วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2565

พุทธอุทยานดอยอินทรีย์ “พระภิกษุต้นแบบ” ขับเคลื่อน “บวร” สู่ โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง



“จังหวัดเชียงราย” หรือ คำเมืองเรียกว่า “เจียงฮาย” เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือสุดของประเทศไทย ทำเลที่ตั้งของจังหวัดเชียงรายอยู่บริเวณรอยต่อระหว่าง 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย ประเทศพม่า และประเทศลาว หรือรู้จักกันในนามของดินแดน “สามเหลี่ยมทองคำ”  และยังอยู่ใกล้กับเมืองสิบสองปันนาของประเทศจีนแบบใกล้แค่เอื้อม การเดินทางก็ทำได้สะดวกเพราะมีแม่น้ำโขงที่เชื่อมโยงกันในหลายๆ ประเทศ รวมไปถึงมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว/ไทย-พม่า ทำให้เชียงรายจึงเป็นดังเมืองการค้าเชื่อมโยงชายแดนที่มีความสำคัญยิ่งและมีเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนถึง 3 เขตอำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ



จังหวัดเชียงรายมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นที่ตั้งของหิรัญนครเงินยางเชียงแสน ซึ่งเป็นนครหลวงก่อนการกำเนิดอาณาจักรล้านนามี "คำเมือง" เป็นภาษาท้องถิ่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งด้านศิลปะ ประเพณีวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในรูปแบบล้านนา นอกจากนี้จังหวัดเชียงรายยังขึ้นชื่อว่าเป็น "เมืองศิลปะ” และเป็นที่เกิดของศิลปินที่มีอิทธิพลอย่างมากในวงการศิลปะไทย โดยเฉพาะ “ถวัลย์ ดัชนี” ผู้สร้างสรรค์บ้านดำ และ “เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์” ผู้สร้างสรรค์วัดร่องขุ่นและหอนาฬิกาเมืองเชียงราย 



จังหวัดเชียงรายแบ่งการปกครองออกเป็น 18 อำเภอ จำนวน 124 ตำบล และ 1,753 หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ 1,298,425 คน 

ปัจจุบันจังหวัดเชียงรายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทยรองจากจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีท่าอากาศยานประจำจังหวัดคือท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวง  เศรษฐกิจของจังหวัดเชียงรายมาจากการเกษตร เป็นหลัก พืชสำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย ได้แก่ ข้าวเจ้า ข้าวโพด ชา เลี้ยงสัตว์ สัปปะรด มันสำปะหลัง ส้มโอ ลำไย และลิ้นจี่ ซึ่งทั้งคู่เป็นผลไม้สำคัญที่สามารถปลูกได้ในทุกอำเภอของจังหวัด นอกจากนี้จังหวัดเชียงรายยังขึ้นชื่อสำหรับการเพาะปลูกชา อันเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของจังหวัดเชียงราย

“ทีมข่าวพิเศษ” หลังจากเสร็จสิ้นการดูแปลง โคก หนอง นา ในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตอนนี้กำลังต่อยอดเป็น “ขั้นก้าวหน้า” มีผลิตภัณฑ์เริ่มสู่ออกตลาดกันบ้างแล้ว เป้าหมายการเดินทางต่อไปคือ “พุทธอุทยานดอยอินทรีย์” ตั้งอยู่ในตำบลดอยฮาง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ที่นี่มีข้อมูลว่า มีพระภิกษุรูปหนึ่งที่อุทิศตนเพื่อปกป้องรักษาป่าและทำโคกหนองนา ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย เป็นพระภิกษุที่มุ่งมั่นบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสรรพสัตว์เจริญรอยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด และที่สำคัญใช้หลัก “บวร” คือ บ้าน วัด โรงเรียนหน่วยราชการ ในการขับเคลื่อนศาสตร์ของพระราชาอย่างมุ่งมั่นและแน่วแน่ จนเป็นที่ยอมรับทั้งจากคณะสงฆ์ ชาวบ้าน และหน่วยงานภาครัฐ 

