พศ.แจงปม มติ มส.ปลด 3 เจ้าคณะจังหวัด มีมูลเหตุและหลักฐาน แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เป็นอำนาจเจ้าคณะปกครองสงฆ์ดำเนินการ ด้านที่ประชุม มส.วันนี้ ไม่นำเรื่องปลด 3 เจ้าคณะจังหวัดเข้าหารือ กมธ.ศาสนาฯสภาฯนัดสำนักพุทธฯ 14 ต.ค.แจงปมร้อนปลด 3 เจ้าคณะจังหวัด
วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม 2564 ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) พุทธมณฑล จ.นครปฐม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกเป็นองค์ประธานการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ผ่านระบบออนไลน์ โดยภายหลังการประชุม นายสิทธา มูลหงษ์ ผู้ตรวจราชการ พศ. ในฐานะโฆษก พศ. แถลงว่าที่ประชุมมหาเถรสมาคมในวันนี้ ไม่ได้นำประเด็นการปลด 3 เจ้าคณะจังหวัดคือ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ฉะเชิงเทรา และกาฬสินธุ์(ธ) เข้าหารือ โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะหน่วยงานที่ทำงานสนองคณะสงฆ์ ขอชี้แจงส่วนที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ดังนี้
1.การดำเนินการแต่งตั้งเป็นไปตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. คณะสงฆ์ (ฉบับที่4) พ.ศ. 2561 และ กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 24 (พ.ศ.2541) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2563
2.ที่มาการแต่งตั้งเจ้าคณะหน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 และเจ้าคณะภาคเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 ได้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมายกฎมหาเถรสมาคมหลักเดียวกัน ซึ่งมหาเถรสมาคมได้รับทราบขั้นตอน วิธีการ ดังกล่าวแล้ว
3.สำหรับการแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัด ที่มีมูลเหตุหลักฐานที่นำไปสู่การถอดถอน แต่งตั้งใหม่ นั้น ได้นำข้อมูลกราบเรียนให้เจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค ผู้ปกครอง ของเจ้าคณะจังหวัดนั้น ๆ รับทราบแล้ว ถึงปัญหาและเหตุผล ก่อนดำเนินการ
4.เรื่องดังกล่าวนี้ เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะปกครองที่จะดำเนินการตามแนวทางปกครองคณะสงฆ์
5.ส่วนกรณี อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช อดีตเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย มหาเถรสมาคมได้แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาเรียบร้อยแล้ว จึงได้แต่งตั้งทดแทนตำแหน่งที่ว่าง คือ เจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช และเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย
เมื่อถามว่าการปลดทั้ง 3 เจ้าคณะจังหวัดมีสาเหตุจากอะไร และร้ายแรงแค่ไหน นายสิทธา กล่าวว่าไม่สามารถตอบได้ ทุกอย่างได้ดำเนินตามบทบาทและหน้าที่ตามกฎหมาย ส่วนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการชุมนุมของพระสงฆ์และลูกศิษย์ที่ไม่เห็นด้วยกับมติของมหาเถรสมาคม เป็นสิทธิที่สามารถทำได้
สำหรับการปลด 3 เจ้าคณะจังหวัด เกิดขึ้นหลังจากที่ประชุมมหาเถรสมาคม มีมติเมื่อวันที่ 30 ก.ย.64 ให้ถอดถอนตำแหน่งพระสังฆาธิการ 3 รูป ได้แก่พระเทพสารเมธี เจ้าอาวาสวัดประชานิยม เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ พระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และพระราชปริยัติสุนทร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา
ขณะที่เพจสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้โพสต์ภาพและข้อความว่า
"วันจันทร์ที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๐๐ น. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๒๑ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔ โดยครั้งนี้เป็นประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์ (Zoom Meeting) มีกรรมการมหาเถรสมาคมเข้าร่วมประชุม การนี้นายสิปป์บวร แก้วงาม รองผู้อำนวยการรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทูลถวายเปิดการประชุม นายสิทธา มูลหงส์ โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นายสมบัติ พิมพ์สอน รองโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นายยุทธศักดิ์ แก้วพระพาน ผู้ช่วยโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม
โดยภายหลังการประชุม นายสิทธา มูลหงส์ โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นายสมบัติ พิมพ์สอน รองโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นายยุทธศักดิ์ แก้วพระพาน ผู้ช่วยโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แถลงข่าวการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๒๑/๒๕๖๔ ณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยมีมติที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
-การกำหนดมาตรการปฏิบัติในพิธีทอดพระกฐิน/กฐิน ตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID – 19)
