วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"หลักสูตรสันติศึกษา มจร" จัดปฐมนิเทศนิสิตใหม่ ลงสู่ห้องปฏิบัติการสันติภาพสัมผัสลมหายใจชุมชน


ระหว่าง 23-26 มิถุนายน 2565  หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ทั้งระดับปริญญาโท และเอก นำโดยพระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์,ศ.ดร. (พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส) ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ(IBSC)  (พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส)  ได้นำคณาจารย์  และนิสิต ทั้งเก่า และใหม่ ประมาณ 100 รูป/คน จัดกิจกรรมปฐมนิเทศภายใต้หัวข้อ "เปิดตัวนิสิตใหม่ เปิดใจสู่สันติธรรม" ณ ห้องปฏิบัติการเรียนรู้สันติภาพชุมชน (Peace Community Lab) อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ  โดยพระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ได้เขียนสรุปภาพรวมกิจกรรมการปฐมนิเทศเอาไว้อย่างสนใจในหัวข้อ "ปฐมนิเทศอย่างไร?? จึงจะได้สันติธรรม" 



การจะตอบโจทย์ข้อนี้ ต้องตอบคำถามแรกให้ได้เสียก่อนว่าสันติธรรมสิงสถิต์ ณ แดนใดฤา??   หากค้นลึกลงไปจะพบว่า สันติธรรมอยู่ทั้งในใจ (Inner Peace)  และสันติธรรมปรากฏอยู่ภายนอก (Outer Peace) ด้วย 

สันติธรรมในใจ ปรากฏตัวผ่านสติ สมาธิ ความอดทน ความเหนื่อย ความท้อ ความหงุดหงิด ความง่วง ความรัก ความสงสารเห็นอกเห็นใจ เบิกบานยินดีฯลฯ ขยายคำว่า "สันติธรรมภายนอก" นั้น  มีให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ทั้งในดิน น้ำ ลม ป่า นา ไร่  บนถนนหนทาง แดดที่ร้อนเร้า วัฒนธรรม ประเพณี  วิถีชุมชนฯลฯ 



การปฐมนิเทศจึงเป็นจังหวะ และโอกาสครั้งสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจนิยามสันติวัฒนธรรมเชิงปฏิบัติการของคำว่าสันติธรรมในมิติที่คลุมคลุมและหลากหลายมากที่สุดเท่าที่จะทำได้  เพราะการเปิดตัวครั้งแรกจะนำเข้าสู่การกระตุ้นให้ผู้เรียนได้เกิดแรงจูงใจต่อการขยายขอบฟ้าความรู้ของสันติศึกษาให้ระดับที่เพิ่มสูงขึ้น 

ทั้งหมดจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้หลักสูตรฯ ได้ออกแบบกิจกรรมการปฐมนิเทศ "เปิดตัวนิสิตใหม่ เปิดใจสู่สันติธรรม" ในพื้นที่ห้องปฏิบัติการสันติภาพ (Peace Lab) ที่ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2556 ณ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ  



จนบัดนี้ ได้เกิดสันตินวัตกรรมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้านสันติภาพ ทั้งหมู่บ้านสันติภาพ หมู่บ้านช่อสะอาด โคกหนองนาสันติศึกษาโมเดล ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน วิสาหกิจชุมชนรักษ์สันติสุข สถาบันสติภาวนาสากล  

ขณะที่พื้นที่อำเภอปรางค์กู่ยังอุดมด้วยแหล่งวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งปราสาทปรางค์กู่ ชุมชนเผ่าต่างๆ ทั้งชาวกูย  และลาว ที่เชื่อมโยงกับอาณาจักขอมยุคดั้งเดิม อันเป็นรากฐานของวัฒนธรรมการกิน การแต่งตัว บทเพลง และอื่นๆ อีกมากมาย 



หลักสูตรฯ จึงได้ใช้เวลาระหว่าง 23-26 มิถุนายน 2565 พานิสิตลงพื้นที่ไปทำกิจกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วยการทำวัตร สวดมนต์ บำเพ็ญจิตภาวนา การทำพิธีสู่ขวัญ พิธีมอบตัวเป็นศิษย์  การเดินธรรมยาตรา การศึกษาวิถีคนกูย ลาว และเขมรที่สัมพันธ์กับปราสาทปรางค์กู่ การเรียนรู้วิถีปู่ตา การให้กำลังใจผู้สูงอายุ รวมถึงการเรียนรู้วิถีเกษตรแบบโคกหนองนา การไกล่เกลี่ยในชุมชน การดำนาสามัคคี และการปลูกต้นไม้ร่วมกัน 



ทั้งหมดคือการออกแบบกิจกรรมการปฐมนิเทศเพื่อให้เอื้อต่อการเข้าถึงวิถีแห่งสันติธรรมทั้งในจิตใจ และวิถีสันติภาพที่เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่น (Local  Peace)  

การเปิดดวงตาเรียนรู้ และเปิดใจยอมรับวิถีที่แตกต่างจะกลายเป็นปฐมบทสำคัญที่จะนำผู้เรียนรู้เข้าสู่ประตูการศึกษาในหลักสูตรสันติศึกษาเชิงลึกในช่วงเวลาอีก 3 ปีข้างหน้าต่อไป อีกทั้งจะส่งผลเชิงบวกต่อการนำองค์ความรู้ ทักษะ และเจตคติไปพัฒนาชีวิต ชุมชน และสังคมให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนตลอดไปฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพลง: ทางแห่งสันติ

คลิก ฟังเพลงที่นี่  (The Path of Peace) (ท่อนแรก) บนหนทางที่ลมพัดมา กลางพสุธาที่โศกเศร้า ฝุ่นคลุ้งฟ้าหม่นหมองเทา แสงแห่งธรรมยังน...