วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ผอ.หลักสูตรสันติศึกษา มจร" เล็งตั้งร.ร.สันติศึกษา มุ่งพัฒนาฐานรากของชุมชน



วันที่ ๑๗   ตุลาคม  ๒๕๖๔  พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เลขาศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร  เปิดเผยว่า หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานครูพระสอนศีลธรรม มจร และสถาบันอาศรมศิลป์ โรงเรียนรุ่งอรุณ จัดเวทีสันติสนทนา หัวข้อ “การศึกษาเพื่อสันติภาพ: โรงเรียนวิถีพุทธต้นแบบเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนสำหรับนิสิตระดับปริญญาโทและปริญญาเอก หลักสูตรสันติศึกษา มจร โดยมีพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ศาสตราจารย์ ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษาและผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร กล่าวปาฐกถานำภายใต้หัวข้อ “พระพุทธเจ้าวางระบบการศึกษาเพื่อสันติภาพอย่างไร” 

พระมหาหรรษา  กล่าวประเด็นสำคัญว่า การจะเข้าถึงคุณค่าแท้ของสันติศึกษาจะต้องมองการศึกษาถือว่าเป็นสันติวิธี ให้ความสำคัญกับสันติวิธีซึ่งจะสามารถเข้าถึงในเรือนใจ จึงต้องมองเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งการศึกษาเป็นฐานในความเท่าทียมของคนในสังคมให้การอยู่ร่วมกัน เรื่องการศึกษาที่มีคุณภาพถือว่ามีความสำคัญ โดยยูเนสโกวางเป้าหมายของการศึกษาซึ่งเป็นเพื่อการตอบโจทย์ ประกอบด้วย “การศึกษาเพื่อการพัฒนาศักยภาพตอบโจทย์ความรู้   การศึกษาเพื่อพัฒนาสมรรถภาพให้มีทักษะเชี่ยวชาญ  การศึกษาเพื่อพัฒนาสัมพันธภาพสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ และการศึกษาเพื่อพัฒนามนุษยภาพให้มีความเป็นมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ให้สามารถเข้าถึงความจริงสูงสุด” 

ส่วนการศึกษาทางพระพุทธศาสนาการศึกษาหรือสิกขาหมายถึง เห็นรู้จักตนเองอย่างชัดแจ้ง    โดยหลวงพ่อพุทธทาสจึงมองว่าต้องเข้าใจตนเอง เห็นประจักษ์ในตนเองเห็นกิเลสของตนเอง การศึกษาจึงต้องเห็นและรู้จักตนเอง การศึกษาจึงนำไปสู่การพัฒนาขันธ์ ๕ แต่สรุปเพียงร่างกายและจิตใจ การศึกษาภายนอกคือกายมุ่งเน้นอาชีพ แต่การศึกษาภายในคือการพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น จิตใจจะต้องมีสุขภาพใจดีเป้าหมายสำคัญในการศึกษาทางพระพุทธศาสนาจะต้องพัฒนาจิตใจให้มีความสมบูรณ์จะเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงคุณค่าภายในและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายนอก พระพุทธเจ้าทรงย้ำว่า “สนฺติ เมว สิกฺขาย พึงศึกษาสันติเท่านั้น”       

เพื่อค้นหาสันติสุขในเรือนใจของแต่ละคน ซึ่งการศึกษาเป็นไปเพื่อนำพาตนเองค้นพบในเรือนใจและนำคนไปอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เครื่องมือที่จะนำไปสู่สันติสุขคือ “จงพอกพูนสันติวิธีเท่านั้น สนฺติ มคฺค เม ว พรูหย” โดยใช้มรรค ๘ โดยสรุปย่อประกอบด้วย ปัญญาสิกขา สีลสิกขา จิตตสิกขา การเปลี่ยนแปลงจะต้องเปลี่ยนความคิดเปลี่ยนปัญญา (ปัญญาสิกขา) นำไปสู่การปรับพฤติกรรมให้ดีขึ้นสามารถเตือนตนเองได้ (สีลสิกขา)  และนำไปปฏิรูปใจของตนเอง (จิตตสิกขา) โดยปธาน ๔ จะนำไปสู่การคิดที่มีความเปลี่ยนแปลง  การศึกษาจะต้องนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข จึงต้องนำแนวคิดนี้ไปออกแบบหลักสูตรในการพัฒนาคนในสังคมเพราะออกแบบโดยพระพุทธเจ้า การศึกษาภายนอกสามารถรับปริญญานอกผ่านไปสู่การกินกามเกียรติ             

ส่วนการศึกษาภายในคือปริญญาในกำหนดรู้รูปนามของตนเอง (Inner Education)  ผ่านความสะอาด สงบ สว่างของจิตใจ การศึกษาจะต้องเปลี่ยนจากภายในก่อนจึงสามารถเปลี่ยนแปลงจากภายนอก โดยมองภูเขาน้ำแข็งเป็นการเปลี่ยนแปลงข้างนอก โดยมุ่งธรรมชาติสิ่งแวดล้อม อาชีพ และสุขภาพชุมชนสังคม แต่การศึกษาเปลี่ยนแปลงภายใน คือ นำไปสู่การพัฒนาจิตใจและปัญญา ซึ่งมีความหวังจะตั้งโรงเรียนในพื้นที่ชุมชนเป็นการศึกษาทางรอดของคนในสังคมต่อไป

รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม  อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ เจ้าของรางวัลการส่งเสริมการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากมูลนิธิการศึกษาเพื่อสันติภาพพระธรรมปิฎก (ปอ.ปยุตฺโต) และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุ่ณ โดยแลกเปลี่ยนภายใต้หัวข้อ “การศึกษาเพื่อสันติภาพ : โรงเรียนวิถีพุทธต้นแบบเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง” กล่าวประเด็นสำคัญว่า การศึกษาเป็นงานบุญเพราะเป็นการสร้างเยาวชนเป็นโอกาสที่หล่อหลอมเด็กเมื่อเด็กมาเข้ามาอยู่ร่วมกันในโรงเรียนโดยเริ่มจากปรับMindset ด้วยการหล่อหลอมจากการปั้นพระพุทธรูปด้วยการมีส่วนร่วมในการปั้นมองว่าพระพุทธเจ้าเคยเป็นเด็กมีการกล่าววาจาด้วยการมีสัจจวาจาของตนเอง เด็กทุกคนสามารถมีสัจจวาจาเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย โดยเด็กไม่ยากในการพัฒนาแต่ต้องจัดบรรยากาศที่มีความร่มรื่นอยู่ร่วมกับธรรมชาติ บรรยากาศภายนอกจะต้องเข้าไปมีส่วนสำคัญในการพัฒนาจิตใจของเด็กๆ มีการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการศึกษาที่แท้ของมนุษย์คือ การศึกษาพุทธธรรม เป็นการเรียนรู้ชีวิตเพื่อการพัฒนากาย จิตใจ ปัญญา ให้เกิดสันติสุขและร่วมสร้างสังคมสันติภาพ เป็นการจัดการศึกษาเพื่อเข้าไปสู่จิตใจ ด้วยการจัดการทางโลกแต่เติมให้สุดทางคือด้านจิตใจ การศึกษาพุทธธรรมจะต้องดำเนินตลอดเวลา ซึ่งการศึกษาพุทธธรรมหรือการเรียนรู้ชีวิตดำเนินไปตลอด มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียนหรือชั่วโมงเรียนพระพุทธศาสนา แต่จะต้องเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาทุกสถานการณ์  

จึงมองว่ากลัวสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนาจะหายไปจากหลักสูตรใหม่ จึงมองว่าสาระการเรียนพระพุทธศาสนาโดยมองวิธีการจัดการเรียนบนชีวิตและบริบทจริง โดยมองผลลัพธ์ที่พึงประสงค์สันติสุขและสันติภาพ โดยอาศัยปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ผ่านศีล สมาธิ ปัญญา ส่งผลต่อ สมรรถนะ พฤติกรรม เจตคติ       โดยหลวงปู่เทศก์ เทสรังสี กล่าวว่า “ศึกษาธรรมะไม่ใช่การเรียนปริยัติ แต่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติด้วยตนเองเพื่อให้เกิดปฏิเวธ”  ซึ่งจุดอ่อนการจัดการศึกษาในปัจจุบันไปไม่ถึงขั้นสูงสุดคือผลลัพธ์สุดท้าย เรียนในสิ่งที่ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง การจัดการศึกษาจะต้องเป็นสัปปายะโดยมีธรรมชาติที่สงบร่มรื่นเป็นพื้นฐานของจิตใจที่เป็นกุศลพร้อมที่จะเปิดรับการเรียนรู้ที่ละเอียดอ่อนและลึกซึ้งนำไปสู่การพัฒนาสติปัญญา โดยรุ่งอรุณสร้างธรรมชาติก่อนสร้างอาคารเพราะให้คนได้เรียนรู้อยู่กับธรรมชาติ รุ่งอรุณเรียนรู้อย่างมีความสุข เรียนรู้ผ่านการลงมือทำให้เจอประสบการณ์ตรง ถือว่าเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้อย่างชัดเจน เอาชีวิตเป็นตัวตั้งไม่ได้เอาวิชาเป็นตัวตั้ง เด็กสามารถสร้างกระบวนการคิดเด็กสัมผัสของจริง  โดยมีครูและเด็กเรียนรู้ร่วมกันมีการมองโจทย์ร่วมกัน ให้สามารถคิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น โดยความพิเศษมีการเรียนรู้จากภายในคือจิตใจ    โดยเริ่มจากนักเรียนและครู ถือว่าเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ โดยใช้หม้อต้มยำหล่อหลอมให้คนอยู่ร่วมกันอย่างธรรมชาติและสันติสุข   

การศึกษาพระพุทธศาสนาในบริบทของโรงเรียนเริ่มจากอนุบาล ๓ ปี เรียนรู้จากสถานการณ์จริงใกล้ตัว สำหรับประถมศึกษา ๖ ปี ให้มีการปฏิบัติด้วยตนเองจากเรื่องที่สนใจหรือปัญหาตามวัย ระดับมัธยมศึกษา ๖ ปี เกิดผลเป็นความตระหนักรู้ในคุณค่าของตนเองและสรรพสิ่ง  พระพุทธเจ้าสอนใช้วิธีการสอนด้วยการนำเรื่องที่ใกล้ตัวมาสอนหรือเรื่องเล่าชาดกมาสอน สามารถเทียบเคียงกับประสบการณ์ของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี  ซึ่งการจัดการศึกษาเรามุ่งแต่ความรู้คือ K แต่เราไปไม่ถึงการตระหนักรู้ เรามุ่งวัดแต่ความรู้แต่ไปไม่ถึงการตระหนักรู้ จึงเห็นว่า ๑๕ ปี ไม่ได้ผลเพราะไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลง แท้จริงผู้เรียนจะต้องนำไปใช้ได้และสามารถแนะนำคนอื่นได้ด้วย การศึกษาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนจะต้องให้เกิดผลต่อผู้เรียนและบูรณาการไปสู่วิชาอื่นๆ ด้วย ซึ่งกลุ่มสาระการเรียนรู้เชิงสรรถนะของโรงเรียนรุ่งอรุณ มี ๖ ด้าน ประกอบด้วย กลุ่มที่ ๑ การเข้าถึงระบบคุณค่าชีวิต กลุ่มที่ ๒ การคิดด้วนระบบคุณค่าและการสื่อสารด้วยภาษาอย่างฉลาดรู้  กลุ่มที่ ๓ ฉลาดรู้ระบบธรรมชาติวิทยาการและเทคโนโลยีใฝ่รู้ตนเองและเทาทันสถานการณ์  กลุ่มที่ ๔ รู้จักสัมมาชีพฉลาดรู้ในการประกอบการ เข้าใจระบบเศษฐศาสตร์  กลุ่มที่ ๕ การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง วัฒนธรรม สังคม  กลุ่มที่ ๖ สมดุลสุขภาวะกายจิตด้วยศิลปะ ดนตรี กีฬา สุนทรียธรรม  โดยสถานการศึกษาควรจัดจัดการศึกษาของตนเองที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตผู้เรียน จึงต้องพัฒนาไปสู่และสอดรับกับสมรรถนะที่เป็นสากล โดยมองถึง “ความรู้  ทักษะ ทัศนคติและคุณค่าของชีวิต” โดยสามารถนำไปปฏิบัติได้ 

ในระดับประเทศมองถึงยุทธศาสตร์การศึกษาของชาติมองว่า  “ผู้เรียนรู้ ผู้ร่วมสร้างนวัตกรรม และการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง” โดย ๖ สมรรถนะของกรอบหลักสูตรการศึกษาฐานสมรรถนะ (สพฐ) พ.ศ.๒๕๖๔ ประกอบด้วย “การจัดการตนเอง การคิดขั้นสูง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน”  โดยนำไปสู่คิดได้ ทำเป็น เห็นคุณค่า จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโรงเรียนอย่างเป็นระบบ โดยออกแบบการจัดการเรียนรู้ในบริบทของตนเองแต่สอดรับกับยุทธศาสตร์ที่บูรณาการมีการจัดการศึกษาที่มีอิสรภาพในการจัดการศึกษา จึงต้องมีสมรรถนะของผู้เรียนของอัตลักษณ์ตามบริบทและสอดรับกับกระทรวงศึกษาธิการ  โดยการจัดการศึกษาจะต้องให้เด็กทำงานเป็นทีมฝึกทักษะการใช้ชีวิตให้เติบโตเป็นคนที่พึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเด็กทำไปเล่นไปเรียนรู้อย่างมีความสุข เด็กจะต้องเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงผ่านการลงมือทำ เพราะเด็กแท้จริงจะต้องเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง จึงต้องออกแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนตามสภาพจริง โดยมีแบบประเมินผลรายบุคคลมุ่งเห็นความก้าวหน้าของเด็ก ไม่ได้วัดซึ่งเปรียบเทียบกับคนอื่น  ประกอบด้วย  “พฤติกรรมบ่งชี้ ร่องรอยการเรียนรู้ของเด็ก สะท้อนความรู้สึก สะท้อนความรู้สึกของครู ส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวก และบันทึกความก้าวหน้า”  โดยนำหลักพุทธธรรมเป็นฐานการจัดการเรียนการสอนที่สอดรับกับผู้เรียน เช่น มงคล ๓๘  ประการ นับว่าเป็นการจัดการศึกษาที่เหมาะสมยิ่งนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ธรรมะกับประชาธิปไตยไยห่วงใยสถาบันศาสนา

การวิเคราะห์ประชาธิปไตยในปริบทพุทธสันติวิธีชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ในระบอบประชาธิปไตย เพื่อลดความขัดแย้ง สร้างควา...