วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2564

หัวหน้าพรรคเสมอภาคเสนอ ตั้ง"สภาธรรม"ทุกจังหวัด ฆราวาสมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนก่อนปลดพระสงฆ์


"รฎาวัญ"เสนอให้ฆราวาสมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนก่อนปลดพระสงฆ์ โดยการตั้ง"สภาธรรม"ทุกจังหวัด มีฆราวาสร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อปกป้องสาวกของพระพุทธเจ้า 

วันพุธที่ 6 ตุลาคม 2564 นางรฎาวัญ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน และ หัวหน้าพรรคเสมอภาค กล่าวว่า รู้สึกสะเทือนใจมากที่มีข่าวประชาชนออกมาคัดค้าน เรียกร้องขอความเป็นธรรม กรณี มหาเถรสมาคมมีคำสั่งปลดเจ้าอาวาสถึง 3 วัด โดยไม่รู้ว่ามีความผิดอะไร พระสงฆ์ที่ถูกปลดล้วนเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนในชุมชน เหมือนเป็นการถูกกลั่นแกล้ง เป็นการทำลายภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ และพระพุทธศาสนา อย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในประเทศที่มีประชาชนนับถือศาสนาพุทธ 93% เช่นนี้ 

นางรฎาวัญ กล่าวอีกว่า การลงโทษทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการปลดออกจากตำแหน่งหน้าที่ หรือ การสั่งให้ปาราชิก กับพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนานั้น สมควรให้ประชาชนหรือฝ่ายฆราวาส เข้าไปมีส่วนร่วมพิจารณาในทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ การรับข้อกล่าวหา การสืบสวนสอบสวน และการวินิจฉัยความผิด ซึ่งตนมีความเห็นว่า ควรจะมึการตั้ง "สภาธรรม" ในระดับชาติ และระดับจังหวัด ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีตัวแทนพุทธบริษัทสี่ ซึ่งจะมีประชาชน (อุบาสก อุบสิกา) ร่วมเป็นคณะกรรมการสภาธรรมทุกระดับด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อพระภิกษุสงฆ์ทุกรูป ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้พระพุทธศาสนาประกอบด้วย "พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์" เรียกว่า "พระรัตนตรัย" โดยที่พระสงฆ์คือผู้ทำหน้าที่ นำพระธรรมและคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เผยแผ่ให้ประชาชนรับรู้และนำไปปฏิบัติให้ชีวิตอยู่เย็นเป็นสุข มีสังคมคุณธรรม เกิดสันติสุข 

ทุกวันนี้พระสงฆ์ ไทยได้ทำหน้าที่สั่งสอน อบรมให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยดำเนินชีวิต และแก้ไขปัญหาชีวิตด้วยหลักธรรมและคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่งของประชาชนในยามทุกข์ร้อนกายและใจได้ไม่น้อย ดังนั้น การจะกล่าวหา จะลงโทษพระภิกษุสงฆ์แต่ละรูป ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ จึงควรให้ประชาชนหรือฝ่ายฆราวาสมีส่วนร่วมพิจารณาตัดสินในทุกขั้นตอนจึงจะเกิดความเป็นธรรม เพื่อปกป้องสาวกของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงมอบให้พุทธบริษัทสี่ คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ช่วยคุ้มครองรักษาพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองและยั่งยืนยาวนาน ดังนั้นชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธทุกคนจึงมีหน้าที่สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนให้เป็นศาสนาประจำชาติไทยตลอดไป.

 



 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์กามสูตร

  วิเคราะห์กามสูตรในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 17 ขุททกนิกาย อุทาน 7. จูฬวรรค ในปริบทพุทธสันติวิธี: หลักธรรม ประยุกต์ใช้ บท...