วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"ส.ส.ลพบุรี"รุดเคลียร์ "กมธ.ศาสนาฯสภาฯ" ปมวัดร้างลพบุรีจากค้างคานับร้อยปี



วันที่ 29 มิถุนายน 2565 ที่อาคารรัฐสภาเกียกกาย ห้อง CA303 นายประทวน สุทธิอำนวยเดช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลพบุรี เขต 1 เปิดเผยถึงจากการที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ประเด็นปัญหาที่ดินในเขตพื้นที่จ.ลพบุรี ซึ่งได้มีประเด็นของวัดสิงหล (ร้าง) หมู่ที่ 1 ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี  ว่า ได้ติดตามมาตลอดจากกรณีวัดสิงหล (ร้าง) ได้มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน ลำเภอเมืองลพบุรี อำเภอบ้านเช่า อำเภอโคงสำโรง จังหวัดลพบุรีและอำเภอปากเพรียว อำเภอหนองโตน อำเภอชัยบาดาล จังหวัดสระบุรี พุทธศักราช 2479 ทำให้วัดไม่สามารถขึ้นทะเบียนวัดได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจากประวัติได้มีการสำรวจจากกรมศิลปากรพบพระในวัดสิงหล มีประวัติศาสตร์ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 

ทั้งนี้ยังได้ค้นพบพระพุทธรูปหินทรายปรางค์นากปรก พระพุทธรูปองค์เล็ก โอ่งไห โบราณที่แตกหินศิลาแลง และของเก่าเป็นจำนวนมาก ได้กระจายอยู่เต็มบริเวณ ทั้งนี้ได้พบใบเสมาโบราณนั้นน่าจะมีลักษณะเป็นโบสถ์ในสมัยเมื่อประมาณ 400 - 500 ปีก่อน ซึ่งตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง และ พระพุทธรูปหินทรายปรางค์นาคปรกจากการสันนิษฐานแล้วมีอายุประมาณ 700 - 800 ปี

นายประทวน กล่าวต่อไปว่า จากที่ตนได้ร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาด้านพระพุทธศาสนาฯในกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยตัวแทนจาก มณฑลทหารบกที่ 13 กรมศิลปากร สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดลพบุรี ซึ่งได้แนวทางการแก้ปัญหาจากการชี้แจงของตัวแทนมณฑลทหารบกที่ 13 ประกอบด้วย

1.การชี้ถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ว่าหากวัดเกิดก่อนพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตหวงห้ามที่ดินอำเภอเมืองลพบุรี พุทธศักราช 2479 ก็ถือว่าวัดเกิดก่อนกฎหมายดังกล่าว ก็สามารถขึ้นทะเบียนวัดได้ถูกต้องตามกฎหมาย  2.กรณีวัดที่เกิดหลังพุทธศักราช 2479 ซึ่งมีอยู่จำนวนหนึ่ง ก็สามารถดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยการแจ้งต่อผู้ใช้ที่ดินจากที่ราชพัสดุคือ มณฑลทหารบกที่ 13 ให้อนุมัติคืนพื้นที่กลับไปเป็นที่ราชพัสดุต่อกรมธนารักษ์ หลังจากนั้นให้สำนักงานพระพุทธศาสนาขอใช้ โดยให้สำนักพุทธฯ ใช้อำนาจตามกฎกระทรวง การสร้าง การตั้ง การรวม การย้าย และการยุบเลิกวัดกฎกระทรวงการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา และการยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา พ.ศ. 2559 ตามข้อ 6 ของสำนักงานพระพุทธศาสนา

นายประทวน กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับกรณีวัดสิงหล (ร้าง) จะใช้กรณีข้อแรก เพื่อบรรจุเป็นวัดที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา และขอวิสุงคามสีมา ซึ่งในเขตพื้นที่เขตหนึ่ง จ.ลพบุรี ตนกำลังเร่งผลักดันให้การใช้สิทธิ์อย่างถูกต้องโดยเฉพาะวัด ให้สามารถขึ้นทะเบียนได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ การเพิ่มแหล่งฟื้นฟูจิตใจ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ขอให้จังหวัดอื่นๆ ประสานงานก็สามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขข้างต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น