วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ยังจำได้หรือไม่! โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุขปทุมธานี พระธรรมรัตนาภรณ์ทำ



วันอังคารที่ 5 ตุลาคม 2564 เพจ Suthito Aphakaro ได้โพสต์ข้อความว่า เมตตาธรรมที่เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม และประธานฝ่ายสาธารณูปการที่มีต่อพระเดชพระคุณพระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต จึงมอบหมายให้หลวงพ่อพระธรรมรัตนาภรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข และให้เกล้าฯ (ผู้เขียน) เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาวัดให้เป็นรมณียสถาน เป็นพื้นที่การเรียนรู้ การพัฒนาจิตใจและปัญญาของสังคม โดยมีพันธกิจ 3 ด้าน คือ 1) การพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพให้สะอาด ร่มรื่น สวยงาม เป็นรมณียสถาน (เนื่องจากที่ผ่านมาวัดถูกรุกด้วยความเป็นเมือง) 2) การพัฒนาพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้ 3) การพัฒนาพื้นที่จิตใจและปัญญา

ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา (2561-2564)  พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมรัตนาภรณ์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดียิ่ง หลวงพ่อเมตตาเดินทางไปทั่วประเทศ เพื่ออธิบายให้คณะสงฆ์จังหวัดต่างๆ  ได้ทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตามโครงการ จัดประชุมสัมมนา อบรม และลงพื้นที่ตามวัดต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโครงการ โดยไม่มีงบประมาณจากภาครัฐสนับสนุน (มีเพียงงบอุดหนุนวัดที่เข้าร่วมโครงการบางวัดเท่านั้น) หลวงพ่อถวายปัจจัยให้กับคณะสงฆ์ คณะอนุกรรมการด้วยตนเอง พูดง่ายออกเอง ลงมือทำเอง ทั้งค่าหนังสือ เอกสาร ค่าเดินทาง ค่าภัตตาหาร ค่าจัดทำเว็บไซต์ ฯลฯ 

แนวปฏิบัติ 3-5-7-9 (3 พันธกิจ, 5 ส, 7 ขั้นตอนการทำงาน, 9 พื้นที่ภายในวัด) คือบทสรุปที่หลวงพ่อนำไปบรรยายให้เกิดความเข้าใจ จนปัจจุบันมีวัดสมัครเข้าร่วมโครงการประมาณ 17,000 กว่าวัด มีการมอบรางวัลให้กับวัดต่างๆ ที่เป็นต้นแบบ มีการอบรมเลขานุการแต่ละจังหวัดให้ร่วมติดตามประเมินผล จนนำไปสู่ภาพของความร่วมมือ ร่วมใจระหว่าง วัด ประชาชน และภาครัฐ มีการทำ BiG Cleanning Day ร่วมกัน ขยายไปสู่ชุมชน โรงเรียน อย่างมากมาย จนเรียกได้ว่า เกิดแนวทางสำคัญ คือ 

"การสร้างวัดในใจคน" 

"วัดสวยด้วยความสุข"

โดยหลวงพ่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ปรารภว่า "โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข มีหลักการ คือ เมือสร้างวัดสวยด้วยความสุขแล้ว จะต้องสร้าง "วัตร" หรือ วัตรปฏิบัติในใจคน ให้เขามีวัตรปฏิบัติที่เรียบร้อยสวยงาม จากนั้นก็จะสร้าง "วัฒนะ" คือการพัฒนาเพื่อความเจริญของบ้านเมือง เมื่อบ้านเมืองเกิดความเจริญรุ่งเรืองแล้ว 

"วัฒนธรรม" จึงจะเกิดขึ้น

จาก "วัด" สู่ "วัตร" "วัฒนะ" และ "วัฒนธรรม" นั้นคือเป้าหมาย

หากวันนี้กระบวนการขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุขจะไปต่ออย่างไร เมื่อเราขาด "วัตรปฏิบัติที่ดีงาม" ที่หมายถึงความเอื้อเฟ้อต่อกัน  ขาดความเข้าใจใน "วัฒนธรรม" ของสังคมไทยและพระพุทธศาสนาที่เป็นแก่นให้คนไทยหลอมรวมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข      

หรือโครงการนี้ จะสอนให้เราเกิดความเข้าในเรื่อง "วัฏฏ์"  คือ วงจรแห่งความเวียน ว่าย ตายเกิด (ซึ่งวัฏสงสารนี้ พระพุทธองค์สั่งสอนให้พวกเราพยายามข้ามพ้น เพราะเต็มไปด้วยความโลภ โกรธ หลง ชิงดี ชิงเด่น มีแต่พวกพ้อง และการยึดติดในตำแหน่ง ลาภ ยศ สรรเสริญ) 

ในฐานะที่ช่วยงานหลวงพ่อ ก็ขอกราบขอบพระคุณในเมตตาธรรมที่หลวงพ่อมีให้อย่างดียิ่ง หลวงพ่อคิด ทำ เพื่อวัฒนธรรมของพระพุทธศาสนาและบ้านเมือง สุดท้าย "วัฏฏ์" ก็ปรากฎ ในโลกของความเป็นจริง 

โลกนี้สวยงามดุจราชรถ ที่พวกคนเขลาหมกอยู่ แต่พวกผู้รู้หาข้องอยู่ไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์กามสูตร

  วิเคราะห์กามสูตรในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 17 ขุททกนิกาย อุทาน 7. จูฬวรรค ในปริบทพุทธสันติวิธี: หลักธรรม ประยุกต์ใช้ บท...