วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2562

'เฉลิมชัย'สั่งกรมฝนหลวงเร่งปฏิบัติเติมน้ำลงเขื่อนก่อนสิ้นฤดูฝน




วันที่ 28 ส.ค.2562 นายเฉลิมชัย  ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่หน่วยฝนหลวงจังหวัดขอนแก่น โดยย้ำแก่นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรว่า ในห้วงเวลาที่เหลืออยู่ประมาณ 1 เดือนกว่าก่อนสิ้นสุดฤดูฝนซึ่งความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ดัชนีค่าการยกตัวของเมฆ และความเร็วกระแสลมเหมาะสมนี้ให้ขึ้นบินปฏิบัติการทำฝนอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น เขื่อนขนาดใหญ่บริเวณตอนกลางของภาคมีน้ำน้อย จึงต้องเพิ่มปริมาตรน้ำ 

พร้อมกันนี้ยังได้แสดงความห่วงใยทั้งนักบิน นักวิทยาศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่ขึ้นบินปฏิบัติงาน โดยย้ำให้ดูแลอากาศยานให้มีความปลอดภัย อีกทั้งหากยังขาดเครื่องมือและอุปกรณ์ใดๆ ขอให้รายงานมา กระทรวงเกษตรฯ พร้อมสนับสนุนเนื่องจากเป็นภารกิจสำคัญ ส่วนปัญหาการขาดแคลนบุคลากรนั้นจะต้องแก้ไขแน่นอน แต่ในระยะเร่งด่วนนี้ได้ประสานกับเหล่าทัพเข้ามาบูรณาการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทั้งอากาศบาน นักบิน และกำลังพลเพื่อลำเลียงสารฝนหลวงซึ่งที่ผ่านมาทำให้สามารถบินปฏิบัติการได้บ่อยครั้งและทั่วถึงขึ้นยังแก้มลิง
       
หลังจากนั้นนายเฉลิมชัยได้เดินทางไปยังอ่างเก็บน้ำแก่งน้ำต้อน อำเภอเมืองขอนแก่นและกำชับกรมชลประทานให้เร่งดำเนินโครงการเพิ่มศักภาพการเก็บกักน้ำเพื่อแก้ปัญหาทั้งน้ำท่วม-น้ำแล้งในพื้นที่ ทั้งนี้ในปี 2561 – 2562  กรมชลประทานได้รับงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) 400,000 บาทเพื่อศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นของโครงการฯ คาดว่า จะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2562 จากนั้นได้รับงบประมาณ 1,568,100 บาทเพื่อสำรวจขอบเขตโครงการ รวมถึงในปี 2561 ได้รับงบประมาณ 200,000 บาท ในการออกแบบโครงการแก้มลิงแก่งน้ำต้อนระยะที่ 1 ปัจจุบันแก่งน้ำต้อนซึ่งมีพื้นที่หนอง 6,196 ไร่นั้นตื้นเขิน ช่วงฤดูน้ำหลากเกิดปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่บริเวณที่ลุ่มต่ำรอบๆ หนอง เนื่องจากพื้นที่หนองอยู่ติดกับลำน้ำชี ทำให้น้ำจากลำน้ำชีเอ่อล้นเข้าท่วมเป็นประจำ แต่ในช่วงฤดูแล้งมักประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากการกักเก็บน้ำได้ไม่เต็มศักยภาพความจุจึงทำให้ราษฎร 33,877 คนและพื้นที่การเกษตรโดยรอบกว่า 40,000 ไร่ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค และการเกษตร ดังนั้นจึงต้องเร่งดำเนินการเพื่อช่วยเหลือราษฎร ซึ่งเมื่อมีน้ำเพียงพอแล้วจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน้อมนำแนวทางเกษตรผสมผสานและทฤษฎีใหม่มาให้เกษตรกรปรับเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานรายงานว่า โครงการแก้มลิงแก่งน้ำต้อน เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชีอันเนื่องมาจาพระราชดำริ  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระราชดำริไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยขอนแก่นด เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2539 ความว่า “ลำน้ำชีในฤดูน้ำหลากน้ำท่วมพื้นที่สองฝั่งซึ่งเป็นห้วย หนอง บึง และพื้นที่สาธารณะมาก เมื่อถึงเวลาน้ำลด น้ำที่ท่วมพื้นที่ดังกล่าวก็ลดตามไปด้วยทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำตามเดิม จึงควรที่จะมีการสำรวจและหาวิธีเก็บกักน้ำให้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูก”  และเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2540 มีพระราชดำริกับแม่ทัพภาคที่ 2  ความว่า “ให้ประสานงานกับกรมชลประทานหรือหน่วยงานอื่นๆ ให้สำรวจพื้นที่อ่างรอบๆ จังหวัดขอนแก่น เพื่อพิจารณาขุดลอกอ่างเก็บน้ำเสริมคันดินกั้นน้ำให้สูง  เพื่อให้เก็บน้ำได้มากในฤดูฝน ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำนาปรังได้ รวมทั้งช่วยป้องกันน้ำท่วมตัวเมืองขอนแก่น ในฤดูที่มีฝนตกหนัก  และนอกจากนั้นจะช่วยให้สามารถนำมาใช้ในโครงการเกษตรน้ำฝนตามทฤษฎีใหม่ได้”

สำหรับแก่งน้ำต้อนอยู่ในพื้นที่ตำบลเมืองเก่าและตำบลดอนช้าง อำเภอเมืองขอนแก่น ศักยภาพเก็บกักน้ำ 7.431 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขิน ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบโครงการแก้มลิงแก่งน้ำต้อนระยะที่ 1 โดยมีแนวทางที่จะขุดลอกขุดลอกพื้นที่บึงแก่งน้ำต้อนพร้อมปรับปรุงคันดินโดยรอบ 6,196  ไร่ ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ 9  แห่ง และก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า พร้อมระบบส่งน้ำอีกกว่า 50 กิโลเมตร จะทำให้ปริมาณน้ำเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิม 7 ล้าน ลบ.ม. เป็น 41 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ครอบคลุม 40,000 ไร่ เป็นแหล่งรองรับน้ำและเก็บกักน้ำที่สำคัญของลำน้ำชี เพื่อช่วยลดปัญหาน้ำท่วมและปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของราษฎร ทั้งยังเก็บกักน้ำไว้สำหรับสนับสนุนการเพาะปลูกในพื้นที่การเกษตร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่ให้ดีขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แนะนำหนังสือนิยาย: พิราบโรย

  หนังสือนิยาย: พิราบโรย 1. คำนำ บทบรรยายเปิดเรื่องเล่าถึงสถานการณ์สื่อมวลชนในยุคปัจจุบัน บทนำที่ให้ผู้อ่านรู้จักตัวละครหลัก "สันติสุข...