วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2564

มหัศจรรย์!! โคก หนอง นา หยุดท่วม หยุดแล้ง ได้อย่างไร ??


หลังจากปลัดมหาดไทย “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” เผยแพร่ภาพ “ หยุดท่วม หยุดแล้ง ด้วย :โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน”  โดยยกตัวอย่างแปลงตามจังหวัดต่าง  ๆ อย่างน้อย  5 จังหวัดที่ไม่ถูกน้ำท่วม พร้อมกับเปิดเผยว่า สถานการณ์มหาอุทกภัยน้ำท่วม 2564 พายุเตี้ยนหมู่ เกิดฝนตกหนัก ถล่ม 40 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้เกิดน้ำท่วม พื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน สร้างความเดือนร้อนให้กับพี่น้องประชาชนจำนวนมาก แต่ยังมีพื้นที่ที่สามารถรอดพ้นจากภัยวิกฤตเตี้ยนหมู่ในครั้งนี้ได้ ด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ “โคก หนอง นา” โดย “โคก” สามารถป้องกันน้ำจากภายนอกที่จะเข้ามาท่วมในพื้นที่ได้ “หนอง” ทำหน้าที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ได้อย่างเพียงพอตลอดปี  “นา” สามารถเป็นพื้นที่ในการรองรับน้ำได้ เนื่องจากมีคันนาสูง เปรียบเสมือนเขื่อนกักเก็บน้ำ และยังเป็นพื้นที่สร้างความมั่นคงด้านอาหาร “คันนาทองคำ” ในช่วงวิกฤตภัยน้ำท่วม นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งปันอาหาร ให้ผู้ประสบภัยในพื้นที่ใกล้เคียงได้อีกด้วย


สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย

            

“ทีมข่าวเฉพาะกิจ” ได้รับคำแนะนำจากฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมการพัฒนาชุมชนให้ลงพื้นที่เพื่อไปดูพื้นที่โคกหนองนา ที่ไม่ถูกน้ำท่วม ทางพื้นที่เขามีการบริหารจัดการพื้นที่อย่างไร จึงได้เดินทางไปที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมหลายอำเภอ ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อผลผลิตเป็นจำนวนหลายหมื่นไร่           

“อำเภอแวงใหญ่”  เป็นอำเภอในเป้าหมายที่ทีมงานจะลงไปดู เนื่องจากอำเภอแวงใหญ่เป็นอำเภอหนึ่งในยี่สิบหกอำเภอของจังหวัดขอนแก่นที่ถูกน้ำจากแม่น้ำชีเอ่อล้นหลากท่วมกินพื้นที่ที่อยู่อาศัยและที่ทำมาหากินของประมาณ 2 ตำบล กินเนื้อที่ประมาณ 3 หมื่นไร่ ช่วงทีมงานลงไปเห็นน้ำท่วมแปลงนาที่บางแปลงกำลังออกรวงบางแปลงกำลังเขียวชอุ่ม น่าเห็นใจชาวนาเป็นอย่างยิ่ง ชีวิตเกษตรกรหากทำพืชเชิงเดี่ยว คงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการยอมรับชะตากรรมที่ธรรมชาติมอบให้ หากดีหน่อยก็คือ การได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ แต่ถึงกระนั้น เท่าที่สอบถามจากชาวนาหลาย ๆ  คน ทุกคนไม่อยากให้มีสิ่งนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ทำมาหากินของพวกเขา         

“ปลวัชร วรรณจงคำ” พัฒนาการอำเภอแวงใหญ่ ซึ่งทีมงานเคยพบกันแล้วครั้งหนึ่งถือว่าเป็น “นายช่างใหญ่” ของกรมการพัฒนาชุมชน เพราะจบช่างมา ในกรมการพัฒนาชุมชนถือว่าเป็น “เพชรเม็ดงาม” ที่กรมการพัฒนาชุมชนต้องรักษาเอาไว้ เนื่องจากการทำโคกหนองนา ปัญหาใหญ่ของกรมการพัฒนาชุมชนคือ “ช่าง”  ในการลงพื้นที่ทั่วประเทศของทีมข่าวเฉพาะกิจ บางอำเภอมีช่างคุมงาน ตรวจงานเพียงคนเดียว มาอำเภอต้องขอร้องช่างจาก อบจ. มาช่วย  เนื่องจากการทำโคกหนองนา ต้องอาศัยช่าง ออกแบบ ควบคุม การขุดสระ  แต่กรมการพัฒนาชุมชนไม่มีช่างเป็นคนของตนเอง ต้องไปขอจากหน่วยงานท้องถิ่นอื่นๆ  ซึ่งบางแห่ง “ไม่สะดวก” มาร่วม  อันมีเหตุจากหลากหลายปัจจัยแต่ปัจจัยสำคัญสุดคำตอบคือ  “ไม่มีค่าตอบแทน”


