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ตามพระราชบัญญัติฯ คณะกรรมาธิการจึงได้สอบถามถึงแนวทางการทำงานของทั้ง 4 หน่วยงานเพื่อให้เกิดความรวดเร็วและไม่ย้อนแย้งกันจึงขอให้ดำเนินการแบบคู่ขนาดเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว นอกจากนี้คณะกรรมาธิการยังได้สรุปย้ำทุกหน่วยงานว่ามันเป็นความเดือดร้อนของครูบุคลากรขอให้ทุกภาคส่วนได้เห็นความสำคัญ รีบดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเฉพาะสำนักงานกฤษฎีกาที่จะเป็นกุญแจไขปมของ พ.ร.บ.นี้
ผู้แทนครูได้ขอบคุณคณะกรรมาธิการที่ได้เป็นหน่วยงานกลางในการประสานทุกภาคส่วนให้ได้มาร่วมกันหาทางออกซึ่งไม่ใช่การหาช่องโหว่ของกฎหมาย ที่ทำให้ช้าลงเพราะที่ผ่านมาก็ล่าช้าอยู่แล้ว ทั้งที่กระทรวง ทบวงอื่นก็มีการจัดการศึกษาเช่นกัน แต่กลับได้รับสนับสนุนจากรัฐอย่างเพียงพอ ซึ่งต่างจากโรงเรียนพระปริยัติธรรมของเราที่เปิดทำการมากว่า 40 ปี ยังไม่ได้รับสิทธิใดเลย
ด้าน นายสิทธิเณศ เห้งทับ เลขาธิการสมาคมครูปริยัติธรรมภาคใต้ วันนี้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศกว่า 100 คน จากครูทั้งหมด 4,784 คน ได้รับฟังการแถลงข่าวหลังการประชุมของคณะกรรมาธิการที่รัฐสภาแห่งนี้ ซึ่งหากยังไม่สามารถได้รับสิทธิอันพึงมีพึงได้ตาม พ.ร.บ.ตามที่แจ้งแล้ว คณะครูทั้งหมดคงจะต้องได้มาขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมาธิการอีกครั้ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น