การเดินทางจากแม่แจ่มไปจังหวัดเชียงรายเรามี “GPS” เป็นที่พึ่งใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 6 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ เนื่องจากช่วงนี้เป็นต้นฤดูฝนมีฝนตกพรำ ๆ  ตลอดทาง การเดินทางออกจากอำเภอแม่แจ่มต้องผ่านถนนเล็ก ๆ ที่คดเคี้ยวโค้งหักศอกหลายจุดผ่านดอยอินทนนท์ค่อนข้างลำบาก หากประมาทอาจตกเหวลึกสองข้างทางได้  ผ่านทางแยกเข้า “พระมหาธาตุนภเมทนีดล-นภพลภูมิสิริ” ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะเป็นองค์พระธาตุที่สร้างอยู่คู่กัน โดย“พระมหาธาตุนภเมทนีดล” ได้สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2530 และ “พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ”ได้สร้างถวาย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2535 เรียกได้ว่าเป็น พระมหาธาตุคู่พระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง



สอบถามเจ้าหน้าที่ด่านอุทยานแห่งชาติ บอกว่า ตอนนี้เปิดแล้ว แต่ยังมีคนมาท่องเที่ยวน้อยอยู่ อาจเป็นเพราะช่วงฤดูฝนและนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้ ขับรถผ่านแหล่งซื้อของฝากมีผลไม้หลากหลายนานาชนิดจากเกษตรกรซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์จากชาวเขาและโครงการหลวง สำหรับโครงการหลวงหรือโครงการพระราชดำริในจังหวัดภาคเหนือมีนับพันแห่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรเสมือนหนึ่งเป็นความทุกข์ของพระองค์ พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริ ที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้เกิดความ "พออยู่ พอกิน” ไม่ฟุ่มเฟือยจนเกินฐานะตนเอง   ให้อยู่แบบ 4 พ. คือ พออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น แต่หากฐานมั่นคงแล้ว ค่อยต่อยอดไปสู่ “ขั้นก้าวหน้า” ตามหลักทฤษฎีบันได 9 ขั้นที่พระองค์ฝากไว้เป็น “มรดกแผ่นดิน” ให้พสกนิกรชาวไทย ซึ่งตอนนี้หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ก็พยายามรักษา สืบสานและต่อยอด นำทฤษฎีแนวคิดเหล่านี้ไปสู่ภาคปฎิบัติให้ประชาชนรู้จักคำว่า “พอเพียง” เพื่อมิให้ชีวิตตกอยู่ใน “ความประมาท”



“กระทรวงมหาดไทย” ภายใต้การนำของ “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” จึงน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมา ในการส่งเสริมประชาชนให้ “อยู่เย็น เป็นสุข” โดยการเริ่มทำโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา ซึ่งมีครัวเรือนเข้าร่วม 25,179 ครัวเรือน  จาก 73 จังหวัด 575 อำเภอ และ 3,246 ตำบล เป้าหมายมีทั้งระดับขั้นต้นและขั้นกลาง และต่อยอดเป็น “ขั้นก้าวหน้า” คือ นำผลิตภัณฑ์แปรรูปออกมาจำหน่าย เพื่อสร้างความมั่งคั่ง นำประชาชนไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” 



“วัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์” ตั้งอยู่บ้านห้วยกีด ตำบลดอยฮาง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ก่อนถึงกำหนดเวลาคุยกับ “พระผู้นำแห่งศรัทธา”  ทีมงานได้เดินดูบริเวณพื้นที่ประมาณ 84 ไร่ที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับโครงการ โคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งจัดสรรไว้เป็นล๊อก ๆ  ละประมาณ 1 ไร่ มีวิสาหกิจผลิตน้ำดื่ม เมื่อขออนุญาตเดินเข้าไปเรียบร้อยแล้ว สำรวจบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงที่เป็นโรงงานวิสาหกิจผลิตน้ำดื่มเห็นชาวบ้าน 3-4 คน กำลังตัดกล้วยสุกลงจากต้น เมื่อเห็นทีมงานทักทายด้วยความยิ้มแย้มเป็นมิตรไมตรี พร้อมกับแบ่งกล้วยน้ำว้าสุกมาให้ 2 หวี พร้อมกับเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า พื้นที่ตรงนี้ได้รับการจัดสรรจาก ธนาคารที่ดิน (สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน) จำนวนครัวเรือนละ 1ไร่ ตอนนี้ปลูกทุกอย่างที่อยากกิน กินทุกอย่างที่ปลูก มีทั้งไม้เศรษฐกิจ ผัก  ผลไม้ ตอนนี้มีผลผลิตแล้ว 

“ความจริง ไม่ได้อาศัยอยู่ตรงนี้ แต่อยู่ในหมู่บ้านใกล้ ๆ ที่ตรงนี้เอาไว้ปลูกผักสวนครัว ปลูกผลไม้ เหมือนเป็นสถานที่มาพักผ่อนและการรวมตัวของครอบครัว รู้สึกดีมากที่ได้ทำแบบนี้ ทุกแปลงที่นี้ห้ามใช้สารเคมี ห้ามดื่มเหล้า สูบบุรี่ที่นี้ หลวงพ่อท่านกำชับเอาไว้..”

