วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"ปลัดมท." ปลุกพลังนายอำเภอภาคีเครือข่าย 17 จว.เหนือ ขับเคลื่อนนำร่องอำเภอแก้จนตามแนวพอเพียง



ปลัดมหาดไทย ปลุกพลังนายอำเภอและภาคีเครือข่าย 17 จังหวัดภาคเหนือ ขับเคลื่อน “อำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เน้นย้ำ สานพลังร่วมกันเพื่อเป้าหมายสูงสุด “ความสุขของประชาชน”   

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 65 เวลา 19.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง ระดับอำเภอ กรมการปกครอง รุ่นที่ 1 ตามโครงการอำเภอนำร่องการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ และบรรยายพิเศษ “ทำไมต้อง “C A S T” (Change Agents for Strategic Transformation (CAST))” หลักสูตร “ผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงระดับอำเภอ” ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Zoom Meeting โดยมี รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ ผอ.สำนักบริหารการปกครองท้องที่ กรมการปกครอง นายอำเภอและภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย ทั้งภาคราชการ ผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดน่าน ลำปาง พะเยา ลำพูน แม่ฮ่องสอน แพร่ เชียงราย เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ และจังหวัดอุทัยธานี รวม 170 คน ร่วมรับฟัง 

นายสุทธิพงษ์  ได้กล่าวว่า การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง ระดับอำเภอ ตามโครงการอำเภอนำร่องการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อการกระตุ้นปลุกเร้า เฟ้นหานักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงของกระทรวงมหาดไทย อันเป็นความท้าทายที่พิสูจน์ความเชื่อมั่นศรัทธาของพี่น้องประชาชนต่อกระทรวงมหาดไทยและระบบราชการ ด้วยการเปิดเวทีให้ตัวแทนนายอำเภอทุกจังหวัดได้แสดงศักยภาพ โดยมีผู้บังคับบัญชาเป็นผู้ติดตามประเมินผล ดูผู้นำที่เอาจริงเอาจัง สามารถดึงดูดจิตใจพี่น้องผู้นำทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย มาร่วมไม้ร่วมมือขับเคลื่อนงานตามภูมิประเทศ ภูมิสังคม ซึ่งหลักใหญ่ คือ ทุกคนต้องมี “ใจ” ที่อยากช่วยกันบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างผลงานให้เกิดขึ้นในอำเภอ เพื่อ “นายอำเภอ” ซึ่งมีตำแหน่งเปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีของอำเภอได้เป็นทุกอย่างของประชาชนของพื้นที่ เพราะแม้การทำงานจะยากลำบาก นายอำเภอทุกคนมีภาวะผู้นำ มีความมุ่งมั่น ตั้งอกตั้งใจเป็นผู้บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน       

“ไม่ว่าสังคมไหน ๆ ก็ต้องมีผู้นำ ทั้งในทางปฏิบัติและทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นายอำเภอ” ที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้เคยกล่าวไว้ว่า นายอำเภอที่ดีสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีได้ อันเป็นการให้เกียรตินายอำเภอในฐานะ “ผู้นำ” ที่ดีของทุกกระทรวง ทบวง กรม ในอำเภอ รวมทั้งในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เป็นราชสีห์ที่องอาจ มีจิตใจอยากทำสิ่งดีให้กับประเทศชาติและประชาชน” ด้วยความแน่วแน่ มั่นคง ร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย และฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคโดยไม่จำเป็นต้องรองบประมาณแผ่นดิน หรือรอให้ใครมาสั่ง เพราะ “นายอำเภอ” เป็นหลักในการดูแลพี่น้องประชาชนในอำเภอ เป็นผู้นำคนสำคัญในพื้นที่อำเภอ เฉกเช่น พระสงฆ์ หรือผู้นำศาสนา ที่เป็นเสาหลักให้กับสังคมมาอย่างยาวนาน และผู้นำตามธรรมชาติตั้งแต่อดีต คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชนกระทั่งราชการได้ให้กับรับรองในปัจจุบัน ดังนั้น หากสังคมใดขาดผู้นำ ก็จะมีแต่ความสับสน วุ่นวาย หรือที่ฝรั่งเรียกว่า การบริหารจัดการต้องมี Direction หรือมีเป้าหมายให้เดินไปด้วยการวินิจฉัยสั่งการของผู้นำ ด้วยเวลาที่เหมาะสม มุ่งสู่เป้าหมายสำเร็จร่วมกัน” นายสุทธิพงษ์  กล่าวในช่วงแรก      

นายสุทธิพงษ์  กล่าวต่อว่า การฝึกอบรมฯ ในวันนี้ เป็นการตอกย้ำอย่างชัดเจนว่า ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายมีความสำคัญ และต้องให้เกียรติทุกท่านได้มีโอกาสลงสนามรบ คือ ฟันฝ่าความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ทำให้เขามีความสุข อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ทำให้ระบบราชการมีข้าราชการแบบไม่ฉาบฉวย แต่เป็นข้าราชการที่ทำงานจริงจังและก่อให้เกิดผลดีอย่างยั่งยืนร่วมกับแม่ทัพ คือ “นายอำเภอ” ก้าวไปสู่เส้นทางแห่งการสร้างประเทศชาติที่มั่นคง ยั่งยืน ด้วยการปฏิบัติบูชาสูงสุด คือ การตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ซึ่งข้าราชการที่ถูกเปรียบเปรยว่าเป็นชนชั้นนำของสังคม ต้องระลึกเสมอว่า เราไม่ได้เก่งหรือรู้มากกว่าคนอื่น เพราะทุกคนในสังคมเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ต่อการทำดีให้กับพี่น้องประชาชน และประเทศชาติด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น หัวใจสำคัญที่จำเป็นต้องมีในการทำงาน คือ ต้องเปิดใจให้กว้าง เป็นให้เหมือนต้นข้าวที่สุก โน้มหาแผ่นดิน ซึ่งงานหรือความคิดที่ดีของพวกเราจะสำเร็จได้ สำคัญที่สุด คือ “คน” ที่มีทัศนคติ (Attitude) ความรู้ (Knowledge) และ ความสามารถ (Ability) โดยเมื่อ Attitude x Knowledge x Ability = ความสำเร็จ จึงต้องช่วยกันทำให้คนดีที่มีจิตใจเสียสละ มาร่วมเป็นทีมกับนายอำเภอ รวมถึงข้าราชการทุกคนต้องอย่าทำตัวเป็นเสมือน “กระสือในวงราชการ” ที่มักมีพฤติกรรม คือ ลาป่วยเป็นนิจ ลากิจอยู่เสมอ เผลอเป็นหลับ มักกลับก่อนเวลา มาสายตลอดปี      

“พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ข้าราชการ ความว่า “..งานราชการนั้น คืองานของแผ่นดิน ข้าราชการจึงต้องสำเหนียก ตระหนักอยู่ตลอดเวลา ถึงฐานะและหน้าที่ของตน แล้วตั้งใจปฏิบัติงานทุกอย่าง โดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ ด้วยความสุจริตเที่ยงตรง และด้วยความมีสติยั้งคิด รู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควรกระทำ สิ่งใดควรงดเว้น เพื่อให้งานที่ทำ ปราศจากโทษเสียหาย และบังเกิดผลประโยชน์ที่แท้ คือความเจริญมั่นคงของประเทศชาติและประชาชน..” และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาท “..งานราชการนั้น ต้องอาศัยความรู้ 3 ส่วนในการปฏิบัติ คือความรู้ในหลักวิชาที่ถูกต้อง แม่นยำ ลึกซึ้ง กว้างขวาง ความรู้ในการปฏิบัติบริหารงานตามภาระหน้าที่ และความรู้คิดวินิจฉัยที่ถูกต้องด้วยเหตุผล หลักวิชา และหลักธรรม ข้าราชการทุกคนจึงต้องสร้างสมอบรมความรู้ทั้งสามส่วนนี้ ให้สมบูรณ์พร้อม อย่าให้บกพร่องในส่วนใดเป็นอันขาด จะได้สามารถปฏิบัติงานให้บรรลุผลเป็นประโยชน์ที่แท้ทั้งแก่ประเทศชาติและประชาชน” จากพระบรมราโชวาทดังกล่าว เป็นแรงบันดาลใจที่ทั้งสองพระองค์ได้พระราชทานให้กับพวกเราทุกคน จึงขอให้ได้ทุกคนช่วยกันสนองพระเดชพระคุณ ด้วยการเป็น “ข้าราชการที่ดี” โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำรัสเมื่อครั้งครบ 100 ปี การสถาปนากระทรวงมหาดไทย ความตอนหนึ่งว่า “..หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย พูดอย่างรวบรัดคือการอำนวยความสุขสวัสดีแก่ทวยราษฎร์ และการอำนวยความสุขสวัสดีที่ทำอยู่นั้น  อาจจำแนกตามประเภทงานได้เป็น 4 ด้าน คือ การอำนวยความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การพัฒนาอาชีพและฐานะความเป็นอยู่ การพัฒนาจิตใจให้อยู่ร่วมกันได้ด้วยความสุขและความสามัคคีปรองดอง และการให้การศึกษาเพื่อสร้างอนาคตที่แจ่มใส..” ซึ่งทรงสะท้อนหน้าที่ของ “คนมหาดไทย” ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ตั้งแต่กายภาพ ถึงจิตใจ และที่สำคัญที่สุด การสร้างความสามัคคี สร้างการศึกษา พัฒนาอาชีพให้ประชาชน จึงขอให้ได้น้อมนำมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ยึดเหนี่ยวในการทำความดี ดังความในปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป รวมถึงพระราชดำรัส “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มุ่งมั่นขยายผลสายธารแห่งพระมหากรุณาธิคุณเพื่อยังประโยชน์ คือ ความสุขของประชาชน และความผาสุกของประเทศชาติ ให้มั่นคง ยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์  กล่าวเน้นย้ำ     

นายสุทธิพงษ์  กล่าวต่ออีกว่า เป้าหมายที่สำคัญที่จะทำให้คนมีความสุข นั่นคือ การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อของสหประชาชาติ (UN) ซึ่งถอดองค์ความรู้มาจากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่ง UN ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ เพราะพระองค์ทรงทำเป็นแบบอย่างให้คนทั้งโลกได้เห็นว่า ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนเป็นสุขอย่างยั่งยืนได้ ด้วยทรงแน่วแน่ มั่นคง และยั่งยืน จากข้อสรุปที่มีอยู่จริงตามธรรมชาติ “ความจริงอันแน่แท้” ที่ทรงคิดค้น ทดลองปฏิบัติ กระทั่งทรงได้ข้อสรุปเป็นทฤษฎีใหม่กว่า 40 ทฤษฎี มากกว่า 4,000 โครงการพระราชดำริ  ดังนั้น “นายอำเภอ” ต้องเป็นผู้นำสร้างศรัทธาให้กับพี่น้องประชาชน ทำให้ประชาชนมีความสุข อันจะส่งผลให้ประเทศชาติสงบสุข และต้องทำให้ประชาชนได้เรียนรู้และเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ จะเป็นคำตอบของชีวิต ด้วยการกอดคอร่วมกับภาคีเครือข่ายทำสิ่งที่ดี สร้างการมีส่วนร่วม สร้างคุณค่า ยกระดับการทำงานและให้บริการประชาชน เพื่อให้พี่น้องประชาชน “ทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น” อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี ตามบริบทภูมิสังคม นำต้นแบบจากจุดเล็ก ๆ จากครัวเรือนต้นแบบ ขยายวงกว้างออกไป เป็นหมู่บ้านต้นแบบ เป็นตำบลต้นแบบ ด้วยหัวใจแห่งการเป็น “ราชสีห์ที่มีพี่น้องประชาชนเป็นเป้าหมายสูงสุดในการทำงาน” ด้วยความเพียรพยายามและความอดทน เพื่อให้ตำแหน่ง “นายอำเภอ” กลับมาเป็นสัญลักษณ์ เป็นหลักอำเภอ ที่จะทำให้ประชาชนสุขมากขึ้น ทุกข์น้อยลงโดยแท้จริง” ด้วยการทำให้พี่น้องประชาชนได้รับการพัฒนาตนเอง ตามหลักพัฒนาคน ให้คนไปพัฒนาตนเอง จะด้วยกระบวนการกลุ่มก็ดี หรือปัจเจกบุคคลก็ดี ให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เคารพธรรมชาติ มีจิตใจสำนึกรักบ้านเกิด รู้จักพอเพียง รู้จักแบ่งปัน รักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ละอายต่อบาป มีความรัก ความเมตตา ทำให้คนระเบิดจากข้างในออกมา     