ปลวัชร วรรณจงคำ พัฒนาการอำเภอแวงใหญ่

          

ปลวัชร วรรณจงคำ  อาสาพาเราไปดูแปลงโคก หนอง นา ของ   “ศิริพรรณ  โทรสิงห์”   เมื่อถึงเห็นด้านหน้าแปลงมีน้ำท่วมทุ่งเต็มไปหมด แต่พื้นที่แปลงไม่ท่วม เนื่องจากการวางแบบแปลงโคก หนอง นา ค่อนข้างดี ผนวกกับแปลงตั้งอยู่บนพื้นที่สูง         

“ป้าศิริพรรณ” บอกกับเราว่า น้ำปีนี้เยอะกว่าทุกปี แต่โชคดีที่ทำโคกหนองนา มีคันดินหรือคันนาทองคำ สูง น้ำจึงท่วมเข้าแปลงและสระน้ำที่ขุดเอาไว้ไม่ได้ ผลผลิตที่อยู่ในแปลงจำนวน 3 ไร่ จึงไม่เสียหาย         

“เหมือนบุญหล่นทับ ที่ได้ทำโคกหนอง นา  ป้ามีที่ดินอยู่ 7 ไร่ อีก 4 ไร่ที่ปลูกนาข้าวไว้ท่วมหมดเลย แต่ที่ทำโคกหนองนา นี้น้ำท่วมไม่ถึง ต้องขอบคุณกรมพัฒนาชุมชนที่มอบโอกาสให้ ทุกปีน้ำไม่มาเยอะขนาดนี้ ที่นาไม่เคยท่วมเลย ปี 53-54 ที่คนว่าน้ำท่วมแต่ที่ของป้าไม่ท่วม เข้าสมัครทำโคกหนองนา เพราะอยากได้สระน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง และปลูกผัก ต้นไม้ให้มันร่มรื่น มีกิน มีใช้ ตอนนี้ลงต้นไม้ไว้มีทั้งต้นแคนา มะพร้าว มะนาว กล้วย ยางนา พะยูง ไม้สัก  ตอนนี้ภูมิใจมาก สระนี้ลึก 7 เมตร ตอนนี้น้ำเต็มสระแล้ว คิดว่าหน้าแล้งน่าจะพอมีน้ำใช้บ้าง..”


ศิริพรรณ  โทรสิงห์

           

เท่าที่สังเกตพื้นที่ออกแบบแปลงโคกหนองนาของป้าศิริพรรณ มีลักษณะเป็นเนินหรือโคกสูง คลองใส้ไก่ น่าจะมีอยู่เดิมแล้วมาปรับขยายให้มันกว้างขึ้น จึงดูกว้างและลึกล้อมรอบ ส่วนสระน้ำขุดลึกถึง 7 เมตรและขุดไว้นานแล้ว ลักษณะดินเป็นดินเหนียว ดินจึงแน่นไม่พังทลายลงไปเมื่อถูกน้ำเซาะหรือฝนตกหนัก ส่วนอีกสระเป็นสระเก่า เวลาน้ำหลากมาต้องถึงสระเก่าก่อนแล้วน้ำจึงจะไหลมาสู่สระใหม่ที่ขุดไว้กว้างและลึก ทุกอย่างมันจึงลงตัวทำให้น้ำไม่ท่วม  แต่ถึงกระนั้นการเกิดขึ้นของโคก หนอง นา  ก็มีส่วนช่วยไม่ให้น้ำท่วมได้ไม่น้อย รวมทั้งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามหน้าแล้งด้วย ดังที่ป้าศิริพรรณบอกว่า ได้ทำโคก หนอง นา เหมือน “บุญหล่นทับ”