มหาเถรสมาคมได้มีมติ เพื่อเป็นการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID - 19) และเพื่อเป็นการปฏิบัติตามข้อกำหนดของรัฐบาล ซึ่งออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๓๒) ในห้วงเวลาการจัดพิธีทอดกฐิน ประจำปี ๒๕๖๔ ระหว่างวันที่ ๒๒ ตุลาคม - ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ จึงเห็นควรกำหนดมาตรการให้ทุกวัดดำเนินการ ดังนี้
๑.การจัดพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานให้เป็นไปตามที่กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม กำหนด
๒.การจัดพิธีถวายผ้ากฐินพิธีราษฎร์ให้ปฏิบัติโดยอนุโลมตามมาตรการจัดพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี ๒๕๖๔ ดังนี้
๒.๑ ผู้เข้าร่วมพิธีฯ จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ไม่เกิน ๒๕ คน ,พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) ไม่เกิน ๕๐ คน และพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) ไม่เกิน ๑๐๐ คน
ทั้งนี้ ให้เว้นระยะห่าง ประมาณ ๑.๕ - ๒ เมตร ต่อคน ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
๒.๒ ผู้เข้าร่วมพิธีถวายผ้ากฐิน ต้องได้รับการฉีดวัคซีน ๒ เข็ม หรืออย่างน้อย ๑ เข็ม แอสตราเซนิกา,ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ,จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน มาแล้วเป็นระยะเวลาอย่างน้อย ๑๔ วัน แต่ผู้เข้าร่วมพิธีที่เดินทางข้ามเขตพื้นที่ต้องมีใบรับรองการตรวจเชื้อ COVID – 19 โดยมีระยะเวลาไม่เกิน ๗๒ ชั่วโมง
๒.๓ จำนวนพระสงฆ์ให้พิจารณาตามความเหมาะสม และให้เว้นระยะห่างประมณ ๑.๕ - ๒ เมตรต่อรูป และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาในขณะเข้าร่วมพิธี
๒.๔ ขอความร่วมมืองดพิธีสมโภชน์องค์กฐิน และงดการตั้งขบวนอัญเชิญองค์กฐิน
๒.๕ กำหนดให้มีจุดตรวจคัดกรองผู้ร่วมพิธี
๒.๖ จัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ตามจุดต่างๆ ในสถานที่จัดพิธี
๒.๗ ให้ผู้เข้าร่วมพิธีสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะเข้าพิธี
๒.๘ ให้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และปฏิบัติตามประกาศ/คำสั่งของจังหวัดอย่างเคร่งครัด
๓. ให้เจ้าคณะผู้ปกครองทุกระดับกำชับให้วัดในเขตการปกครองปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID – 19) ตามประกาศของรัฐบาล หรือข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข หรือตามมาตรการที่คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดในเขตพื้นที่นั้นๆ กำหนด อย่างเคร่งครัด
- การแต่งตั้งพระสังฆาธิการ จำนวน ๑๐ รูป
- การเปลี่ยนแปลงชื่อวัด จาก วัดกงหิต เป็นวัดลำสินธุ์ ที่ตั้งอยู่ในอำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง
กมธ.ศาสนาฯสภาฯนัดสำนักพุทธฯ 14 ต.ค.แจงปมร้อนปลด 3 เจ้าคณะจังหวัด
ขณะที่นายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เพชรบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า กมธ.การศาสนา นัดประชุมวันที่ 14 ต.ค. เวลา 11.00 น. มีวาระพิจารณาเรื่องขอความเป็นธรรมกรณีพระสังฆาธิการถูกถอดออกจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด จำนวน 3 รูป ได้แก่ พระธรรมรัตนาภรณ์ (สมศักดิ์ โชตินฺธโร) อดีตเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี พระเทพสารเมธี (บัวศรี ชุตินฺธโร) อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธรรมยุต) และพระราชปริยัติสุนทร (อมรภิรักษ์ ปสนฺโน) อดีตเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา โดย กมธ.ศาสนาฯ ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ให้ส่งตัวแทนเข้าชี้แจง เบื้องต้นคาดว่าเป็นนายสิปป์บวร แก้วงาม รองผู้อำนวยการ พศ. โดย กมธ.ต้องการรับทราบข้อเท็จจริงเพื่อทำให้เกิดความชัดเจนแต่ไม่ถึงขั้นต้องเรียกเอกสารใดๆ เพียงแค่อยากรับทราบข้อเท็จจริงในรายการที่สามารถเปิดเผยได้
ผู้สื่อข่าวถามถึง กรณีที่นายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ระบุว่า กมธ.ศาสนาฯ ควรเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพราะกังวลมีการทำเอกสารย้อนหลัง นายสุชาติ กล่าวว่า เป็นข้อกล่าวหานายนิยม แต่กรณีดังกล่าว กมธ.ศาสนาฯ ไม่ถึงขั้นต้องเรียกเอกสาร เพราะตามกฎมหาเถรสมาคม ปี 2563 รู้ว่าอำนาจหน้าที่เป็นของฝ่ายใด
นอกจากนี้ นายสุชาติ ยืนยัน กมธ.การศาสนาฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกรณี พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต วัดสร้อยทอง ไลฟ์สดว่ามีแรงกดดันอาจถูกจับสึก และไม่ทราบพระมหาสมปองถูกกดดันจากเรื่องใด แต่ส่วนตัวเชื่อไม่ใช่เรื่องใหญ่เพราะพระมหาสมปอง ไลฟ์เป็นกิจวัตรประจำวัน ส่วนที่แสดงความรู้สึกเพราะมีผู้ชมเยอะ
ควรแยกการปกครองคณะสงฆ์ทั้งแผ่นออกจากคฤหัสถ์ เนื่องจากขาดความรู้และความเข้าขาดความชัดเจนตั้งแต่แรก คลุมเครือมาก
ตอบลบ