วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ปลัดมหาดไทยโชว์ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” กลางกรุงซอยทองหล่อ 21



น้อมนำพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ปรับพื้นที่บ้านสร้างแหล่งอาหารที่มั่นคง พร้อมขยายผลผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อสร้างความสุขให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน 2565   ที่พื้นที่โครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บ้านทองหล่อ 21 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ให้การต้อนรับ นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วย แพทย์หญิงสุวรรณา ไชยชุมศักดิ์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนนทบุรี นายราชันย์ ซุ้นหั้ว นางสาวอโรชา นันทมนตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นางนงลักษณ์ ซุ้นหั้ว นางสาวปัณฑ์ณัฐ วีระยุทธศิลป์ รองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนนทบุรี นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนนทบุรี ในโอกาสเข้าศึกษาดูงานโครงการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมี นางแสงจันทร์ ระวังกิจ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู นายพิทักษ์รัฐ ระวังกิจ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านข่อย ในฐานะครู ก. โครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเองตามพระราชดำริฯ ร่วมเป็นวิทยากร

     นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริในเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยการพระราชทานแนวพระราชดำริ "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นครั้งแรกที่องค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี โดยมีปลัดพิทักษ์รัฐ และปลัดแสงจันทร์ 2 ขุนพลเอกในการขับเคลื่อนขยายผล โดยได้มีการถอดบทเรียนในรูปแบบคลิปวีดิโอในแพลตฟอร์ม Youtube โดยสามารถค้นหาง่าย ๆ ด้วยการพิมพ์คำว่า "โก่งธนู" ทำให้สามารถศึกษาเรียนรู้ได้จากต้นฉบับโครงการฯ และท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีรวมถึงทีมงาน Staff ของจังหวัดนนทบุรี จะได้มี Contact Person เป็นที่ปรึกษา คนให้คำแนะนำที่ดี เพื่อที่จะขับเคลื่อนโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์โครงการฯ คือ 1) ต้องใช้พื้นที่ว่างให้เป็นประโยชน์ในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับครัวเรือนและชุมชน 2) ต้องเป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ขั้นที่ 1 พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น และสามารถเจือจานไปให้คนอื่นได้ แต่ทั้งนี้ ตัวปัจเจกบุคคล คือ ตัวเราสำคัญ และขั้นต่อมา คือ ขั้นที่ 5 ทำบุญทำทาน โดยในขั้นต้น เราต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเราสามารถดูแลตนเองได้ ไม่ว่าจะมีโควิด-19 สงคราม โรคระบาดต่าง ๆ เราจะมีพืชผักสวนครัวเป็นอาหารที่สามารถเลี้ยงดูคนในครัวเรือนได้ นั่นหมายความว่าจะปลูกเล่น ๆ เพียง 2-3 อย่างไม่ได้ เราต้องพยายามบริหารจัดการให้มีพืชผักสวนครัวประจำบ้านอย่างน้อย 10 ชนิด และแต่ละบ้านมีแตกต่างกันบ้านละ 3 ชนิด 100 ครัวเรือนก็จะมีพืชผักสวนครัวที่เพิ่มพูนขึ้นมาอีก 300 ชนิด ที่ไม่เหมือนกัน มี 7 ชนิดที่ซ้ำกัน ชนิดที่ไม่เหมือนกันก็เผื่อแผ่แบ่งปัน เขามีอะไรที่เราไม่มีก็เอามาให้เรา เป็นการแลกวัตถุดิบ 3) ทำให้เกิดความยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์หรือต้นกล้า ด้วยการเก็บเมล็ดพันธุ์ ทำให้ผลผลิตแก่งอมสุขแล้วตากแห้ง เกิดเป็นเมล็ดพันธุ์  อันเป็นความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพที่ยั่งยืนในระบบธนาคารเมล็ดพันธุ์พืช  โดยที่เราไม่ต้องเป็นธนาคาร แต่เราเป็นแหล่งที่สามารถแจกได้เลย สรุปได้เป็นนัยสำคัญ 2 เรื่อง คือ "การแบ่งปันเฉพาะหน้า" โดยเอาผักไปให้กิน และ "การแบ่งปันอย่างยั่งยืน" โดยให้เมล็ดพันธุ์เขาไปปลูก และ 4) ครู ก. ต้องตรวจติดตามให้การรับรองว่าครัวเรือนของเรามีการทำจริงจังสม่ำเสมอ เกิดความมั่นคงและยั่งยืน จึงจะมอบ "ป้ายบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" และทำรายงานขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบ

     “พื้นที่โครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ตามแนวพระราชดำริฯ บ้านทองหล่อ 21 แห่งนี้ มีพื้นที่ประมาณ 2 งานที่เกิดจากดำริของ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ซึ่งได้ซื้อเพื่อตั้งใจขับเคลื่อนโครงการฯ เมื่อ 3 ปีก่อนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กำลังระบาดหนัก เดิมที่นี่เป็นเนอสเซอรี่รับเลี้ยงเด็กเล็กที่ตัวอาคารมีชั้นใต้ดิน จึงปรับปรุงพื้นที่ใหม่ โดยน้อมนำหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา และทำกิจกรรมเอามื้อสามัคคีโดยตนเอง ดร.วันดี และพี่น้องชาวโก่งธนู รวมถึงภาคีเครือข่าย พื้นที่ชั้นใต้ดินเดิมมีลักษณะเป็นหลุมก็ปรับเป็นหนองน้ำ นำพันธุ์ปลามาเลี้ยง และปลูกบัวมีสายไว้รับประทาน ทำให้ได้ทั้งอาหารกาย อาหารจิต อาหารใจ โดยพืชผักสวนครัวในพื้นที่นี้มีมากกว่า 40 ชนิด เช่น กะเพรา ตะไคร้ โหระพา กล้วยน้ำว้า มะเขือขอบขาว มะเขือเจ้าพระยา มะเขือพวง มะละกอ กระชาย กระเจี๊ยบ แฟง บวบ ต้นยอ ชะอม ถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธร ถั่วฝักยาวลายเสือจักรพันธ์ แคนาแดง แคนาขาว พริกขี้หนูสวน มะเขือเทศ มะเขือยาว มะเขือเปราะขาว มะเขือเปราะม่วง มะกรูด มะนาว ถั่วพลู เป็นต้น ทำให้พื้นที่นี้จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจในการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ที่สามารถช่วยลดรายจ่าย ทั้งค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล เพราะสุขภาพแข็งแรงจากการกินพืชผักปลอดภัยและได้ออกกำลังกายด้วยการปลูกผัก เดินเก็บผัก ได้รับวิตามินอีตอนเช้า และยังทำให้เกิดความรักสามัคคีในครอบครัว นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เพราะพืชผักเหล่านี้มีความหลากหลาย และสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้เป็นความมั่นคงระยะยาวให้กับเพื่อนบ้าน ให้กับตัวเราด้วย เพราะเมื่อกินไม่หมด แจกไม่หมด พืชบางชนิดสามารถแยกหน่อ เพื่อขยายพันธุ์ ซึ่งในท้ายที่สุดส่งผลเกิดความร่มเย็นเป็นสุขให้กับโลกใบเดียวนี้ของเรา ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มออกซิเจน และความร่มเย็นของพื้นดินก็จะมากขึ้น เพราะต้นไม้ใบหญ้ายังช่วยปกคลุมความชุ่มชื้น รวมถึง “ถังขยะเปียกลดโลกร้อนและการบริหารจัดการขยะ”  ซึ่งในพื้นที่ครัวเรือนที่มีผักสวนครัวทุกครัวเรือนต้องทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนด้วยเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการคัดแยกขยะเปียกหรือขยะอินทรีย์ที่จะกลายเป็นปุ๋ยหมักชั้นยอด และมีฝาปิดถังเพื่อป้องกันก๊าซไข่เน่าหรือก๊าซมีเทนลอยสู่ชั้นบรรยากาศ ทุกสิ่งในพื้นที่แห่งนี้จึงล้วนแล้วแต่สร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนทั้งสิ้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ 

          นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่ออีกว่า แต่สิ่งที่เป็นจุดแตกหักก็คือ “ต้องมีผู้นำที่เอาจริงเอาจัง” ในการที่จะทำเองด้วย และนำไปขยายผลเผยแพร่ให้เกิดมักเกิดผลในทุกครัวเรือน ในทุกสังคม ในทุกโรงเรียน ในทุกชุมชน/หมู่บ้าน โดยมีผู้นำ คือ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด และข้าราชการทุกคน เพราะ “ความมั่นคงทางอาหาร” เป็นภารกิจสำคัญของพวกเราชาวมหาดไทยในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนงานทุกมิติในประเทศ ทั้งการรักษาความสงบเรียบร้อยสร้างความรักสามัคคี ความปลอดภัย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน น้ำดื่ม น้ำใช้ ที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะ ทำให้คนมีกิน มีใช้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความมั่นคงในครอบครัว สามารถรักษาศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงามเอาไว้ รวมถึงการศึกษา การสาธารณสุข โดยผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นผู้นำในพื้นที่มีหน้าที่นำเอานโยบายของรัฐบาล คือ งานทั้ง 20 กระทรวงไปขับเคลื่อนในพื้นที่ ทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่มีความอยู่ดีมีสุข ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) ผ่านการขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติทั้ง 17 เป้าหมาย และจะเป็นแม่ทัพนำขุนพลข้าราชการทุกจังหวัดขับเคลื่อนให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่พวกเราทุกคนตั้งใจไว้ให้สำเร็จ นั่นคือ “ทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน” โดยข้าราชการทุกคนในฐานะ Staff ของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องช่วยกันบูรณาการงานต่าง ๆ ให้สามารถขยายผลตอบโจทย์เป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นที่มาของหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN ไปขยายผล ซึ่งเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ทำให้คนต้องเป็นคนสมถะ ไม่คิดที่จะสร้างความมั่งคั่งร่ำรวย แต่เรื่องใหญ่ คือ มีเหตุและผล มีสติปัญญา มีคุณธรรมในการที่จะดำรงชีวิต โดยในขั้นพื้นฐาน คือ ทำให้คนสามารถพึ่งพาตัวเอง อยู่รอดปลอดภัย และมีความพอเพียงได้ 

     ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลแผ่ไพศาล ซึ่งเมื่อสมาชิกในครอบครัวทุกคนได้ร่วมกันลงมือปลูกผักสวนครัวด้วยตนเองแล้วก็สัมผัสได้ถึงความมหัศจรรย์ ดินที่เราเอาเมล็ดเล็ก ๆ ลงไป สักพักหนึ่งต้นพริกก็โตขึ้นมา จากเมล็ดเล็กๆ มีผลให้เราเป็นร้อยเป็นพันเมล็ด ดังที่ภาพที่เราคุ้นชิน คือ ไม่ว่าพระองค์ท่านจะเสด็จพระราชดำเนินไปที่ไหน ทุกโรงเรียนที่น้อมนำไปปฏิบัติ คือ โรงเรียนในพระราชานุเคราะห์ ที่ได้ส่งเสริมการเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อเป็นอาหารกลางวัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากความมั่นคงทางอาหารแล้ว ยังสามารถช่วยตัวเอง ช่วยครอบครัว ช่วยชุมชน ซึ่งคิดง่าย ๆ คือ 1 ครัวเรือน มี 4-5 คน เมื่อปลูกผักจะมีอาหารเช้า กลางวัน เย็น ประหยัดได้ 50 บาท/วัน เมื่อคำนวณ 10 ล้านครัวเรือน จะเท่ากับวันละ 500 ล้านบาท เมื่อนับทั้งปี 365 วัน พี่น้องประชาชนครัวเรือนทั่วประเทศก็สามารถประหยัดเงินจากกระเป๋ากว่า 200,000 ล้านบาท คือชาวบ้านไม่ต้องควักเงิน ถ้ามีเงินก็ต้องเก็บไว้ ถ้าไม่มีอย่างน้อยก็มีอาหารได้กิน เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเราได้น้อมนำพระราชดำรินี้มาใส่เกล้ากระหม่อม นอกจากนี้ ขอให้ทุกท่านได้ช่วยกันน้อมนำพระราชดำริทั้ง 1) การขยายผลส่งเสริมทุกครัวเรือนปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหาร 2) ส่งเสริมให้ทุกคนในพื้นที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยง และ 3) ส่งเสริมสุขอนามัยแม่และเด็ก เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

     นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย และท่านนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ที่ได้ให้โอกาสผู้บริหารระดับสูงของจังหวัดนนทบุรีและทีมงาน เข้าศึกษาดูงานโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเองตามพระราชดำริฯ ในวันนี้ ซึ่งจากประสบการณ์ของตนในการได้รับพระมหากรุณาธิคุณร่วมโต๊ะเสวย พระองค์จะทรงมีพระราชดำรัสสั่งในเรื่องการส่งเสริมด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและการขยายผลส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหารแทบทุกครั้ง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยโชคดีที่ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ดำรงตำแหน่งอธิบดี ทำให้ทั่วประเทศได้ร่วมกันสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งการศึกษาดูงานในวันนี้ ทำให้ได้รับองค์ความรู้ในการต่อยอดขยายผลโครงการพระราชดำริ อันยังประโยชน์อย่างยิ่งกับพี่น้องประชาชนและประเทศไทยของเราให้เกิดความสุขอย่างยั่งยืน

ที่มาเพจกระทรวงมหาดไทย PR โดยกองสารนิเทศ สป.มท.

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น