ขณะที่เดินไปสักพัก เจออีกครอบครัวหนึ่งประกอบด้วยพ่อแม่และลูกชายวัยรุ่นกำลังร่วมกันปลูกต้นไม้ เมื่อเห็นเราเดินมาทักทายด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม และบอกว่าในสวนมีกล้วย มีผัก อยากได้อะไรหรือไม่ พร้อมจะแบ่งให้ไปกิน เมื่อเราบอกว่า จะมาสัมภาษณ์พระอาจารย์และเดินทางมาไกล ทุกคนยิ้มแย้มพร้อมกับชี้ไปว่า ทุกเช้าพระอาจารย์จะอยู่ที่ศาลาทางขึ้นวัด ตอนนี้ท่านน่าจะลงมาจากดอยแล้ว

“พระอาจารย์วิบูลย์ ธมฺมเตโช” ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดพุทธอุทยานดอยอินทร์ เมื่อทีมงานเข้าไปกราบแนะนำตัวเองแล้ว ทีมงานได้ขอให้ท่านเดินพาชมพื้นที่โคก หนอง นา ขนาด 15 ไร่ พร้อมกับเดินไปคุยไป ท่านเล่าว่า ตั้งใจเข้ามาอยู่ป่าตามอุดมการณ์อยู่เพื่อบำเพ็ญภาวนา สวดมนต์ภาวนา ปฏิบัติธรรม ก็ไปอยู่เพื่อเดินรอยตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพานใต้ต้นไม้ในป่า ประโยชน์ตนประโยชน์ท่านดูแลป่าเท่านั้นแต่พอหน้าแล้งมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เกิดมีไฟไหม้ป่า เป็นทะเลเพลิงล้อมเราก็เลยไปดับ เห็นสัตว์สงสารมันโดนไฟไหม้ตายเป็นเดือนน่าสงสารมาก ไปเรียกพระมาช่วยกันดับไฟ ปลุกชาวบ้านช่วยกันดับไฟป่า ก็ไปเห็นว่าป่าตรงนี้เป็นที่อยู่ของสัตว์ สัตว์ทุกชนิดอยู่กันอย่างทรหดเลย สัตว์ทุกชนิดมาอยู่รวมกับเราหมดเลยน่าสงสารนะมนุษย์เราเนี่ยเผาป่า ทำไร่แล้วก็ฆ่าเขาตายเป็นเดือนเลย ก็เลยปลุกพระขึ้นมาปกป้องชีวิตเขา เมื่อเข้าสู่หน้าฝนก็ปลูกต้นไม้ส่วน นักเรียน นักศึกษา ราชการวัดบวรไปช่วยกันฟื้นป่า หน้าแล้งก็ต้องปีนเขาดับไฟทำแนวกันไฟหล่อพระรักษาป่า

“.เริ่มต้นตั้งแต่ตอนแรกเมื่อปีพ.ศ. 2548 เดือนตุลาคม ก็ได้ไปเข้าช่วยงานป่าไม้ ไปสมัครเข้าโครงการป่าไม้ ท่านอธิบดีกรมป่าไม้ก็คือ นายฉัตรชัย  รัตนโนภาส  อนุมัติให้เข้าโครงการ 945 ไร่แล้วก็ขึ้นไปอยู่บนป่าข้างบน ก็ไปช่วยงานด้านป่าไม้โดยตรง เป็นโครงการที่ถูกต้องตามกฎหมาย  เมื่ออยู่นานขึ้น ทำนานขึ้น สุดท้ายแล้วไฟมันไม่ได้เกิดเอง เกิดจากประชาชนที่อยู่รอบๆทำเกษตรเชิงเดี่ยว ต้นเหตุมันอยู่ที่ความไม่รู้ของประชาชนทำเกษตรเชิงเดี่ยว ก็เลยหาทางที่ว่าจะทำยังไงจะช่วยประชาชนจึงได้ไปศึกษาที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมากเอื้อง ชลบุรีของท่านอาจารย์ยักษ์ ศึกษาศาสตร์พระราชา เมื่อศึกษาแล้วก็เลยค้นพบว่านี่แหละคือ วิธีสายกลางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นพบมรรคมีองค์ 8 ตรัสรู้อริยสัจ 4 พ้นจากทุกข์คือนิพพาน ก็เลยไปค้นพบว่าศาสตร์พระราชาเศรษฐกิจพอเพียงบันได 9 ขั้น และทฤษฎีใหม่เป็นแนวทางแห่งสายกลางที่จะช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ เรื่องเดียวหมดเลย..”

เริ่มทำโคก หนอง นา กับ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย??



ปีที่แล้วกรมการพัฒนาชุมชนรับสมัครให้หาพื้นที่ 15 ไร้ที่มีโฉนด เพื่อทำเป็นศูนย์เรียนรู้พัฒนาคุณภาพชีวิต ประยุกต์สู่โคกหนองนาโมเดล โครงการพัฒนาชุมชนอนุมัติเงินล้านกว่าบาท ปรับภูมิสังคม ปรับพื้นที่แบ่งพื้นที่ให้เป็น 30,30,30,10 ก็มีป่า 5 ระดับ น้ำ 30 % แล้วก็นาข้าว 30 % ที่อยู่อาศัยก็เป็นศูนย์เรียนรู้ 9 ฐาน ก็ได้มาพอปรับพื้นที่เสร็จ โชคดีที่ดีฝนตกพอดี ทำให้ได้น้ำ ก็เริ่มปลูกต้นไม้ฟื้นฟูตามระบบนิเวศ ฟื้นป่าฟื้นดินฟื้นน้ำ แล้วก็สร้างฐานเรียนรู้ให้คนมาทุกช่วงไว้ ในช่วงแรกของเรามันเริ่มต้นจากการวางรากฐาน เกษตรทฤษฎีใหม่จะเหนื่อยช่วงแรก คือการวางรากฐานสร้าง 4พ. ให้พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็นก่อนแล้วเอาบุญเอาทานนำก่อน ยังไม่ได้เป็นรายได้หรอก กว่าจะเป็นรายได้ขั้น 9 หน้าสูงสุดมันก็มาเก็บรักษาแปรรูปก่อน เพิ่มมูลค่าเก็บได้นานแล้วค่อยไปขาย แล้วก็เป็นศูนย์เรียนรู้รายได้มันจึงค่อย ๆ มา

การจัดการที่ดินจำนวน 63 ไร่ ที่ธนาคารที่ดินมอบให้..??

 ใช่ก็คือต้องรับสมัครเข้ามาไม่ได้บังคับเขา ก็สมัครมา 200 กว่าครอบครัว ก็เลยใช้หลักธรรมของพระพุทธเจ้าโปรดหลังจากตรัสรู้ว่าจะไปโปรดใครก่อน บัวมี 4 เหล่าก็เลยคัดคนหัวไวใจสู้ มาเพื่อทำเป็นต้นแบบ การสอบคัดเลือกกฎในการสอบ หนึ่งต้องถือศีล 5 ไม่บังคับเราต้องการช่วยสรรพสัตว์ที่อยู่ในดินในน้ำด้วย เพราะคนช่วยสารเคมีพ่นลงในน้ำในดินตายหมด ก็ต้องการปกป้องชีวิตสรรพสัตว์มนุษย์ สร้างอาหารก็ต้องอาหารปลอดภัย ถ้าไม่มีศีล 5 ทำไม่สำเร็จหรอก แล้วก็ไปเรียนให้วิชาด้วย ไปเรียนศาสตร์พระราชากสิกรรมธรรมชาติ ทฤษฎีใหม่ 4 คืน 5 วัน พอเรียนเสร็จก็ให้ลงมือทำคนละ 1 ไร่ ต้องมาทำจริงไม่ปล่อยที่รกร้างห้ามใช้สารเคมี พระพุทธเจ้าบวชมา 30 กว่าปีก็ได้ศึกษาจนครบว่าพระพุทธเจ้าชี้ทางถูกให้เราเหมือนของที่คว่ำเหมือนชี้ทางให้เราได้เดินถูกทางแล้ว เหมือนจุดประทีปส่องทางเวลามืดให้เราเห็นชัดว่า มรรคมีองค์ 8 ทางสายกลางคือทางพ้นทุกข์ดับทุกข์ได้ก็ต้อง ค้นพบสิ่งที่จะกู้โลกพื้นดิน พื้นน้ำ สิ่งแวดล้อม ช่วยเศรษฐกิจให้คนมีรายได้ระยะต้น ซึ่งทุกแปลงเราก็ได้หลักการทำโคกหนองนา จากกรมการพัฒนาชุมชนนี้แหละเป็นแม่แบบ



พุทธอุทยานดอยอินทรีย์กับการขับเคลื่อนหลัก..บวร??

