วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567

“สมเด็จพระมหาธีราจารย์” ปฎิบัติหน้าที่แทน “สมเด็จพระสังฆราช” งานประสาทปริญญา "มจร" ยก ๕ คุณธรรมเตือนสติบัณฑิต ๔,๖๐๒ รูป/คนยุคสื่อสารรวดเร็ว


หมายเหตุ ... 1.วิเคราะห์ธรรมบัณฑิต มจร บริบทพุทธสันติวิธียุคเอไอ 2.โครงร่างหนังสือเรื่อง "ธรรมบัณฑิต มจร" 3."มจร" กับการสร้างศาสนทายาทยุคเอไอ

เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๗  เวลา ๑๓๓๐ น. สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชในพิธีประสาทปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ อาคาร มวก. ๔๘ พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  โดยมี พระพรหมวัชรธีราจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รองอธิการบดี คณาจารย์เจ้าหน้าที่ ผู้บริหาร นิสิต พร้อมด้วยประชาชนทั่วไป ถวายการต้อนรับ

ในการนี้สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ได้ให้โอวาทตอนหนึ่งว่า บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาทั้งหลาย เป็นผู้มีศักดิ์และสิทธิ์แห่งปริญญาบัตร ซึ่งเป็นเครื่องหมายว่าได้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรในมหาวิทยาลัยนั้น เปรียบประดุจกุญแจดอกสำคัญ  อันจะช่วยไขประตูสู่โอกาสแห่งความรุ่งเรืองในชีวิต ยังให้บัณฑิตสามารถศึกษาเล่าเรียนต่อในชั้นสูงยิ่งขึ้น หรืออาจนำวิชาความรู้ความสามารถต่าง ๆ ไปใช้ในการปฏิบัติศาสนกิจ และประกอบกิจการงานที่พึงประสงค์ให้บรรลุผลได้ ด้วยอานุภาพแห่งสติปัญญาที่ได้ศึกษาอบรมเล่าเรียนมา สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ จึงประทานโอวาทไว้ว่า  สีลทสฺสนสมฺปนฺนํ ธมฺมฏฺฐํ สจฺจวาทินํ อตฺตโน กมฺมกุพฺพานํ ตญฺชโน กุรุเต ปิยํ แปลความว่า บัณฑิตชนย่อมกระทำบุคคลผู้บริบูรณ์ด้วยศีลและทัศนะ ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ผู้กล่าวคำสัตย์ ผู้ทำกิจตามหน้าที่ของตน ให้เป็นที่รักคือ ให้เป็นคนอันตน  รักใคร่ ดังนี้  ในพระพุทธภาษิตนี้ ทรงแสดงคุณสมบัติของบัณฑิตซึ่งเป็นที่รักใคร่ของประชาชน จัดเป็นประการตามคุณธรรม ๕ ประการคือ สีลสัมปทา ความบริบูรณ์ด้วยศีล ทัสสนะสัมปทา ความบริบูรณ์ด้วยทัศนะ  ธัมมัฏฐะตา ความตั้งอยู่ในธรรม  สัจจะวาทิตา เป็นผู้มีวาจาเที่ยงตรง อัตตะโน กัมมะกุพพะตา ความทำกิจตามหน้าที่ของตน

“ในปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารและการผลิตข้อมูลข่าวสารเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว บุคคลไม่ชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรม ด้วยเหตุที่นำอรรถคดีไปโดยหุนหันพลันด่วน ผู้ใดเป็นบัณฑิตดำเนินในกรณียกิจด้วยปรีชาใคร่ครวญ พิจารณาความจริงและไม่จริงทั้งสองประการให้แน่ ตระหนักนำคนอื่น ๆ ไปโดยธรรมสม่ำเสมอ ไม่ผิดพลาดเป็นผู้รักษาธรรม มีปัญญาเฉียบแหลม พึงยกย่องว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม..”

