วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2565

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งหนุนมหาดไทยแก้จน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง



มหาดไทยร่วมหารือมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เดินหน้าขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการเพื่อ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน 

วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ที่ห้องรับรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมให้การต้อนรับและหารือการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมกับนายวิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิฯ และคณะ โดยมี นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง นายสมยศ พุ่มน้อย รองอธิบดีกรมการปกครอง นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวนิภา ทองก้อน ผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการปกครองท้องที่ กรมการปกครอง ร่วมหารือ     

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนอาชีพแก่ครัวเรือนยากจนให้สามารถบริหารจัดการชีวิตได้อย่างเหมาะสม และดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งเป็นการตอบสนองการขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ โดยใช้กระบวนการบริหารจัดการชีวิตครัวเรือนยากจนแบบบูรณาการ 4 กระบวนงาน คือ กระบวนงานที่ 1 ชี้เป้าชีวิต กระบวนงานที่ 2 จัดทำเข็มทิศชีวิต กระบวนงานที่ 3 บริหารจัดการชีวิต และกระบวนงานที่ 4 ดูแลชีวิต ผ่านการให้ความช่วยเหลือครัวเรือนยากจนที่ตกเกณฑ์รายได้ จากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ข้อที่ 22 รายได้เฉลี่ยของคนในครัวเรือนต่อปี น้อยกว่า 38,000 บาท และเป็นครัวเรือนที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาได้ โดยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งให้การสนับสนุนวัสดุ/อุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ จำนวน 4 ประเภท ได้แก่ ค้าขาย หัตถกรรม ช่าง และบริการ รับจ้าง แก่ครัวเรือนยากจนที่ผ่านการฝึกอบรมหรือมีอาชีพแล้ว ในวงเงินไม่เกินครัวเรือนละ 30,000 บาท     

“การดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งฯ เป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการขับเคลื่อนขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งได้ดำเนินการขับเคลื่อนมาตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ด้วยกระบวนการบริหารจัดการครัวเรือนยากจนแบบบูรณาการ ชี้เป้าชีวิต จัดทำเข็มทิศชีวิต หรือแผนชีวิต บริหารจัดการชีวิต และดูแลชีวิต ตลอดจนดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” เพื่อให้ครัวเรือนได้มีผักปลอดสารพิษไว้รับประทานในครัวเรือน เสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับร่างกาย และประหยัดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน เป็นต้น โดยแนวทางของความร่วมมือได้กำหนดการดำเนินงานไว้ คือ กรมการพัฒนาชุมชนทำการสำรวจครัวเรือนยากจนเป้าหมายที่ต้องการอาชีพ จัดกลุ่มแยกประเภทอาชีพที่ต้องการขอรับการสนับสนุนองค์ความรู้ และทักษะต่าง ๆ ที่ใช้ในการประกอบอาชีพ วิเคราะห์ศักยภาพครัวเรือนยากจน เพื่อกำหนดครัวเรือนยากจนเป้าหมาย และแนวทางการสนับสนุน โดยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพแก่ครัวเรือนยากจนที่ผ่านการจัดกลุ่มมาแล้ว จากนั้นทั้งสองหน่วยงานจะสื่อสารสังคมสร้างการรับรู้ และติดตามประเมินผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ และนำผลการประเมินมาพัฒนาช่วยเหลือคนยากจนและคนที่ด้อยโอกาส ให้มีเครื่องมือในการประกอบอาชีพให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อยู่ในสังคมอย่างมีความสุขต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น     

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ได้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อใช้ในการสำรวจข้อมูลพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองทุกเรื่อง เพื่อการแก้ไขปัญหารายครัวเรือนแบบพุ่งเป้าและตรงตามสภาพปัญหา โดยมีนายอำเภอเป็นผู้นำในการสำรวจข้อมูลครัวเรือนที่ประสบปัญหาเพิ่มเติม โดยข้อมูลจากระบบ Thai QM ที่ควรนำมาใช้ในการบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกันเพิ่มเติม 7 กลุ่มปัญหา ได้แก่ 1) บ้าน/ที่อยู่อาศัย 2) น้ำดื่ม/น้ำใช้ 3) การศึกษา 4) รายได้และอาชีพ 5) ความปลอดภัย 6) กลุ่มเปราะบาง และ 7) ความเดือดร้อนที่ไม่สามารถแก้ไขด้วยตนเอง นอกจากนี้ ในด้านการบรรเทาสาธารณภัย ที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งมีแผนการจัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัย เพื่อฝึกอบรมด้านการบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยจะได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหารือถึงแนวทางที่จะสามารถดำเนินการร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึงต่อไป     

ด้าน นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าว ในระยะที่ 1 ได้ดำเนินการไปแล้วในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จันทบุรี ชลบุรี ชัยนาท ตราด นครนายก นนทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สระแก้ว สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และจังหวัดอ่างทอง โดยมีครัวเรือนที่ได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพแล้ว จำนวน 98 ครัวเรือน วงเงินสนับสนุน 1,288,712 บาท ซึ่งจากการติดตามผลการประกอบอาชีพของครัวเรือนเป้าหมายหลังจากได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพ พบว่า ครัวเรือนเป้าหมายมีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยครัวเรือนละ 9,200 บาท และเกิดความเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพชีวิต เช่น มีรายได้เพิ่มขึ้น มีอุปกรณ์ทำให้ประกอบอาชีพได้สะดวกขึ้น ผลผลิตจากอาชีพมีคุณภาพมากขึ้น ส่งผลให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ครอบครัวอบอุ่น และบางครัวเรือนมีการขยายกิจการอาชีพ โดยได้พบข้อขัดข้องและความต้องการเพิ่มเติม เช่น ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้บางอาชีพประกอบอาชีพไม่ได้ บางอาชีพรายได้ลดลง และขาดเงินทุน สำหรับในระยะที่ 2 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ และจังหวัดอุทัยธานี มีจำนวนครัวเรือนเป้าหมายที่ส่งให้มูลนิธิบ่อเต็กตึ้งพิจารณา จำนวน 518 ครัวเรือน ซึ่งมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้แจ้งผลครัวเรือนที่ผ่านการพิจารณาเบื้องต้นจากเอกสารมาแล้ว จำนวน 253 ครัวเรือน และได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ครัวเรือนเป้าหมายเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์การประกอบอาชีพครบทุกจังหวัดแล้ว พร้อมทั้งได้มีการมอบวัสดุอุปกรณ์ให้กับครัวเรือนเป้าหมายแล้ว 16 จังหวัด 197 ครัวเรือน วงเงินสนับสนุน 2,990,460 บาท คงเหลือจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ผ่านการพิจารณาจากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งแล้ว จำนวน 12 ครัวเรือน และกำหนดส่งมอบวัสดุฯ ในเดือนกรกฎาคม 2565 นี้ และมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จะให้การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์การประกอบอาชีพแก่ครัวเรือนเป้าหมายจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มเติม อีกจำนวน 22 ครัวเรือน ซึ่งมีกำหนดลงพื้นที่สัมภาษณ์ครัวเรือนเป้าหมายเพิ่มเติม ระหว่างวันที่ 6 - 8 กรกฎาคม 2565 นี้ และสำหรับระยะที่ 3 อยู่ระหว่างดำเนินการ ในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร สุรินทร์ ศรีสะเกษ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ มีจำนวนครัวเรือนเป้าหมายเสนอขอรับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ รวม 338 ครัวเรือน     

ด้าน นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ในการขับเคลื่อนตามบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าว จะมีการพัฒนาอาชีพในรูปแบบโคก หนอง นา ภายใต้บันทึกข้อตกลงฯ  ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อครัวเรือนยากจนที่สนใจ ซึ่งในขณะนี้ มีจำนวน 12 ครัวเรือน จากพื้นที่ 10 จังหวัด นอกจากนี้ ในการดำเนินงานระยะที่ 4 จะขับเคลื่อนดำเนินการในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล และจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจากการลงพื้นที่ดำเนินการที่ผ่านมา พบว่า การบริการของหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชนของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ที่ได้มีการออกหน่วยร่วมบริการตรวจรักษาโรคทั่วไป การมอบแว่นตา บริการตัดผม และตรวจคัดกรองเบาหวาน พร้อมกับการมอบวัสดุอุปกรณ์ให้กับครัวเรือนเป้าหมายที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จะให้มีการบริการร่วมด้วยในครั้งต่อไป พร้อมทั้งจะพิจารณาสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือให้กลุ่มอาชีพที่จัดตั้งตามแนวทางสัมมาชีพชุมชน โดยเป็นกลุ่มที่มีจำนวนสมาชิกเป็นคนในชุมชน ไม่น้อยกว่า 20 คน หรือมีการจ้างงานคนในชุมชนอีกด้วย     

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ถือเป็นความร่วมมือที่สำคัญระหว่างส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยกับภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยที่ต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ตกทุกข์ได้ยากลำบากเดือดร้อนให้ได้รับการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งกระทรวงมหาดไทย จะได้ขับเคลื่อนกลไกความร่วมมือและขยายผลร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้เกิดพลังการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนทุกเรื่องที่พี่น้องประชาชนกำลังประสบอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง อันจะส่งผลให้พี่น้องประชาชนมีความสุขเพิ่มมากขึ้น ความทุกข์น้อยลงจนหมดไปอย่างยั่งยืน

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"ณพลเดช" ปิ๊งไอเดีย! เชียงรายศูนย์กลางการเงินโลก-โมเดลสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย หลังออกกฎหมาย เขต ศก.พิเศษ

วันที่ 19 เมษายน 2567     เวลา 11.00 น. ที่ประเทศลาว  ดร.ณพลเดช มณีลังกา คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำส...