โครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ที่มี "พระธรรมวินัยเป็นฐาน" โดย.. พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,ศ.ดร. ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ มจร
เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า เพราะเหตุใด? พระพุทธเจ้าในฐานะเคยเป็นลูกกษัตริย์มาก่อน แต่เมื่อตรัสรู้ธรรมแล้ว กลับออกแบบ และจัดวางโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ไปคนละทิศคนละทางกับแนวทางการปกครองของพระเจ้าสุทโธทนะที่เป็นพระราชบิดา
คำตอบที่เห็นได้อย่าง แจ้งชัดจากพระปัญญาผ่านประสบการณ์จากการปฏิบัติอย่างลึกซึ้งก็คือ เพราะโครงสร้างการปกครองของพ่อไม่เหมาะ หรือไม่เอื้อต่อการเข้าถึงความจริงสูงสุด เพราะเต็มไปด้วยสิ่งฉาบทามากมายที่เป็นกับดักและขัดขวางทางสู่นิพพาน
ภายใต้โครงสร้างเน้น อาวุโส ภันเต เคารพกันด้วยพรรษา และภูมิธรรม ยามเกิดปัญหา หรือความขัดแย้งระหว่างกันก็ให้นำหลักอธิกรณสมถะมาเป็นเครื่องมือประนีประนอม และตัดสินถูกผิด แยกอำนาจการบริหารจัดการ ติดขัดประเด็นเกี่ยวกับพระธรรมก็ให้พระธรรมธรช่วยชี้แนะ ตัดขัดพระวินัยก็ให้กลุ่มพระวินัยธร ช่วยหาทางออกอย่างละมุนละม่อม
ด้วยพระสัพพัญญุตญาณที่หยั่งรู้ผลที่จะเกิดตามมาในอนาคต จึงได้ย้ำเตือนก่อนปรินิพพานว่า “โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย”
น่าสนใจมากกว่า เพราะเหตุใด? จึงไม่ฝากศาสนาเอาไว้กับคน หรือแต่งตั้งคนใดคนหนึ่งมารับภาระกิจการงานพระศาสนาต่อไป
คำตอบก็เป็นดังที่เราได้เห็นสถานการณ์มากมายที่เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาในขณะนี้ เราไม่อาจคว้าคนหรือพึ่งพาคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเอาไว้ได้
ฉะนั้น ธรรมวินัยเท่านั้นจะคงยังลอยเด่นเป็นศาสดาให้เราได้สอบทานปรึกษาหารือว่านั่นเป็นธรรม นั่นเป็นวินัย หรือนั่นไม่ใช่ธรรม นั่นมิใช่วินัย
ผิดต่อธรรมวินัยก็คือผิดต่อพระศาสดา รักษาธรรมวินัยไม่ได้ก็รักษาศาสดาเอาไว้ไม่ได้ ในบรรดาความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็เพราะพุทธศาสนิกหลุดลอยจากพระธรรมวินัย การออกกฏหมาย การอธิบาย และตีความหลักการต่างๆ จำต้องให้อยู่ในกรอบของพระธรรมวินัยให้จงมั่น
หาไม่แล้ว จักเข้าตำรา “หวังดีแต่ปรารถนาร้าย” ด้วยมุ่งหวังประโยชน์ส่วนตนหรือกลุ่มตน ไม่ต้องไปสนใจพระธรรมวินัย ยิ่งกฏหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 67 มุงเน้นให้ปฏิบัติตามกรอบ “พระพุทธศาสนาเถรวาท” ด้วยแล้ว เราก็ควรต้องสำเหนียกและใส่ใจประเด็นนี้ให้มาก
จะคิด พูด หรือกระทำการณ์สิ่งใด โปรดเงยหน้าดูธรรมวินัยที่เป็นศาสดาเอาไว้บ้างเถิด ทั้งหมดมิใช่เพื่อประโยชน์ของผู้ใด หากแต่เพื่อความมั่นคง ตั้งมั่น สถาพร ของพระพุทธศาสนาเถรวาท อีกทั้งรักษาพระพุทธศาสนาที่ออกแบบโดยมนุษย์ ได้ยังทำหน้าที่เป็นภูมิปัญญาของโลกมนุษย์ เพื่อเกื้อกูล และความสุข และอนุเคราะห์ชาวโลกตราบนานเท่านาน..
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น