วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2562

พระนิสิตป.เอก'มจร' ศึกษาดูงานร.ร.พระทำโซลาร์เซลล์ประยุกต์ธรรม




วันที่ 25 ส.ค.2562  เฟซบุ๊กพระครูวิมลปัญญาคุณ ศรีแสงธรรม ได้โพสต์ข้อความว่า "พระนิสิตปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) มาศึกษาดูงาน และเยี่ยมชมการจัดการศึกษาแบบพระป่า น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้จนได้ผลเป็นที่ประจักษ์ ทฤษฎีปรัชญาทางการศึกษาไม่มีมากใช้หลัก “ทำดี ได้ดี” เพียงเท่านี้ก็สร้างสรรค์สังคมจากป่าโคกอีโด่ย เป็นซิลิคอนวัลเลย์ได้"  

พระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม หมู่ 5 บ้านดงดิบ ต.ห้วยยาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ได้นำพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ มาเป็นเครื่องมือในการสื่อธรรม พร้อมกับพัฒนาที่โรงเรียนศรีแสงธรรม

พร้อมกันนี้ยังได้ตั้งทีมงานช่างขอข้าว ออกรับงานติดตั้งโซลาร์เซลล์ ซึ่งพระครูวิมลปัญญาคุณระบุว่า พอได้ค่าอาหารกลางวัน และค่าน้ำมันรถรับส่งนักเรียนตามโครงการเรียนฟรีโรงเรียนศรีแสงธรรม ผู้ใหญ่ใจบุญเมตตาให้ติดตั้งเซเว่นสาขาต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานีเริ่มที่พิบูลมังสาหารก่อนขนาด 12.92 kw. เพื่อประหยัดค่าไฟฟ้าเดือนละประมาณ 7,800 บาท นักเรียนชั้นม.ปลายออกไปติดตั้งใช้เวลาวันหยุด เป็นการจัดการศึกษาแบบมีอาชีพตามแบบฉบับของโรงเรียนจากโคกอีโด่ย เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย มีรายได้ไปด้วย ไม่ใช่แค่เรียนไปสอบอย่างเดียว



พระครูวิมลปัญญาคุณ ระบุด้วยว่า โซล่าร์เซลล์บนหลังคาบ้านกำลังได้รับความสนใจ เนื่องจาภภาคธุรกิจเอกชนเช่นห้างสรรพสินค้า โรงงานต่างๆ ติดตั้งลระบบออนกริดเพื่อประหยัดค่าไฟฟ้าในช่วงตอนกลางวัน เช่นห้างใหญ่ๆ ค่าไฟฟ้าเดือนละ 1,000,000 บาท ติดตั้งโซล่าร์ เซลล์ขนาด 1 Mw. ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าเดือนละ 600,000 บาท ลงทุนประมาณ 30 ล้านบาท จุดคุ้มทุนประมาณ 4 ปี อายุการใช้งานแผ่นโซล่าร์เซลล์ได้ถึง 25 ปี ตลอดอายุการใช้งานถ้าใช้ทุกวันคิดค่าไฟเทียบกับปัจจุบันเป็นหลัก ราคาหน่วยละ 4.5 บาท ซึ่งความจริงมากกว่านั้นในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่คิดเฉพาะวันนี้ก็สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 151,200,000 บาท นับเป็นเงินเยอะพอสมควร การติดตั้งใช้พื้นที่ประมาณ 5 ไร่ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ 50 x 200 เมตรนี้พื้นที่เพียงพอ 1 กิโลวัตต์ใช้พื้นที่ 8 ตร.ม. มองในแง่ของการลงทุนถ้ากิจการเรามีความมั่นใจว่าจะอยู่ได้ถึง 25 ปี การติดตั้งโซล่าร์เซลล์นี้จะดีกว่าเก็บเงินไว้ในธนาคารอีก หรือจะบอกว่าเปลี่ยนหลังคาบ้านเป็นธนาคารดอกเบี้ยสูงก็ได้

การดำเนินการติดตั้งต้องผ่านขั้นตอนการขออนุญาตเชื่อมต่อกับระบบของการไฟฟ้า มีวิศวกรรับรองโครงสร้างอาคาร และรับรองแบบไฟฟ้า ยื่นขออนุญาตกับการไฟฟ้า ยื่นขออนุญาตกับกกพ. และแจ้งทางท้องที่ให้ทราบว่ามีการติดตั้งระบบไฟฟ้าที่บ้านเรา และต้องมีระบบกันไฟย้อนเข้าระบบ ให้เป็นไปตามระเบียบของการเชื่อมต่อระบบ ปัจจัยสำคัญคืออินเวอร์เตอร์ต้องผ่านการทดสอบของการไฟฟ้า แต่เนื่องจากมีของดีราคาถูกเข้ามาจำหน่ายจำนวนมาก หลายคนนำเข้าจึงไม่มีใครอยากนำไปทดสอบเพราะมีค่าใช้จ่ายหลักแสนเพื่อให้ได้ขึ้นบัญชีของการไฟฟ้าได้ ดังนั้นจึงไม่ทดสอบเอามาติดตั้งกันเลยเพราะไม่ใช่เรื่องยุ่งยากในการติดตั้ง เพียงลากสายโซล่าร์เซลล์มาเข้ากับอินเวอร์เตอร์ และเสียบเข้ากับไฟบ้านทุกอย่างจบ 

เรื่องของเรื่องก็คือเราไม่ขอขนานกับการไฟฟ้าจากระบบออนกริดที่เห็นอยู่ จึงมาเป็นระบบแอบกริด คือคำว่า ออนกริด + แอบติด = แอบกริด ดังนี้ ซึ่งจะมีปัญหาตามมาหลายอย่างทั้งเรื่องระเบียบของการไฟฟ้า หรือว่าเรื่องของการบริหารจัดการไฟฟ้าในฝ่ายผลิตที่ไม่ทราบข้อมูลการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ต่างๆ ในระบบใหญ่ขึ้นในอนาคตอาจจะเป็นปัญหาได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้ติดตั้งแบบถูกต้องจะดีกว่า ดีไม่ดีจะเป็นว่า "เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย"

ระบบแอบออนกริดตามภาพใช้งบประมาณ 80,000 บาท สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้เดือนละ 1,800 บาท ซึ่งไม่ต้องใช้แบตเตอรี จึงทำให้ต้นทุนต่ำ แต่ของคุณภาพยังไม่ถึงขั้นรับประกัน 20 ปีเหมือนที่ทีมงานช่างขอข้าวไปติดตั้งให้โรงพยาบาล แต่ก็นิยมใช้กันทั่วไป ให้พิจารณากันเอาเองว่าควรทำหรือไม่


ระบบแอบกริดนี้เวลาไม่มีคนใช้ไฟในตอนกลางวันจะส่งไฟกลับเข้าไปในสายส่งทำให้มิเตอร์หมุนกลับ จึงทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้อีก แต่ถ้าออนกริดแบบขอขนานก็จะมีอีกมิเตอร์บันทึกไฟที่เข้าไปในสายส่งคิดเงินจากการไฟฟ้า ไม่ได้มีความแตกต่างอะไรเพียงแต่คนขอขนานไฟได้ขาย ส่วนคนไม่ขอขนานไฟเพียงติดใช้เอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แนะนำหนังสือนิยาย: พิราบโรย

  หนังสือนิยาย: พิราบโรย 1. คำนำ บทบรรยายเปิดเรื่องเล่าถึงสถานการณ์สื่อมวลชนในยุคปัจจุบัน บทนำที่ให้ผู้อ่านรู้จักตัวละครหลัก "สันติสุข...