อย่างที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยบอกเอาไว้ตอนเกริ่นนำว่า “พายุเตี้ยนหมู่”  ก่อให้เกิดฝนตกหนักท่วม 40 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้เกิดน้ำท่วม พื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน สร้างความเดือนร้อนให้กับพี่น้องประชาชนจำนวนมาก มีบางพื้นที่ที่สามารถรอดพ้นจากภัยวิกฤตเตี้ยนหมู่ในครั้งนี้ได้ ด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ “โคก หนอง นา” โดย “โคก” สามารถป้องกันน้ำจากภายนอกที่จะเข้ามาท่วมในพื้นที่ได้ “หนอง” ทำหน้าที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ได้อย่างเพียงพอตลอดปี  “นา” สามารถเป็นพื้นที่ในการรองรับน้ำได้ เนื่องจากยมีคันนาสูง เปรียบเสมือนเขื่อนกักเก็บน้ำ ในช่วงวิกฤตภัยน้ำท่วมได้อีกทางหนึ่งด้วย           

“อำเภอโนนสูง” จังหวัดนครราชสีมาเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีพื้นที่โคกหนองนาบางแปลงแม้รอบ ๆ จะถูกน้ำท่วม แต่ภายในแปลงน้ำไม่ท่วม เนื่องจากมีโคกและคันนาทองคำ เป็นเกราะป้องกันและรวมทั้งภูมิศาสตร์รอบ ๆ  ด้วย


น.ส.กำไลพร เชิญกลาง          

“มายด์”  น.ส.กำไลพร เชิญกลาง ในวัย 26 ปี ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสัตวแพทย์  ได้พาเราเดินดูบริเวณรอบ ๆ แปลงที่มีร่องรอยของน้ำท่วมเล็กน้อย แต่ด้านนอกรั้วของเนื้อที่ขนาด 3 ไร่ของโคกหนองนา น้ำยังท่วมเต็มทุ่งอยู่ เธอบอกว่า   อยากเจริญตามรอยศาสตร์ของพระราชาในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงคิดค้นขึ้นเพื่อพสกนิกรของพระองค์ สามารถพึ่งพาตนเองให้อยู่รอดได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป้าหมายพื้นที่ตรงนี้นอกจากทำแบบพอมีอยู่ พอกิน พอใช้ แล้ววางเป้าไว้เป็นตัวอย่างเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับชุมชนในหมู่บ้านด้วย



“ทุกปีตรงนี้ท่วมหมดเลย หลังจากเราขุดโคกหนองนา แล้ว มีคันนาทองคำขั้นเอาไว้ มีสระน้ำ น้ำจึงไม่ท่วม  พช.ที่นี่สนับสนุนเราดีมาก หลังจากขุดสระเสร็จ ก็นำต้นไม้ พันธุ์ไม้ต่าง ๆ  มาร่วมเอามื้อสามัคคี หนูรู้สึกภูมิใจมากที่ได้ทำตรงนี้  ตอนนี้มีคนในชุมชนที่เขารู้ว่าเราทำ เขาขับรถผ่านไปผ่านมาเห็นพื้นที่ของเราน่าสนใจเขาก็เข้ามาดูเข้ามาถามว่าตรงนี้ทำอะไร เราก็บอกไปว่าเป็นโครงการโคกหนองนาโมเดลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 เขาก็มาดูพื้นที่ทำอะไรบ้างเราก็บอกว่าปลูกผักสวนครัว ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ไม้ยืนต้นไม้ผลแล้วก็มีนาข้าว ซึ่งเป้าหมายอนาคต นอกจากทำศูนย์เรียนรู้แล้ว อยากมีฐานเรียนรู้ตามมาด้วย..” มายด์ หรือ น.ส.กำไลพร เชิญกลาง บอกเป้าหมายให้ทีมงานฟัง          

รอบ ๆ แปลงของมายด์ นอกจากมีคันนาทองคำเป็นตัวช่วยมิให้น้ำจากท้องทุ่งทะลักเข้ามายังแปลกแล้ว ถนนลูกรังที่อยู่รอบ ๆ อาจมีส่วนเป็นตัวช่วยอีกตัวหนึ่งที่ทำให้น้ำไม่ท่วมแปลกโคกหนองนา แต่เท่าที่เดินดูภายในแปลงโคกหนองนา มีสระน้ำขนาดใหญ่ 4 บ่อ ทั้งบ่อที่ขุดใหม่และบ่อธรรมชาติ ซึ่งหน้าแล้งก็คงมีน้ำเพียงพอ ซึ่งหากไม่เพียงพอก็ยังมีบ่อบาดาลขนาดเล็กคอยเติม ปัญหาเรื่องน้ำในหน้าแล้ง จึงไม่ใช่ปัญหาของการทำโคกหนองนา         