ด้าน พระพรหมวัชรธีราจารย์ ได้กล่าวว่า สำหรับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทยที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงสถาปนาขึ้น ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นสถานศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง สำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๐ ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณภัตตาหารเพล ถวายพระภิกษุผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และพระนิสิตทุกวัน

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ขยายส่วนงานจัดการศึกษาในส่วนกลาง ๘ แห่ง คือ บัณฑิตวิทยาลัย คณะพุทธศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ วิทยาลัยพระธรรมทูต และมหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย ในส่วนภูมิภาค มีส่วนงานจัดการศึกษาประกอบด้วยวิทยาเขต ๑๑ แห่ง คือ วิทยาเขตหนองคาย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช วิทยาเขตเชียงใหม่ วิทยาเขตขอนแก่น วิทยาเขตนครราชสีมา วิทยาเขตอุบลราชธานี วิทยาเขตแพร่ วิทยาเขตสุรินทร์ วิทยาเขตพะเยา วิทยาเขตบาพี่ศึกษาพุทธโฆส นครปฐม และวิทยาเขตนครสวรรค์

 มีวิทยาลัยสงฆ์ ๒๘ แห่ง คือ วิทยาลัยสงฆ์เลย วิทยาลัยสงฆ์นครพนม วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน วิทยาลัยสงฆ์พุทธชินราช วิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ วิทยาลัยสงฆ์ปัตตานี วิทยาลัยสงฆ์นครน่านเฉลิมพระเกียรติฯ วิทยาลัยสงฆ์พุทธโสธร วิทยาลัยสงฆ์เชียงราย วิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี วิทยาลัยสงฆ์ชัยภูมิ วิทยาลัยสงฆ์ร้อยเอ็ด วิทยาลัยสงฆ์พ่อขุนผาเมืองเพชรบูรณ์ วิทยาลัยสงฆ์ราชบุรี วิทยาลัยสงฆ์พิจิตร วิทยาลัยสงฆ์สุพรรณบุรีศรีสุวรรณภูมิ วิทยาลัยสงฆ์สุราษฎร์ธานี วิทยาลัยสงฆ์มหาสารคาม วิทยาลัยสงฆ์ระยอง วิทยาลัยสงฆ์เพชรบุรี วิทยาลัยสงฆ์อุทัยธานี วิทยาลัยสงฆ์ชลบุรี วิทยาลัยสงฆ์กาญจนบุรีศรีไพบูลย์ วิทยาลัยสงฆ์จันทบุรี วิทยาลัยสงฆ์กำแพงเพชร และวิทยาลัยสงฆ์ตาก มีหน่วยวิทยบริการ ๔ แห่ง คือ จังหวัดสงขลา อุตรดิตถ์ และกาฬสินธุ์ และสมุทรสงคราม

มีสถาบันสมทบในต่างประเทศ ๕ แห่ง คือ วิทยาลัยพระพุทธศาสนาดองกุก ชอนบอบ ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา ซิน จู๋ ไต้หวัน วิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติศรีลังกา วิทยาลัยพุทธศาสตร์สิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์ และวิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกท ประเทศฮังการี   มีสถาบันสมทบในประเทศ ๑ แห่ง คือ มหาปัญญาวิทยาลัย ของคณะสงฆ์อนัมนิกาย หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

 มีโรงเรียนในสังกัด ๑ แห่ง คือ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพิธีประสาทปริญญาครั้งนี้ สภามหาวิทยาลัยมีมติอนุมัติให้ปริญญาดุษฎีบัณฑิต รุ่นที่ ๒๐ มหาบัณฑิต รุ่นที่ ๓๔ และบัณฑิต รุ่นที่ ๖๙ แยกเป็นแต่ละระดับ ดังนี้ ระดับดุษฎีบัณฑิต จำนวน ๕๑๒รูป/คน ระดับมหาบัณฑิต จำนวน ๑,๐๒๕ รูป/คน และระดับบัณฑิต จำนวน ๒,๙๒๑ รูป/คน และประกาศนียบัตรอภิธรรมบัณฑิต จำนวน ๑๔๔ รูป/คน รวมทั้งสิ้น จำนวน ๔,๖๐๒ รูป/คน

นอกจากนี้สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้ปริญญากิตติมศักดิ์และเข็มเกียรติคุณแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ จำนวน ๑๔๒ รูป/คน ประกอบด้วยระดับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน ๙๐ รูป/คน ระดับมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน ๔ รูป/คน และเข็มเกียรติคุณ จำนวน ๔๘ คน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"ชูศักดิ์" จี้ "พศ." ออกมาตรการและกลไกป้องกันไม่ให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา

  เมื่อวันที่  11 ธันวาคม 2567  ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานก...