วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“โรงพยาบาล-เลี้ยงเด็กกำพร้า-บวชสามเณร” กฐินวัดพระธรรมกาย สังคมสงเคราะห์ในประเทศอินเดีย


วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 พระครูสมุห์สนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย กล่าวว่า ช่วงเทศกาลทอดกฐินสามัคคีที่ผ่านมา วัดพระธรรมกาย มูลนิธิธรรมกาย และคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย ได้บูชาธรรม 80 ปี หลวงพ่อธัมมชโย ด้วยการร่วมทอดกฐิน 30,000 วัดทั่วไทย และทอดกฐินนานาชาติ 21 ประเทศ 500 กว่าวัดในภูมิภาคต่าง ๆ เฉพาะในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นดินแดนพุทธภูมิ ต้นกำเนิดของพระพุทธศาสนา ได้ถวายกฐิน จำนวนกว่า 50 วัด ใน 5 รัฐ ได้แก่ รัฐมหาราช, รัฐพิหาร, รัฐอุตรประเทศ, รัฐมัธยประเทศ และรัฐเวสเบงกอล

ทั้งนี้ จตุปัจจัยไทยธรรมที่เป็นบริวารกฐิน ส่วนใหญ่นำไปสร้างและทำนุบำรุงเสนาสนะ ศาสนสถาน อาคารสถานที่ และเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ภายในวัดนานัปการ นอกจากนี้ ที่น่าปลื้มใจ ในส่วนการประสานงานของ พระพรชัย พลวธมฺโม, ดร. ประธานเครือข่ายองค์กรพุทธโลก มีวัดที่นำปัจจัยไปสนับสนุนงานสังคมสงเคราะห์ที่วัดนั้น ๆ ได้ทำ อาทิ สร้างโรงพยาบาล เลี้ยงเด็กกำพร้า ดูแลเยาวชนให้โอกาสบวชเรียนเป็นสามเณร ดังนี้ 

ในส่วนของ วัดสันตินิเกตัน ประเทศอินเดีย นำไปจัดสร้างโรงพยาบาลสำหรับชุมชน ณ Santiniketan Temple & Santiniketan Ambedga Buddhist welfare mission  จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา โดย พระวินัยยะสิริ มหาเถโร (Binaysree Maha Thero) อายุ 65 ปี 45 พรรษา เจ้าอาวาส เป็นประธานสงฆ์กล่าวว่า “ขอบคุณหลวงพ่อธัมมชโย และคณะลูกศิษย์ที่มาทอดกฐินถวายผ้ากฐินและบริวารกฐิน โดยปัจจัยจากบุญกฐินจะนำสร้างโรงพยาบาลเพื่อชุมชน เป็นที่พึ่งของพระและชาวบ้าน ขออวยพรให้หลวงพ่อธัมมชโยแข็งแรงๆ และปีหน้าขอให้ชาววัดพระธรรมกายมาทอดกฐินอีก” สำหรับวัดสันตินิเกตัน เป็นวัดที่ทำกิจกรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่องกว่า 40 ปี มีศาสนสถานสำคัญ 10 กว่าแห่ง อาทิ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ศาลาปฏิบัติธรรม ห้องนั่งสมาธิ พระสถูป พระเจดีย์ พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ อาคารผู้สูงอายุ อนุสาวรีย์ผู้วายชนม์ ต้นโพธิ์ตรัสรู้ธรรม เป็นต้น และชุมชนนี้ ยังเป็นสถานที่ บ้านเกิดของ รพินทรนาถ ฐากูร นักปรัชญาชื่อดังของอินเดีย ฯลฯ ทั้งนี้ สำหรับปัจจัยบริวารกฐิน ในครั้งนี้ท่านได้นำไปใช้โครงการ โรงพยาบาลสำหรับชุมชน (Hospital for Santiniketan Community) ซึ่งจัดสร้างอยู่ในบริเวณวัด โดยในวันฉลองกฐินได้ทำพิธีวางศิลาเริ่ม (Foundation Stone) โดยคณะสงฆ์และคณะเจ้าภาพจากเมืองไทย รวมทั้งชุมชนมาร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก

ด้าน วัดสิทธัตถะ เมืองกัลกัตตา รัฐเบงกอลตะวันตก จัดในวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 โดย มีคณะสงฆ์นานาชาติร่วมงาน 10 ประเทศ นำโดย ท่านพระพุทธปิยะ มหาเถโร อายุ 65 ปี พรรษา 44 เจ้าอาวาสเป็นประธานในพิธี ท่านกล่าวว่ารู้สึกภาคภูมิใจ และปลื้มใจมาก ๆ ที่คณะผู้แทนมูลนิธิธรรมกาย มาทอดกฐินที่นี่ ตัวท่านเองเคยมาอยู่ศึกษาเรียนรู้ที่วัดพระธรรมกาย ประเทศไทย ประมาณ  1 ปี ในปี พ.ศ. 2532 โดยพักอยู่ที่กุฏิหลังคาจาก รู้สึกประทับใจมาก ๆ ในคำสอนของทั้งหลวงพ่อธัมมชโย และ หลวงพ่อทัตตะชีโว โดยเฉพาะการนั่งสมาธิตามเส้นทางสายกลาง (Middle Way) ด้วยวิธีการนึกนิมิตเป็นดวงแก้วและภาวนา “สัมมาอะระหัง” ซึ่งเข้าใจและปฏิบัติได้ง่ายแต่ได้ผล ส่วนการทอดกฐินในปีนี้มีงานถึง 3 วัน เพื่อประชาสัมพันธ์ ถึงคณะที่มาจากประเทศไทย ท่านได้นิมนต์พระภิกษุนานาชาติจากพุทธคยาร่วมงาน 10 ชาติ กว่า 30 รูป ทั้งพระภิกษุชาวไทย, เวียดนาม , เมียนมา , กัมพูชา, มองโกเลีย , ธิเบต, ภูฏาน, อินเดีย , เนปาล, บังกลาเทศ ทั้งนี้ ท่านพระพุทธปิยะ มหาเถโร เป็นเลขาธิการองค์กร Bharati Sangharaja Bhikkhu Mahasapha (สังฆราชาภิกษุมหาสภาแห่งอินเดีย) มีสมาชิกเป็นวัดต่างๆ ในอินเดีย เป็นสมาชิก กว่า 100 วัด ทั้งใน รัฐเบงกอลตะวันตก และ รัฐอุตตรประเทศ และท่านได้ตั้งองค์กร SUSWM หรือ Siddhart United Social Welfare Mission เพื่อทำงานควบคู่กันไปกับการเผยแผ่ธรรมะและงานสังคมสงเคราะห์ โดยเฉพาะวัดท่าน ซึ่งเป็นอาคารตึกแฝด 5ชั้น เพื่อดูแลเด็กกำพร้า ประมาณ 100 คนอีกด้วย และในระหว่างงานท่านได้กล่าวถึงวัดพระธรรมกายกว่า 20 ครั้ง ด้วยความปลื้มใจ รวมถึงบนประรำพิธีทอดกฐิน ท่านได้ติดรูปขนาดใหญ่ของทั้งหลวงพ่อธัมมชโย หลวงพ่อทัตตชีโว คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง คณะสงฆ์จากวัดพระธรรมกาย และอุบาสก อุบาสิกา ที่มาร่วมพิธีด้วย 

ส่วน วัดพุทธรัตนางกูร พิหาร เมืองกัลกัตตา (Bouddha Ratnangkur Bihar) โดยมีหลวงพ่อ พระกิตติรัตนะ มหาเถโร อายุ 68 ปี พรรษา 24 เป็นเจ้าอาวาสเป็นประธานสงฆ์ วัดท่านได้ช่วยเหลือเยาวชนให้ได้มีโอกาสบวชสามเณรและศึกษาธรรมะ เป็นการสร้างศาสนทายาทและสืบอายุพระพุทธศาสนา โดยมีสามเณรอยู่ในความดูแลกว่า 30 รูป จัดกิจกรรมทอดกฐิน 3 วัน มีจุดทอผ้าจีวร จากชนเผ่าจักมา ซึ่งมีชื่อเสียงด้านทอผ้า มานั่งทอผ้าด้วยกี่ภายในงานถึง 4 เครื่อง มีผู้ร่วมงานกว่า 7,000 คน 

“ปีนี้ คณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย ตั้งใจบูชาธรรม 80 ปี หลวงพ่อธัมมชโย ด้วยการทอดกฐินสามัคคีในประเทศไทย 30,000 วัด และส่งผู้แทนทอดกฐินสมทบนานาชาติ ใน 21 ประเทศ กว่า 500 วัด ได้แก่ เมียนมา 193 วัด  ลาว 91 วัด  อินเดีย 50 วัด บังคลาเทศ 32 วัด เวียดนาม 27 วัด กัมพูชา 24 วัด เนปาล 15 วัด มาเลเซีย 11 วัด อังกฤษ 11 วัด อเมริกา 8 วัด จีน 7 วัด ออสเตรเลีย 4 วัด ฝรั่งเศส 2 วัด อินโดนีเซีย 1 วัด ญี่ปุ่น 1 วัด นิวซีแลนด์ 1 วัด นอร์เวย์ 1 วัด เนเธอร์แลนด์ 1 วัด เยอรมัน 1 วัด และสวิสเซอร์แลนด์ 1 วัด เพื่อร่วมบุญกับกิจกรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนาของทุกวัด เป็นการทำนุบำรุงและสืบอายุพระพุทธศาสนาให้เกิดความสามัคคี มั่นคง ยั่งยืน สถาพรสืบไป ดังพุทธพจน์ที่ว่า สุขา สังฆัสสะ สามัคคี ความพร้อมเพรียงของหมู่ ทำให้เกิดความสุข” พระครูสมุห์สนิทวงศ์ กล่าว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทวิเคราะห์ อนุตตริยวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์

  บทวิเคราะห์ อนุตตริยวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ บทนำ พระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พร...