จากข้อมูลของ “ไกรฤทธิ์ คูณขุนทด”   พัฒนาการอำเภอโนนสูง เปิดเผยว่า เมื่อปี 53-54 น้ำไม่ท่วมขนาดนี้ ปีนี้เกิดปัญหาจากเขื่อนลำเชียงไกรตอนล่างน้ำทะลักแนวคันดินจนทำให้เกิดน้ำท่วม สำหรับอำเภอโนนสูงเป็นงบปกติมิใช่งบเงินกู้มีทั้งหมด 23 ครัวเรือน มีขนาด 3 ไร่ 18 แปลง ขนาด 1ไร่ 5 แปลง


ไกรฤทธิ์ คูณขุนทด พัฒนาการอำเภอโนนสูง          

ปัญหาเรื่องช่างที่นี่มีปัญหามาก อำเภอโนนสูงช่างคนเดียวดูทั้ง 23 แปลง ถือว่าหนัก เราขอช่างจากหน่วยงานท้องถิ่นได้ยาก เขาบอกงานเขาล้นมือ ซึ่งเราก็เห็นใจเขา เพราะทางกรมเราไม่มีค่าตอบแทนให้ ทราบว่าเรื่องนี้ผู้บริหารกรมก็ทราบแล้ว ปัญหาที่สองเรื่องการเบิกจ่ายมันต้องมีผู้รับรอง เรื่องเอกสารมากมาย จนทำให้การเบิกจ่ายล่าช้า ทำให้มีผู้รับเหมาบางรายต้องหางานนอกก่อนแล้วมาขุดกับเราต่อ ส่วนปัญหาที่สามเรื่องการคำนวณดินที่ขุด เรื่องการทิ้งดิน บางแปลงเขาไม่ต้องการโคก ต้องการแค่สระน้ำ         

“ที่อำเภอโนนสูงน้ำไม่ท่วมแปลงโคกหนองนา 5 แปลง นอกจากนั้นท่วมเพราะน้ำทะลักมาจากเขื่อนลำเชียงไกรตอนล่าง หากฝนตกปกติน้ำคงไม่ท่วม  อำเภอโนนสูง เราจะเจอปัญหาเรื่องของภัยแล้งซ้ำซากมากกว่าน้ำท่วม  ประชาชนเขาจึงเน้นที่บ่อให้มากที่สุด  ถ้าโคกสูงมากก็ไม่ดีเขาต้องการความลึกของบ่อ แต่ว่ามันก็ไม่สามารถที่จะขุดได้เต็มที่เนื่องจากว่าถ้าขุดอย่างเช่นตัวอย่าง 8 เมตร ถ้าขุดไปปัญหาก็คือ 1 บ่อเราไม่กว้างมากทีนี่แมคโคไม่สามารถลงได้ มันก็เลยมีปัญหาด้านการขุด เขาก็จะขุดได้ประมาณไม่เกิน 6 เมตรที่นี้..”



โครงการ  “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” เป็นรูปแบบหนึ่งของการบริหารจัดการน้ำ จัดการพื้นที่ “สามารถรอดพ้นจากน้ำท่วมและมีน้ำเก็บเต็มหนองไว้ใช้ประโยชน์และรองรับภัยแล้งในปีหน้าได้” เป็นทางรอดพ้นวิกฤตมหาอุทกภัย ภัยพิบัติน้ำท่วม และยังสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหาร มีพื้นที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างโอกาสในการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือนร้อนให้แก่พี่น้องประชาชน เป็นแหล่งพักพิงในยามวิกฤตได้ เป็นการทำให้ชุมชนมีความสามารถในการพึ่งตนเอง สามารถเผชิญกับวิกฤติความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติธรรมชาติอย่างรุนแรง วิกฤตทางด้านโรคระบาด วิกฤตทางด้านความอดอยาก เศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ จะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  ประชาชนมีความสุขได้ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ประชาชนต้องทำลงมือทำจริงและอดทนรอคอยกับสิ่งที่ตัวเองลงมือทำ!!




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ธรรมะกับประชาธิปไตยไยห่วงใยสถาบันศาสนา

การวิเคราะห์ประชาธิปไตยในปริบทพุทธสันติวิธีชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ในระบอบประชาธิปไตย เพื่อลดความขัดแย้ง สร้างควา...