เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2567 เวลา 09.30 น. ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หรือ วัดภูเขาทอง กรุงเทพฯ ดร.นิยม เวชกามา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้ากราบนมัสการพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ และกรรมการมหาเถรสมาคม ก่อนร่วมพิธีต้อนรับพระอาจารย์เหยี่ยนเจว๋ ประธานพุทธสมาคมจีน พร้อมทั้งนายเฉิน รุ่ยเฟิง รัฐมนตรีประจำสำนักกิจการศาสนาแห่งชาติจีน "นายหาน จื้อเฉียง" เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย และคณะ โดยได้มีการจัดพิธีกรรมขึ้นบนพระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง และสวดมนต์บนภูเขาทองเพื่อความเป็นสิริมงคล
จากนั้นเวลา 10.30 น. คณะเดินลงจากภูเขาทองแล้วจัดเสวนาโต๊ะกลมเพื่อสานสัมพันธ์และความร่วมมือในอนาคต โดยทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่จะครบ 50 ปีในปี พ.ศ.2568 ซึ่งถือเป็นความสัมพันธ์ที่ยาวนานระหว่างรัฐบาลไทยและจีน โดยเฉพาะในด้านการสืบทอดพุทธศาสนา ที่จะมีการประชุมสัมมนามากขึ้น เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติธรรมและนำหลักธรรมของพระสัมมาพุทธเจ้า มาสู่ประชาชนเพื่อสร้างสันติสุขให้กับโลก
ต่อมาเวลา 11.30 น. คณะได้เข้าสู่ห้องรับประทานอาหาร ซึ่งมีการแสดงหุ่นละครเล็กเพื่อแสดงศิลปะวัฒนธรรมไทย การร่วมมือกันในครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับประเทศไทยและประเทศจีนในการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในอนาคต
ดร.นิยม กล่าวว่า หลังตนร่วมเดินทางไปกับรศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในนามรัฐบาลไทย พร้อมพระเถระชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายไทย เดินทางไปยัง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยท่านรัฐมนตรีชูศักดิ์ได้ร่วมลงนามหนังสือบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ในการจัดพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง มาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ณ ท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2568 รวม 73 วัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเพื่อให้ประชาชนได้กราบสักการะ เพื่อความเป็นสิริมงคล รวมทั้งเฉลิมฉลองในโอกาสการครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน ในปี 2568 ด้วย ก่อนจะอัญเชิญกลับในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568
อนึ่ง พระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ที่วัดหลิงกวง ประดิษฐานอยู่ภายในพระสถูปทองคำประดับอัญมณี องค์พระเขี้ยวแก้วมีขนาดยาวประมาณ 1 นิ้ว เป็นเครื่องชี้ทางและสะพานให้พุทธศาสนิกชนเดินหน้าไปสู่เป้าหมายปลายทางของพระพุทธศาสนา เป็นสัญลักษณ์แห่งพระปัญญาตรัสรู้แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนวัดหลิงกวง ตั้งอยู่บนเชิงเขาทางทิศตะวันออกของเทือกเขาด้านตะวันตกของกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นหนึ่งในสถานที่แสวงบุญสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั้งในจีนและต่างประเทศ โดยในปี ค.ศ.1983 วัดหลิงกวง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นวัดพุทธสำคัญในพื้นที่วัฒนธรรมจีนฮั่น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น