วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2564

"เพชรวรรต"ชี้อดีตพระยันตระ อาจไม่เข้าข่ายเป็น "พระสงฆ์เถรวาทไทย"


วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม 2564 ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา ได้ทำหนังสือด่วนร้องเรียนไปยังมหาเถรสมาคม ผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้ดำเนินการเอาผิดอดีตพระยันตระ หรือนายวินัย ละอองสุวรรณ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.208 ประกอบ พรบ.คณะสงฆ์ 2505 มาตรา29 นั้น หากพิจารณาตามการแถลงการณ์ของอดีตพระยันตระที่ลี้ภัยไปอยู่สหรัฐอเมริกากว่า 30 ปี เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าอาจไม่ใช่พระสงฆ์ในนิกายเถรวาทของไทย เพราะด้วยรูปแบบการแต่งกายที่ไม่ใช่รูปแบบการแต่งกายแบบสงฆ์ไทย การไม่ตัดผมไม่โกนหนวด 

อีกทั้งหนังสือเดินทางก็เป็นของประเทศสหรัฐอเมริกา หมายเลข 488481994 ระบุชื่อ "อมโรภิกขุ" สัญชาติอเมริกัน ซึ่งโดยกรอบกฎหมายที่จะเอาผิดบุคคลต่างสัญชาติที่แต่งกายแบบสงฆ์นิกายอื่น เช่น มหายาน วัชรยาน ตันตระยาน นิกายชินโต (แต่งงานได้) อาจขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึงไม่มีบทบัญญัติไว้ในกฎหมายของไทย อีกทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกามีบทบัญญัติ เกี่ยวกับเสรีภาพในการนับถือศาสนาในบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 1 (Amendment 1) กล่าวไว้ว่า “สภานิติบัญญัติจะต้องไม่ออกกฎหมายรับรอง การจัดตั้งศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือห้ามการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาโดยอิสระ” สำหรับกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทย 2560 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 31 ก็ได้เปิดช่องให้บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติ หรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตนฯ


ดร.เพชรวรรต กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้ได้มีมติมหาเถรสมาคม พิจารณาอธิกรณ์ปรับอดีตพระยันตระให้พ้นจากความเป็นพระภิกษุของไทยไปแล้ว ซึ่งสำหรับจะกระทำผิดวินัยร้ายแรงที่จะถึงขั้นปาราชิกหรือไม่นั้นก็จะมีแต่อดีตพระยันตระเท่านั้นที่รู้ กฎหมายบ้านเมืองไม่สามารถ “ขับความเป็นสงฆ์ให้พ้นจากความเป็นพระได้” ตามพระธรรมวินัย สำหรับประชาชนก็จะเป็นผู้ตัดสินได้เองว่ามีความถูกผิดอย่างไรตามหลักโยนิโสมนสิการอยู่แล้ว สำหรับการที่จะผิดกฎหมายประมวลกฎหมายอาญา ม.208 ประกอบ พรบ.คณะสงฆ์ 2505 มาตรา29 นั้น ตนเห็นว่าอดีตพระยันตระไม่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเถรวาทของไทยมานานแล้ว และกฎหมายสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่เห็นจะเอาผิดอดีตพระยันตระซึ่งอยู่สหรัฐอเมริกามากว่า 30 ปี 

สำหรับตนเห็นว่าอดีตพระยันตระควรชี้ให้ชัดว่าอยู่ในนิกายอะไรในประเทศไหน และทำให้ประจักษ์ว่ามิได้สร้างความเดือดร้อนรวมถึงไม่ได้ทำสิ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนคนไทย ไม่ได้ทำให้พุทธศาสนาเถรวาทของไทยเสียหาย ดังในสำนักสันติอโศก ได้ปฏิบัติ ประเทศชาติก็อยู่ด้วยกันได้ ต่างคนต่างทำความดีไม่ผิดต่อกฎหมาย สิ่งนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม อนึ่งการที่มีพระสงฆ์เถรวาทไทยได้เข้าไปกราบอดีตพระยันตระรวมถึงมีการออกกำลังกายโยคะที่อาจไม่เหมาะสมนั้น ตนเห็นว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาสามารถนำไปพิจารณาว่าถูกต้องหรือไม่ ตามกรอบของกฎหมายและเสนอต่อมหาเถรสมาคมว่าพระสงฆ์ไทยกระทำผิดหรือไม่ และสิ่งที่สำคัญประเทศไทยเราควรหันหน้าเข้าคุยกัน แบ่งกันทำความดีเหมือนไต้หวัน ที่เขามี ฉือจี้ ฝอกวางซาน ฝอกู่ซาน ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตน การศาสนาก็รุดหน้าไปไกล แต่ก็ยึดหลักการที่ไม่ผิดหลักพระธรรมวินัย ประชาชนก็อยู่ในศีลในธรรมและเป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุด สามารถลดงบประมาณของหน่วยงานที่ต้องไปเอาโทษผู้กระทำความผิดทางอาญากระทำผิดกฎหมาย และเอางบประมาณนี้ไปใช้ประโยชน์ต่อประเทศชาติในทางอื่นได้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ธรรมะกับประชาธิปไตยไยห่วงใยสถาบันศาสนา

การวิเคราะห์ประชาธิปไตยในปริบทพุทธสันติวิธีชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ในระบอบประชาธิปไตย เพื่อลดความขัดแย้ง สร้างควา...