เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2567 ศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ BDI เปิดเผยว่า หลังจาก BDI ได้จัดตั้งอย่างเป็นทางการมาหนึ่งปี ได้ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลของภาครัฐเพื่อตอบสนองนโยบายหลายด้าน เช่น Health link สำหรับทำนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ Travel Link สำหรับวางแผนด้านการท่องเที่ยว
"BDI ยังมีอีกหนึ่งโครงการใหญ่ที่ต้องดำเนินการ นั่นคือ การพัฒนา Thai Large Language Model (Thai LLM) เป็นโมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่รองรับการใช้งานภาษาไทย ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักเชื่อมกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ"
เหตุผลที่ไทยต้องพัฒนา Thai LLM เป็นโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ขณะที่กลุ่มบิ๊กเทคมี LLM พร้อมให้บริการ เพราะ 1.เพื่อสร้างความหลากหลายของข้อมูลที่ตอบโจทย์การใช้งานในประเทศโดยเฉพาะ 2.รักษาอธิปไตยของข้อมูล ควบคุมการเข้าถึงในประเทศ ป้องกันความเสี่ยงจากเหตุที่คาดไม่ถึง และ 3.จะควบคุม "ราคา" การเข้าถึงบริการต่าง ๆ ช่วยให้ SMEs ต่อยอดโซลูชั่นจากโครงสร้างที่มีได้ง่ายขึ้น
"คาดว่างบฯก้อนแรกในการพัฒนา LLM น่าจะมาต้นปีหน้า ขณะนี้อยู่ในช่วงรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ มาเชื่อมระบบกัน จากนั้นจะจ้าง Expertise แต่ละสายมาจัดการข้อมูล เพื่อใช้เทรนโมเดล AI โครงการนี้เป็น Open Source เปิดรับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ผ่านมาเริ่มพูดคุยเรื่องการต่อยอดเป็น AI เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ หรือแม้แต่การเผยแผ่พระไตรปิฎกนิกายเถรวาทด้วย"
วันพุธที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๗ พระสุธีรัตนบัณฑิต,รศ.ดร. คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยผ่านทางเฟซบุ๊ก "Suthito Aphakaro" ความว่า
บัณฑิตวิทยาลัย มจร ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่าวิศวะ จุฬาร่วมกันอัญเชิญพระไตรปิฎกสู่ระบบเมฆาดิจิทัล Cloud System ขอเชิญร่วมรับฟังการสัมมนาการบริการด้านคัมภีร์ โครงการอัญเชิญพระไตรปีฎกสู่ระบบเมฆาดิจิทัล (Cloud System)โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน เฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันพุธที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ตั้งแต่ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๕.๐๐ ณ วัดสุทธิวราราม ถนนเจริญกรุง เขตสาทรกรุงเทพมหานคร
โครงการนี้เกิดขึ้นด้วยการจากดำริของพระบูชา บูชาธรรม ท่านเป็นศิษย์เก่าวิศวะ จุฬา และศิษย์เก่าวิศวะ มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ท่านมองว่า ปัจจุบันระบบ AI มีผลต่อการสร้างสรรค์ความรู้และเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญของโลกยุคใหม่ มีการถาม-ตอบบนฐานข้อมูล AI ทุกคนสืบค้นข้อมูลจากระบบการค้นหาในอินเตอร์เน็ต รวมทั้งสืบค้นหาความรู้จากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา
ดังนั้น หากมีการนำข้อมูลพระไตรปิฎกฉบับ มจร และสยามรัฐ ที่มีจำนวน ๒ ล้านกว่าคำ ๒ หมื่นกว่าหน้า ลงในระบบ Cloud System จะทำให้การสืบค้นข้อมูลของผู้สนใจมีความชัดเจนถูกต้อง เป็นแหล่งข้อมูลในการศึกษาพระไตรปิฎก และคัมภีร์สำคัญ
โครงการนี้ จะเชิญชวนประชาชนทุกหมู่เหล่า ได้เข้ามามีส่วนร่วม โดยการตรวจสอบว่า พระไตรปิฎกที่นำขึ้นระบบนั้นมีความถูกต้องหรือไม่ (เทียบเคียงคำในระบบกับหน้าพระไตรปิฎกที่สแกนขึ้น ว่าตรงกันหรือไม่ ) ซึ่งต้องการประชาชนมีส่วนร่วมประมาณ ๒๐,๐๐๐ กว่าคนในการตรวจสอบร่วมกัน คนละ ๑ หน้า เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในมหามงคลครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา
ในการนี้บัณฑิตวิทยาลัย และสถาบันพระไตรปิฎก แห่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงร่วมกันดำเนินการในฐานะเป็นองค์กรที่สร้างสรรค์งานด้านพระไตรปิฎกและความรู้ทางพระพุทธศาสนา จัดโดย #บัณฑิตวิทยาลัย #สถาบันพระไตรปฎกศึกษา มหาวิทยาลัยมหาฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2567 พระสุธีรัตนบัณฑิต (สุทิตย์ อาภากโร ป.ธ.7, รศ.ดร.) คณบดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวความว่า บัณฑิตวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ฝ่ายตำรามูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ขอเชิญร่วมฟังการเสวนาสำคัญ "รวมพลังสาธุชน เรียนรู้ รักษ์พระไตรปิฎกให้มั่นคงด้วยเทคโนโลยีแห่งยุคสมัย" พร้อมการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ "อัญเชิญพระไตรปิฎกสู่ระบบเมฆาดิจิทัล (Cloud System) โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน"
ในวันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2567 เวลา 13.00 - 15.45 น. ณ หอประชุมใหญ่ ตึก 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา เปิดการเสวนาโดยพระสุธีรัตนบัณฑิต (สุทิตย์ อาภากโร ป.ธ.7, รศ.ดร.) คณบดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผู้ร่วมเสวนา: พระบูชา ธมฺมปูชโก ,ดร. ผู้อำนวยการโครงการพระธัมมเจดีย์ รศ. ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์, สาขาวิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณนที เอกวิจิตร (อุ๋ย บุดดาเบลส) , ศิลปิน นักแต่งเพลง ผู้ส่งเสริมสร้างสรรค์ผลงานเพลงด้วยหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ (ที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล มหามกุฏราชวิทยาลัย อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ) มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ เรียนรู้ และสืบสานพระไตรปิฎกผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล สนใจแจ้งความประสงค์เข้าร่วมงานได้ที่ https://forms.gle/VSaorR4c44Ax2VaX6
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น