“จงเชื่อมั่นว่า เมื่อเราทำแล้วจะเกิดประโยชน์สุขกับประชาชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน ด้วยความคิด (Mindset) ที่แข็งแกร่ง และทำให้ความร่วมมือ ความรู้ความสามารถ ความรักสามัคคี ความช่วยเหลือเกื้อกูลเจือจาน ทำงานเป็นทีม กระตุ้นปลุกเร้าให้ทีมเกิด Passion การทำหน้าที่ให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะ “ทีมคณะกรรมการหมู่บ้าน” ที่ต้องปรับรูปแบบงานให้สอดรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เช่น แพทย์ประจำตำบล เป็นผู้นำด้านพืชสมุนไพรหมู่บ้าน รวมทั้งดำเนินการตามบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข และ MOU บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่าง วัด และชุมชน ให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ทำร่วมกับคณะสงฆ์ โดยสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ และสมเด็จพระมหาธีราจารย์ พร้อมทั้งขยายผลสู่เด็ก เยาวชน และนักเรียน ผ่านกลไกประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เพื่อสร้างคน สร้างพลเมืองที่ดีรุ่นต่อไปให้กับประเทศชาติ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม     

นายสุทธิพงษ์  กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้นายอำเภอได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนแผนดำเนินงานและแผนงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการ ภายใต้โจทย์ “การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ขจัดความยากจน และรองรับภัยพิบัติ” โดยน้อมนำศาสตร์พระราชา “จากนภาผ่านภูผาสู่มหานที” ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายสำคัญ คือ “การพัฒนาคนให้รู้จักพึ่งพาตนเองโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม” ด้วยการให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นชีวิตของคน คือ “น้ำ” อย่างยั่งยืน ด้วยก้าวย่างที่หนักแน่น ทำงานร่วมกันระหว่างนักปกครอง ภาควิชาการ พัฒนาคนให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ตามหลัก “ผู้นำต้องทำก่อน” หลอมดวงใจทุกคนให้เป็นหนึ่ง จับไม้จับมือร่วมกัน ก้าวเดินไปข้างหน้า เพื่อทุกย่างก้าว ทุกรอยเท้า ทิ้งไว้แต่ความดีงาม ทำให้สถาบันอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเรา คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และองค์กรของเราเป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง เป็นประโยชน์กับส่วนรวม เป็นที่ต้องการของประชาชน เพื่อเป้าหมายสูงสุด คือ “พี่น้องประชาชน”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพลง: ทางแห่งสันติ

คลิก ฟังเพลงที่นี่  (The Path of Peace) (ท่อนแรก) บนหนทางที่ลมพัดมา กลางพสุธาที่โศกเศร้า ฝุ่นคลุ้งฟ้าหม่นหมองเทา แสงแห่งธรรมยังน...