หลักบวร ก็คือบ้าน วัด ราชการ โรงเรียนใช้ทำงานร่วมกันแบบสามัคคีเป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย ทุกอย่างจะแก้ด้วยความสามัคคีตามในหลวง ร.9 ให้ ส.ค.ส. ไว้เมื่อเกิดภัยพิบัติอะไรต่างๆ ทุกปัญหาของสังคมและของโลกใบนี้จะแก้ด้วยสามัคคีเป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย การที่คนจะสามัคคีได้มันต้องมีวัดด้วย ถ้าไม่มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ คนก็จะแตกกันต่างคนต่างอยู่แย่งกัน แต่ถ้ามีวัดก็เลยเอาวัดเป็นศูนย์กลางประสานชาวบ้านและประสาน ราชการเป็นหลักจึงจะสามารถสามัคคีกันแก้ปัญหาให้โลกใบนี้ได้

เศรษฐกิจพอเพียง คนมักมองว่าไม่พอกิน ??

ที่ไม่พอก็เพราะใจเขาไม่พอ เริ่มที่ใจเขาต้องพอเพียงก่อน ต้องรู้จักพอก่อนคนมีหนี้ก็ลักษณะว่าถ้าทำอย่างนี้มันจะปลดนี้ได้จริงก็คือสร้าง 4พ. ให้ได้ ใจตัวเองต้องรู้จักพอ เขาบอกว่าถ้าใจตัวเองไม่รู้จักพอมี 100 ล้าน พันล้าน หมื่นล้านมันก็ยังจนอยู่ แต่คนจนถ้ารู้จักพอมันก็รวยได้ หัวใจมันอยู่ตรงนี้ ส่วนคนเป็นหนี้มันก็เหมือนกันคือ ความไม่รู้จักพอนั่นเอง เศรษฐกิจพอเพียงมันจึงเริ่มต้นด้วยคำว่า 4 พ.คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น

มองจุดอ่อนและจุดแข็งของโคก หนอง นา อย่างไร??

จุดอ่อนก็คือการขับเคลื่อนที่ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนหลายอย่างการขับเคลื่อน การประชาสัมพันธ์ การทำงานอะไรต่างๆมันอาจจะคือผู้ที่ขับเคลื่อนอาจจะยังไม่รู้เข้าใจให้ท่องแท้ พอนำโครงการไปสู่ประชาชนก็เลยไม่เชื่อมั่น พอไม่เชื่อมั่นก็เลยทำผิดๆถูกๆทำไม่ถูกต้องตามหลักจริงๆ ก็เลยไม่ค่อยได้ผล 

 จุดแข็งคือโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีที่สุด ช่วยเหลือสรรพสัตว์ได้จริงขอให้มหาดไทยยังคงขับเคลื่อนต่อไป แต่ว่ายุทธศาสตร์การขับเคลื่อนจะต้องอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ที่จะขับเคลื่อนให้เข้าใจชัดเสียก่อนมันจึงจะไปให้ความรู้กับประชาชนได้ท่องแท้ หมดงบเดี๋ยวก็จบโครงการ ต้องใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติ สองก็คือต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการมาช่วยแก้ปัญหาแล้วก็ต้องประสานช่วยเหลือกัน แล้วก็เอาวัด เอายุทธศาสตร์บวรเข้าไปช่วยโครงการนี้ด้วย อย่างทิ้ง “หลักบวร” ในการทำงาน



ไม่ว่าจะคำว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” หรือคำว่า  “บวร”  รวมความว่าทั้งสองคำล้วนเกี่ยวข้องกับรากเหง้าของความเป็นไทยในการที่เกื้อกูล ส่งเสริม ช่วยเหลือ ซึ่งกันและกันอัน เป็นฐานสำคัญในการสร้าง “ความรู้รักสามัคคี” แบ่งปันในวงเวียนสังคมนั้น ๆ ความเจริญที่แท้จริงของสังคมที่จะมีความสุขและสมบูรณ์อย่างน้อยมันต้องมาจากองค์ประกอบเหล่านี้เป็นฐานรองรับ ไม่มากก็น้อย??

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แนะนำหนังสือนิยายอิงธรรมะ: เด็กดอย(มิ)ด้อยดอกเตอร์

เนื้อหาหนังสือนิยายอิงธรรมะ: เด็กดอย(มิ)ด้อยดอกเตอร์ 1. บทนำ: จุดเริ่มต้นการเดินทาง เปิดเรื่อง : แนะนำตัวละครหลัก "สันติสุข" นักเข...